nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

ผลิตภัณฑ์สุขภาพ นักวิชาชีพ และ ความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ ๒)


มันมีเส้นบางๆ ที่มองด้วยตาไม่เห็น แบ่งระหว่าง เงิน กับ ความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะนักวิชาชีพ แต่เดี๋ยวนี้ เส้นแบ่งนั้นเบาบาง จนมองเกือบไม่เห็น

          การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้นักวิชาชีพไปเป็นพรีเซนเตอร์ถือว่าประสบความสำเร็จไปตั้งแต่คิดแล้ว

          ให้หมอจริงๆ ที่บอกชื่อเสียงเรียงนามได้ทางหน้าจอ ไปโฆษณาน้ำวิเศษ กินแล้วโรคหาย คนไข้จะเชื่อ

          ให้หมอฟันจริงๆ ไปโฆษณายาสีฟัน ว่าใช้แล้วฟันแข็งแรง ไม่ผุ คนจะเชื่อ

          อาชีพหมอเป็นนักวิชาชีพกลุ่มแรกๆ ที่คนเชื่อถือ  เพราะมีวิชาที่คนทั่วไปไม่รู้   พูดอะไร (ในเรื่องของวิชาชีพ) จึงมีน้ำหนัก คนเชื่อ  แม้แต่ไปพูดเรื่องที่ไม่ใช่วิชาชีพคนก็ยังเชื่อ

          เราจะไม่เห็นหมอเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาทั้งสินค้าสุขภาพ และ บริการสุขภาพ  เจ้าของผลิตภัณฑ์มักจะเลี่ยงโดยให้คนแต่งตัวเป็นหมอ เป็นหมอฟัน แต่ไม่มีตัวตนจริง   ซึ่งก็มักถูกเจ้าของวิชาชีพออกมาประท้วง

            มันมีเส้นบางๆ ที่มองด้วยตาไม่เห็น  แบ่งระหว่าง เงิน กับ ความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะนักวิชาชีพ  แต่เดี๋ยวนี้  เส้นแบ่งนั้นเบาบาง จนมองเกือบไม่เห็น

          เราได้เห็นนักวิชาชีพด้านสุขภาพออกมาโฆษณา รับรองผลิตภัณฑ์สุขภาพ บริการสุขภาพเพิ่มขึ้นทางสื่อโทรทัศน์ที่เป็นเคเบิ้ลทีวี  เช่น เอเอสทีวี เคเบิ้ลท้องถิ่น และแม้แต่ทาง เนชั่นทีวี

          นักวิชาชีพ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะ หมอ เท่านั้น  นักวิชาการที่ชื่อเสียง อาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ถือเป็นนักวิชาชีพ ที่คนให้ความเชื่อถือ

          สิบกว่าปีก่อน  ดอกเตอร์อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ชื่อ สกุล เป็นที่รู้จัก  ท่านออกมาเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาซุปไก่สกัด  ออกมาไม่กี่หน ก็ต้องถอดออก  เพราะเสียงติฉินจากสังคม

          การเป็นนักวิชาชีพแล้วไปเป็นพรีเซนเตอร์ ฉันคิดว่า จำต้องใคร่ครวญถึงความเหมาะควร โดยนำกรอบความคิดเรื่อง จริยธรรมแห่งวิชาชีพ และความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะนักวิชาชีพ มาประกอบเพื่อขีดเส้นแบ่งระหว่างเงินกับความรับผิดชอบต่อสังคม

            เพราะ “ความเชื่อถือแห่งวิชาชีพ” นั้นมีมูลค่าสูงอย่างประมาณไม่ได้

          สมมุติว่ามีคนคนหนึ่งเรียนจบมาทางด้านสมอง แสดงตัวว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง เขียนตำราเรื่องสมอง เป็นวิทยากรเรื่องการพัฒนาสมองให้ฉลาดล้ำเลิศ  วันหนึ่ง คนคนนั้นมาเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าบำรุงสมอง  ย่อมน่าเชื่อถือมากกว่าดาราหนุ่มหล่อสาวสวย

          แต่จะเหมาะสมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเส้นบางๆ ที่แบ่งระหว่างเงินกับความรับผิดชอบต่อสังคมว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่

          ฉันไม่คิดต่อต้านโฆษณา  ฉันชอบดูโฆษณา เพราะสวย สนุก ประณีต  แต่ไม่เคยเชื่อสาระที่โฆษณาบอก เพราะโฆษณาคือศิลปะการชวนเชื่อชั้นเยี่ยม ได้แต่รับไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้น  ถ้าสนใจจริงๆ ก็ไปหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้

            เขียนบันทึกนี้ในฐานะนักวิชาชีพด้านสุขภาพ  ที่ไม่อยากให้คนหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพทั้งหลาย  แล้วยอมเสียเงินเยอะๆ ซื้อมากิน .

พุธที่ ๒๕ พย. ๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 326718เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • โฆษณาคือศิลปะการชวนเชื่อชั้นเยี่ยม นักวิชาชีพต่างๆต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านักโฆษณา..
  • ขอบคุณเรื่องราวดีๆครับ

สวัสดีค่ะ คุณ nui

ขอให้มีความสุขมากๆ ค่ะ

  • สวัสดีปีใหม่ค่ะ
  • มาขอความรู้ด้วยคนค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท