แพทย์แผนไทยประยุกต์(แพทย์อายุรเวท) 1


แพทย์แผนไทยประยุกต์(แพทย์อายุรเวท)

แพทย์อายุรเวทคืออะไร
โดย ศ. นพ. อวย เกตุสิงห์


แพทย์อายุรเวทคืออะไร


         “แพทย์อายุรเวท” คือ แพทย์แผนโบราณแบบใหม่ของไทย ต่างกับ “แพทย์แผนโบราณทั่วไป” ตรงที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วย และสามารถใช้ความรู้นี้ช่วยให้เข้าใจเรื่องรูปร่างและการทำงานของร่างกาย เข้าใจเรื่องสาเหตุและอาการของโรค เข้าใจเรื่องยาและกลไกการทำงานของยา ตลอดพิษของยา และเข้าใจเรื่องการรักษาโรคว่าหายเพราะเหตุใด ตายเพราะเหตุใด การที่มีวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานทำให้การอบรมสั่งสอนมีหลักวิชา เกิดความแน่นอนและแม่นยำ ไม่ใช่อาศัยแต่ความจำหรือประสบการณ์ ผลสำคัญประการหนึ่งของความรู้วิทยาศาสตร์คือการวินิจฉัยโรคจะมีเครื่องมือ ช่วย (เช่น การฟังเสียง การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ฯลฯ) ซึ่งทำให้เกิดความแม่นยำ แพทย์แผนโบราณทั่วไปอาศัยแต่เฉพาะอาการเป็นเครื่องตัดสินโรค จึงมีความผิดพลาดมาก แม้มียาดี ๆ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะวินิจฉัยผิดก็ย่อมรักษาผิด เพราะฉะนั้นแพทย์อายุรเวทจึงควรจะมีประสิทธิภาพดีกว่าแพทย์แผนโบราณเป็น อย่างมาก นอกจากนั้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะทำให้สามารถปรับปรุงพัฒนาวิธีการต่าง ๆ ตลอดจนการผลิตยาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และทำให้การเผยแพร่ผลงานแก่แพทย์ทั่วไป ทั้งแผนปัจจุบันและแผนเดิม เป็นประโยชน์แก่การสาธารณสุขของประเทศ หรือแม้กระทั่งของโลก
        แพทย์แผนโบราณได้เคยรับหน้าที่ดูแลสุขภาพของคนไทยมาตั้งแต่นมนานด้วยความ สำเร็จอย่างดี ทำให้ชาวไทยมีสุขภาพดีและสามารถยืนหยัดรักษาเอกราชของชาติมาจนทุกวันนี้ แต่ในเวลานี้การแพทย์แผนปัจจุบันได้เข้ามาแทนที่ ทำให้การแพทย์ของไทยตกต่ำและถูกทอดทิ้งมาเป็นเวลาหลายสิบปี วิชาแพทย์ไทยอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างยิ่ง แพทย์เก่ง ๆ หาตัวไม่ค่อยได้ ส่วนมากของผู้ที่อ้าวว่าเป็น “แพทย์” นั้นแท้จริงเป็นเพียงผู้ทำยาขาย คนไข้ไม่สบายมีอาการอย่างไรก็จ่ายยาไปให้สำหรับอาการอย่างนั้น ไม่ได้มีการตรวจร่างกายวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาตามแบบฉบับของแพทย์ การอบรมแพทย์ใหม่ก็ไม่มีมาตรฐาน ใครจบ ป.๔ ก็เรียนได้ ลองเปรียบดูกับนักศึกษาแพทย์ทางแผนปัจจุบันจะเห็นว่าไกลกันอย่างฟ้ากับดิน จริง ๆ นอกจากนั้นครูผู้สอนก็ขาดคุณสมบัติด้านประสบการณ์ เพราะสถานศึกษาไม่มีโรงพยาบาลประกอบ ตำรับตำราก็มีน้อยมาก เปรียบกับแพทย์แผนเดิมในประเทศอื่น เช่น จีน อินเดีย ของเราอยู่ในระดับต่ำกว่าเขามากในทุก ๆ ทางวิชาแพทย์ไทยเป็นสมบัติมีค่าของชาติ แม้ในปัจจุบันก็ยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากนิยมและต้องอาศัยแพทย์แผนโบราณ ข้อดีบางประการของการแพทย์แผนโบราณคือ ค่าใช้จ่ายถูก ใช้ยาสมุนไพรซึ่งมีอยู่ในประเทศ ไม่ต้องเสียเงินสั่งมาจากนอก แม้ในภาวะสงครามประเทศจะถูกปิดล้อม ก็ยังมียาใช้เอง ถ้าในกองทัพมีแพทย์แผนโบราณอยู่ เวลาทหารอยู่ในที่คับขัน ก็อาจหายาในป่าช่วยตัวเองได้ ประเทศเพื่อนบ้านของเราหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน อินเดีย และศรีลังกา ได้ส่งเสริมการแพทย์แผนเดิมของเขาให้ทันสมัยและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การ แพทย์และการสาธารณสุข ในประเทศจีนและอินเดียมีการบังคับให้นักศึกษาแพทย์แผนปัจจุบันต้องใช้เวลา ส่วนหนึ่งเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณ และนักศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณก็ต้องเรียนวิชาแพทย์แผนปัจจุบันบ้าง ทำให้แพทย์ทั้งสองพวก “พูดกันรู้เรื่อง” และสามารถร่วมมือกันทำให้การสาธารณสุขของประเทศก้าวหน้า และประชาชนได้รับบริการแพทย์ที่ดียิ่งขึ้น ในทั้งสองประเทศนี้มีการ “แบ่งส่วนงาน” กันเป็นฝ่ายแผนโบราณและฝ่ายแผนปัจจุบัน ประชาชนเลือกใช้บริการได้ตามใจชอบ รัฐบาลก็ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก เพราะแพทย์แผนโบราณเรียกร้องค่าจ้างต่ำ และใช้ยาสมุนไพรซึ่งไม่ต้องสั่งเข้ามาจากนอก ประเทศไทยเสียเงินค่ายาต่างประเทศถึงปีละกว่าหมื่นล้านบาท ถ้าประหยัดได้เพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ยังเป็นเงินถึงพันล้านบาท
            แต่วิธีการสอบของแพทย์แผนโบราณในขณะนี้ไม่มีช่องทางจะทำให้การแพทย์เจริญ ขึ้นได้ เพราะ (๑) นักเรียนไม่มีมาตรฐาน (๒) อาจารย์ขาดประสบการณ์ในการรักษาโรค (๓) ตำรับตำรามีน้อย และ (๔) นักเรียนเรียนจากตำราอย่างเดียว ไม่มีการปฏิบัติ เพราะเหตุผลเหล่านี้ จึงต้องจัดการสร้างระบบการศึกษาแพทย์แผนโบราณขึ้นใหม่เพื่อให้ได้แพทย์ที่มี คุณภาพดีขึ้น

หลักการของแพทย์อายุรเวท
           มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม ได้วางแผนฟื้นฟูปรับปรุงวิชาแพทย์แผนโบราณโดยแก้ไขวิธีการอบรมสั่งสอนให้ถูก หลัก คือ (๑) กำหนดความรู้ขั้นต่ำของนักศึกษาเท่ากับระดับอุดมศึกษาทั่วไป (๒) กำหนดให้มีการเรียนโดยปฏิบัติและการฝึกซ้อม โดยเฉพาะการเรียนกับคนไข้ (๓) กำหนดให้นักเรียนต้องเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์พอสมควร เพื่อสามารถเข้าใจกลไกของร่างกาย กลไกของโรค กลไกของยา และเพื่อจะสามารถนำวิชาให้ก้าวหน้าไปได้ด้วยการศึกษาเปรียบเทียบกับการแพทย์ ปัจจุบันและการวินิจฉัย
          ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม ได้นำแผนการส่งให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาพร้อมด้วยหลักสูตรสังเขป กระทรวงได้ตั้งกรรมการประกอบด้วยอธิบดีกรมต่าง ๆ และผู้เชี่ยวชาญขึ้นพิจารณา คณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบด้วยเหตุผลหลายประการ (แผนการ “สุขภาพดีทั่วหน้า” “สาธารณสุขมูลฐาน” การประหยัดค่ายาจากต่างประเทศ ความเป็นอิสระทางการแพทย์ ฯลฯ) และอนุมัติให้มูลนิธิฯ จัดตั้งโรงเรียนและดำเนินการ กับได้ติดต่อกระทรวงศึกษาธิการให้ช่วยเหลือทางด้านการจัดตั้งสถานศึกษาด้วย

 

เอกสารอ้างอิง:

http://www.applythaimed.org/fusion7/articles.php?article_id=5

หมายเลขบันทึก: 326717เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ดีมากเช่นกันค่ะ
  • ถ้าเนื้อหามากๆ แบ่งเป็นตอนๆก็ดีนะคะ เพื่อชวนติดตามค่ะ

                         

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท