nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

ผลิตภัณฑ์สุขภาพ นักวิชาชีพ และ ความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ ๑)


ดูโฆษณา แล้วต้องคิดมากขึ้น ไตร่ตรองมากขึ้น ก่อนเชื่อ เพราะนักคิดโฆษณาสมัยใหม่ฉลาดหลักแหลมมาก

        โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ออกมามากเหลือเกิน คนเชื่อไปซื้อมาบริโภค คนขายร่ำรวย คนซื้อส่วนมากไม่ได้มีเงินมากมาย แต่ก็ยังเจียดเงินไปซื้อมากิน

       ฉันไม่รู้ว่าศัพท์ทางการเรียกสินค้าฟุ่มเฟือย  โฆษณาเกินจริง เหล่านี้ว่าอย่างไร

       - ซุปไก่สกัด ที่กลายเป็นกระเช้าเยี่ยมคนไข้ยอดนิยม แต่คนไข้มักไม่กิน เพราะมันเหม็นคาว  และกำลังจับกลุ่มวัยรุ่น นัยว่าดื่มแล้วฉลาด เรียนเก่ง

       - รังนกขวด  ราคาแพง แต่ไม่มีใครรับรองว่า น้ำลายนกในขวดมีสารอาหารคุ้มค่ากับราคาแค่ไหน ถูกทำให้เป็นตัวแทนความรัก ความผูกพัน  และกลายเป็นกระเช้าเยี่ยมไข้ยอดนิยมอีกอย่าง

        อยากขอร้องว่า  เลิกซื้อกระเช้าแบบนี้ไปเยี่ยมคนไข้ เยี่ยมคนที่คุณรักเถอะ  เพราะ คนไข้ และคนที่คุณรักมักไม่กิน มันไม่มีประโยชน์ ไม่คุ้มเงิน โปรดกรุณาเอาเงินก้อนใหญ่นั้นไปซื้อ ผลไม้ นมจืดพร่องไขมัน น้ำผลไม้ ขนมเจ้าอร่อยๆ  ที่คนไข้กินได้ ใครๆ ก็กินได้ ไปฝากแทน จะคุ้มค่ากว่า มีรสนิยมมากกว่าจ้า...

        - นมเด็กที่ผสมสารชื่อแปลกๆ และน้ำมันปลา  ฉันไม่รู้ว่ามันบำรุงสมองตรงไหน  แต่โฆษณาว่ากินแล้วลูกจะฉลาด  ทำหนัง animation ได้   ฉันว่า คนสมัยก่อนก็ฉลาดๆ ทั้งที่ไม่ได้กินนมสูตรพิเศษอะไร  กินแต่นมแม่ กับน้ำข้าว กล้วยน้ำว้า 

         มูลค่าตลาดนมเด็กทุกวันนี้มากกว่า ๑๒,๐๐๐ ล้านบาท  ฉันไม่รู้ว่ามีคำแนะนำดีๆในการเลือกซื้อนมบ้างหรือเปล่า  หรือให้แม่ซื้อตามโฆษณา

         - ซอยเป็บไทด์ โฆษณาชิ้นนี้ฉลาดมาก  ที่ไปอ้างอิงการที่บริษัทได้ไปจัดบูธให้ความรู้เรื่องสมองในงานประชุมวิชาการคณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่  ต่อด้วยการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของตัวเองว่าบำรุงสมอง  เป็นการตัดต่อ ๒ เรื่องที่แนบเนียน  พาให้คนดูคล้อยตามได้ว่า คณะแพทย์ศาสตร์เชียงใหม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์  ผลิตภัณฑ์นี้บอกว่า สินค้าเขามีสารอาหารพิเศษที่ไม่มีในน้ำนมถั่วเหลือง 

         ฉันไม่รู้ข้อเท็จจริง ไม่เชื่อ ไม่ซื้อกิน  ฉันขอกินนมถั่วเหลือง เพราะถูกกว่า สดกว่า และได้อุดหนุนร้านเล็กๆ

         - น้ำรักษาโรค  ที่ตั้งชื่อเรียกภาษาฝรั่ง หลายยี่ห้อ  โฆษณาอ้างอิงว่ารักษาโรคนั้นโรคนี้ได้  ไม่รู้ว่าทำไมจึงกล้าอ้างแบบนั้น 

         ลูกสาวคนไข้เอาขวดน้ำวิเศษรักษาโรค ขวดกระจิ๊ดเดียว 800 บาท  มาถามหมอว่าให้แม่กินน้ำนี้ดีมั๊ย  หมอตอบว่า  “อย่าไปกินเลยครับ  เก็บเงินไปซื้ออาหารอร่อยๆ ที่แม่ชอบมาให้กินดีกว่าครับ”  เธอบอกว่า  “คนขายบอกว่ากินแล้วช่วยลดน้ำตาล ลดความดัน” หมอตอบว่า “อย่าไปเชื่อครับ”

        - กาแฟลดความอ้วน  ออกมาตั้งหลายยี่ห้อ ขายดีเหลือเกิน  คนไข้มาถาม เราก็ได้แต่แนะนำให้ควบคุมอาหาร ลดน้ำหนัก  ซึ่งเป็น “หลักคิด” ที่เป็นวิทยาศาสตร์ และปลอดภัย  แต่คนไข้มักไม่เชื่อ นี่ไงอิทธิพลโฆษณา     

           อ.ย. เคยประกาศว่า ใครเห็นกาแฟที่โฆษณาว่าลดความอ้วนได้  ให้แจ้ง จะดำเนินคดี  พวกนี้ฉลาดกว่า  แปลงโฉมใหม่ เป็นโฆษณาที่ให้กำลังใจคนอ้วนลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างที่ดีๆ เพื่อตัวเอง  เราก็จับเขาไม่ได้

          ฉันอยากบอกว่า  ดูโฆษณา แล้วต้องคิดมากขึ้น  ไตร่ตรองมากขึ้น ก่อนเชื่อ เพราะนักคิดโฆษณาสมัยใหม่ฉลาดหลักแหลมมาก เพราะเขาเป็นมืออาชีพด้านโฆษณา

 

         ในฐานะเป็นบุคลากรสุขภาพ เชื่อมั่นในองค์ความรู้ที่อธิบายได้ชัด  ฉันเชื่ออย่างนี้ค่ะ

         - สารอาหารที่ดีที่สุด คือ สารอาหารที่ได้จากอาหารธรรมชาติ

         - เราจะกินสารอาหารที่สังเคราะห์ เมื่อเราไม่อยู่ในภาวะที่กินอาหารปกติได้  เช่น ป่วยหนัก กินไม่ได้  และต้องสั่งใช้โดยนักวิชาชีพด้านสุขภาพจริงๆ

         - สารอาหารสังเคราะห์  มีราคาแพงเพราะกระบวนการผลิต และค่าโฆษณา  ไม่คุ้มค่าที่จะซื้อมากินบำรุง กินอาหารสดจากธรรมชาติดีที่สุด

         - ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพที่โฆษณานั้น  ตราบใดที่ยังไม่มีการพิสูจน์รับรองทางการแพทย์ที่เป็นทางการว่ามีคุณค่าต่อสุขภาพจริง จงอย่าเชื่อ  

         - การโฆษณา คือ สุดยอดศิลปะการชวนเชื่อ จงเชื่อเพียงครึ่งเดียว  และ หาความรู้จากผู้รู้ ก่อนตัดสินใจ

         - เครื่องหมาย อ.ย. เชื่อได้ แต่ต้องไตร่ตรอง ผลิตภัณฑ์ขึ้นทะเบียนกับ อ.ย. เพื่อให้ได้เลขมาแปะข้างขวด  แต่เวลาไปขาย  ไปแอบอ้างว่ารักษาโรค  อ.ย. ก็ไม่รู้จะไปไล่เอาผิดยังไง  เพราะเป็นคำพูดจากปากคนขาย

        - วิตามินบางอย่างที่ราคาแพง  เช่น วิตามินอี  ทางการแพทย์ก็ไม่สามารถพิสูจน์ว่ารักษาโรคได้ จึงไม่อนุญาตให้เบิก  วิตามินตัวถูกๆ อีกหลายตัวก็ไม่ให้เบิก  อยากกินก็ต้องจ่ายเงินเอง

        - พิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากแหล่งที่ให้ข้อมูล  เช่น หน่วยงานราชการที่เกี่ยวกับสุขภาพโดยตรงย่อมน่าเชื่อถือว่างานแถลงข่าวที่จัดโดยเจ้าของผลิตภัณฑ์

 

       ขออนุญาตเก็บประเด็นสำคัญตามชื่อบันทึกไปเขียนต่อในตอนที่ ๒ ค่ะ

พุธที่ ๒๕ พย. ๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 326713เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • การศึกษาสอนให้เป็นคนเก่ง แต่ไม่สอนให้เป็นคนดี คนในสังคมเอาแต่ประโยชน์ ใครจะเป็นอย่างไรช่าง ไม่รู้จะดีขึ้นได้อย่างไร เพราะคนโฆษณาทำงานกันอย่างเข้มแข็ง ในขณะที่คนรับฟังคำโฆษณาก็เชื่อกันง่ายจังเลย..
  • เป็นบันทึกที่มีประโยชน์มากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท