VeryHistory
VeryHistory เรื่องเล่า ….เล่าเรื่อง | Story

ความสำคัญของตำนานในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : กรณีตำนานสิงหนวัติ


ความสำคัญของตำนานในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : กรณีตำนานสิงหนวัติ

โดย : ศรีศักร วัลลิโภดม

       คำว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในความคิดของข้าพเจ้า คือประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต (living history) และเป็นประวัติศาสตร์สังคม (social history) ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนในสังคมกับแผ่นดินเกิด (มาตุภูมิ) ที่ดำรงอยู่อย่างสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่จบไปเป็นยุคๆ แต่อย่างใด คนในสังคมท้องถิ่นนั่นแหละคือผู้ที่ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ของตนเองขึ้น หาใช่นักประวัติศาสตร์หรือนักวิชาการจากภายนอกเป็นผู้สร้างให้ในรูปแบบของ ประวัติศาสตร์นิพนธ์อย่างที่เรียนกัน และเขียนกันตามมหาวิทยาลัยแต่อย่างใดไม่

      ความต่างกันระหว่างสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์ของคนนอกกับคนในก็คือ ของคนนอกเน้นการเสนอความเป็นจริงที่พิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แต่คนในกลับเน้นที่เรื่องของความเชื่อว่าสิ่งที่สร้างขึ้นนั้นเป็นเรื่อง จริง

      ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของคนในก็คือสิ่งที่เราเรียกกันว่าตำนานในภาษาไทย และมีธ (myth) ในภาษาอังกฤษนั่นเอง เป็นเรื่องสมมุติที่เป็นมิติของความเป็นจริงอย่างหนึ่งในความเป็นมนุษยชาติ เพราะมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาที่มีในพื้นพิภพตั้งแต่มีวิวัฒนาการของความเป็นคน (homo sapiens) ขึ้นมา ก็มีความเชื่อและสร้างสิ่งที่เป็นตำนานขึ้นเพื่ออธิบายชีวิตความเป็นอยู่ ร่วมกันของคนในสังคม ที่เกิดและมีรกรากอยู่ในถิ่นเดียวกันหรือแผ่นดินเดียวกัน มีสำนึกและความรักในแผ่นดินเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน แม้ว่าแต่ละคนแต่ละกลุ่มจะมีความเป็นชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน

      การที่อยู่ร่วมกันในถิ่นเดียวกันจนเกิดสำนึกร่วมเป็นพวกเดียวกันดังกล่าวนี้ คือที่มาของคำว่าชาติ เพราะแปลว่าเกิดในถิ่นเดียวกัน เป็นสำนึกที่เกี่ยวกับพื้นที่ (sense of territory) มีเกิดมาพร้อมๆ กับความเป็นมนุษย์    ตำนานที่ทำให้เกิดสำนึกร่วมของความเป็นชาติเดียวกันมีอยู่ ๒ ระดับ คือระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ    ระดับท้องถิ่น เป็นตำนานที่เกี่ยวกับการสร้างบ้านแปงเมือง ที่แสดงออกจากการเป็นคนบ้านไหน เมืองไหนเดียวกัน

      ระดับประเทศ คือความเป็นคนที่เกิดในประเทศเดียวกัน เป็นคนชาติเดียวกัน จึงเป็นที่มาของความรักชาติ รักบ้านเกิดเมืองนอน

      ตำนานในระดับชาตินั้นมักปรากฏในรูปแบบการรวบรวมปะติดปะต่อตำนานของบ้านและ เมืองตามท้องถิ่น ให้เป็นเรื่องราวใหญ่โตในเชิงบูรณาการทางวัฒนธรรมให้เกิดเป็นคนในชาติเดียว กันเป็นสำคัญ ได้แก่ ตำนาน พงศาวดารที่เกี่ยวกับรัฐ ชนชั้นปกครอง และตำนานศาสนสถาน ตลอดจนสถานที่ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม เช่น ตำนานพระมหาธาตุเจดีย์ ตำนานเมือง ตำนานนคร เป็นต้น

      ความต่างกันของตำนานสองระดับนี้ก็คือ ตำนานท้องถิ่นซึ่งอยู่ในระดับล่างนั้น เป็นเรื่องราวในพื้นที่อันเป็นบ้านและเมืองในถิ่นใดถิ่นหนึ่งโดยเฉพาะ หาได้ใหญ่โตและซับซ้อนเหมือนตำนานพงศาวดารในระดับรัฐและประเทศไม่ เป็นตำนานของคนที่อยู่ในกระบวนการสร้างบ้านแปงเมือง ที่เนื้อหาสาระไม่หยุดนิ่งตายตัว หากมีการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงโดยคนในท้องถิ่นอย่างสืบเนื่อง (มีชีวิต) เพื่อสร้างสำนึกร่วมของความเป็นคนในแผ่นดินเกิดเดียวกัน

       สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ก็คือ บรรดาชื่อบ้านนามเมืองและชื่อของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงในชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น ที่มีทั้งเพิ่มเติมขึ้นมาและเปลี่ยนแปลงหายไป อย่างเช่นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโดยทางราชการ คนที่มาจากภายนอกและคนรุ่นใหม่ในสังคม ดังเช่นเปลี่ยนให้เป็นชื่อทางภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาอังกฤษ เป็นต้น แต่ทว่าเนื้อหาที่เป็นแก่นของตำนานยังคงสืบทอดอยู่ และพร้อมที่จะถูกรื้อฟื้นมาให้ความสำคัญใหม่อยู่เรื่อยๆ

      โดยเฉพาะในเรื่องการถูกนำมาสร้างให้เป็นสัญลักษณ์เพื่อการสร้างสำนึกร่วมและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนและสังคมท้องถิ่น

      ตำนานหลายตำนานที่มีมาแล้วในอดีตและสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ มีลักษณะเป็นตำนานในระดับชาติและท้องถิ่นในเวลาเดียวกัน เช่น ตำนานสิงหนวัติที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประวัติศาสตร์ของชาติ แต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ลงมา ดังเห็นได้จากมีการยอมรับว่าเป็นเรื่องที่กล่าวถึงการเคลื่อนย้ายของชนชาติ ไทยจากตอนใต้ของประเทศจีนเข้ามาในภาคเหนือของประเทศไทย เกิดการตั้งอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ขึ้นในแอ่งเชียงราย ผู้นำทางวัฒนธรรมในการสร้างบ้านแปงเมืองคือเจ้าสิงหนวัติกุมาร ที่มีเชื้อสายสืบเนื่องมาถึงพระเจ้าพรหมมหาราช ที่ลูกหลานต่อมาเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์เชียงราย คือพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สร้างและสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของสยามประเทศ

      เรื่องราวของตำนานสิงหนวัติในระดับชาตินี้ก็เหมือนตำนานระดับชาติอื่นๆ ที่มีลักษณะหยุดนิ่ง และถูกรวบรวมไว้เป็นพงศาวดารระดับชาติในรูปของประชุมพงศาวดาร ที่มีการจัดพิมพ์และจัดเก็บโดยทางรัฐและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งใช้เป็นข้อถกเถียงในการเขียนประวัติศาสตร์แบบหาข้อยุติในบรรดานัก ประวัติศาสตร์ทั้งใหม่และเก่าอยู่เนืองๆ

      แต่การต่อเนื่องของตำนานสิงหนวัติในระดับท้องถิ่นกลับเป็นเรื่องตรงข้าม ไม่หยุดนิ่งเป็นแบบนิทานเก่าๆ (folk) หากมีการเคลื่อนไหว (dynamic) ในบริบททางสังคมท้องถิ่นตลอดเวลา เป็นที่ประจักษ์แก่ข้าพเจ้าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้

      นั่นคือเมื่อปลายเดือนกันยายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้รับเชิญจากคุณเล็ก นครเชียงราย ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นครเชียงราย ให้ไปร่วมเสวนาเรื่อง “เล่าเรื่องเมืองแม่สาย ตำนานเวียงพางคำ ตามรอยพระเจ้าพรหมมหาราช” ให้คนแม่สายฟังที่ลานคนเมืองแม่สาย ในบริเวณหน้าที่ทำการอำเภอแม่สาย การเสวนาครั้งนี้เป็นการจัดการร่วมกันของนายอำเภอแม่สาย ประธานสภาวัฒนธรรม นายกเทศมนตรี และผู้รู้ผู้อาวุโสที่เป็นคนแม่สายอย่างสมานฉันท์

      ที่ทำการอำเภอแม่สายอยู่ในพื้นที่ของเวียงโบราณที่ชาวบ้านชาวเมืองเรียกว่า “เวียงพางคำ” อันเป็นเมืองที่มีกล่าวถึงในตำนานสิงหนวัติว่าเป็นเมืองที่กษัตริย์ในตระกูล สิงหนวัติทรงปกครองต่อมาจนถึงพระเจ้าพรหมมหาราช โดยย่อก็คือเชื่อว่าเป็นเมืองของพระมหากษัตริย์ไทยที่ในประวัติศาสตร์ชาติ ไทยรุ่นเก่ายกย่องว่าทรงเป็นมหาราชพระองค์หนึ่ง จึงเป็นเหตุให้คนท้องถิ่นแม่สายมีความภูมิใจทั้งเวียงและกษัตริย์ มีการสร้างพระบรมรูปของพระเจ้าพรหมมหาราชไว้หน้าที่ทำการอำเภอ และเป็นอนุสาวรีย์ประธานของลานหน้าอำเภอที่ข้าพเจ้าใคร่ขนานนามว่าเป็นลานคน เมือง ให้ดูคล้ายกันกับลานเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์และหน้าวัดสุทัศน์ อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศรีศากยมุนี รวมทั้งหน้าศาลาว่าการ กทม. ในกรุงเทพมหานคร

      เหตุที่ข้าพเจ้าคิดเช่นนี้ก็เพราะว่า ในปัจจุบัน เมืองแม่สายหรืออำเภอแม่สายเป็นเมืองชายแดนติดประเทศพม่า ที่มีการขยายตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง พื้นที่โดยรอบของเวียงพางคำที่อยู่ถัดจากที่ทำการอำเภอไปจนจดลำน้ำสายอัน เป็นจุดผ่านแดนได้กลายเป็นย่านตลาดและแหล่งที่อยู่อาศัย สถานที่ประกอบการทางเศรษฐกิจและกิจกรรมต่างๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งมีประชากรหลายชาติพันธุ์เคลื่อนย้ายเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานกัน ตลอดเวลา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นพื้นที่สะสมของบรรดาผู้คนจากทุกสารทิศอยู่กันแบบ มั่วๆ ไม่มีหัวนอนปลายตีนแบบตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วไปในขณะนี้ เป็นพื้นที่ไร้สังคมและไร้วัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยการค้ายาเสพติด ของเถื่อน และการกระทำที่เป็นอาชญากรรม

      อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายของชนหลายชาติพันธุ์มายังท้องถิ่นแม่สายในทุกวันนี้ได้สะท้อน ให้เห็นว่า ในอดีตก็มีการเคลื่อนย้ายเช่นนี้มาแล้วในอาณาบริเวณใกล้เคียงในแอ่งเชียงราย ทั้งหมดก็ว่าได้ ดังเห็นได้จากงานรวบรวมและค้นคว้าของคุณบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ เรื่อง ๓๐ ชาติในเชียงราย ที่ข้าพเจ้าใคร่ยกย่องว่าเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์สังคมที่ดี ที่สามารถนำมาสานต่อกับเรื่องราวของการเคลื่อนย้ายของผู้คนที่มีมาแต่ก่อน และถูกบันทึกไว้ในตำนานพงศาวดาร ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น โดยเฉพาะตำนานสิงหนวัติและตำนานปู่เจ้าลาวจกและลวจักราช

       ตำนานปู่เจ้าลาวจกและลวจักราชเป็นตำนานที่เกี่ยวกับพัฒนาการของชนเผ่าพื้น เมืองที่อยู่ในที่สูงของแอ่งเชียงรายมาก่อน ที่มีพัฒนาการเคลื่อนลงจากที่สูงมาสู่ที่ราบลุ่มในการสร้างบ้านแปงเมือง ผสมผสานกับคนพื้นราบที่เคลื่อนย้ายมาจากภายนอก จนเป็นที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่าไทยลื้อในทุกวันนี้

       ส่วนตำนานสิงหนวัตินั้นเป็นเรื่องราวของคนที่ราบที่เคลื่อนย้ายมาจากภายนอก จากลุ่มน้ำอิระวดี – สาละวินทางตะวันตกเฉียงเหนือ เข้ามาลำน้ำกกและลำน้ำสาย เป็นตำนานของคนไทมาวและไทยใหญ่ หรือไทยหลวง ที่เคยมีถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน

       ตำนานทั้งสองเรื่องนี้ เมื่อถูกสร้างให้เป็นพงศาวดาร เป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์ระดับชาติแล้ว ก็กลายเป็นพงศาวดารโยนก ที่มีบทบาทในการบูรณาการทางวัฒนธรรม เกิดตระกูลกษัตริย์หลายราชวงศ์ที่เกี่ยวกับการสร้างบ้านสร้างเมือง สร้างศาสนสถานและเขตแคว้นของนครรัฐอย่างชัดเจน ซึ่งความเข้าใจในความหมายความสำคัญเชิงลึกของตำนานทั้งในระดับชาติและท้อง ถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น ต้องนำเอาสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และภูมิวัฒนธรรมมาเชื่อมโยงอย่างหลีก เลี่ยงมิได้

       จากสภาพแวดล้อมทางภูมิวัฒนธรรมที่เมืองแม่สายหรือเวียงพางคำ ข้าพเจ้าแลเห็นพื้นที่ทับซ้อนของตำนานสิงหนวัติและตำนานปู่เจ้าลาวจกและ ลวจักราช เป็นพื้นที่ซึ่งมีเทือกเขาดอยนางนอนอยู่ทางตะวันตก มีทั้งที่ลาดและที่ลุ่มอยู่กลางและมีลำแม่น้ำโขงอยู่ทางตะวันออก เป็นพื้นที่ซึ่งมีลำน้ำสาย - รวก และลำน้ำอัน - ดำหล่อเลี้ยงด้วยระบบเหมืองฝาย โดยมีร่องรอยของเมืองโบราณ ชุมชนโบราณ และปัจจุบัน กระจายอยู่ริมลำน้ำ ลำห้วย ลำเหมืองจนทุกวันนี้

       ดังเช่นในลุ่มน้ำสาย - รวก ก็มีเวียงพางคำที่อำเภอแม่สาย เวียงแก้ว และเวียงสบรวก ตรงปากน้ำรวกที่ไปสบกับแม่น้ำโขงที่เรียกว่าสามเหลี่ยมทองคำในปัจจุบัน ส่วนในลุ่มน้ำอัน - ดำ ก็มีเมืองเชียงแสน เมืองเวียงปรึกษา เวียงมโนราห์ และอื่นๆ

       แต่จุดทับซ้อนของตำนานสิงหนวัติและตำนานลาวจกอยู่ที่ลุ่มน้ำสาย - รวก ที่มีดอยตุงอันเป็นดอยสำคัญของเทือกเขานางนอนเป็นภูศักดิ์สิทธิ์ ดอยตุงเป็นหนึ่งในสามดอยที่ทำให้เกิดลักษณะภูมิประเทศเป็นรูปนางนอน โดยมีดอยจ้องเป็นส่วนหัว ดอยปู่เฒ่าเป็นหน้าอก และดอยตุงเป็นสะโพกส่วนล่าง ลำน้ำลำห้วยจากดอยทั้งสามนี้ไหลผ่านถ้ำหินปูนและเขาหินปูนลงสู่ที่ลาดและที่ ลุ่มที่มีระบบเหมืองฝายรองรับในการกระจายน้ำ ทั้งเพื่ออุปโภคบริโภคและชลประทานในการเพาะปลูก โดยที่ลำน้ำลำห้วยที่ลงจากเขานั้นจะไปเชื่อมโยงกับลำน้ำมะกอกหวาน ที่เป็นสาขาหนึ่งของลำน้ำสายที่ไหลลงมาจากรัฐฉานในประเทศพม่า มายังบริเวณตีนดอยเวา ซึ่งเป็นส่วนปลายของเทือกเขานางนอน

ตรงตีนดอยเวานี้ เป็นจุดที่ลำน้ำสายแตกออกเป็นสองสาย

      สายหนึ่งคือลำน้ำมะกอกหวานที่ไหลลงใต้ ผ่านที่ราบหน้าดอยตุงไปทางตะวันออก แล้ววกไปรวมกับลำน้ำรวกที่ไหลลงมาจากที่สูงในเขตประเทศพม่า    ส่วนลำน้ำสายสายตรงนั้นไหลผ่านเชิงดอยเวาไปทางตะวันออก กลายเป็นเส้นแบ่งเขตแดนกับประเทศพม่า แล้วไปรวมกับลำน้ำรวกที่ไหลลงมาจากเขตพม่า เป็นลำน้ำรวก ไปออกแม่น้ำโขงที่สบรวก

       จากการที่ลำน้ำสายแยกออกเป็น ๒ สายตรงตีนดอยเวาเป็นลำน้ำมะกอกหวานไหลลงใต้แล้ววกไปทางตะวันออก ไปรวมกับลำน้ำรวกที่ไหลลงมาจากทางเหนือในเขตประเทศพม่า และรวมกับลำน้ำสายที่มาจากตีนดอยเวานี้ ทำให้เกิดบริเวณพื้นที่ราบลุ่มเชิงดอยตุง มีลำน้ำธรรมชาติโอบอ้อมเป็นรูปบ่วง (loop) แล้วไปออกแม่น้ำโขงที่สบรวก เป็นพื้นที่ราบลุ่มที่เหมาะสมในการชลประทานด้วยเหมืองฝาย เกิดเมืองเวียงพางคำเป็นเมืองสำคัญขึ้นที่ตีนดอยตุง

       เวียงพางคำเป็นเมืองที่อยู่ในสภาพแวดล้อมคล้ายสุโขทัยและเชียงใหม่ ที่มีเขาอยู่ข้างหลัง และเมืองตั้งอยู่บนที่ราบต่ำลงสู่ที่ราบลุ่ม เพื่อเป็นที่รับน้ำที่ไหลมาจากเขาเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของคนเมือง แต่ว่าอยู่ในตำแหน่งที่อันตราย เสี่ยงกับน้ำท่วมฉับพลันเมื่อฝนตกหนัก จึงจำเป็นต้องมีแนวคูน้ำและคันดินในลักษณะซับซ้อน เพื่อการรับน้ำ เบนน้ำ และกระจายน้ำด้วยระบบเหมืองฝาย ผังเมืองจึงเกิดขึ้นจากการจัดการน้ำเป็นสำคัญ และการป้องกันข้าศึกศัตรูเป็นหน้าที่รองลงมา

        เวียงพางคำคล้ายเวียงเชียงใหม่ที่มีแนวกำแพงและคูน้ำโอบชั้นนอกเพื่อเบนน้ำ เข้าลำเหมือง เช่นเมืองเชียงใหม่เบนน้ำและถ่ายน้ำลงลำน้ำแม่ข่า ซึ่งแท้จริงเป็นลำเหมือง ในขณะที่ทางเวียงพางคำเบนน้ำและถ่ายน้ำลงสู่เหมืองแดง แต่น้ำที่ถูกนำเข้ามาใช้ในการอุปโภคบริโภคที่สำคัญนั้นจะไหลมาจากภู ศักดิ์สิทธิ์เบื้องหลังเมือง ที่มีพระบรมธาตุเป็นสัญลักษณ์ทางจักรวาล เช่นเมืองเชียงใหม่มีพระธาตุดอยสุเทพ แต่ทางเวียงพางคำมีพระธาตุดอยเวา ทั้งเหมืองแม่ข่าของเชียงใหม่และเหมืองแดงของแม่สายต่างก็เป็นต้นแบบให้มี การสร้างเหมืองฝายอีกเป็นจำนวนมาก ที่เบนน้ำจากลำน้ำธรรมชาติที่ลงจากเขาสู่ที่ราบลุ่มเพื่อการชลประทาน และการตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย

        ตำนานปู่เจ้าลาวจกและตำนานสิงหนวัติทับซ้อนกันในพื้นที่ลุ่มน้ำสาย - รวกนี้ โดยตำนานปู่เจ้าลาวจกกล่าวว่า ลาวจกคือผู้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งอยู่บนดอยตุง ซึ่งน่าจะมีการทำไร่หมุนเวียนในการเพาะปลูก เพราะกล่าวถึงการใช้เสียมตุ่น เป็นเครื่องมือ (เครื่องมือหินขัด) ในขณะที่เรื่องลวจักราชพูดถึงลวจักราชเป็นเทพจากดอยตุง จุติมาเกิดเป็นกษัตริย์ ลงบันไดเงินมาสร้างเมืองนครเงินยางที่ตีนดอยตุง ซึ่งเมืองนี้จะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากเวียงพางคำ

       ในขณะที่ชื่อเวียงพางคำนั้นปรากฏในตำนานสิงหนวัติว่าเป็นเมืองที่กษัตริย์ใน ตระกูลสิงหนวัติย้ายมาจากเวียงหนองล่ม มาสร้างขึ้นเป็นเมืองสำคัญ ที่ต่อมาพระเจ้าพรหมมหาราชทรงเป็นกษัตริย์ และแผ่พระเดชานุภาพไปยังบ้านเมืองต่างๆ ความสำคัญของเวียงพางคำที่ปรากฏในตำนานอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตอนที่พระเจ้าพรหมมหาราชจับนาคที่ว่ายมาตามลำน้ำสายแล้วกลายเป็นช้างพานคำ อันเป็นช้างคู่บุญบารมี กับอีกตอนหนึ่งที่กษัตริย์นครพานคำที่สืบมาจากพระเจ้าพรหมโปรดให้ขุดเหมือง แดงขึ้นเพื่อการเพาะปลูกของประชาชน ซึ่งเป็นเหมืองเก่าแก่ที่ยังคงสืบมาจนทุกวันนี้

        เหมืองแดงเป็นเหมืองประวัติศาสตร์ที่มีการอ้างอิงและกล่าวถึงในประวัติ ศาสตร์การชลประทานกันอยู่เนืองๆ ถึงการเอาใจใส่ของผู้ปกครองบ้านเมืองในอดีต

       ปัจจุบันนี้ การรับรู้เรื่องตำนานปู่เจ้าลาวจกและลวจักราชมีน้อยมากในบรรดาผู้รู้ของ อำเภอแม่สาย เหตุนี้ เวียงเงินยางจึงหายไปและเคลื่อนไปอยู่ทางอำเภอเชียงแสน แต่เวียงพางคำและเรื่องของพระเจ้าพรหมยังสืบเนื่องตลอดเวลา แม้พระเจ้าพรหมมหาราชจะค่อยเลือนไปจากประวัติศาสตร์ในปัจจุบันก็ตาม แต่ในบริบทของสังคมท้องถิ่นเช่นเมืองแม่สายก็ยังดำรงอยู่อย่างเข้มข้นในฐานะ ที่เป็นผู้นำทางวัฒนธรรมที่เป็นทั้งอัตลักษณ์และสัญลักษณ์ของท้องถิ่น

       ดังเห็นได้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในลานคนเมืองหน้าที่ทำการอำเภอ อันอยู่ในพื้นที่ของเวียงพางคำ รูปปั้นของพระเจ้าพรหมที่เป็นอนุสาวรีย์กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนกราบ ไหว้บวงสรวงขอพรและพลัง การจัดงานขึ้นก็กลายเป็นประเพณีพิธีกรรมในรอบปีที่มีบทบาทในการอบรมทาง วัฒนธรรมให้แก่เยาวชน (cultivation) การรับรู้ประวัติความสำคัญของพระเจ้าพรหมในมิติใหม่ได้เกิดขึ้นจากทั้งการ เล่าขานตำนานเมือง เหมืองแดง และขานรับด้วยการแสดงการร่ายรำของเด็กนักเรียน รวมไปถึงการนำไปเชื่อมโยงกับรูปแบบเครื่องแต่งกาย และอาหารการกินที่สะท้อนให้เห็นลักษณะทางชาติพันธุ์ของคนแม่สายในปัจจุบัน ทำให้เห็นได้ว่าคนเมืองแม่สายนี้ กลุ่มสำคัญในทางวัฒนธรรมก็คือคนไทยใหญ่ที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งมาช้านานและ ยังคงเข้มข้นอยู่ในปัจจุบัน ข้าพเจ้าเห็นการแต่งกายแบบไทยใหญ่ อาหารไทยใหญ่ โดยเฉพาะข้าวฟืมแบบต่างๆ แต่ที่สำคัญคือการแสดงสิ่งของเอกสารโบราณที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมของ คนแม่สายในช่วงเวลา ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันอย่างชัดเจน

       หลักฐานเหล่านี้มีผู้รู้ผู้สนใจที่เป็นคนแม่สายรวบรวมวิเคราะห์ตีความอย่าง มีเหตุผลและข้อเท็จจริง ที่จะนำไปสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่น และอัตลักษณ์ท้องถิ่น ด้วยสติปัญญาของคนท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นโดยคนแม่สายได้

หมายเลขบันทึก: 326603เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท