ธรรมราชาที่มาแห่งแนวคิดพุทธธรรมาภิบาล


แนวคิดธรรมราชาที่ปรากฎในจักกวัตติสูตรได้ชี้ให้เห็นสัจจธรรม คือความไม่แน่นอนหรือความเสื่อมจากความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์หากไม่ระวัง คุ้มครอง รักษาธรรมให้ดี โดยในพระสูตรได้กล่าวถึงความผิดพลาดอันเกิดจากผู้นำว่า เมื่อถึงรัชชสมัยของพระเจ้าจักรพรรดิ์องค์ที่ ๗ ได้เกิดความผิดพลาดในการปกครองขึ้น เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิ์ไม่ทรงประพฤติพระองค์ตามวงศ์เดิมแห่งพระบิดาของตน (ราชประเพณี) ทรงตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยแนวคิดของพระองค์เองโดยไม่รับฟังที่ปรึกษายังผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย คือมนุษย์ก็เสื่อมลงทั้งสภาพร่างกายและอายุ ศีลธรรมก็เสื่อมจากจิตใจ ละทิ้งกุศลกรรมบท ยืดถืออกุศลกรรมบท

          การศึกษาหลักธรรมาภิบาลตามแนวคิดที่ผู้เขียนเรียกว่า “พุทธธรรมาภิบาล” (Buddhist good governance) จะให้เข้าใจอย่างถ่องแท้นั้นผู้เขียนจะกล่าวถึงที่มาแห่งปัญหาโดยเริ่มตั้งแต่การเกิดขึ้นแห่งสังคมมนุษย์ ดังปรากฎ ในพระไตรปิฎก อัคคัญญสูตร ทีฆนิกาย เกี่ยวกับกำเนิดมนุษย์ที่ไม่มีความแตกต่างทางชนชั้น เมื่อวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จึงมีการคัดเลือก “มหาชนสมมติ” ซึ่งเป็นบุคคลที่ประชาชนคัดเลือกกันขึ้นมาและถ้าไม่ทำหน้าที่ประชาชนก็สามารถปลดออกได้ ความบางตอนในอัคคัญญสูตรที่แสดงความคิดวิวัฒนาการอันเป็นที่มาของปัญหาต่างๆ ในสังคมปัจจุบัน ดังนี้

           “คนเกียจคร้านนำข้าวมาเก็บสั่งสมและเกิดความนิยมทำตามกัน _  เกิดการปักปันกั้นเขตแบ่งส่วนข้าว _  คนโลภลักส่วนของคนอื่นมาเพิ่มแก่ตน (เกิดอทินนาทาน)  _ เกิดการตำหนิติเตียน   การกล่าวเท็จ  การทำร้ายลงโทษ การต่อสู้  _   ผู้มีปัญญาเห็นความจำเป็นต้องมีการปกครอง  เกิดการเลือกตั้ง[1] _  เกิดมีคำว่า กษัตริย์  ó  มีคนเบื่อหน่ายความชั่วร้ายในสังคม  คิดลอยล้างบาปไปอยู่ป่าบำเพ็ญฌาน  บางพวกอยู่ใกล้ชุมชน เล่าเรียนเขียนตำรา  เกิดมีคำว่า พราหมณ์ เป็นต้น ó  คนมีครอบครัวประกอบการอาชีพประเภทต่างๆ เกิดมีคำว่า แพศย์  ó  คนนอกจากนี้ ซึ่งประพฤติเหลวไหลเลวร้าย ถูกเรียกว่า ศูทร  ó  คนทั้งสี่พวกนั้นบางส่วนละเลิกขนบธรรมเนียมของคน  สละเหย้าเรือนออกบวช เกิดมีสมณะ[2]

จากพระสูตรจะพบรูปแบบประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จากการที่ประชาชนเลือกผู้นำขึ้นปกครองตนเอง  และสมมุติเรียกว่า มหาชนสมมติ หรือราชา เพราะนำมาซึ่งความยินดี  โดยมีกติกาอยู่ว่าผู้นั้นจะต้องมีธรรม   พระราชาที่ครองแว่นแคว้นโดยธรรม  ก็จะได้รับการยกย่องว่าเป็นธรรมราชา ดังที่ปรากฎในจักกวัตติสูตรว่า

            “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพระราชาจักรพรรดิ์ พระนามว่า ทัลหเนมิ ผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชำนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์        ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗ พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดิน มีสาคร   เป็นขอบเขต”[3]

            คำว่า “ผู้ทรงธรรม” นั้นหมายถึงเป็นผู้ปฏิบัติตามธรรม คือพระองค์เองมีธรรมเป็นวัตรปฏิบัติ คือ ดำรงชีวิตอยู่ในศีลธรรมทั้งกาย วาจา ใจ ส่วน “เป็นพระราชาโดยธรรม” นั้นหมายถึงทรงใช้ธรรมในการปกครองราษฎร และข้าราชบริพารตลอดจนพระราชวงศ์ทั้งในพระนครของพระองค์ และในบรรดาประเทศราช ทรงชนะด้วยธรรม แก้ไขปัญหาและคดีความต่างๆ ด้วยธรรม บริหารบ้านเมืองด้วยธรรม[4]  ธรรมจึงเป็นเครื่องตัดสินว่าผู้ใดสมควรเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ดีหรือไม่ดี ดังความว่า

           “ ลูกเอ๋ย ถ้าเช่นนั้น ลูกจงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่ จงจัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองชนภายใน กำลังพล พวกกษัตริย์ผู้ตามเสด็จ   พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท สมณพราหมณ์   สัตว์จำพวกเนื้อและนกโดยธรรม”[5]

        ธรรมราชาในจักกวัตติสูตรได้กล่าวถึงแนวคิดการบริหารจัดการโดยยึดธรรมเป็นใหญ่ โดยการนำธรรมมาใช้คุ้มครอง ป้องกัน ประชาราษฎรในแว่นแคว้นตามฐานะ ในพระสูตรชี้ให้เห็นว่าพระราชาจะทรงธรรมได้นั้นจะต้องมีที่ปรึกษาที่ทรงธรรมนั่นก็คือ สมณพราหมณ์ ซึ่งท่านไม่เจาะจงนักบวชในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ผู้เขียนจึงได้นำเสนอโครงสร้างการปกครองของพุทธจักรที่สามารถอยู่ร่วมกันกับอาณาจักรได้เป็นอย่างดีมาเชื่อมต่อเพื่อให้เห็นความสอดคล้อง ซึ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา  พระพุทธเจ้าได้ทรงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางฝ่ายการเมืองโดยการแสดงธรรม คือหลักปฏิบัติต่างๆ ในหลายเหตุการณ์เช่น การสนทนากับพระเจ้าพิมพิสารที่เวฬุวันสวนไผ่  การห้ามพระญาติมิให้ทำสงครามแย่งน้ำ  เป็นต้น

โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรและอาณาจักร

           จากภาพแสดงให้เห็นได้ถึงความสัมพันธ์ทั้งในเชิงโครงสร้าง   และความสัมพันธ์เชิงบทบาทหน้าที่ระหว่างบุคคล    จากโครงสร้างดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีการแบ่งย่อยไปจากโครงสร้างทางสังคมแบบเดิมโดยเฉพาะในระดับชนชั้นปกครองแต่โครงสร้างหลักยังคงเหมือนเดิม จะต่างกันที่ตรงระดับสามัญชน ไม่มีการกล่าวถึงศูทรหรือชนชั้นต่ำอย่างในอัคคัญญสูตร  การแบ่งย่อยเช่นนี้เรียกว่า ชาติ เป็นการแบ่งแยกบุคคลออกเป็นกลุ่มอาชีพย่อยๆ เช่น นักบวช (พราหมณ์)  อาจทำหน้าที่ทางพิธีกรรม   หรือทำหน้าที่สอนหนังสือ กษัตริย์ (ชนชั้นปกครอง) ก็อาจจะเป็นพระราชา เป็นอำมาตย์ เป็นทหาร เป็นที่ปรึกษาราชการเป็นต้น[6] เป็นที่น่าสังเกตว่าในสังคมพุทธเถรวาทในประเทศไทยนั้นไม่นิยมให้พระภิกษุมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ แต่ในพระสูตรนี้ดูเหมือนพระพุทธองค์จะทรงวางนักบวชซึ่งอาจรวมถึงภิกษุในพระพุทธศาสนาไว้ในฐานะที่ปรึกษาราชการของเจ้าผู้ปกครองหรือนักบริหาร นักการเมืองไว้อย่างชัดเจน   สอดคล้องกับแนวคิดในสามัญญผลสูตร ซึ่งปรากฏว่ามีการแบ่งสังคมออกเป็น ๒ ภาคส่วน คือ ภาคสังฆะ(ชุมชนสงฆ์) กับภาคพระราชา (ผู้ปกครอง) คนทั้งสองภาคส่วนนี้ไม่สามารถใช้อำนาจบีบบังคับซึ่งกันและกันได้ แต่สามารถให้คำแนะนำแก่กันและกันได้ [7]

        จากการศึกษาผู้เขียนมีความเห็นว่า คำว่า ธรรมราชา จัดเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งของผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์อย่างเช่น พระเจ้าจักรพรรดิ์พระนามว่าทัฬหเนมิ ในจักกวัตติสูตร ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวปรากฎเฉพาะในพระคัมภีร์ไม่ได้ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งคุณสมบัติของความเป็นธรรมราชาก็หาไม่ได้กับพระราชาทั่วไป มีเพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงมีคุณสมบัติที่จะเป็นธรรมราชา[8] เมื่อหากตีความธรรมราชาเป็นนามธรรมว่าหมายถึงคุณสมบัติที่อยู่ในบุคคล สิ่งที่ธรรมราชา ยึดถือเรียกว่า ธรรมาธิปไตย ก็อาจจะพบได้กับพระราชาในอดีต เช่นพระเจ้าอโศกมหาราช หรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เป็นต้น  หลักธรรมาธิปไตยจัดว่าเป็นหลักการสูงสุดในพระพุทธศาสนา   ซึ่งหลักการดังกล่าวปรากฎในชื่อปาพจน์ หรือธรรมวินัยนั่นเอง  แนวคิดพุทธธรรมาภิบาล ที่ผู้เขียนใช้ในการศึกษาครั้งนี้ถือว่าเป็นหลักการอย่างสูงเช่นเดียวกัน เพียงแต่อาจเทียบไม่ได้กับหลักธรรมาธิปไตย โดยเฉพาะในแง่ของความหมายตามรูปศัพท์ เพราะหลักพุทธธรรมาภิบาล ตามรูปศัพท์อภิบาล แปลว่า การรักษาอย่างยิ่ง จึงเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งทางการบริหารของผู้นำ หรือของบุคคลแต่เป็นการอภิบาลโดยธรรม ส่วนธรรมาภิบาลในปัจจุบันนั้นยังไม่มีความสำคัญเทียบเท่าแนวคิดพุทธธรรมาภิบาลที่ผู้เขียนเสนอไว้ เนื่องจากยังมีอำนาจแบบอัตตาธิปไตย และอุปาทานแฝงตัวอยู่มาก ทั้งนี้โดยพิจารณาจากเป้าหมายในเชิงผลประโยชน์  เพราะมุ่งประโยชน์ส่วนตนเป็นหลักมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม  แต่พุทธธรรมาภิบาลจะเน้นประโยชน์ทั้งสอง คือประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า ตลอดจนประโยชน์อย่างยิ่งคือ พระนิพพาน

        แนวคิดธรรมราชาที่ปรากฎในจักกวัตติสูตรได้ชี้ให้เห็นสัจจธรรม คือความไม่แน่นอนหรือความเสื่อมจากความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์หากไม่ระวัง คุ้มครอง รักษาธรรมให้ดี    โดยในพระสูตรได้กล่าวถึงความผิดพลาดอันเกิดจากผู้นำว่า เมื่อถึงรัชชสมัยของพระเจ้าจักรพรรดิ์องค์ที่ ๗  ได้เกิดความผิดพลาดในการปกครองขึ้น  เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิ์ไม่ทรงประพฤติพระองค์ตามวงศ์เดิมแห่งพระบิดาของตน (ราชประเพณี)  ทรงตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยแนวคิดของพระองค์เองโดยไม่รับฟังที่ปรึกษายังผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย  คือมนุษย์ก็เสื่อมลงทั้งสภาพร่างกายและอายุ ศีลธรรมก็เสื่อมจากจิตใจ ละทิ้งกุศลกรรมบท  ยืดถืออกุศลกรรมบท  ดังข้อความที่ปรากฎในจักกวัตติสูตรที่ได้แสดงการเกิดขึ้นแห่งอาชญากรรมและความชั่วร้ายเดือดร้อนต่างๆ ในสังคมตามแนวปัจจยาการ ดังนี้

             “(ผู้ปกครอง) ไม่จัดสรรปันทรัพย์ให้แก่เหล่าชนผู้ไร้ทรัพย์  ความยากจนระบาดทั่ว   อทินนาทานระบาดทั่ว   การใช้อาวุธระบาดทั่ว   ปาณาติบาต (การฆ่าฟันกันในหมู่มนุษย์) ระบาดทั่ว  มุสาวาทระบาดทั่ว  การส่อเสียด  กาเมสุมิจฉาจาร  ผรุสวาจา และสัมผัปปลาปะ  อภิชฌาและพยาบาท มิจฉาทิฏฐิ   อธรรมราคะ ความละโมบ มิจฉาธรรม  ความไม่นับถือพ่อแม่สมณพราหมณ์ และการไม่เคารพนับถือกันตามฐานะระบาดทั่ว   อายุ วรรณะเสื่อม[9]   

           จะเห็นได้ว่าในจักกวัตติสูตร นอกจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้นำที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชประเพณีแล้ว  ยังได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ความยากจนเป็นบ่อเกิดแห่งการไร้ศีลธรรม และอาชญากรรม การกำจัดอาชญากรรมได้นั้นจะต้องปรับปรุงทางเศรษฐกิจ การที่ผู้ปกครองจะดำรงอยู่ได้นาน  ต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ราษฎรต้องอยู่ดีกินดี  หากราษฎรมีความเดือดร้อนต้องรีบช่วยเหลือแก้ไข  ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปกครอง พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ผู้นำ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยคุณธรรมจึงจะได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ ตามหลัก “จักรวรรดิวัตร”  ๕  ประการ คือ

           ๑. ธรรมาธิปไตย  คือ ถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผล หลักการ กฎกติกาที่ชอบธรรมเป็นบรรทัดฐาน เคารพธรรม เชิดชูธรรม นิยมธรรม ตั้งตนอยู่ในธรรม ประพฤติธรรมด้วยตนเอง

           ๒. ธรรมิการักขา  คือ จัดอำนวยการรักษา คุ้มครองอันชอบธรรมแก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน คือ ข้าราชการฝ่ายทหาร ข้าราชการฝ่ายปกครอง ข้าราชการพลเรือน นักวิชาการ และคนต่างอาชีพ เช่น พ่อค้าและเกษตรกร ชาวนิคมชนบท และชนชายแดน พระสงฆ์และบรรพชิตผู้ทรงศีลทรงคุณธรรม  ตลอดจนสัตว์มีเท้า หรือสัตว์ปีก อันควรสงวนรักษา  ในอรรถกถาท่านอธิบายต่อไปว่า ให้พระราชา หรือผู้นำแนะนำบุตรและภรรยา กล่าวคือชนภายในให้ตั้งอยู่ ในศีลสังวร  ให้วัตถุมีผ้าดอกไม้และของหอมเป็นต้น แก่พวกบุตร และภรรยานั้น และป้องกันอุปัทวะทั้งหมดให้แก่เขา แม้ในเหล่าทหารเป็นต้นก็เหมือนกัน แต่มีข้อแตกต่างกันดังนี้ เหล่าทหารพระราชาควรสงเคราะห์ด้วยการให้บำเหน็จรางวัล ไม่ให้ล่วงเลยกาลเวลา กษัตริย์ผู้ได้รับการอภิเษก ควรสงเคราะห์ด้วยการให้รัตนะมีม้า อาชาไนยอันสง่างามเป็นต้น กษัตริย์ที่เป็นประเทศราช ควรให้ยินดี แม้ด้วยการมอบให้ยานพาหนะอันสมควรแก่ความเป็นกษัตริย์นั้น พราหมณ์ทั้งหลายควรให้ยินดีด้วยไทยธรรมมีข้าวน้ำและผ้าเป็นต้น พวกคฤหบดีควรสงเคราะห์ ด้วยการให้พันธุ์ ข้าว ไถ ผาล และโคงานเป็นต้น  ผู้อยู่ในนิคมและผู้อยู่ในชนบทก็เหมือนกัน (คือควรสงเคราะห์ ด้วยการให้พันธุ์ข้าว ไถ ผาลและโคงานเป็นต้น) พวกสมณพราหมณ์ ผู้มีบาปสงบ มีบาปลอยเสียแล้วควรสักการะ ด้วยการถวายบริขารสำหรับสมณพราหมณ์ หมู่เนื้อและนกควรให้โปร่งใจเสียได้ด้วยการให้อภัย (รวมถึงการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งพืชและสัตว์) [10]       ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่าหลักธรรมาภิบาลที่ใช้ในปัจจุบันมีฐานะใกล้เคียงกับข้อนี้  เพราะอำนาจโดยส่วนใหญ่ในการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลขึ้นอยู่กับผู้นำ  ในส่วนผู้นำเองก็มุ่งสร้างความชอบธรรมทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น

         ๓. อธรรมการนิเสธนา ห้ามกั้น มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต คือการจัดการป้องกัน แก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง ชักนำประชาชนให้ตั้งมั่นในสุจริตและนิยมธรรม

         ๔. ธนานุประทาน  ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น เช่น จัดให้ราษฎรทั้งปวงมีทางหาเลี้ยงชีพ ทำมาหากินได้โดยสุจริต

         ๕. ปริปุจฉา ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมาอยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่  แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง

            สรุปได้ว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงสาเหตุของปัญหาในเชิงปัจเจกชน ไว้ในอัคคัญญสูตร   ว่าด้วยปัจจยาการแห่งกิเลส ตัณหาของมนุษย์ ทำให้มนุษย์เสื่อมจากความเป็นผู้วิเศษ แต่ในจักกวัตติสูตรพระพุทธองค์ทรงตรัสสาเหตุของปัญหาในระดับโครงสร้าง เรื่องการเมือง  การปกครอง  หากผู้นำไม่ยืดถือปฏิบัติตามหลัก “จักรวรรดิวัตร” ก็จะเป็นที่มาของปัญหาต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นต้นแบบแห่งธรรมาภิบาลได้เป็นอย่างดี  (โปรดติดตามตอนต่อไป)

 


[1] นี้เป็นแนวคิดที่สำคัญซึ่งภายหลังต่อมาเรารู้จักกันในนามสัญญาประชาคมของรุสโซ ดังที่สมบัติ จันทรวงศ์ได้สรุปไว้ว่า  “สัญญาประชาคม คือ ข้อตกลงของมนุษย์ที่จะสร้างสังคมการเมืองและจัดตั้งเครื่องสิทธิอำนาจอธิปไตยขึ้น”

[2]  ที.ปา. ๑๑/๑๑๑-๑๔๐/๘๓-๑๐๒ (อัคคัญญสูตรสูตร)  ดูเพิ่มเติมใน พระธรรมปิฎก  พุทธธรรม  หน้า  ๑๓๙ – ๑๔๐.

[3]  ที. ปา. ๑๑/๘๑/๖๐             (จักกวัตติสูตร)  

[4] ปรีชา  ช้างขวัญยืน .  ธรรมรัฐ – ธรรมราชา.   กรุงเทพมหานคร:  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  ๒๕๔๒ . หน้า ๑๙.

[5] ที.ปา. ๑๑/๘๔/๖๒               (จักกวัตติสูตร)   

[6] พระณัฐพงษ์  ปญฺญาวชิโร (ฉลาดแหลม), การศึกษาเปรียบเทียบแนวความคิดทางสังคมในพุทธปรัชญาเถรวาทกับปรัชญาขงจื้อ,  บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  หน้า ๑๓.

[7]  ที.สี.  ๙ /๑๕๐/๔๙  (สามัญญผลสูตร)

[8]  ปรีชา  ช้างขวัญยืน .  ธรรมรัฐ – ธรรมราชา.   กรุงเทพมหานคร:  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  ๒๕๔๒ . หน้า ๑๒ .

 [9]  ที.ปา. ๑๑/๑๐๒/๗๓ (จักกวัตติสูตร)  ดูเพิ่มเติมใน  พระธรรมปิฎก,  พุทธธรรม , หน้า  ๑๓๙ - ๑๔๐

[10]  ทีฆนิกายฏฺฐกถา (สุมงฺคลวิลาสินี ๓)  เล่มที่ ๖,  หน้า ๕๕.   (อรรถกถาจักกวัตติสูตร)

หมายเลขบันทึก: 326482เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท