ภาษาบาลี ..............ภาษาที่พูดได้


ภาษาบาลี ..............ภาษาที่พูดได้

     เมื่อกล่าวถึงภาษาบาลีคนไทยส่วนใหญ่คิดว่าเป็นภาษาที่ใช้ในคณะสงฆ์ไทย ที่มีจำนวนผู้รู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่มากนัก สมัยที่บวชเป็นพระ มีโอกาสเรียนภาษาบาลีตามหลักสูตรของคณะสงฆ์ จำความได้ว่า พระอาจารย์ผู้สอนได้ย้ำในห้องเรียนเสมอว่า ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ตายแล้ว ไม่มีใครพูดแล้ว ที่เราจำเป็นต้องเรียนภาษาบาลีอยู่นี้ เพื่อที่จะศึกษาและรักษาพุทธพจน์หลักคำสอนของพุทธองค์ไว้

    ความเชื่อนี้ยังคงฝังอยู่ในใจเสมอมา การเรียนภาษาบาลีนั้นต้องแปลให้ถูกตามหลักไวยากรณ์ จึงจะสอบผ่าน คงไม่มีใครนำมาพูดแล้วจริงๆ

ในขณะที่ประชาชนทั่วไปจะได้ยินภาษาบาลีเมื่อสวด โดยทั้งพระทั้งประชาชนทั่วไปไม่รู้ความหมาย

แต่ความคิดที่ว่าภาษาบาลี เป็นเพียงภาษาที่บันทึกหลักสอนของพุทธองค์และใช้เป็นบทสวดเท่านั้นต้องเปลี่ยนไป  เมื่อเดินทางไปเรียนภาษาฮินดี ที่เมืองอาครา อาจารย์ชาวอินเดียถามว่าเคยเรียนภาษาบาลีมาหรือเปล่า เมื่อตอบว่าเคยเรียนมาบ้าง อาจารย์ก็ชวนคุยด้วยภาษาบาลีทั้นที ปรากฏว่าฟังรู้เรื่องบ้าง แต่ตอบโต้ไม่ได้ ในขณะที่นักศึกษาซึ่งมาจากประเทศศรีลังกา สามารถโต้ตอบกับอาจารย์ได้อย่างสบาย

จากนั้นจึงมีความเชื่อว่า ภาษาบาลีสามารถนำมาพูดในชีวิตประจำได้

เมื่อมาเข้าร่วมประชุมสัมมนาผลงานวิจัยนานาชาติครั้งที่๒ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย พระนครศรีอยุธยา ในการสัมมนาวันที่ ๙ ธันวาคม มีการนำเสนอผลงานวิจัยทางพระพุทธศาสนาด้วยภาษาบาลี

ได้เห็นถึงความสามารถของพระจากประเทศศรีลังกาที่สามารถพูดภาษาบาลีได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่ Moderator ที่เป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ชื่อMr. Aruna Gamage จากมหาวิทยาลัยKelaniya สามารถพูดภาษาบาลี เป็นธรรมชาติเหมือนพูดภาษาสิงหล ที่เป็นภาษาประจำชาติของตนเอง สามารถโต้ตอบการผู้ที่สอบถามปัญหาอย่างดีเยี่ยม  ในขณะที่พระภิกษุจากพม่าก็ไม่น้อยหน้าที่นำเสนอผลงานวิจัยภาษาบาลี และสามารถตอบปัญหาได้อย่างดีเยี่ยมเช่นกัน

ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ได้มีโอกาสฟังการสัมมนาที่เป็นภาษาบาลีล้วนๆ จำนวน ๑๘ เรื่อง และเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่การสัมมนาพูดด้วยภาษาบาลีล้วนๆทั้งวัน

ภาษาบาลีไม่ใช่ภาษาที่ตายแล้ว แต่เป็นภาษาที่สามารถนำมาใช้พูด ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ

หวังว่าการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยคงไปถึงจุดนั้น ในไม่ช้านี้

 

หมายเลขบันทึก: 326423เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

..น่าสนใจมากค่ะ...เมื่อพูดถึงการเรียนภาษา...กับการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน...ภาษาตาย...เป็นความคิดที่ผิดธรรมชาติเอามากๆก็ว่าได้...ภาษาไม่เคยตาย...แต่คนใช้ภาษาตาย....ความเปลี่ยนแปลงของภาษาจึงมีอยู่ตลอดเวลา...ดังธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลนาน...ฉะนั้นการเรียนภาษาใหม่ควรเรียนควบคู่ไปกับรากเง่าภาษาเก่า...ฉะนั้นจะมีการฝึกฝนในด้านทักษะเมื่อมีความรู้ก็จะได้ความชำนาญช่ำชองตามเวลา....ภาษาจึงไม่ตาย.....(ครั้งหนึ่งเคยดูข่าวในทีวีเมืองเยอรมัน มีนักเรียนญี่ปุ่นเรียนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและภาษาลาติน...เขาได้แสดงความสามารถของเขาในเรื่องภาษาลาตินอธิบายโดยใช้ภาษาลาตินขณะที่ทำงานเป็นมัคคุเทศน์...กับผู้สนใจ)....กลับมาถึงคณะสงฆ์ไทย..กับการศึกษาที่หวังว่าจะให้ถึงจุดนั้นในไม่ช้านี้...คงจะเป็นความหวังที่เลื่อนลอย..ยายธีว่า....เพราะเท่าที่ผ่านๆหู...ปัญหาภิกษุณีในเมืองไทย...ก็ยังงมโข่งอยู่เลย....แล้วกับการใช้ภาษาบาลีแบบท่องจำ...แบบนกแก้วนกขุนทอง....ก็รอๆๆๆๆๆๆๆกันไปก่อนแล้วกัน....ใครเก่งก็หาความรู้ใส่ตัว...เอาเองแล้วกัน....อิอิ

สวัสดีครับยายธี

ประเทศคงต้องปรับระบบการเรียนการสอนใหม่แล้ว

อย่าว่าแต่ภาษาบาลีพูดไม่ได้เลย

แม้แต่ภาษาอังกฤษที่ถูกบังคับให้เรียนตั้งแต่ประถม จนเรียนมหาวิทยาลัย ยังพูดไม่ได้เลยครับ

ฟังแล้วยังเศร้าใจ แบบนี้จะโทษใคร

โทษว่าเด็กโง่ หรือโทษระบบการศึกษา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท