ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ : วาทกรรมการครอบครองแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา (ตอนที่ ๑)


วาทกรรมการพัฒนาโลกตามแนวคิดทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่เปิดโอกาสให้บุคคล กลุ่มบุคคล บรรษัทข้ามชาติอาศัยความเชี่ยวชาญชำนาญทำการคดโกงธรรมชาติ และเอาเปรียบเพื่อนร่วมโลกผู้ที่อ่อนด้อยกว่าโดยการครอบครองทรัพยากรที่ควรจะถูกแจกจ่ายและแบ่งปันอย่างทั่วถึงไว้แต่เพียงผู้เดียว เมื่อมีการครอบครองที่ไร้ขอบเขตทำให้ทรัพยากรส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่กลุ่ม ตัวเลขที่รับรู้กันทั่วไปก็คือคนรวยราวๆ ๒๐% ในโลกนี้ได้รับทรัพย์ศฤงคารจากธรรมชาติและสังคมถึง ๘๓% อีก ๑๗% ที่เหลือจากนั้นแบ่งสันปันส่วนกันต่อไปอย่างอยุติธรรมในหมู่ประชากรโลกอีก ๘๐%[1] นี่คือสภาพของทุกขสัจจ์ อันเป็นชะตากรรมของมนุษย์โลกส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

บทนำ  

           ผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร วิกฤตโลกร้อนดังที่ปรากฎในปัจจุบัน   และอาจรวมไปถึงหายนะภัยทางธรรมชาติอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทำให้เกิดความสงสัยว่ายานอวกาศโลกลำกลมๆ ลำนี้ ที่มีลูกเรือโดยสารในยานเฉียดๆเจ็ดพันล้านคนจะอยู่กันอย่างไร   ในขณะที่เสบียงอาหารคือทรัพยากรนับวันจะร่อยหรอลงทุกวัน   ซึ่งสาเหตุแห่งวิกฤตการณ์ดังกล่าวเป็นผลพวงจากวาทกรรมการพัฒนาโลกตามแนวคิดทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่เปิดโอกาสให้บุคคล  กลุ่มบุคคล  บรรษัทข้ามชาติอาศัยความเชี่ยวชาญชำนาญทำการคดโกงธรรมชาติ  และเอาเปรียบเพื่อนร่วมโลกผู้ที่อ่อนด้อยกว่าโดยการครอบครองทรัพยากรที่ควรจะถูกแจกจ่ายและแบ่งปันอย่างทั่วถึงไว้แต่เพียงผู้เดียว   เมื่อมีการครอบครองที่ไร้ขอบเขตทำให้ทรัพยากรส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่กลุ่ม   ตัวเลขที่รับรู้กันทั่วไปก็คือคนรวยราวๆ ๒๐% ในโลกนี้ได้รับทรัพย์ศฤงคารจากธรรมชาติและสังคมถึง ๘๓% อีก ๑๗% ที่เหลือจากนั้นแบ่งสันปันส่วนกันต่อไปอย่างอยุติธรรมในหมู่ประชากรโลกอีก ๘๐%[1] นี่คือสภาพของทุกขสัจจ์ อันเป็นชะตากรรมของมนุษย์โลกส่วนใหญ่ในปัจจุบัน 

       จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสภาพปัจจุบันปัญหาที่เป็นภาพสะท้อน แห่งการครอบครองแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา บทความนี้ต้องการนำเสนอที่มาแห่งแนวคิด  และวิวัฒนาการของการครอบครองของมนุษย์ทั้งในระดับปัจเจก และในระดับโครงสร้าง  ทั้งในแง่ที่เป็นการครอบครองวัตถุอันเป็นทรัพยากรร่วมกันของโลก และการครอบครองในลักษณะนามธรรมที่เป็นความคิด ความเชื่ออันเป็นที่มาแห่งความยึดมั่นถือมั่น เป็นอัตตาตัวตนซึ่งเป็นวาทกรรมหลักแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจโลกตามทัศนะของตะวันตก   ในขณะเดียวกันก็มุ่งเสนอมุมทางอันเป็นท่าทีของพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นภูมิปัญญาตะวันออกที่มีต่อการครอบครอง    ทั้งในแง่สิทธิความเสมอภาค หรือความชอบธรรมในการเข้าครอบครอง   รวมไปถึงเสนอแนะแนวทางของการครอบครองที่ถูกต้องว่าควรเป็นเช่นไร   สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเห็นประเด็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต    และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนามนุษย์ในระดับปัจเจก  และระดับโครงสร้างของสังคมโลกแบบใหม่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป 

ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ : วาทกรรมการครอบครองแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา  

การครอบครองแบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์  

         ในยุคสมัยกรีก เป็นยุคสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดในยุคโบราณของโลก การเคลื่อนไหวต่างๆ ของโลกในยุคนั้นล้วนมีกำเนิดมาจากกรีก เจริญรุ่งเรืองทุกด้าน ทั้งทางภาษา วัฒนธรรม อารยธรรม การศึกษา กฎหมาย การค้า แนวคิดและหลักปรัชญาต่างๆ  ยุคสมัยกรีกจึงเป็นยุคเริ่มต้นคิดอย่างมีเหตุผลอย่างมีระบบของมนุษย์ (rational age of man) และให้กำเนิดนักคิดและปราชญ์คนสำคัญของโลก ดังเช่นโสเครติส เพลโต และอริสโตเติล  การบริหารการปกครองในยุคกรีกแบ่งคนในสังคมออกเป็น ๒ ชนชั้น คือ ชนชั้นผู้ปกครอง และชนชั้นผู้ใต้ปกครอง และผู้ที่มีความรู้ มีปัญญาปราดเปรื่องมากที่สุดก็จะถูกเลือกให้เป็นกษัตริย์ จึงเรียกว่าเป็นระบอบการปกครองโดยคนที่ดีที่สุด คนที่มีปัญญามากที่สุด หรือโดยคนที่มีความสามารถที่สุด หรือระบอบ อมาตยธิปไตย (rule by the best or aristocracy)เพราะฉะนั้นคุณสมบัติของผู้ปกครองจะต้องไม่ลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ ไม่ครอบครองทรัพย์สมบัติ มีทศพิธราชธรรม และประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้ปกครองแก่คนอื่นในสังคม จึงเป็นยุคสมัยที่ผู้ปกครองยังดำรงชีวิตอยู่ในศีลธรรมและจริยธรรมอยู่มาก ทั้งโสเครติส เพลโต และอริสโตเติล ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งและต่อต้านลัทธิพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอริสโตเติลไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการแสวงหารายได้ในรูปกำไรหรือดอกเบี้ยจากการกู้ยืม ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดไปจากธรรมชาติ และในแง่จริยธรรมแล้วก็เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ อย่างไรก็ตามอริสโตเติลไม่ได้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ  หรือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในแง่จริยธรรมถ้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือการผลิตและการแลกเปลี่ยนสินค้านั้นเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการในการอุปโภคบริโภคของสมาชิกในสังคม เพื่อให้สมาชิกในสังคมมีมาตรฐานการดำเนินชีวิตอยู่ในระดับที่ต้องการซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะนำวิถีชีวิตของมนุษย์ไปสู่ภาวะที่ดี  ดังนั้นการขาดแคลนสินค้าบริโภคของชีวิตผู้คนในสังคมจึงถือได้ว่าเป็นวิถีชีวิตที่ไม่ธรรมชาติ อย่างไรก็ตามการสะสมเงินและทองคำ การหากำไรหรือการให้กู้ยืมเพื่อแสวงหารายได้ซึ่งมีเป้าหมายในการครอบครองหรือแสวงหาอำนาจถือว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านั้นมิใช่เป็นเครื่องมือที่จะทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์ดำเนินไปในลักษณะที่ดีงาม การสะสมทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ผิดไปจากธรรมชาติ   และเป็นสิ่งที่จะต้องถูกลงโทษ   เพราะฉะนั้นพ่อค้าที่ทำหน้าที่ในการผลิตและขายสินค้านั้น ราคาสินค้าที่ขายควรจะเป็นเท่าไร หรือพ่อค้าควรจะได้รับผลตอบแทนเท่าไรจากการทำหน้าที่นี้ คำตอบก็คือ พ่อค้าจะให้รวยมากไม่ได้ ต้องให้มีรายได้พอสมควรแก่ฐานะความเป็นพ่อค้า  

          ต่อมาแนวคิดการครอบครองปรากฎชัดเจนมากในสมัยกลาง ทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่ในแผ่นดินตกเป็นของราชวงศ์และชนชั้นขุนนาง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะตามคติปรัชญาการเมืองของตะวันตก กษัตริย์คือตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากพระเจ้าทรงสร้างผืนแผ่นดินและทรัพยากรต่างๆ พระองค์จึงมีสิทธิในความเป็นเจ้าของซึ่งแปลว่าสิทธินั้นจะทรงโอนให้ใครก็ได้ที่ทรงเห็นชอบ   กษัตริย์นั้นเชื่อกันว่าคือผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกให้ปกครองหมู่ชน เมื่อกษัตริย์เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือก กษัตริย์ก็มีสิทธิที่ได้รับโอนมาจากพระเจ้าให้ครอบครองสิ่งที่ทรงสร้างขึ้น กษัตริย์เมื่อเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินก็กลายมาเป็นผู้ที่ครอบครองทรัพยากร และความมั่งคั่งส่วนใหญ่ในแผ่นดิน  ต่อมาเกิดแนวคิดทางสังคมที่เน้นการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคลขึ้นในหมู่ชนชั้นกลาง เช่นที่ปรากฏในงานของนักปรัชญายุคนั้นที่ชื่อ จอห์น ล็อก เหตุผลที่จอห์น ล็อกใช้อ้างเพื่อไม่ให้กษัตริย์ใช้อำนาจทางการเมืองมาบีบบังคับเอาทรัพย์ที่ตนสร้างขึ้น ก็คือ เมื่อคนเราใช้ตัวเขาเองลงแรงลงไปแล้วมีผลผลิตงอกเงยขึ้นมา สิ่งนั้นเขาต้องเป็นเจ้าของ คนอื่นจะมาแย่งเอาไปไม่ได้ [2]  ในยุคล่าอาณานิคมทรัพย์สินที่สะสมอยู่ในยุโรปและอเมริกาเหนือส่วนใหญ่จึงมาจากความมั่งคั่งที่ปล้นไปจากทวีปเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา หากไม่ทำลายอุตสาหกรรมทอผ้าที่มั่งคั่งของอินเดีย ไม่ผูกขาดควบคุมการค้าเครื่องเทศ หากไม่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอินเดียนแดง ไม่จับคนแอฟริกันมาเป็นทาส การปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่มีวันสร้างความร่ำรวยให้กับยุโรปและอเมริกาเหนือได้อย่างเช่นทุกวันนี้  การผูกขาดควบคุมทรัพยากรและการค้าในประเทศโลกที่สามด้วยความรุนแรงได้สร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศซีกโลกเหนือ และสร้างความยากจนให้กับประเทศซีกโลกใต้[3]  ในขณะที่ปัจจุบันรูปแบบของการปกครอง หรือบริบททางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายอำนาจผูกขาดที่อยู่ในรูปแบบของกษัตริย์ได้เปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบของคณะหรือกลุ่มบุคคลที่เรียกว่าคณะรัฐมนตรี  รวมไปถึงอำนาจที่อยู่ในมือของกลุ่มทุนข้ามชาติ บรรษัทต่างๆ  ที่ปัจจุบันมีอำนาจมหาศาลเป็นรูปแบบการปกครองและการยึดครองแบบใหม่ เป็นระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เป็นบริษัทไร้รัฐมีบทบาทในการเข้าไปยึดครองหรือถือครองทรัพยากรทั่วโลกโดยไม่ต้องใช้กำลังทหารอย่างเช่นในอดีต และสามารถทำได้อย่างไร้ขอบเขตจำกัด ซึ่งด้านหนึ่งทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวัตถุและการเติบโตทางการเงินอย่างต่อเนื่องชนิดยั้งไม่อยู่  แต่ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน โดยที่คนจนยังคงมีมากกว่าคนรวย  การแก่งแย่งแข่งขันแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา โดยมีพลังขับเคลื่อนใหญ่โตที่สุดของกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) อันเป็นวาทกรรมการพัฒนา(Development Discourse)ใหม่ คือระบบทุนนิยมโลก โดยผ่านองค์การโลกบาลอันเก่าแก่ คือธนาคารโลก IMF  ADB  และ WTO รวมทั้งองค์การสหประชาชาติที่ประเทศในกลุ่มผู้นำมีบทบาทชี้นำอยู่  ซึ่งมีลักษณะข้ามชาติ และระหว่างประเทศ และมีพลังส่งผลกระทบใหญ่หลวงที่สุดต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคม ระหว่างมนุษย์กับโลกทางกายภาพ และระหว่างมนุษย์กับตัวเอง พูดให้ชัดขึ้นก็คือทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ อันกระทบต่อชะตากรรมของมนุษย์อยู่ ๓ ประการซึ่งเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้แก่ ๑) การเสื่อมสลายของรูปแบบการใช้อำนาจแบบรัฐชาติ และความกลวงเปล่าของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน  ๒) การเสื่อมสลายของสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมแห่งชาติ ตลอดจนจารีตประเพณีหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคของการค้าเสรี  ๓) การยึดครองช่องว่างทางจิตใจ และจิตวิญญาณของมนุษยชาติในขอบเขตทั่วโลก ด้วยชีวทัศน์วัตถุนิยมบริโภคนิยมและปัจเจกชนนิยมแบบไร้ความรับผิดชอบ ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์มีส่วนอย่างยิ่งในการจำกัดอำนาจของรัฐชาติไม่ให้ดูแลประชาชนที่ประกอบขึ้นเป็นชาติได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยทั้งนี้โดยการยกเลิกพรมแดนด้านการค้า การลงทุน ลดบทบาทของรัฐในการกระจายความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ปล่อยให้ทุนข้ามชาติเข้ามาหาผลประโยชน์ได้อย่างเสรีภายใต้การคุ้มครองของรัฐด้วยเหตุนี้นับวันระบบเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดนยิ่งทำให้ข้ออ้างความชอบธรรมของรัฐในฐานะผู้ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติไม่มีความจริงรองรับ[4]  แนวคิดของลัทธิทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ซึ่งเน้นเรื่องการไม่มีอยู่ของประเทศชาติ กระตุ้นวิถีชีวิตแบบไร้ราก อวดอัตตา ยืนยันความเชื่อที่ว่าธรรมชาติของมนุษย์ล้วนเห็นแก่ตัว  ธรรมชาติถูกนิยามใหม่ว่าเป็น "ทรัพยากร"  กำไรได้กลายเป็นหลักการในการจัดการสังคม และใช้อำนาจทางการเงินมากำหนดการพัฒนา และทำลายทรัพยากรเพื่อค้าขายในตลาด[5]  กล่าวได้ว่าความรุนแรงนับครั้งมิถ้วนในรอบกว่าห้าร้อยปีมานี้  ส่วนใหญ่บังเกิดขึ้นเพราะความคิดต้องการครอบครองสรรพสิ่งเพื่อประโยชน์ใช้สอยเฉพาะมวลมนุษย์เพียงอย่างเดียว โดยผู้เข้มแข็งกว่าย่อมได้เปรียบผู้อ่อนแอกว่า ท่ามกลางสงครามแย่งชิงทรัพยากร  มนุษย์ที่ถูกผลักดันด้วยความโลภหรือความอิจฉานั้น จะสูญเสียอำนาจในการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงเป็นความมืดบอดทางปัญญาที่ยากจะเยียวยาได้  (โปรดอ่านต่อตอนที่ ๒)

 


[1] ส.ศิวรักษ์ . สร้างสรรค์สันติประชาธรรมให้เป็นจริง. พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพมหานคร: บริษัท เฟื่องฟ้า พริ้นติ้ง จำกัด, ๒๕๔๕) หน้า  ๗.

[2]  ดูรายละเอียดใน  สมภาร พรมทา  . ภาษีมรดกเป็นเรื่องของความยุติธรรม .  มติชน  ๑๔ ก.ค.๔๔   http://www.geocities.com/econ_10330/heritage_tax.html.

[3] สฤณี อาชวานันทกุล. แนวคิดทุนนิยมธรรมชาติ vs ทุนนิยมอุตสาหกรรม.    http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999632.html.

[4] เสกสรรค์ ประเสริฐกุล  ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง พุทธธรรมในยุคโลกาภิวัตน์ .    http://www.prachatai.com/05web/th/home/11182 .   

[5]   วันทนา ศิวะ : เขียน ชำนาญ ยานะ : แปล.  สองเรื่องไม่จริงที่ทำให้โลกไม่หายจนมายาคติสองเรื่องที่อธิบายโลกแห่งความยากจน .    http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999834.html .

หมายเลขบันทึก: 326372เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2010 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท