ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

แซนด์วิชข้าวจี่


คอลัมน์ Etiquette ใน Gourmet&CUISINE, October 2009

           
            สามประเทศเพื่อนบ้านไทยคือ กัมพูชา เวียดนาม และลาว ล้วนเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ฉะนั้น จึงมีวัฒนธรรมร่วมกันอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการกินอาหาร ซึ่งตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ ขนมปังฝรั่งเศสหรือบาแกต (baquette)
            รูปร่างของขนมปังที่นิยมในประเทศเหล่านี้  ไม่ผอมยาวแบบดั้งเดิมของฝรั่งเศส  แต่เป็นท่อนสั้นและค่อนข้างจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ 
            ฉันสังเกตเห็นว่า ตามเส้นทางที่ผ่านไป แม้แต่ชนบทนอกเมือง จะมีบาแกตวางขายเรียงรายอยู่ทั่ว  ยิ่งเมื่อเดินเข้าไปในตลาดยิ่งพบบาแกตวางกองมหึมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกัมพูชาและเวียดนาม  ส่วนในลาวนั้น ฉันพบว่ามีปริมาณน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสองประเทศแรก
            ชิมมาแล้วทั้งสามประเทศ อร่อยทั้งนั้น  แต่ระดับความอร่อยอาจแตกต่างกัน  ซื้อที่ไหนไม่เคยผิดหวัง  กรอบนอกนุ่มใน  
            ถ้าถามว่าชอบของใครมากที่สุด ก็ต้องบอกว่า “บาแกตลาว”  ซึ่งที่นี่เรียกว่า “ข้าวจี่”
            อย่าสับสนกับข้าวจี่ของคนอีสานบ้านเรานะคะ  เพราะข้าวจี่ของเราเป็นข้าวเหนียวปั้นทาเกลือแล้วเอาไปย่างไฟ ซึ่งบางครั้งอาจมีแบบชุบไข่ด้วย
            ที่ชอบบาแกตลาวมากที่สุดคงเป็นเพราะได้กินมากกว่าของกัมพูชาหรือเวียดนาม เนื่องจากสิบกว่าปีก่อนเคยทำงานที่ลาว  อยู่เป็นเดือน  ค่าโรงแรมที่พักบวกอาหารเช้า ซึ่งมีข้าวจี่เสิร์ฟทุกวัน
            ฉันตัดสินความอร่อยของบาแกตเมื่อกินเปล่าๆค่ะ  กินโดยไม่ต้องทาเนยทาแยม หรือใส่อะไรทั้งนั้น  เนื้อขนมปังต้องเหนียว นุ่ม เปลือกขนมปังต้องกรอบ เคี้ยวแล้วต้องได้รสชาติมันๆ และเค็มปะแล่มๆ
            ปีนี้มีโอกาสกลับไปเยือนลาวอีกครั้ง หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไป แม้จะไม่มาก แต่ก็สังเกตได้ว่าวิถีกินข้าวจี่สไตล์แซนด์วิชพัฒนาขึ้นมาก  เพราะมีร้านขายแซนด์วิชข้าวจี่ปรากฏให้เห็นทั่วไป 
            อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงธรรมเนียมเดิมไว้คือ การปรุงแซนด์วิชแป้งจี่แบบอาหารตามสั่ง  นั่นคือ จะทำก็ต่อเมื่อลูกค้าสั่ง  ไม่ทำแบบห่อสำเร็จรูปไว้วางขาย
            ไส้ของแซนด์วิชแป้งจี่หลากหลายขึ้นมาก   จากเดิมที่มักเป็นกุนเชียง หมูยอ ตับบด หมูหยอง หมูแดง แตงกวา ผักชี ผักกาดหอม ก็มีชีส แฮม เบคอน ไส้กรอก เบปปาโรนี่ ไก่ทอด เนื้อย่าง แครอท มะเขือเทศ  ฯลฯ แถมด้วยซอสต่างๆ ให้เลือกมามาย  มีแม้กระทั่งซอส “แจ่วบอง”
            วิธีทำซึ่งแต่เดิมใครสั่งอะไรก็ประกอบกันเข้าเป็นแซนด์วิชให้  ไม่มีโอกาสได้กินร้อนๆ  ก็พัฒนาเป็นการผัดไส้  อย่างเช่น หอมหัวใหญ่ผัดเนย เบคอนทอด  และจี่บาแกตในกระทะ  ทำให้สามารถเสิร์ฟแซนด์วิชร้อนๆ ให้ลูกค้าได้     
            ไปเที่ยวลาวคราวนี้จึงมีแซนด์วิชข้าวจี่อร่อยๆ หลายแบบให้เลือก สำหรับไว้ “เดินกิน” “ยืนกิน” หรือ “นั่งกิน” ได้ตามสะดวก และไม่ต้องมีพิธีรีตองมาก 
            เราออกจากเวียงจันทน์มุ่งไปยังวังเวียง เมืองตากอากาศเจ้าของสมญาเมืองปายแห่งลาว  ฉันแวะจอดรถซื้อข้าวจี่จากร้านริมทาง  2 ก้อน ติดตัวไว้ก่อน  เพราะไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร  ส่วนเพื่อนร่วมทางซื้อกล้วยน้ำว้า 1 หวีติดตัวไว้ก่อนแล้ว
            การเดินทางด้วยความเร็วที่ห้ามเกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนเส้นทางแคบๆ และขึ้นเขา  ทำให้หนทาง 120 กิโลเมตรดูยาวนานขึ้น   ดังนั้น  เมื่อหิวขึ้นมา เพื่อนคนดีก็คิดทำแซนด์วิชข้าวจี่ไส้กล้วยน้ำว้ามากินได้อย่างเอร็ดอร่อย.. อั้ม..

        

หมายเหตุ: ผู้คิดค้นเมนูนี้คือ ผศ.อำนวย บุญศรี

 

หมายเลขบันทึก: 325304เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2010 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้าวจี่ลาวนี้เอง........อร่อยนะคะ...

ถ้าไม่อยากข้ามไปชิมที่ลาว.....ที่หนองคายบ้านเราก็มีนะคะ...

ขอยืนยันว่า..อร่อยและอิ่มท้องแน่นอน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท