เดินทางไกลไปกับไทอาหม ตอน ๑๙


บ้านไทคำยังที่มาเฆริต้า (Margherita)

 

                รถกระป๋องพาเราเดินทางขึ้นเหนือ  จุดหมายปลายทางวันนี้อยู่ที่มาเฆริต้า เมืองสำคัญของเขตตินซูเกีย  ที่นั่นมีหมู่บ้านคนไทคำยัง ที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมอยู่ และยังคงพูดภาษาคำไทที่พอฟังกันรู้เรื่องบ้าง โอลิเวอร์บอกว่าที่ชื่อไทคำยัง เพราะคำไท ๆ  ยังคงอยู่  ดูท่าทางเขาอธิบายแบบจริงจังมาก  แต่ฉันไม่รู้ว่าจริง ๆ  เป็นแบบที่เขาอธิบายหรือเปล่า

 

                เราแวะซื้อยาแก้แพ้ แก้ไข้ น้ำ และขนมปังตุนไปจำนวนหนึ่ง  เพราะไม่แน่ใจว่าข้างหน้าจะมีอะไรให้กินได้หรือเปล่า  เตรียมพร้อมไว้น่าจะปลอดภัยกว่า  อีกอย่างเราตื่นกันแต่เช้า ขนมปังนับเป็นเสบียงอย่างดีในรถ เพราะอีกนานกว่าจะถึงเวลาอาหารเช้าของไทอาหม

 

                วันนี้เราเดินทางกันแบบสบาย ๆ  บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยการพูดคุยที่สนุกสนาน  เราผ่านวัดฮินดูที่กำลังทำพิธีไหว้พระศิวะ  ผู้คนล้นหลามออกมาจนถึงถนน  ดร.บุสปะบอกว่า วันนี้เป็นวันหยุดของอินเดีย เพื่อให้คนมาทำพิธีกรรมที่ว่านี้ กว่าจะผ่านฝูงชนออกมาได้ก็นานพอดู  ฉันสังเกตเห็นว่า วันนี้ทุกบ้านเรือนจะแขวนผ้าหลากสีประดับตกแต่งอยู่รอบบ้าน  บางบ้านก็กำลังทำพิธีไหว้บูชาพระศิวะอยู่  วันนี้คงเป็นวันดีของพวกเขา ...  ในขณะที่พวกเรายังคงเดินทางไม่หยุดหย่อน

 

                ประมาณ 10 โมง  เราก็มาถึงร้านอาหารที่ดูดีมาก ๆ  ในอินเดีย เป็นร้านของคนอินเดียที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แล้วกลับมาเปิดร้านขายอาหารที่บ้านเกิด การตกแต่งร้าน ห้องน้ำ ห้องส้วมสะอาดได้มาตรฐานดีทีเดียว

                ฉันมีโอกาสได้กินสปาเก็ตตี้ในรอบสิบกว่าวันที่นี่  รสชาติไม่เลวเลย  บางคนสั่งข้าวผัดอเมริกัน และอะไร ๆ  ที่ไม่ใช่อาหารแบบที่เรากินประจำที่นี่  ดร.บุสปะดูจะขำ ๆ  พวกเราที่ทำตัวเหมือนเด็กอดโซ โหยหิวอาหารที่ไม่ใช่อาหารแบบไทอาหม  มีใครบางคนตบท้ายด้วยเป๊บซี่ อย่างเปี่ยมสุข

 

                แล้วเราก็ออกเดินทางกันต่อ  โอลิเวอร์กับดร.บุสปะ ถกเถียงกันเรื่องเส้นทางเข้าหมู่บ้านอยู่สักพัก  โอลิเวอร์เคยมาใช้ชีวิตอยู่หมู่บ้านนี้เป็นเดือน จึงจดจำสถานที่และทิศทางได้ค่อนข้างดี  รถแล่นผ่านตัวเมืองมาเฆริต้าที่เงียบเหงา  ผ่านวิทยาลัยที่ลูกสาวคนโตของดร.บุสปะสอนอยู่  จากนั้นก็เป็นทุ่งนากว้างไกล 

 

 

               ถนนเล็ก ๆ  ที่พาพวกเราเข้าหมู่บ้าน มีรูปพรรณสันฐานบอกให้รู้ว่าเคยเป็นถนนลาดยางมาก่อน  แต่บัดนี้ยางที่ลาดหลุดร่อน บางแห่งเป็นหลุมลึก  คนขับต้องคอยหลบหลีกจนรถวิ่งคล้ายงูเลื้อย  บางจังหวะหลบไม่ทัน ผู้โดยสารจึงกระเด้งกระดอนจนหัวชนหลังคา  สร้างความมึนงงและขบขันในเวลาเดียวกัน  ทั้งที่จริง ๆ  อยากร้องไห้มากกว่า เจ็บแบบไม่ตั้งตัวแบบนั้น  แต่พอเจ็บพร้อมกันหลาย ๆ  คน ก็เลยกลายเป็นเรื่องขำ ๆ  ไป ...

 

         

 

 

               

                หมู่บ้านที่เราไปนี้ชื่อหมู่บ้านโพหวายมุก (Po wai  Mukh) สภาพหมู่บ้านเหมือนหลุดออกมาจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง  คนที่นี่เป็นไทคำยัง ที่รักสงบ มีความสุขกับชีวิตที่เป็นอยู่  พวกเขาต้อน รับเราอย่างอบอุ่น  ฉันพบว่าคำไทของพวกเขาที่ยังอยู่นั้น เหมือนคำไทยของเราเป็นคำ ๆ  แต่พอมารวมประโยคแล้ว กลับคุยกันไม่รู้เรื่อง

 

                พวกเขานับ 1 – 2 – 3 ... ได้เหมือนเรา เรียกฟ้า ว่า ฟ้า และหลาย ๆ  อย่างแบบเดียวกับเรา  แต่เวลาคุยกันต้องอาศัยภาษาอังกฤษ โดยมีสาวน้อยคนหนึ่งมาคอยเป็นล่ามให้  เราเรียกเธอว่า เรขา  เพราะชื่อของเธอคือ Pub Rekha Chowlek เธอทำงานอยู่ที่วิทยาลัยในมาเฆริต้า เคยมาเที่ยวเมืองไทยกับกรุ๊ปทัวร์ที่พาไปเชียงใหม่ กรุงเทพ ฯ พัทยา และภูเก็ต ...

 

เรขาทอผ้าที่บ้านป้า

 

                เรขาอัธยาศัยดีแบบคนไททั่ว ๆ  ไป  เธอพาฉันกับนิดไปบ้านของเธอที่ดูดีที่สุดในหมู่บ้าน  เพราะเพิ่งสร้างใหม่ด้วยอิฐ และปูน มีห้องนอน ห้องน้ำที่สะอาด  เธอชวนเรานอนที่บ้านของเธอคืนนี้  แต่ฉันยังไม่ได้คุยกับดร.บุสปะว่าเราจะพักกันที่หมู่บ้าน หรือไปพักที่อื่น  เธอพาเราไปวัดประจำหมู่บ้าน  เธอทำให้ฉันคิดถึงคนไทยสมัยโบราณ ที่เวลาจะไปวัดต้องหาผ้าสไบมาคล้องตัวเองก่อน

 

บ้านป้าของเรขา

 

                ก่อนไปวัด เธอพาเราแวะไปบ้านป้า ที่ยังคงรูปแบบบ้านเรือนของไทคำยังไว้  บ้านไม้ใต้ถุนสูง มีกี่ทอผ้าอยู่ด้านล่าง เหมือนบ้านไทยแถบอีสาน มีคอกวัว คอกหมู และเล้าไก่ ยุ้งข้าว กองฟาง เหมือนบ้านชนบททั่ว ๆ  ไป ...

 

วัดประจำหมู่บ้าน สถาปัตยกรรมคล้ายศิลปะไทใหญ่

 

                ฉันกับนิดไม่ค่อยรู้สึกว่าได้เดินทางไกลจากบ้านเกิดมานับพันกิโลเมตร  แต่ดูเหมือนว่าเรายังอยู่เมืองไทย แล้วเดินทางย้อนไปสู่อดีตประมาณ 100 ปีมากกว่า

 

                ไม่รู้ว่าคนอื่น ๆ  หายไปไหนหมด  ดร.บุสปะไปกับคนจีนที่มีผู้เฒ่าผู้แก่พาไปไหนสักแห่ง อาจจะพาไปดูบ้าน ไปวัด ฯลฯ  ส่วนโอลิเวอร์มีสมัครพรรคพวกพาหายตัวไปตั้งแต่มาถึง คาดว่าจะไปเยี่ยมบ้านคนที่เคยรู้จัก

                เรขาดูจะชอบฉันกับนิดที่เป็นคนไทยเป็นพิเศษ  จึงดึงตัวแยกออกมา ซึ่งก็ถือว่าโชคดีของเรา  เพราะเราคุยกันรู้เรื่องสนุกสนาน ไม่เป็นพิธีการเหมือนไปกับผู้เฒ่าผู้แก่ ออกจากวัดเราเดินชมหมู่บ้าน ดูแพะ แกะ ไก่ วัว หมู ที่เดินกันขวักไขว่

 

                ชาวบ้านเริ่มทยอยมายังบ้านหัวหน้าหมู่บ้านที่เราจอดรถทิ้งไว้  เพราะอีกไม่นานพวกเขาจะเลี้ยงอาหารกลางวันเรา  เพราะตอนที่ฉันกับนิดออกมาจากบ้านนั้น  พวกแม่ครัวกำลังเตรียมอาหารกันอย่างโกลาหล

 

หม้อหุงข้าว

 

                เรขาบอกว่า นี่เป็นโอกาสพิเศษ เพราะปกติทุกคนจะอยู่ที่บ้านของตนเอง และแต่ละบ้านก็มีบริเวณที่ค่อนข้างกว้าง เพราะจะมีสวนอยู่ในบ้านด้วย สภาพที่นี่คล้าย ๆ  บ้านเกิดที่ต่างจังหวัดของฉัน  ที่ทุกบ้านมีพื้นที่หลาย ๆ  ไร่ ชนิดตะโกนเรียกกันไม่ได้ยิน

 

           ของรับแขก

 

                เมื่อเรากลับมาที่บ้านหัวหน้าหมู่บ้าน ยังไม่มีใครกลับมาสักคน มีแต่ผู้ชายแปลกหน้า 4 คน นั่งรออยู่  พวกเขาแนะนำตัวว่าเป็นตำรวจ  คนที่เป็นหัวหน้าบอกว่า พวกเขามาดูแลความปลอดภัยให้พวกเรา และแจ้งข่าวว่าอีก 2 วัน จะมีการปิดถนนในอัสสัมตอนบนทั้งหมด ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้  ชนิดคนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้า เพราะขบวนการปลดปล่อยอัสสัมจะประท้วงรัฐบาลอินเดีย  เขาถามกำหนดกลับของเรา  แล้วแนะนำว่า คืนวันพรุ่งนี้ควรเดินทางไปกวาฮาตี

 

                ตำรวจเหล่านี้เป็นคนไทอาหม และคืนนี้พวกเขาจองที่พักรับรองของกรมตำรวจที่มาเฆริต้าไว้ให้เราแล้ว เลยทำให้หมดห่วงเรื่องที่พักไปได้เปราะหนึ่ง

 

พิธีไหว้สิ่งศักดิ์ทำปีละครั้ง เราโชคดีที่ไปพอดีพิธี

 

                สักพัก ดร.บุสปะก็กลับมา คุยกับพวกตำรวจสักพัก  พวกตำรวจก็กลับไป  ฉันว่าระหว่างตำรวจกับดร.บุสปะ  ดร.บุสปะดูจะใหญ่กว่าตำรวจเสียอีก เพราะสามารถบอกตำรวจให้หาที่พักให้พวกเราได้  ฉันรู้ภายหลังว่า เกสต์เฮ้าส์ของกรมตำรวจ คิดค่าบริการห้องละ 100 รูปี  ทั้ง ๆ  ที่น่าจะแพงกว่านั้น  และดร.บุสปะให้ตำรวจกลับไป เพราะไม่ต้องการความคุ้มครอง เพราะ ดร.บุสปะคุ้นเคยกับชาวบ้านแถบนี้ดี

 

หมายเลขบันทึก: 324836เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2010 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท