ปรัชญานิรันตรนิยม


นิรันตรนิยม

เรียน  ผู้อ่านทุกท่าน

            ผมอ่านเจอเห็นว่ามีประโยชน์เลยนำมาเผยแพร่ต่อนะครับ

ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม

 

(Perennialism)

 

บทนำ

 

            ปรัชญาเป็นกิจกรรมทางแนวความคิด  การคิดเป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์  และเป็นที่ยอมรับกันว่ามนุษย์ย่อมมีแนวความคิดแตกต่างกัน  แต่ก็มิได้หมายความว่ามีเพียงความคิดเดียวก็จะนับว่าเป็นปรัชญา  เพราะปรัชญานั้นเกิดจากความคิดที่ผ่านการวิเคราะห์ไตร่ตรองอย่างเป็นระบบ  จุดหมายสำคัญของปรัชญาจึงอยู่ที่เกิดจากการคิดอย่างมีเหตุผลที่เป็นระบบ  ทองหล่อ  วงษ์ธรรมา(2549 : 9-10) ได้แบ่งปรัชญาออกเป็น  2  ประเภทคือ ปรัชญาบริสุทธิ์  คือ ความรู้หรือแนวคิดที่เป็นเนื้อหาของปรัชญาล้วนๆที่ยังไม่เข้าไปผสมผสานกับศาสตร์อื่นๆ   และปรัชญาประยุกต์  คือความรู้หรือแนวคิดอันเป็นปรัชญาบริสุทธิ์ถูกผสมผสานหรือประยุกต์กับวิชาหรือศาสตร์อื่นๆ  ปรัชญาการศึกษาถือว่าเป็นปรัชญาประยุกต์ประเภทหนึ่ง 

 

ปรัชญาการศึกษา

 

            ปรัชญาเป็นเรื่องที่ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่าอะไรคือความจริงสูงสุด  ศึกษาเพื่อให้เข้าใจว่าอะไรคือความรู้ที่แท้จริง  และคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตคืออะไร  ปรัชญากับการศึกษาจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด  เพราะมนุษย์ล้วนต้องการแสวงหาคุณค่าที่ดีให้แก่ชีวิตทั้งสิ้น

 

      นักการศึกษาต้องอาศัยปรัชญาเป็นทิศทางในการจัดการศึกษาและนักปรัชญาเองก็มีความสนใจอย่างยิ่งต่อการศึกษาเช่นกัน(พิมพ์พรรณ  เทพสุเมธานนท์,2549 :  16)  มีนักการศึกษาได้ให้ความหมายของปรัชญาการศึกษาไว้ดังนี้

 

      ลูคัส (Lucus อ้างใน  พิมพ์พรรณ  เทพสุเมธานนท์,2549 : 17)  ได้ให้ความหมายของปรัชญาการศึกษาไว้ว่า หมายถึง ความคิด ความเชื่อ หรือทักษะเกี่ยวกับการศึกษาที่โรงเรียนและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาผู้เรียน

 

            ไพฑูรย์  สินลารัตน์ (อ้างใน พิมพ์พรรณ  เทพสุ  เมธานนท์, 2549 : 18 )  ให้ความหมายของปรัชญาการศึกษาว่า ความพยายามที่จะวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์  และพิจารณาดูการศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งทุกแง่มุม ให้เข้าใจถึงแนวคิดหลักความ สำคัญ ความสัมพันธ์ และเหตุผลต่างๆอย่างชัดเจน  มีความต่อเนื่องและมีความหมายต่อมนุษย์  สังคมและสิ่งแวดล้อมนี้เองที่เป็นงานสำคัญของปรัชญาต่อการศึกษา หรือที่เราเรียกว่า ปรัชญาการศึกษานั้นเอง

 

 

 

       พิมพ์พรรณ  เทพสุเมธานนท์(2549 : 18)  ได้สรุปความหมายของปรัชญาการศึกษาว่าเป็นการนำเอาแนวความคิด  และหลักการจากปรัชญาแม่บทมาประยุกต์ใน  การจัดการศึกษา  โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับองค์ประกอบต่างๆเพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุผลตามจุดหมายที่กำหนดไว้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

            จากความหมายของปรัชญาการศึกษาข้างต้นสรุปได้ว่า  ปรัชญาการศึกษาคือแนวความคิด  ความเชื่อจากปรัชญาแม่บท (ปรัชญาบริสุทธิ์) ซึ่งผ่านการวิเคราะห์  วิพากษ์วิจารณ์  อย่างรอบด้านทุกแง่มุม  แล้วนำมาประยุกต์ในการจัดการศึกษา  เพื่อให้การศึกษาบรรลุเป้าหมาย  และเกิดประโยชน์สูงสุด

 

ลัทธิปรัชญาการศึกษา

 

            ปรัชญาการศึกษาที่นักการศึกษาได้จัดไว้มีด้วยกัน  5  ลัทธิ  (พิมพ์พรรณ  เทพสุมธานนท์,2549 : 115)  คือ  ลัทธิสารัตถนิยม  (Essentialism)   ลัทธินิรันตรนิยม (Perrenialism)   ลัทธิพิพัฒนาการนิยม (Progressivism)   ลัทธิปฏิรูปนิยม    (Reconstructionism)  ลัทธิอัตถิภาวนิยม  (Existentialism) และลัทธิพุทธปรัชญาการศึกษา (Buddhism)  ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงลัทธิปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยมเท่านั้น 

 

รากฐานความคิดของปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม

 

            ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยมได้รับอิทธิพลแนวคิดจากปรัชญาบริสุทธิ์สองกลุ่มด้วยกัน

(พิมพ์พรรณ  เทพสุมธานนท์,2549 : 118) คือ

 

      1.  ปรัชญากลุ่มจิตนิยมเชิงเหตุผล โดยเฉพาะแนวคิดของอริสโตเติล  ที่เรียกว่า  Rational  Humanism ซึ่งเน้นในเรื่อง   การใช้ความคิดและเหตุผล

 

            2.  ปรัชญากลุ่มวัถตุนิยมเชิงเหตุผล ซึ่งมีบาทหลวงโธมัส  อไควนัส เป็นผู้นำ

 

            นักปรัชญาทั้งสองกลุ่มนี้ต่างล้วนมีความเชื่อพื้นฐานในเรื่องของเหตุผลเหมือนกัน  เพราะถือว่าเหตุผลเป็นลักษณะสูงสุดของมนุษย์  และมนุษย์เองก็อยู่ในโลกของเหตุผล

 

            ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม  เชื่อว่ามนุษย์มีความสามารถที่จะใช้ความคิดและเหตุผลอยู่ตลอดเวลาที่มีชีวิต และความสามารถในการคิดนั้นติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด  ส่วนความรู้นั้นนิรันตรนิยมเชื่อว่าได้มาจากการคิดหาเหตุผล       และความดีงามนั้นก็เชื่อว่าขึ้นอยู่กับความมีวินัยในตนเอง  และยึดมั่นในความดี  (กิติมา  ปรีดีดิลก, 2523 : 86  อ้างใน พิมพ์พรรณ  เทพสุเมธานนท์,2549 : 120)

 

 

 

            นิรันตร (Perennial)  หมายถึง  ภาวะที่ไม่เปลี่ยนแปลง  คงอยู่ชั่วนิรันดร 

นักปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยมในฝ่ายอังกฤษ ได้แก่ เซอร์ริชาด  ลิฟวิ่งสโตน  ในฝ่ายอเมริกาได้แก่ โรเบิต  เมนาด  ฮัตชิ่นส์

 

ทฤษฎีนี้ก็มีหลักสำคัญ  6  ประการ (สุลักษณ์  ศิวลักษณ์,2516 : 106)

 

            1.  แม้สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปรไป  ธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ย่อมเหมือนกัน  ในทุกกาลเทศะ  มีตัวกิเลสอาสวะเป็นอวิชชา  การศึกษาควรเป็นไปเพื่อกำจัดสิ่งนี้  โดยให้เข้าถึงวิชชา  ซึ่งย่อมเป็นสากล  หาไม่นั่นย่อมไม่ใช่ความรู้  หากเป็นความเห็นหรือความเชื่อ

 

            2.  สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์คือสติปัญญา  จึงควรให้การศึกษาเพื่อให้รู้จักใช้สิ่งนี้  มนุษย์จะได้นำมาใช้เพื่อควบคุมสัญชาตญาณของความเป็นสัตว์  หรือธรรมชาติฝ่ายต่ำเพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความเป็นไท  ที่จะเลือกทำดีก็ได้  ทำชั่วก็ได้  อย่าได้ไปโทษการทำชั่วว่าขึ้นกับสิ่งแวดล้อม  หรือปล่อยให้ศิษย์เลือกเรียนอะไร  หรือทำอะไรตามใจปรารถนา  เพราะความปรารถนานั้นอาจมาจากกิเลสหรือธรรมชาติฝ่ายต่ำ  ไม่ได้มาจากสติปัญญา  ฉะนั้นครูควรมีสติปัญญาเพื่อสั่งสอนชักนำศิษย์  ให้รู้จักใช้ธรรมชาติอันมีในตน  ไปในทางที่ถูกที่ควร

 

            3.  หน้าที่ประการสำคัญของนักการศึกษานั้น  เป็นไปเพื่อแสวงหาวิชาความรู้ในเรื่องสัจจะอันนิรันดร  การศึกษามิได้เป็นไปเพื่อสอนคนให้ปรับตัวเข้ากับสังคม  หากให้ปรับตัวเข้ากับสัจจะ ดังที่

 

ฮัตชินส์กล่าวว่า  “การศึกษาหมายถึงการสอน  การสอนหมายถึงความรู้  ความรู้หมายถึงความจริง  ความจริงย่อมเหมือนกันทุกแห่งหน”

 

            4.  การศึกษาไม่ใช่เป็นการเอาอย่างชีวิต  หากเป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต  จะว่าโรงเรียนเป็นดังชีวิตนั้นไม่ได้  และไม่ควรเป็น  หากเป็นโลกที่สมมติขึ้นเพื่อเยาวชนได้ฝึกปรือให้เข้าถึงสิ่งที่ประเสริฐสุดต่างหาก

 

            5.  เยาวชนควรเรียนรู้วิชาพื้นฐานบางประการ ได้แก่  Reading  Writing  Arithemtic  เพื่อจะได้รู้ถึงสิ่งซึ่งจริงแท้และถาวรที่สุดในโลก  ไม่ควรเห่อเรียนตามสมัยนิยม  หรือเรียนในสิ่งซึ่งคนวัยนั้นสนใจกันเท่านั้น  

 

            6.  วิชาหลักที่ควรศึกษาได้แก่ งานนิพนธ์ที่สำคัญๆทางวรรณคดี  ปรัชญา  ประวัติศาสตร์  เพราะนี่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ที่มีสติปัญญาเป็นเลิศที่แล้วๆมาได้คิดค้นอะไรไว้  และเขียนอะไรไว้ให้เป็นมรดกตกทอดมาถึงเราบ้าง  การที่เราเรียนจากอดีต  เพราะบทเรียนจากอดีตแล้ว  เราจะเรียนได้ที่ไหนเล่า  แม้การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์  ก็กระทำได้โดยเก็บความรู้มาแต่อดีตนั่นเอง

 

 

 

การจัดการศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม

 

            หลักสูตร  เนื้อหาวิชาที่จัดให้โรงเรียนตามแนวนิรันตรนิยมทำการสอนมีดังนี้

 

            1.  วิชาพื้นฐานคือ  การอ่าน  เขียน   คณิตศาสตร์  และศิลปะศาสตร์  ได้แก่ ศิลปะในการอ่าน  การฟัง  การเขียน  การพูด  การคิด  โดยถือเป็นวิชาจำเป็นและบังคับให้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ต่อไปใน ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

 

      2.  เรียนผลงานอมตะของโลกซึ่งประมวลมาจากวรรณคดีปรัชญา  ประวัติศาสตร์  วิทยาศาสตร์  จากหนังสือชุดอมตะวิทยา (Great  Books) ซึ่งคัดเลือกผลงานจากอดีตและปัจจุบันประมวลกันขึ้นเป็นชุด  เพื่อใช้เป็นแหล่งค้นคว้าความรู้อันเป็นอมตะของโลก

 

            3.  สอนศาสนา

 

            บทบาทของสถานศึกษา  

 

โรงเรียนจะเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการพัฒนาการทางปัญญา  เป็นสถานที่ฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่ดีงาม  การจัดประสบการณ์การเรียนรู้  ประสบการณ์การเรียนรู้ที่จัดให้นั้นมุ่งพัฒนาสติปัญญาของผู้เรียน  และเน้นการให้ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ดีงามที่ได้บรรจุไว้ในหลักสูตร  วิธีสอนที่นิยมใช้คือ  การบรรยาย  การอภิปราย  การทดลองทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น  นอกจากนี้จะเน้นในเรื่องระเบียบวินัย  ความประพฤติของนักเรียนให้อยู่ในกรอบ  บรรยากาศการสอนที่เข้มงวด

 

            บทบาทของผู้สอน 

 

      ผู้สอนคือผู้นำทางปัญญาให้แก่ผู้เรียน  เป็นผู้รอบรู้ในเนื้อหาวิชานั้นอย่างกว้างขวาง  เป็นผู้ช่วยเหลือให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาสติปัญญาได้มากที่สุด  เป็นผู้ตัดสินใจกำหนดวัตถุประสงค์ของการสอน  เนื้อหาวิชา  วิธีสอน  และการประเมินผล  และเป็นแบบอย่างของความดีงามที่ผู้เรียนพึงลอกเลียนแบบ

 

            บทบาทผู้เรียน

 

            ผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้  คิดใคร่ครวญตามที่ผู้สอนถ่ายทอด  เป็นคนดี  มีจิตใจดี คิดทำในสิ่งที่ดีมีเหตุผล  และสิ่งใดที่ไม่เข้า หรือทำไม่ได้ต้องฝึกบ่อยๆ  ทำซ้ำๆ

 

 

 

            ผู้บริหาร

 

            ยึดหลักเหตุผล  ใช้กฎระเบียบอย่างมีเหตุผล  เน้นเสรีภาพทางวิชาการตัดสินด้วยเหตุผล 

 

            การวัดผลประเมินผล

 

            การวัดผลและการประเมินผลตามแนวปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม  เป็นการวัดความสามารถในการคิด  และการใช้เหตุผลมีมากน้อยเพียงใด  โดยครูเป็นผู้วัดผลประเมินผล

 

            บทสรุปปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม

 

            ทฤษฎีการศึกษานิรันตรนิยมเน้นเรื่องความสำคัญของครูและเนื้อหาวิชา  เช่นเดียวกับปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม  การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีนี้จึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนจดจำ  ใช้เหตุผล  และตั้งใจกระทำสิ่งต่างๆ  โดยผู้สอนใช้การบรรยาย  ซักถามเป็นหลัก  รวมทั้งเป็นผู้ควบคุม  ดูแลให้นักเรียนอยู่ในระเบียบวินัย  การจัดกรเรียนการสอนที่ปล่อยให้ผู้เรียนมีอิสระมากเกินไปในการที่จะเลือกเรียนตามใจชอบเป็นการขัดขวางโอกาสที่ผู้เรียนจะได้พัฒนาความสามารถที่แท้จริง

 

 

 

บรรณานุกรม

 

ธีระพล  อรุณะกสิกร(ผู้รวบรวม).(2542). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542.      

               กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

 

พิมพ์พรรณ  เทพสุเมธานนท์,นุชนาถ  สุนทรพันธุ์,วินิดา  สุทธิสมบูรณ์,นวลลออ  แสงสุข,และสุวพิชชา

 

               ประสิทธธัญกิจ.(2549). ปรัชญาการศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

 

โรงเรียนโนนสูงศรีธานี.(2546).หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนโนนสูงศรีธานีตามหลักสูตรการ

              ศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.  2544.

 

สุลักษณ์  ศิวรักษ์.(2515). ปรัชญาการศึกษา.พระนคร:  สำนักพิมพ์เคล็ดไทย.

 

 

หมายเลขบันทึก: 324706เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2010 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วมีความรู้เกี่ยวกับปรัชญาเพิ่มขึ้นถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจค่อนข้างยาก แต่ก็มีประโยชน์มากค่ะ เป็นกำลังใจให้ในการหาความรู้ดีๆมาฝากนะคะ

อยากขอคิดเห็น เกี่ยวกับการนำเอาแนวปรัชญาในด้านผู้บริหารไปปฏิบัติ ว่าเป็นในแนวไหน อย่างไรบ้าง//

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท