brochill
วราวรรณ จันทรนุวงศ์(ศิริอุเทน)

Interpretive Research


Interpretive Research

Interpretive Research in Science Education

……………….

วราวรรณ  จันทรนุวงศ์

.........................................

 What is Interpretive Research?

การวิจัยเชิงตีความ (Interpretive Research) จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnographic Research ) การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) การวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participant observational Research) กรณีศึกษา (Case study Research) การวิจัยปรากฏการณ์ (Phenomenological Research) การวิจัยเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic interaction Research)และการวิจัยการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivist Research) มีความพยายามที่จะแยกวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ออกจากมานุษยวิทยา เนื่องจากเห็นความแตกต่างว่ามนุษย์ไม่ใช่สัตว์และมีความแตกต่างจากสัตว์ เนื่องจากมนุษย์สามารถที่จะสร้างความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้ ดังนั้นการนิรนัยในการศึกษาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ จึงไม่เพียงสำหรับการศึกษามานุษยวิทยา การสื่อความหมาย การทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ และการแลกเปลี่ยนความรู้กันถือว่าเป็นหัวใจของกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งอื่น การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์จึงขึ้นอยู่กับการตีความเพื่ออธิบายข้อค้นพบและสื่อสารกับสิ่งนั้นเพื่อให้เข้าใจและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน(Erickson, 1986 in Gallagher, 1991)

วิธีวิจัยเชิงตีความเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษา ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของครูวิทยาศาสตร์และบุคคลอื่นที่อยู่ในและนอกชุมชนของโรงเรียน การวิจัยเชิงตึความเปิดโอกาสสร้างความรู้ในเชิงวัฒนธรรมเกี่ยวกับการสอนวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นยังช่วยให้ครูมีแนวทางที่ดีกว่าในการสะท้อนผลการทำงานของตน องค์ประกอบด้านสังคม การมีปฏิสัมพันธ์กันทางสังคม ถือเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้วิจัยเชิงตีความ Erickson (1986) ได้ให้แนวทางสำคัญสำหรับการวิจัยเชิงตีความว่า เป็นการวิจัยที่พยายามรวมการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความละเอียดมากและการสื่อความหมายในชีวิตประจำวันซึ่งอยู่ในการปฏิสัมพันธ์ในสังคมกับการวิเคราะห์ในมุมกว้างของบริบททางสังคม ด้วยการแฝงตัวเข้าไปศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่กำลังศึกษา (โชคชัย, 2549)

การวิจัยเชิงตีความได้เพิ่มมิติเชิงลึกทางสังคมให้กับแหล่งข้อมูลของวิธีวิจัยในวิทยาศาสตร์ศึกษา “สังคม” เป็นศูนย์กลางของการวิจัยเชิงตีความและวิธีวิจัย นอกจากนั้น วิจัยเชิงตีความยังเน้นความสำคัญที่จะศึกษาความเข้าใจของแต่ละบุคคล การปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนขณะเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ทั้งในระบบโรงเรียน และในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน การสนทนากับครู ซึ่งส่งผลต่อความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ศึกษาที่ทำการวิจัยเชิงตีความจะศึกษาการทำความเข้าใจ การให้ความหมายที่ครูและนักเรียนแสดงออกหรือการมีปฏิสัมพันธ์กันในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ (Gallagher, 1991)

 ธรรมชาติของการหาความจริงของมนุษย์

Cohen, Manion, and Morrison (2007) วิเคราะห์ความแตกต่างของมุมมองความเป็นจริงของสังคมโลกที่เป็นแนวทางการวิจัยออกเป็น 2 แนวทาง คือ เชิงปริมาณ (objectivist) และเชิงคุณภาพ (subjectivist) ตามการวิเคราะห์ข้อตกลงเบื้องต้นใน 4 ประเด็น

                1. ภววิทยา (Ontology) พิจารณาเกี่ยวกับธรรมชาติของความรู้/ความจริงคืออะไร ที่เกิดขึ้นในปรากฏการณ์ เชิงสังคม ว่าความรู้นั้นคืออะไร “what” ถ้าเชิงปริมาณได้ข้อมูลจากการสังเกต ทดลอง เกิดอะไรขึ้นมีลักษณะเป็น Realism  ถ้าเป็นเชิงคุณภาพจะเป็นความรู้ที่เกิดขึ้น มองเห็นขณะนั้นเวลานั้นมีลักษณะเป็น Norminalism  

                2. ญาณวิทยา (Epistemology) พิจารณาสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานความรู้นั้นว่าได้มาอย่างไร ผู้แสวงหาความรู้กับความรู้นั้นสัมพันธ์กันอย่างไร จะสื่อถึงบุคคลอื่นได้อย่างไร มีรูปแบบอย่างไร เป็นความรู้ของพฤติกรรมเชิงสังคมอย่างไร บุคคลมีวิธีมองความรู้ของสังคมอย่างไร นักวิจัยศึกษาสังเกตเชิงวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เช่น ความรู้ของบุคคล การสังเกตและเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ และเป็นลักษณะเฉพาะ ไม่เหมือนใคร อย่างไรก็ตามยังต้องใช้การศึกษาและสังเกตเชิงปริมาณ ถ้าเป็นเชิงปริมาณต้องมีหลักฐานประกอบการพิจารณาอย่างชัดเจนหรือ Positivism ถ้าเป็นเชิงคุณภาพจะเป็นการสังเกตธรรมชาติของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือ Anti-positivism

                3. ธรรมชาติของบุคคล (Human nature) พิจารณาธรรมชาติของบุคคล ในลักษณะเฉพาะเจาะจง เชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมชองบุคคลกับสิ่งแวดล้อม ต้องใช้ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ถ้าเป็นเชิงปริมาณเชื่อว่าธรรมชาติของบุคคลคืออะไร บุคคลถูกกำหนดโดยสิ่งแวดล้อมมีลักษณะเป็น Determinism  ถ้าเป็นเชิงคุณภาพ พฤติกรรมของบุคคลขึ้นอยู่กับธรรมเนียม ประเพณี นิสัย อคติ ความรู้สึกภายในของบุคคลมีลักษณะเป็น Voluntarism  

                4. วิธีวิทยา (Methodology) พิจารณาวิธีการแสวงหาความรู้ว่าจะมีวิธีการอย่างไร เชิงปริมาณต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน บัญญัติกฎขึ้น อธิบายกฎจากปรากฏการณ์มีลักษณะเป็น Nomothetic  เชิงคุณภาพจะระบุเป็นเฉพาะเรื่อง เฉพาะบุคคล เฉพาะเหตุการณ์ ผู้สังเกตเข้าไปมีส่วนร่วมและสร้างความหมายนั้น (personal construct)มีลักษณะเป็น Idiographic

                ดังนั้นในการที่จะทำวิจัยจึงต้องแล้วแต่มุมมองของบุคคล ว่าจะยึดทิศทางใดหรือกรอบใด หรือกระบวนทัศน์(paradigm)ใด  อยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ การวางแผน วิธีการ การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และความเข้าใจที่แต่ละบุคคลกำหนด ขึ้นอยู่กับญาณปรัชญาของแต่ละบุคคลเชื่อถือ ดังคำกล่าวที่ว่า “เชื่อในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เชื่อ” ที่เชื่อว่าตนจะต้องอธิบายอย่างไรจึงจะตรงกับความจริงมากที่สุด เพราะทุกศาสตร์มีโครงสร้างทฤษฎี (Structural Theory) ของตนเอง ถ้าสามารถแยกแยะลงสู่รายละเอียดได้มากเท่าใด จะสามารถอธิบายได้มากเท่านั้น จึงจะต้องคำนึงถึงข้อตกลงเบื้องต้นซึ่งมีลักษณะเฉพาะในแต่ละกระบวนทัศน์ (paradigm) นั้นๆ

 How Does Interpretive Research Differ From Other Research Method?

 กระบวนทัศน์แตกต่าง

                ในปัจจุบันมีมุมมองในการหาความเป็นจริงของสังคมโลกที่เป็นแนวทางการวิจัยทางสังคมศาสตร์และศึกษาศาสตร์ แบ่งออกเป็น 2 กระบวนทัศน์ (paradigm) Cohen, Manion, and Morrison (2007) ดังนี้

                1.  กระบวนทัศน์เชิงปฏิฐานนิยม (Positivism Paradigm) คือ เชิงปริมาณ (objectivist) ที่เชื่อว่า อะไรก็ตามที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ จึงจะน่าเชื่อถือ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้จะไม่น่าเชื่อถือ เน้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ การใช้เครื่องมือ และหลักเหตุผล (Beck, 1979)

                2. กระบวนทัศน์ทางเลือก (Alternative Paradigm) คือ เชิงคุณภาพ (subjectivist) ตั้งอยู่บนแนวคิดพื้นฐานของกระบวนทัศน์เชิงตีความ(Interpretive  Paradigm) เชื่อว่า สรรพสิ่งทั้งหลายมีความเป็นลักษณะเฉพาะย่อมอยู่ในสภาพที่ขึ้นอยู่กับบริบท  มีผลกระทบต่อกันและกันในลักษณะของปฏิสัมพันธ์(Interrelation)  จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะแยกสิ่งต่างๆ ออกจากกันโดยเด็ดขาด  เป้าหมายสูงสุดของการวิจัย  ไม่ใช่การพิสูจน์หาความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล  แต่คือการตีความเพื่อเข้าใจความหมายของสิ่งที่ศึกษาเป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วย  การวิจัยเชิงตีความ (Interpretive Research) การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnographic Research ) การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) การวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participant observational Research) กรณีศึกษา (Case study Research) การวิจัยปรากฏการณ์ (Phenomenological Research) การวิจัยเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic interaction Research)และการวิจัยการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivist Research) (Erickson, 1986 in Gallagher, 1991) สำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ศึกษามีการศึกษาวิจัยทั้ง 2  กระบวนทัศน์ แต่ในเมื่อทั้ง 2  กระบวนทัศน์ก็มีแนวคิดที่แตกต่างกัน  มีผลทำให้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้หรือหาคำตอบในการศึกษาวิจัยที่แตกต่างกันสามารถสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้

( Trippins,2005 อ้างถึงใน โชคชัย  ยืนยง , 2549)  

ตาราง  เปรียบเทียบแนวทางการสืบเสาะหาความรู้ระหว่าง Positivist และ Interpretive

 

Positivist  mode

Interpretive  mode

ข้อตกลงเบื้องต้น

  • ข้อเท็จจริงทางสังคม  ถือว่ามีความเป็นปรนัย

     คือจะต้องมีข้อเท็จจริงที่ถูกต้องที่สุดอยู่ 1

     ประเด็น

  • ตัวแปรจะต้องระบุได้ชัดเจน  และต้องมี

    ความสัมพันธ์กับสิ่งที่วัด

  • · ความจริงที่ถูกสร้างขึ้นในเชิงสังคม
  • · ตัวแปรมีความซับซ้อน  และยากที่จะวัดได้ชัดเจน

 

วัตถุประสงค์การวิจัย

  • สามารถอ้างอิงถึงประชากรได้

     (Generalization)

  • การอธิบายเชิงสาเหตุ
  • · การสำรวจ
  • สามารถอ้างอิงถึงกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ใน

    บริบทเดียวกันได้(Contextualization)

  • ทำความเข้าใจสิ่งที่ศึกษา
  • การตีความ

แนวทาง

การวิจัย

(Research

Approach)

  • เริ่มจากสมมติฐานและทฤษฎี
  • ใช้เครื่องมือวิจัยอย่างเป็นทางการ
  • การวิจัยเชิงทดลอง
  • ใช้กระบวนการนิรนนัย(Deductive)
  • มีการวิเคราะห์องค์ประกอบ
  • · สืบค้นหาผลลัพธ์ที่เป็นบรรทัดฐาน(Norm)
  • ลดข้อมูลให้น้อยลงแต่เพิ่มการนำเสนอ

    ข้อมูลในเชิงตัวเลข

  • · ใช้ภาษาที่เป็นนามธรรม
  • · ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะเป็นสมมติฐานหรือ

   ทฤษฎี

  • ผู้วิจัยถือว่าเป็นเครื่องมือในการวิจัย

    อันหนึ่ง

  • การวิจัยจัดกระทำตามธรรมชาติ  หรือ

    สภาพจริงที่เป็นอยู่(Naturalistic)

  • ใช้กระบวนการอุปนัย(Inductive)
  • สืบค้นเพื่อหารูปแบบ(Patterns)
  • นำเสนอผลในเชิงตัวเลขเพียงส่วนน้อย

    เท่านั้น

  • · เขียนงานวิจัยโดยการบรรยาย(Descriptive)

บทบาทของผู้วิจัย

  • ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังศึกษา

     (Detachment)

  • แสดงลักษณะนิสัยที่มีความเป็นปรนัย คือ

     พยายามค้นหาสิ่งที่ถูกต้องที่สุด

  • เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังศึกษา  หรือ

   เป็นผู้อยู่วงใน

  • แสดงลักษณะนิสัยที่จะพยายามทำความ

   เข้าใจผู้อื่น

 ความน่าเชื่อถือของการวิธีวิจัยเชิงตีความ (Trustworthiness on Interpretive Methodology)

มีการพิจารณาความแตกต่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้เฉพาะเจาะจงของบริบท  และช่วงเวลา ก็อาศัยแนวทางในการตรวจสอบความเชื่อมั่นการวิจัยได้เหมือนกัน  แต่ประเมินเรื่องความเชื่อถือ (Trustworthiness) จากความเชื่อถือได้ (Credibility)  การถ่ายโอนผลการวิจัยได้(Transferability)  การพึ่งพาบริบท(dependability) การยืนยันได้(Confirmability) (Jones , 2002 อ้างถึงในโชคชัย  ยืนยง , 2549) ดังรายละเอียดต่อไปนี้

                1.   ความเชื่อถือได้(Credibility)

                                การวิจัยเชิงตีความ  จะตรวจสอบความตรงภายใน(Internal  validity) โดยการอธิบายวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการสืบค้นความรู้จากการวิจัย(Lincoln & Guba, 1985 อ้างถึงใน โชคชัย  ยืนยง , 2549) เสนอวิธีการอธิบาย ความเชื่อถือได้(Credibility) ของการวิจัยไว้หลายแนวทาง  ได้แก่

                1.1  เทคนิคสามเส้า(Triangulation) คือเทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลจากหลายแนวทางเพื่อตรวจสอบผลการวิจัยให้ตรงกัน  เทคนิคที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แหล่งข้อมูลหลายแหล่ง  หลายวิธีการ  ผู้วิจัยหลายคน  หลายทฤษฎี สามเส้าโดยใช้เวลา เช่น การศึกษาแบบ Cross section  และ longitudinal  สามเส้าโดยใช้สถานที่

                1.2  การใช้เวลายาวนานเข้าไปในบริบทของกลุ่มเป้าหมาย(Prolong  engagement)   นั่นคือผู้วิจัยต้องเข้าไปฝังตัวในบริบทของสิ่งที่กำลังศึกษา  เพื่อให้คุ้นเคยและเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่กำลังศึกษา  และเพื่อสร้างไมตรีจิต และความเชื่อถือกับกลุ่มเป้าหมาย  จนสามารถตีความหมายข้อมูลได้ถูกต้อง  และได้ข้อมูลที่กลุ่มเป้าหมายไม่ได้พูดออกมาโดยตรง

                1.3  การติดตามสังเกตอย่างต่อเนื่อง (Persistent  Observation) การสังเกตแบบนี้ช่วยให้ผู้วิจัยให้ความสำคัญทุกๆ รายละเอียดของสิ่งที่กำลังศึกษา  จนสามารถวิเคราะห์และตีความหมายได้โดยตรง

                1.4  การตรวจสอบผลการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับผู้ร่วมวิจัย(Peer  debriefing) เนื่องจากการตีความขึ้นอยู่กับตัวผู้วิจัยแต่ละคน(Subjective)  การตรวจสอบผลการตีความจะช่วยสื่อความหมาย  หรือเปิดเผยมโนมติและสมมติฐานที่อาจจะซ่อนอยู่ในตัวผู้วิจัย

                1.5  Negative  case  analysis  เป็นการทบทวนและเปลี่ยนแปลงสมมติฐานที่กำหนดไว้ได้ตลอดเวลาในช่วงของการศึกษา  จนทำให้ข้อมูลที่รวบรวมมาในแต่ละส่วน  หรือแต่ละกรณีมีความสอดคล้องกัน  และอธิบายตามสมมติฐานอย่างน่าเชื่อถือ

                1.6  การตรวจสอบโดยสมาชิก(Member  checking)  เนื่องจากการรวบรวมข้อมูล  การวิเคราะห์ข้อมูลและการสรุปผล  มีความเป็นอัตนัย  ขึ้นอยู่กับผู้วิจัยนั้น ๆ ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อถือได้ควรเปิดโอกาสให้ผู้วิจัย ผู้ร่วมวิจัย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ร่วมกันประเมิน วิเคราะห์วิจารณ์  จนพอใจและตรงความต้องการของทุกฝ่าย

เช่น กรณีกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนเวลาตีความเสร็จแล้ว ก็ไปให้นักเรียนตรวจสอบความตรงของข้อมูลว่าตรงกับที่ผู้วิจัยตีความไปหรือไม่

                1.7  Progressive  subjectivity  เกี่ยวกับการอ้างถึงขอบเขตที่ผู้วิจัยได้กำหนดหรือตั้งใจที่จะสืบค้น  เพื่อความเชื่อถือได้ผู้วิจัยจะต้องแจ้งขอบเขต  และเจตนาของการสืบค้นในการรายงานการวิจัย

                2.  การถ่ายโอนผลการวิจัยได้ (Transferability)

                     การถ่ายโอนผลการวิจัยได้   สามารถกล่าวได้ว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับ ความตรงภายนอกเชิงคุณภาพ การวิจัยที่ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมมนุษย์ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว พฤติกรรมมนุษย์มีความหมากหลายแตกต่างกันออกไป  การเขียนรายงานการวิจัยอาจจะต้องเขียนอธิบายหลายหน้า  จนอาจเรียกได้ว่าเป็น thick  description  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านงานวิจัยเห็นประเด็นการอธิบายนั้นมีตรรกะ หรือมีเหตุผลที่จะเชื่อมโยง หรือมีความเป็นไปได้ที่จะไปสู่ข้อสรุปของงานวิจัยนั้นอย่างไร  สำหรับวิธีการอธิบายอาจจะให้บริบทของสิ่งที่ศึกษา  หรือตัดบทสนทนาที่ได้จากการสัมภาษณ์ประกอบการเขียนอธิบาย

               3.  การพึ่งพาบริบท (Dependability)

การพึ่งพาบริบท( Dependability)อาจถือได้ว่าเป็นความเที่ยงในเชิงคุณภาพ(Qualitative Reliability)  ทำได้โดยการอธิบายเกี่ยวกับแนวทางในารเก็บรวบรวมข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นบริบทของการเก็บข้อมูลด้วย  ซึ่งผลของการวิจัยนั้นจะเป็นที่ยอมรับได้บนพื้นฐานบริบทนั้น  แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง หรือบริบทนั้นแล้วได้ผลเหมือนเดิมเป็นครั้งที่ 2

Marriam (1988 อ้างถึงใน โชคชัย  ยืนยง , 2549) ได้เสนอวิธีการเพิ่มความเชื่อถือได้ของการวิจัยเกี่ยวกับประเด็นการพึ่งพาบริบท(Dependability) ไว้ 3 แนวทางได้แก่(1) การอธิบายข้อตกลงและทฤษฎีที่อยู่เบื้อหลังการศึกษาวิจัยนั้น  สถานะของผู้วิจัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มตัวอย่างหรือไม่อย่างไร  แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับของการเลือกกลุ่มเป้าหมาย(Participants)  และบรรยายลักษณะและบริบทกลุ่มเป้าหมาย (2) เทคนิคสามเส้า(Triangulation) โดยเฉพาะการใช้หลายวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล(Methods)  และหลายวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล (3)  การตรวจสอบเส้นทางการวิจัยได้(Audit  trail)  โดยการพรรณนาอย่างละเอียดว่าข้อมูลนั้นถูกเก็บรวบรวมอย่างไร  แนวทางการจัดกลุ่มข้อมูลนั้นทำอย่างไร  วิธีการตัดสินเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ในประเด็นทำอย่างไร

                4.  การยืนยันได้ (Confirm ability) 

                การยืนยันได้(Confirm ability) เรียกได้ว่าเป็นความเป็นปรนัย(Objectivity) ในเชิงคุณภาพ

และมีความเหมาะสมที่จะใช้อธิบายความเป็นปรนัยของการวิจัยเชิงตีความ (Interpretive  Research)

ด้วยโดยการยืนยันได้จะเป็นผลลัพธ์หรือผลการวิจัยที่ได้จากการสืบค้น(Inquiry) ไม่ได้ขึ้นอยู่ภายใต้อิทธิพล  หรือขึ้นอยู่กับผู้วิจัยนั้น ๆ ดังนั้น  การกระทำให้การวิจัยยืนยันได้  สามารถทำได้โดยรายงานเส้นทางการวิจัยได้(Audit trial) ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านงานวิจัยตัดสินหรือตีความด้วยตัวเขาเองว่าบริบทหรือศักยภาพของผู้วิจัยมีอิทธิพล  หรือมีผลต่อการวิจัยหรือไม่อย่างไร

สรุปแล้วการวิจัยเชิงคุณภาพสามารถทำให้มีคุณภาพของความเชื่อถือ(Trustworthiness) จากความเชื่อถือได้ (Credibility)  การถ่ายโอนผลการวิจัยได้ (Transferability)  การพึ่งพาบริบท(dependability) การยืนยันได้(Confirm ability) จะทำให้งานวิจัยเชิงคุณภาพมีคุณค่าและมีความตรงภายใน  มีความเที่ยง  มีความเชื่อถือได้ ดังเช่นงานวิจัยเชิงปริมาณเช่นกัน

                ในการที่จะพัฒนาผู้เรียนนั้น ครูผู้สอนต้องใช้วิธีการใด ผู้เรียนมีวิธีการเรียนรู้อย่างไร จะมีวิธีการใดให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ มุมมองของครู มุมมองในการทำวิจัยจึงต้องมีการเปลี่ยน ดังนั้นในการทำวิจัยจึงขึ้นอยู่กับมุมมองในการมองโลก (would view ) และเชื่อว่าวิธีการนั้นจะสามารถอธิบายหรือตอบคำถามที่ตนสงสัยได้ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งแนวคิดพื้นฐานที่มีอิทธิพลต่องานที่ต้องการศึกษา จะปรากฏเด่นชัดออกมาทางข้อตกลงเบื้องต้น(assumption) ซึ่งจะดูเพียงวิธีการ (method) อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูที่การวิเคราะห์ข้อมูล (analysis data) ด้วย ซึ่งจะแสดงความเป็นกระบวนทัศน์ (paradigm) นั้นๆ.

........................................................................................................................

บรรณานุกรม 

โชคชัย  ยืนยง, (2549). กระบวนทัศน์เชิงตีความ (Interpretive paradigm): อีกกระบวนทัศน์หนึ่งสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ศึกษา. เอกสารประกอบการสอนวิชา232981   สัมมนาวิทยาศาสตร์ขั้นสูง.

Cohen L., Manion L., and Morrison K.(2007). Research Methods in Education. New York: Routledge. 5 - 48.

Erickson, F.(1986). Qualitative methods in research on teaching. In M. Wittock (ED.), Handbook of Research on Teaching Third Edition. New York : Macmillan.

Gallagher, J.J. (1991). Uses of Interpretive Research in Science Education. In J.J., Gallagher (Ed.) Interpretive Research in Science Education. Kansas, USA: NARST .

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 324630เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2010 18:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท