เดินทางไกลไปกับไทอาหม ตอน ๑๖


ปัตซากุ และการต้อนรับอันอบอุ่น

 

          

               จากบ้าน ดร.จิริน ไปปัตซากุใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่า ถนนที่ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ ฝุ่นตลบดูจะเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว  คนขับใช้ทางลัดที่รู้เฉพาะของคนท้องถิ่น  ฉันซาบซึ้งใจจริง ๆ  เพราะนอกจากจะเป็นทางลัดแล้ว ยังเป็นทางทุรกันดารสุดบรรยาย  แล้วเราก็มาถึงทางเข้าหมู่บ้านปัตซากุ ที่เป็นถนนลาดยางเล็ก ๆ  สองข้างทางยังประดับธงทิวให้เห็นประปราย มีธงมนตราเป็นรูปสามเหลี่ยมเล็ก ๆ  ปลิวเล่นลมอยู่เหนือถนนเป็นระยะ ๆ 

 

                สมเด็จพระเทพฯ  เพิ่งเสด็จเยือนหมู่บ้านนี้เมื่อต้นเดือน  ผู้คนยังคงเล่าเรื่องราวที่มาต้อนรับ  “ยัวร์สพริ้นเซส” ไม่ขาดปาก   ดร.บุสปะเล่าว่า  ถนนเส้นนี้เชื่อกันว่าสร้างโดยบัญชาของกษัตริย์อาหม  ท่านบอกว่า เราโชคดี เพราะเพิ่งมีการบูรณะถนนที่เป็นหลุมบ่อพอให้ดูดีไว้รับเสด็จ

                ขนาดดูดีแล้วนะ  ฝุ่นยังตลบได้  ทั้งที่เป็นถนนลาดยาง

                รถกระป๋องของเราแล่นผ่านหมู่บ้านที่เขียวจี ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่  บ้านคนไทอาหมมีบริเวณกว้าง นิยมปลูกไม้ผลไว้ทั่วไป ที่เห็นมากจะเป็นมะม่วง มะพร้าว  ต้นหมากเป็นทิวเรียงรายอยู่สองข้างทาง รั้วบ้านทำด้วยไม้ไผ่ขัด เหมือนหมู่บ้านทางอีสานของเรา (ในอดีต)  ตัวบ้านมักสร้างด้วยอิฐชั้นเดียว

                แล้วรถก็มาจอดลงที่ศาลาใหญ่หลังหนึ่ง  ฉันเดาว่าคงเป็นศาลาประชาคมอะไรทำนองนั้น  ชาวบ้านเล่าว่า  “ยัวร์สพริ้นเซส”  เพิ่งมาที่นี่ และชาวบ้านก็ถวายการต้อนรับแบบที่กำลังทำอยู่นี้  ฉันรู้สึกขนลุก  จู่ ๆ  ก็ได้รับการต้อนรับอย่างสูงส่ง  แม้จะเตรียมใจไว้แล้วจากข้อมูลที่ได้รับ แต่ก็อดรู้สึกแปลก ๆ  ไม่ได้

 

     

 

                ท่านรัฐมนตรีพูกอน  ออกมาต้อนรับ นำหน้าขบวนกลอง แตร และฉิ่งฉาบ มาอย่างเป็นมิตร  ท่านแนะนำให้รู้จักผู้นำหมู่บ้านที่แต่งกายด้วยชุดอาหมเต็มยศ ก่อนนำเราเข้าสู่ด้านในศาลา

 

                                     ท่านรัฐมนตรีพูกอน

 

                พิธีการเริ่มอย่างเรียบง่าย เรียกว่าพิธีหว่านไฟ สิ่งของที่จัดใส่กาบกล้วยและใบตอง ประกอบด้วย กล้วยน้ำว้าสุก แป้งข้าวจ้าวเปียกผสมน้ำตาล ถั่วเขียว เงิน 1 รูปี  ทุกคนจะได้ของเหล่านี้มาว่างไว้ตรงหน้า จากนั้นผู้อาวุโสจะเป็นผู้นำสวด ชาวบ้านทุกคนร่วมกันสวดด้วยภาษาอาหมโบราณ  ฉันคิดถึงพิธีบายศรีสู่ขวัญของบ้านเรา สวดเสร็จก็จะทยอยกันมาจุดไฟที่วางเทียนเรียงไว้บนที่ปักเทียนเป็นวง  เมื่อทุกคนจุดไฟกันหมดแล้ว ก็จะช่วยกันโยนดอกไม้ที่เตรียมไว้เข้าในวงไฟ

 

 

 

                ฉันชอบที่สุดก็ตอนนี้  พวกเด็ก ๆ  หนุ่ม ๆ  สาว ๆ  เอาดอกไม้มาให้โยนกันอย่างสนุกสนาน  จากนั้นก็กินกล้วย ถั่ว และแป้ง ที่ได้มาพอเป็นพิธี ของเหล่านี้ห้ามทิ้งขว้าง ต้องเก็บติดตัวไป  พวกเขาหาถุงก๊อบแก๊บมาใส่ให้พวกเราหอบหิ้วไปด้วย  เพราะไม่มีใครกล้ากินถั่วดิบ แป้งดิบ มีแต่กล้วยเท่านั้น ที่ไม่ต้องหอบกลับ  แต่ฉันเห็นชาวบ้านที่ร่วมพิธีกินถั่วเขียวดิบ และแป้งข้าวจ้าวเปียกน้ำตาลนั้นหน้าตาเฉย  เอ๊ะ !  หรือว่าจะอร่อย  ฉันพยายามชิมอีกครั้ง แต่รสชาติยังเหมือนเดิม ...

 

 

                เสร็จพิธีการ ก็เป็นการถ่ายรูปร่วมกัน  แล้วเดินไปบ้านท่านรัฐมนตรีพูกอน ที่อยู่ใกล้ ๆ   เราจะกินมื้อกลางวันที่บ้านท่านรัฐมนตรีวันนี้ ...

 

      

 

                ท่านรัฐมนตรีพูกอน เป็นลูกเขยของหมอลุงช่างบุญ  ซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่คนไทอาหมนับถือ  บ้านของท่านกว้างขวาง สะอาดน่าอยู่  เฟอร์นิเจอร์ดูมีราคา สมฐานะการเป็นนักการเมือง 

                 ฉันชักอยากรู้ว่าห้องน้ำบ้านท่านจะเป็นอย่างไร  เพราะเห็นมานักต่อนักแล้ว บ้านใหญ่โตของเศรษฐีอาหม แต่พอไปถึงห้องน้ำ ห้องส้วมกลับเป็นที่น่าหวาดหวั่น

 

                พอฉันขอเข้าห้องน้ำ  ท่านรัฐมนตรีถามกลับว่าจะเข้าห้องน้ำแบบอังกฤษ หรือแบบอินเดีย ...  มีทางเลือกให้ด้วย  ท่าทางจะไม่ธรรมดา  แต่เพื่อความปลอดภัย โอลิเวอร์มากระซิบว่าให้เข้าแบบอังกฤษ  ฉันก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน  อย่างน้อย ๆ  น่าจะดูดี มีรสนิยมกว่า  เพราะเป็นชาติเจ้าอาณานิคม

                “แบบอังกฤษค่ะ แต่ขอดูแบบอินเดียด้วย” ฉันแสดงเจตน์จำนง

 

                ไม่มีอะไรในโลกที่ท่านรัฐมนตรีจัดให้ไม่ได้  ท่านพาไปหลังบ้านที่ต่อออกไปเป็นโรงครัว และห้องน้ำแบบอินเดีย ที่เมื่อเข้าไปแล้ว ไม่รู้จะใช้อย่างไร ปล่อยของเสียออกไปแล้ว มันจะไหลไปทางไหน  ท่านรัฐมนตรีอธิบายว่า มันจะไหลออกไปตามช่องที่เจาะไว้ที่ผนัง ลงไปยังพื้นดินนอกห้องน้ำ กลายเป็นอาหารของหมู หมา ที่เดินกันอยู่ขวักไขว่ 

                ถึงตอนนี้ฉันรู้แล้วว่าทำไม ชางไหม่ ไม่ยอมกินหมู  ซ้ำยังหัวเราะไม่ยอมบอกเหตุผลที่ฉันสงสัย  แล้วบอกว่าเดี๋ยวฉันก็รู้เอง  ถ้ายังไม่รู้ตอนกลับจะบอก

                “ไม่อยากให้ไม่มีความสุขในการกินหมู” เขาบอกฉันอย่างนั้น

                ส่วนห้องน้ำแบบอังกฤษที่ดูว่าจะหรูหรากว่าแบบอินเดีย  แท้จริงแล้ว มันคือส้วมซึมแบบมีคอ ห่านที่ต้องนั่งยอง ๆ นั่นเอง  ฉันเพิ่งรู้นะนี่ว่าแบบนี้ คือส้วมแบบอังกฤษ  ฉันคิดว่าเป็นส้วมแบบไทยเสียอีก  เพราะจำความได้ก็เห็นแบบนี้แล้ว  ห้องน้ำแบบอังกฤษของบ้านท่านรัฐมนตรีก็พอใช้ได้ เสียอย่างเดียวประตูกลอนหลุด ต้องให้นิดมายืนเฝ้า แล้วก็ผลัดกันยืนเฝ้าหน้าส้วมแบบอังกฤษ  มองดูหมูหาอาหารอยู่รอบ ๆ  ส้วมแบบอินเดีย ... อย่างสุขใจ  !!

 

                อาหารกลางวันวันนี้ค่อนข้างหรู  เพราะอุดมไปด้วยโปรตีน ทั้งแกงปลาชิ้นโต ๆ  และหมูย่างหอมฉุย  พร้อมผักอีกจานใหญ่  นอกนั้นก็มีต้มหมูกับผักเละ ๆ  มันย่อง  ปิดท้ายด้วยขนมหวานแสบไส้ เป็นขนมชนิดเดียวที่ได้กินตลอดระยะเวลาที่อยู่ในอัสสัม เป็นก้อนกลม ๆ  คล้าย ๆ  ฟองน้ำ ที่ชุบน้ำเชื่อม  จากที่รู้สึกแปลก ๆ  จนกลายเป็นอร่อย และชอบที่มันให้พลังงานน้ำตาลในเส้นเลือดเวลาเพลีย ๆ  ดี

 

                ที่จริงอาหารมื้อนี้จะบรรเจิดมาก  หากไม่รู้เรื่องวิถีชีวิตของหมูรอบ ๆ  ส้วมแบบอินเดีย ...

                แล้วหมูที่กำลังกิน ๆ  กันอยู่นี่  ท่านรัฐมนตรีจับมาจากหลังบ้าน หรือเปล่าก็ไม่รู้ .. ! ไม่อีกทีก็ต้องมาจากหลังบ้านคนอื่นๆ แน่เลย.....

 

 

หมายเลขบันทึก: 324491เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2010 22:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับ ในภาคใต้ บ้านผมบางแห่ง ( 30 ปี ที่แล้ว )สมัยก่อนไม่มีส้วม เวลาถ่าย จะมีหมูหรือหมามารอร ต้องถือไม้ไปด้วยครับ ไล่หมูหมาไม่ต่างจากชาวอาหมหรอกครับ

ติดตามเรื่องไทยอาหมมานานแล้วครับ ตั้งแต่อ่านหนังสืออาจารย์บรรจบ พันธ์เมธา และอาจารย์ บุญยงค์ เกศเทศ

แห่ง ม.มหาสารคามเหล่าให้ฟัง น่าสนใจครับ

ว่าง ๆ เชิญไปเยี่ยมบล็อก สันติสุข ลีลาลิขิตบางนะครับ

ขอบคุณครับ

เล่าได้สนุกจริงๆ ครับ

เห็นภาพชัดเจน เพราะไปดูมาแล้วเหมือนกันครับ

ยังซาบซึ้งไม่หาย

ก็ยังอยากกลับไปอีกครับ โดยเฉพาะแถวนากาแลนด์ มิโซรัมและมานีปูร์ครับ

จะไปดูการปลูกพริกบุดโจโลเกียครับ พริกที่เผ็ดที่สุดในโลก

ลองปลูกที่บ้านพักในสถานเอกอัครราชทูต ที่เดลี ปลูกได้แต่ไม่รอด สงสัยอากาศไม่เหมือนกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท