ข้อเสนอต่อผลการศึกษาการวัดระดับคุณภาพรายการโทรทัศน์ในสถานีทีวีไทย


ข้อเสนองานวิจัย เรื่อง “การศึกษาและจัดทำเครื่องมือวัดระดับความนิยม (Rating) การชมรายการของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) โดยศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ที่ผ่านมา มีสังเกตสำคัญอยู่ ๓ ประการ คือ (๑) ชุดความรู้พื้นฐานในการสร้างเครืองมือคืออะไร ? (๒) ชุดคำถามในเครื่องมือที่ถูกออกแบบ และ (๓) ข้อเสนอในการต่อยอดงานวิจัย

ข้อเสนอต่อผลการศึกษาการวัดระดับคุณภาพรายการโทรทัศน์ในสถานีทีวีไทย[1] ดาวน์โหลดร่างรายงานวิจัยของเอแบค

ความน่าสนใจของสถานีทีวีไทยในฐานะสื่อสาธารณะของไทย ความคาดหวังของสาธารณชนในสังคมไทย ไม่ได้แตกต่างไปจากพันธกิจที่ถูกกำหนดไว้ใน พรบ.องค์การแพร่ภาพสาธารณะ พ.ศ.๒๕๕๑ การติดตามผลการทำงานของสถานีทีวีไทย โดยเฉพาะคุณภาพของรายการโทรทัศน์ในสถานี รวมไปถึง การบริหารจัดการขององค์การเพื่อตอบโจทย์พันธกิจตามกฎหมาย ในฐานะจิตวิญญาณของสื่อสาธารณะ และ ความพึงพอใจของผู้ชม ผู้ฟัง จึงเป็นกลไกสำคัญในการที่จะนำไปสู่การพัฒนา รายการโทรทัศน์ และ การบริหารจัดการของสื่อสาธารณะที่ตอบสนองต่อหลักการพื้นฐานของสื่อสาธารณะ

ข้อเสนองานวิจัย เรื่อง “การศึกษาและจัดทำเครื่องมือวัดระดับความนิยม (Rating) การชมรายการของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) โดยศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ที่ผ่านมา มีสังเกตสำคัญอยู่ ๓ ประการ

ประการที่ ๑       การตอบโจทย์หลักในงานวิจัย หากพิจารณาถึงประเด็น อันเป็นโจทย์ของการศึกษาในงานวิจัยชื้นนี้พบว่า เป็นการศึกษาถึง (๑) เครื่องมือในการวัดระดับความนิยมการชมรายการโทรทัศน์ ซึ่งหมายถึง ชุดความรู้ว่าด้วยเครื่องมือในการจัดทำการประเมิน ว่ามีแนวทางอย่างไรบ้าง จะอาศัยระบบใด เช่น ระบบทางเทคโนโลยี หรือ ระบบการสัมภาษณ์ เป็นต้น เราเรียกในภาษาวิจัยว่า “ระเบียบวิธี หรือ วิธีวิทยา” ในการประเมินระดับความนิยมเชิงปริมาณ เพื่อนำไปสู่การพัฒนา “ชุดเครื่องมือ” ในการสำรวจ (๒) ชุดความรู้พื้นฐาน หรือแนวคิดพื้นฐาน ในการประเมินระดับความนิยมของผู้ชม ผู้ฟังต่อรายการในสถานีทีวีไทย เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในฐานะพื้นฐานของการพัฒนาชุดคำถามและชุดเครื่องมือในการสำรวจแบบประเมิน ซึ่งคงไม่สามารถหลีกเลี่ยง การสำรวจชุดความรู้หรือทฤษฎีพื้นฐานเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพของสื่อ ทั้ง สื่อกระแสหลัก สื่อสาธารณะ ทั้ง การวัดระดับความนิยมเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ รวมไปถึง ระดับคุณภาพของการบริหารจัดการ (๓) การพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนากลุ่มประชากร หรือ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคคลที่จะให้ข้อมูลในการสำรวจ ซึ่งดูเหมือนว่าอยู่นอกกรอบของงานวิจัยชิ้นนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับมองว่า เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นผลการสำรวจในเชิงคุณภาพ เพราะคงต้องพิจารณาในประเด็นการทำงานในอนาคตว่า หากต้องการภาพสะท้อนในเชิงคุณภาพ การพัฒนาเครือข่ายที่ “เกาะติด” กับรายการโทรทัศน์ในสถานีทีวีไทย ในเชิงการติดตามเพื่อสะท้อนเชิงคุณภาพในสถานีทีวีไทยเองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ประการที่ ๒       ประเด็นชุดความรู้ในชุดคำถามอันเป็นแบบสำรวจ จากข้อเสนอผลการศึกษา พบว่า มีข้อสังเกต ๕ ข้อ

ข้อแรก ควรมีเกณฑ์ในการประเมินถึงระดับคุณภาพของรายการโทรทัศน์ หากพิจารณาจากข้อเสนองานวิจัยใน ๕.๑ ในการประเมินด้าน การสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพและคุณธรรม บนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยผ่านทางบริการข่าวสารที่เที่ยงตรง รอบด้านสมดุล และซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ (มาตรา 7 (1))

อันที่จริงแล้ว นอกจากระดับคุณภาพของรายการโทรทัศน์ที่สามารถพิจารณาจาก รูปแบบหรือเทคนิคของการนำเสนอว่ามีความสร้างสรรค์มากน้อยเพียงใดแล้ว ระดับของคุณค่าของเนื้อหารายการโทรทัศน์ก็ถือเป็นหัวใจสำคัญของการประเมินระดับของคุณภาพของรายการเช่นกัน ซึ่งหากพิจารณาจากเจตนารมณ์ของสื่อสาธารณะนั้นเพื่อตอบสนองต่อการเรียนรู้ของผู้ชม ผู้ฟัง ดังนั้น เกณฑ์ในการพิจารณาคงต้องพิจารณาลงไปถึงระดับเชิงคุณค่า กล่าวคือ (๑) สื่อเพื่อสร้างความรู้ (๒) สร้างความเข้าใจ หรือ (๓) สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง หรือ พฤติกรรมของผู้ชม ผู้ฟังรวมไปถึงคนในสังคม ซึ่งถือเป็นภารกิจอันสำคัญของสื่อสาธารณะ

ข้อที่สอง ควรต้องมีเกณฑ์ในการพิจารณาถึงสัดส่วนหรือน้ำหนักของประเภทรายการในสถานีทีวีไทย เพื่อตอบโจทย์การกระจายโอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึงเนื้อหาของประชาชนในทุกกลุ่ม หากพิจารณาจากข้อเสนอในงานวิจัยในข้อ ๕.๒ พบว่า มีการประเมินด้าน “ผลิตรายการทางด้านข่าวสาร สารประโยชน์ทางด้านการศึกษา และสาระบันเทิงที่มีสัดส่วนอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพสูง เน้นความหลากหลายในมิติต่าง ๆ โดยมุ่งดำเนินการอย่างปราศจากอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ และยึดถือผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ (มาตรา 7 (2))

จะเห็นได้ว่าคำสำคัญของ มาตรา ๗(๒) นั้นนอกจากประเด็นด้านคุณภาพเนื้อหาแล้ว ยังมีประเด็นเรื่อง “สัดส่วนของเนื้อหาที่มีความเหมาะสม เน้นความหลากหลายในมิติต่างๆ” ดังนั้นในการพิจารณาถึงคุณภาพของรายการโทรทัศน์ในทีวีไทยนั้น จึงความจำเป็นในการพิจารณาถึงสัดส่วนของเนื้อหาในแต่ละประเภทรายการว่าตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในทุกกลุ่ม ทั้งเพศ การศึกษา อาชีพ ศาสนา อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงหรือไม่ เพื่อสะท้อนถึง โอกาสในการเข้าถึงเนื้อหาของรายการที่สามารถตอบสนองต่อการเรียนรู้ของทุกคนในสังคมไทยอย่างเท่าเทียม

ข้อที่สาม ควรมีเกณฑ์ในการประเมินระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนกับการบริหารจัดการ ในข้อเสนองานวิจัยในข้อ ๕.๕ มีการประเมินด้าน “สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดทิศทางการให้บริการขององค์การเพื่อประโยชน์สาธารณะ” (มาตรา ๗ (๕))

หากลงไปพิจารณาที่มาตรา ๗(๕) ซึ่งกำหนดให้ทีวีไทยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดทิศทางการให้บริการขององค์การเพื่อประโยชน์สาธารณะ ย่อมหมายความว่า จำเป็นที่จะต้องพิจารณารูปแบบและระดับของการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้ง การสะท้อนความคิดเห็นต่อคุณภาพของรายการ คุณภาพของการบริหารจัดการของสถานี รวมถึง การมีส่วนร่วมทั้ง “ทางตรง” และ “ทางอ้อม” ในการกำหนดทิศทางของการให้บริการ แต่จากผลการศึกษาพบว่า การประเมินการมีส่วนร่วมยังคงเน้นแต่เพียงการกระจายโอกาสในการนำเสนอข้อมูลจากคนกลุ่มต่างๆ กับ โอกาสในการเข้าถึงและรับสื่อเท่านั้น ยังขาดการประเมินในส่วนของการมีส่วนร่วมในการสะท้อนความคิดเห็นและการบริหารจัดการ

ข้อที่สี่ ควรต้องมีเกณฑ์ในการประเมินเชิงคุณภาพของการบริหารจัดการของสถานี หากพิจารณาจาก มาตรา ๕๐ โดยการประเมินผลการดำเนินงานจะต้องแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏทั้งในด้านประสิทธิผลในด้านประสิทธิภาพ ในด้านการพัฒนาองค์การ ในด้านการสนับสนุนจากประชาชน จำนวนและความพึงพอใจของผู้รับชมหรือรับฟังรายการ และในรายละเอียดอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายจะได้กำหนดเพิ่มเติมขึ้น นั่นหมายความว่า การประเมินเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของสถานี คงต้องฟังเสียงสะท้อนจากผู้ชมผู้ฟังถึง คุณภาพในการบริหารจัดการสถานีในภาพรวมของทีวีไทยด้วย  โดยอาจพิจารณาเกณฑ์ในการประเมินจากมาตรา ๗ ของ พรบ.องค์การแพร่ภาพ ฯ

ข้อที่สี่ การให้ความชัดเจนของเกณฑ์ในการประเมินเรื่องกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เมื่อพิจารณาถึงข้อเสนองานวิจัยเกี่ยวกับเกณฑ์การประเมินเรื่อง “กิจกรรมสาธารณะประโยชน์” ในงานวิจัยชิ้นนี้ เสนอเกณฑ์การพิจารณาเป็น ๓ ส่วน กล่าวคือ  (๑) ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัว (๒) สอดส่องและเฝ้าระวังภัยให้กับสังคม และ (๓) เป็นแบบอย่างในทางสร้างสรรค์ให้แก่สื่อมวลชนทั่วไป นั้น อาจจะต้องมองให้ชัดเจนถึง “นิยาม” ของคำว่ากิจกรรมสาธารณะประโยชน์ ให้ชัดเจนว่า หมายถึงอะไร ?เรื่องใด  ? อย่างใด ? กิจกรรมสาธารณะประโยชน์ อาจหมายถึง กิจกรรมเพื่อตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสื่อและการใช้ชีวิตของคนในสังคมไทย เช่น กิจกรรมที่เสริมศักยภาพในการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสื่อ กิจกรรมที่เสริมความเข้มแข็งให้กับวัฒนธรรมการเฝ้าระวัง ติดตาม รู้เท่าทันสื่อ หรือ กิจกรรมเสริมศักยภาพทางวิชาชีพของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ เป็นต้น

ประการที่ ๓       ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยในอนาคต มีข้อเสนอในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพของสถานีทีวีไทยที่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของการจัดตั้งสถานี โดยมีข้อเสนอในประเด็นการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยใน ๒ ส่วน ส่วนแรก การพัฒนาคุณภาพรายการและศักยภาพของผู้ผลิตในฐานนักวิชาชีพเชิงคุณค่าที่ทำงานร่วมไปกับภาคประชาชน ว่ามีรูปแบบอย่างไร มีกระบวนการอย่างไร ส่วนที่สอง การทำงานวิจัยเพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนระบบการมีส่วนร่วมของประชาชนกับสถานีทีวีไทยที่มีประสิทธิภาพ และ อย่างแท้จริง

 


[1] เป็นข้อเสนอต่องานวิจัยเรื่อง “การศึกษาและจัดทำเครื่องมือวัดระดับความนิยม (Rating) การชมรายการของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)”สำหรับ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) โดยศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในการสัมมนาเชิงวิชาการเพื่อเสนองานวิจัยในวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ณ ห้องประชุม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

หมายเลขบันทึก: 323852เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2009 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท