วิถีชีวิตแรงงานพม่าภายใต้วาทกรรมแรงงานข้ามชาติ


เราไม่เคยรับรู้ ไม่เคยสนใจ เพราะพวกเขาเป็นคนพม่าไม่ใช่คนไทย

         พื้นที่ กม.18 ต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่หนึ่งที่เกิดการขยายตัวของเมืองและการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่ได้รับการวางให้เป็นจังหวัดศูนย์กลางในการบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน (OSM) ซึ่งมียุทธศาสตร์ 3 เรื่องด้วยกัน คือการผลิตและแปรรูปสินค้ายางพารา การผลิตและแปรรูปสินค้าปาล์มน้ำมัน และการยกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยยุทธศาตร์ดังกล่าวได้รับการขานรับจากหน่วยงานระดับจังหวัดซึ่งจะเห็นได้จากแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดในปีพ.ศ.2548 – 2551 ที่มียุทธศาสตร์หลักอยู่ 3 ข้อคือ 1.การเป็นศูนย์กลางการเกษตรที่มีคุณภาพโดยเน้นให้เป็นตลาดกลางยางพาราในเขตภาคใต้ตอนบนและเป็นเมืองปาล์มน้ำมัน 2.การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากการเกษตร โดยเน้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องและเป็นแหล่งรายได้สำคัญของจังหวัด และมีการเพิ่มขึ้นของวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมที่สามารถผลิตและจำหน่ายไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงเป็นแหล่งแปรรูปอาหารที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภค 3.การเป็นจุดเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมบริเวณภาคใต้ตอนบน โดยที่สุราษฎร์ธานีมีระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพซึ่งสามารถเชื่อมโยงภูมิภาคใกล้เคียงและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดได้เป็นอย่างดี  และจากยุทธศาตร์ดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยหนึ่งในการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมและก่อให้เกิดเมืองตามมา

จากข้อมูลพบว่าในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากเกษตรกรรม เช่น น้ำมันปาล์มดิบ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราและยังมี อุตสาหกรรมปลาป่น อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง ซึ่งในจังหวัดมีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 730 โรง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการให้สัมปทานเหมืองแร่ โดยแร่ที่สำคัญในจังหวัด ได้แก่ ยิบซั่ม โดโลไมต์ แอนไฮโครต์ หินปูน ดินขาว และบอลเคลย์

ส่วนในพื้นที่กม.18 ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโรงช้างระบุว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ 11 โรงงาน ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ เช่นโรงงานต่อเนื่องประมง(แกะปู ,แกะกุ้ง) และโรงงานอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากยางพารา เช่น โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา โรงงานทำถุงมือยาง โรงงานผลิตถุงยางอนามัย  ยังไม่รวมไปถึงโรงงานขนาดเล็กเช่น โรงถ่าน โรงอิฐ เป็นต้นนอกจากนี้ยังมีแรงงานที่ทำงานเชื่อมโยงไปกับวิถีของเมืองดังกล่าวด้วย เช่น คนรับใช้ในบ้าน ลูกจ้างร้านค้าต่างๆซึ่งมีตั้งแต่ลูกจ้างร้านขายของชำ ลูกจ้างร้านขายโทรศัพท์มือถือ (ซึ่งกลายมาเป็นปัจจัยที่จำเป็นของแรงงาน) และในพื้นที่กม. 18 เองก็ยังมีคนงานอีกหลากหลายประเภท เช่นคนงานที่รับจ้างแบกไม้ รับจ้างทั่วไป   คนงานร้านรับซื้อของเก่า คนงานก่อสร้าง คนงานเพาะพันธุ์ปาล์มน้ำมัน และคนงานในสวนยางพารา ยังไม่รวมถึงคนงานที่อยูในอุตสาหกรรมการเกษตรของบริษัทขนาดใหญ่ในเรื่องการผลิตปาล์มน้ำมันและยางพาราแบบครบวงจร  การขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมภายในพื้นที่ก่อให้เกิดความต้องการแรงงานจำนวนมากเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดังกล่าวจึงก่อให้เกิดการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติเกิดขึ้น

การขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมส่งผลให้เกิดชุมชนใหม่ๆขึ้นมาอย่างมากมาย โดยชุมชนที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้มีวิถีชีวิตและความซับซ้อนของความสัมพันธ์ของคนในชุมชนแตกต่างไปจากชุมชนแบบเดิมที่เรารู้จัก เช่นเดียวกับในพื้นที่ กม.18 กลุ่มคนดั้งเดิมในพื้นที่เปลี่ยนที่ดินของตนเองเป็นห้องแถวเพื่อให้แรงงานเช่าอยู่อาศัย บางโรงงานก็สร้างห้องแถวของตนเองขึ้นเพื่อให้คนงานเช่า และเพื่อให้กิจการห้องแถวได้กำไรสูงการก่อสร้างห้องแถวจึงเน้นจำนวนของห้องแถวมากกว่าการคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ในพื้นที่เราจึงพบเห็นห้องแถวแออัดอยู่ถึง 5 ห้องแถวในบริเวณที่ดินประมาณ 1 ไร่โดยที่แต่ละห้องแถวจะแบ่งออกเป็น 10 -  20 ห้อง และในห้องแถวหนึ่งห้องจะมีแรงงานอาศัยอยู่อย่างน้อย 2 ครัวเรือนเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าเช่าห้อง ในตอนเช้าของทุกวันพื้นที่ กม.18 จะพลุกพล่านไปด้วยรถสองแถวรับส่งคนงานของบริษัทต่างๆซึ่งจะต้องรับคนงานจากกะดึกไปส่งที่พักในห้องแถวต่างๆ และรับคนงานกะเช้าเข้ามาทำงานต่อ แรงงานที่มีที่พักอยู่ใกล้ๆกับโรงงานก็จะปั่นจักรยานมาทำงาน ภาพของสามีที่ปั่นจักรยานให้ภรรยาซ้อนท้ายมาทำงานพร้อมกับมีปิ่นโตอยูในตะกร้าหน้ารถจักรยานมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในบริเวณนี้ เมื่อถึงเวลาเลิกงานในตอนเย็น หน้าโรงงานก็จะคลาคล่ำไปด้วยคนงานที่ทยอยออกมาจากโรงงาน มาจับจ่ายซื้อของที่ตลาดนัดหน้าโรงงาน และบางโรงงานก็จะจัดตลาดนัดขายเครื่องอุปโภคบริโภคภายในบริเวณโรงงานกันเลยทีเดียว

ภายใต้ความสับสนวุ่นวายของชีวิตใน กม.18แห่งนี้ทำให้ผู้ศึกษามีความสนใจว่า แรงงานพม่าซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว มีวิถีชีวิตอย่างไรภายใต้การถูกกระทำโดยวาทกรรมแรงงานข้ามชาติและวาทกรรมชาติไทยโดยแนวคิดและทฤษฎีที่ใช้เป็นกรอบในการวิเคราะห์คือ แนวคิดเรื่องวาทกรรม ของมิเชล ฟูโกต์

 

ทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

            ในการศึกษาเรื่องนโยบายแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลไทยของกฤตยา  อาชวนิจกุลและคณะ ได้นำเสนอมุมมองของรัฐบาลที่มีต่อแรงงานข้ามชาติไว้ว่า

แรงงานข้ามชาติในกฎหมายของรัฐไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 1.กลุ่มผู้เข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย คนกลุ่มนี้จะมีเอกสารที่รัฐบาลรับรอง ได้แก่หนังสือเดินทาง (Passport) จากประเทศตน มีการตรวจลงตรา (Visa) โดยสถานทูตหรือกงสุลไทยประจำประเทศนั้นและมีการประทับตราให้อยู่ในราชอาณาจักรประเภทอยู่ชั่วคราว (Non – Immigrant Visa) โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจึงเป็นการง่ายต่อการตรวจสอบการเดินทางเข้า ออก และมีการจัดทำทะเบียนประวัติการทำงานของกลุ่มคนดังกล่าวที่มาขออนุญาตทำงานได้เป็นรายบุคคล ซึ่งแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้จะมีการดำเนินการขอรับใบอนุญาตทำงาน (Work Permit)

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งอพยพมาจากประเทศต่างๆทั้งที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทยและประเทศอื่นๆที่มีกำลังแรงงานมาก เช่นจีน อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน เนปาล ศรีลังกา รวมทั้งประเทศต่างๆในแอฟริกา โดยผู้หลบหนีเข้าเมืองที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีเขตแดนติดกับประเทศไทยได้แก่กลุ่มที่อาศัยอยู่มานานและคณะรัฐมนตรี มีมติรับรองสถานะให้อยู่ถาวร คือ กลุ่มชาวม้งลาวที่อพยพที่จังหวัดเพชรบูรณ์ กลุ่มที่ผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราว คือ กลุ่มหนีภัยการสู้รบจากประเทศพม่า กลุ่มที่มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาเป็นกรณีเฉพาะคือแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติ

ภายใต้วาทกรรม “แรงงานข้ามชาติ”           รัฐไทยมีท่าทีต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกลุ่มหลบหนีเข้าเมืองซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติดังกล่าวว่าเป็นคนเถื่อนซึ่งลักลอบเข้าเมือง เป็นอันตราย เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เป็นกลุ่มที่แพร่เชื้อโรคที่ร้ายแรง ในขณะเดียวกันระบบเศรษฐกิจภายในประเทศก็ยังมีความจำเป็นมีความต้องการแรงงานข้ามชาติในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะงาน 3 ส. คือ งานเสี่ยงสูง (Danger) งานสกปรก (Dirty) และงานแสนลำบาก (Difficult) ดังนั้นวิธีการในการแก้ปัญหาจึงต้องใช้นโยบายการควบคุมและปกครองกลุ่มแรงงานดังกล่าวไว้โดยการใช้กระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเพื่อแก้ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี

ปัจจุบันรัฐไทยมีแรงงานลักลอบเข้าเมืองมากกว่าหนึ่งล้านคน ท่าทีของรัฐไทยต่อปัญหาดังกล่าวรัฐไทยได้มีนโยบายผ่อนผันให้แรงงานอพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ ลาว  พม่า และกัมพูชา มาจดทะเบียนขอใบอนุญาตทำงานได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และทำการจดทะเบียนผ่อนผันเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2552) โดยนโยบายนี้เป็นการดำเนินการตามมติรัฐมนตรีเป็นครั้งๆไปตามสถานการณ์และนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม เราอาจแบ่งระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลออกเป็น 2 ช่วง คือ ก่อนปี 2547 เป็นการจัดระบบคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายหรือคือมาตรการในการแก้ไขปัญหาคนหลบหนีเข้าเมือง แต่หลังปี 2547 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการหลายรูปแบบที่จะปรับสถานะของแรงงานกลุ่มนี้จากการเป็นบุคคลที่มีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมายมาสู่สถานะผู้เข้าเมืองถูกกฎหมายและกลายเป็นแรงงานที่มีสัญญาจ้างตามกฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ( กฤตยา  อาชวนิจกุลและคณะ 2550:3 )

ถึงแม้รัฐไทยจะมีนโยบายผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ จากประเทศพม่า ลาว กัมพูชามาจดทะเบียนขอใบอนุญาตทำงาน แต่ข้อมูลจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ถึงปัจจุบันตัวเลขกลับไม่มากนักประมาณ สี่แสนกว่าคนเป็นข้อมูลที่สวนทางกับสถานการณ์การอพยพของแรงงานข้ามชาติจากประเทศลาว พม่า กัมพูชา และจำนวนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยที่มีมากกว่าหนึ่งล้านคน

การที่รัฐไทยมีนโยบายขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเกิดขึ้นภายใต้วาทกรรมเรื่องความเป็นอันตรายต่อความมั่นคงแห่งชาติ  เป็นตัวแพร่เชื้อโรค ซึ่งภายใต้วาทกรรมเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่ดีต่อแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ จากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า วาทกรรมแรงงานข้ามชาติถูกใช้กับผู้อพยพย้ายถิ่นซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดที่เน้นความสำคัญของฐานคิดในการสร้างนโยบายการย้ายถิ่นข้ามชาติภายใต้กรอบของมโนทัศน์เรื่อง “รัฐ – ชาติสมัยใหม่” ( Modern nation – state) ที่พบว่าในปัจจุบันทั่วโลกมี รัฐ-ชาติสมัยใหม่อยู่ทั้งหมด 185 ประเทศ ประกอบกันขึ้นเป็นชุมชนนานาชาติ แต่ “รัฐ-ชาติ” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา นั่นคือเกิดขึ้นประมาณศตวรรษที่ 19 นี้เอง ในอดีตก่อนการก่อตัวขึ้นเป็น “รัฐ – ชาติ” นั้น มนุษย์แต่ละสังคมเดินทางไปมาหาสู่ข้ามบ้านข้ามเมืองกันได้ค่อนข้างเสรี เมื่อมีการกำหนดอาณาเขตดินแดนในแต่ละ “รัฐชาติ” ขึ้น จึงมีคำกล่าวว่า “คนต้องข้ามชาติ เพราะชาติมาข้ามคนก่อน” นั่นคือพื้นที่ภูมิศาสตร์กายภาพถูกกำหนดและกำกับโดยภูมิศาสตร์การเมืองแบบเอกภาพ ( geo –political entity) พื้นที่ทางภูมิศาสตร์จึงกลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่มีรัฐบาลของแต่ละประเทศทำหน้าที่ดูแลเขตแดนแผ่นดินและประชากรในเขตกรปกครองเฉพาะของตัวอย่างชัดเจน

            องค์ประกอบหลักที่ขาดไม่ได้ของ รัฐ-ชาติ สมัยใหม่คือ รัฐบาล ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดเขตแดน ปกป้องอำนาจอธิปไตยแห่งดินแดน ตลอดจนกำหนดมาตรการและแนวนโยบายแห่งรัฐในทุกด้าน และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเป็นเอกภาพทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของพลเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในอาณาเขตแห่ง รัฐ-ชาติ และสร้างหรือประดิษฐ์สิ่งที่เรียกว่าเอกลักษณ์หรือวัฒนธรรมประจำชาติขึ้นมา โดยพยายามเน้นการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติด้วยการปฏิเสธและขจัดความแตกต่างให้หมดไปจาก รัฐ-ชาติ หนึ่งๆ เครื่องมือและกลยุทธ์สำคัญที่รัฐ –ชาติสมัยใหม่นำมาใช้ในการสร้างความเหมือนและพยายามผสมกลมกลืนความแตกต่างทางด้านภาษา วัฒนธรรม ตลอดจนค่านิยมคือการใช้ระบบการศึกษาภาคบังคับแบะแบบเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่เหมือนกันหมดทั้งประเทศ โดยเฉพาะแบบเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติ ผ่านภาษาที่ใช้สอนกันในโรงเรียนทั่วประเทศ คือภาษาที่รัฐบาลรับรอง และส่งเสริมให้ใช้เป็นภาษากลางหรือภาษาราชการ (กฤตยา  อาชวนิจกุลและคณะ 2550:5 )

            ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการในการสร้างวาทกรรม(Discourse)เรื่อง รัฐ-ชาติของรัฐไทย ซึ่งในทัศนะของมิเชล ฟูโกต์(Michel Foucault)วาทกรรมมิได้หมายถึงภาษา คำพูดหรือถ้อยแถลงอย่างที่มักนิยมเข้าใจกันเท่านั้นแต่วาทกรรมในงานศึกษานี้หมายถึงระบบ และกระบวนการในการสร้าง/ผลิต (constitute) เอกลักษณ์ (identity) และความหมาย (significance)ให้กับสิ่งต่างๆในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจริง อำนาจ หรือตัวตนของเราเอง นอกจากนี้วาทกรรมยังทำหน้าที่ตรึงสิ่งที่สร้างขึ้นให้ดำรงอยู่และเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง (valorize) (ชัยรัตน์   เจริญสินโอฬาร 2542:3-4)

            ฉะนั้นวาทกรรมจึงเป็นมากกว่าเรื่องของภาษาหรือคำพูด แต่มีภาคปฏิบัติการจริงของวาทกรรม ( discursive practices) ซึ่งรวมถึงจารีตปฏิบัติ ความคิด ความเชื่อ คุณค่า และสถาบันต่างๆในสังคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆด้วย ฟูโกกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “วาทกรรมถูกสร้างขึ้นมาจากความแตกต่างระหว่างสิ่งที่สามารถพูดได้อย่างถูกต้องในช่วงเวลาหนึ่ง (ภายใต้กฎเกณฑ์และตรรกะชุดหนึ่ง) กับสิ่งที่ถูกพูดอย่างแท้จริง สนามของวาทกรรมในขณะใดขณะหนึ่งก็คือกฎเกณฑ์ว่าด้วยความแตกต่างนี้ ฉะนั้นวาทกรรมจึงสร้างสรรพสิ่งต่างๆขึ้นมาภายใต้กฎเกณฑ์ที่ชัดเจนชุดหนึ่ง กฎเกณฑ์นี้จะเป็นตัวกำหนดการดำรงอยู่ การเปลี่ยนแปลง หรือการเลือนหายไปของสรรพสิ่งนั่นคือควบคู่ไปกับสรรพสิ่งต่างๆ ที่สังคมสร้างขึ้น ยังมีการสร้างและการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ถูกพูดถึงโดยวาทกรรมอีกด้วย (ชัยรัตน์   เจริญสินโอฬาร 2542:5)

            ภายใต้วาทกรรมเรื่องรัฐ-ชาติดังกล่าว ทำให้รัฐบาลมีสิทธิในการกำหนดและรับรองสถานภาพความเป็นพลเมืองให้แก่ประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาเขตของรัฐ-ชาติ หนึ่งๆ และจะรับรองสถานภาพความเป็นพลเมืองแก่บุคคลที่เป็นประชากรถาวรเท่านั้นขณะเดียวกันใครก็ตามที่ไม่ถูกนับว่าคือพลเมืองของรัฐก็จะถูกกีดกันออกจากสิทธิและผลประโยชน์ต่างๆที่รัฐสงวนไว้ให้เฉพาะพลเมืองของรัฐตน จึงไม่น่าแปลกใจที่การให้สถานะความเป็นพลเมืองแก่บุคคลมิได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ หากแต่เป็นไปตามเงื่อนไขบางอย่างที่รัฐกำหนดและควบคุมอยู่ การเป็นพลเมืองจึงเป็นทั้งเรื่องที่บุคคลถูกรวมเข้ามา ( Inclusion) และถูกกีดกันออกไป (Exclusion) บนฐานของเงื่อนไขความผูกพันบางอย่างที่รัฐเป็นผู้กำหนด เช่น การเกิด การเป็นเครือญาติ และกระบวนการอื่นๆที่ดูเสมือนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติกำหนด ฐานคิดเรื่องการเป็นพลเมืองดังกล่าวสามารถนำมาอธิบายเกี่ยวกับประเด็นการยอมรับผู้อพยพข้ามพรมแดนประเทศของรัฐแต่ละรัฐได้ จากปรากฏการณ์การย้ายถิ่นข้ามพรมแดนทั่วโลกได้แสดงให้เห็นว่า รัฐ-ชาติทีเป็นประเทศปลายทางของผู้อพยพข้ามชาติ มักเลือกที่จะยอมรับผู้อพยพบางประเภทเท่านั้นเข้าประเทศ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะบังเกิดขึ้นกับประเทศตนเป็นที่ตั้งก่อน

            เราอาจแบ่งนโยบายและมาตรการที่ใช้จัดการกับแรงงานข้ามชาติหรือกับคนที่ย้ายถิ่นข้ามพรมแดนระหว่างประเทศในประเทศต่างๆทั่วโลกว่ายืนอยู่บนฐานคิด 2 ขั้ว คือ ขั้วแรกมีจุดยืนที่ให้น้ำหนักกับมิติเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก โดยรัฐ-ชาติที่มีจุดยืนแบบนี้จะยึดมั่นกับกฎบัตรสากลขององค์การสหประชาชาติที่เห็นว่าบุคคลย้ายถิ่นข้ามพรมแดน ถึงแม้จะมีสถานะเข้าไปอยู่ในประเทศหนึ่งประเทศใดอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ถือว่าบุคคลเหล่านั้นยังมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมีพึงได้และไม่พึงควรที่ผู้ใดหรือรัฐบาลของรัฐ-ชาติใดไปกระทำการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านั้น ส่วนฐานคิดอีกขั้วหนึ่งยืนอยู่บนความคิดเรื่อง ชาตินิยม (nationalism) ด้วยภาวะคับแคบทางจิตใจของ รัฐ-ชาติ ที่กระตุ้นเร้าให้พลเมืองของตนเห็นคนต่างเชื้อชาติเป็นคนอื่น หรือสร้างภาวะความเป็นอื่น (otherness) ให้กับคนต่างชาติพันธ์ซึ่งในหลายๆครั้งความรู้สึกชาตินิยมที่คับแคบอาจถูกปลุกเร้าและผลักให้ก้าวไปไกลถึงขั้นที่ ทำให้พลเมืองของรัฐ-ชาติ แห่งตนเกิดความรู้สึกเกลียดกลัวภัยจากคนต่างเชื้อชาติ(xenophobia) ด้วยการใช้วาทกรรมว่าด้วยความมั่นคงของชาติที่ทรงพลังในการปลุกเร้าความรู้สึกเสมอมา (กฤตยา  อาชวนิจกุลและคณะ ,อ้างแล้ว.)

ส่วนรัฐไทยยังไม่สามารถสรุปได้ว่านโยบายความมั่นคงแบบชาตินิยมคับแคบนี้เป็นตัวชูโรงในปรากฏการณ์ข้ามพรมแดนที่มีกระแสการย้ายถิ่นของประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากฐานคิดในการจัดการแรงงานข้ามชาติของรัฐไทยโดยเฉพาะในกลุ่มที่หลบหนีเข้าเมืองนั้นไม่แน่นอนส่งผลให้ทิศทางการกำหนดแนวนโยบายตลอดจนมาตรการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติทุกด้านทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่มีความไม่แน่นอน ไม่คงเส้นคงวา และที่สำคัญคือมาตรการและการปฏิบัติในหลายกรณีหมิ่นเหม่ต่อการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ

 (กฤตยา  อาชวนิจกุลและคณะ 2550:7-8 )

ในกรณีของแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นชาวพม่า วาทกรรมแรงงานข้ามชาติที่กดทับพวกเขาเหล่านั้นอยู่ก็ยังปนไปด้วยความเกลียดชังอันเนื่องมาจากการสร้างวาทกรรมชาติไทยซึ่ง นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายไว้ในบทความเรื่อง พม่า: ศัตรูที่ไม่มีตัวตน(2545) ไว้ว่า การที่คนไทยเกลียดพม่าเนื่องจากประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่สร้างขึ้นมานั้นเนื่องมาจากความจำเป็นบางอย่างเพื่อเสริมสร้างจินตนากรรมของความเป็นชาติให้มั่นคงมากยิ่งขึ้นเนื่องจากหากจะสร้างรูปธรรมเรื่องชาติให้จับต้องได้นั้น(ธงชาติ,เพลงชาติ ,แผนที่,เครื่องแต่งกายประจำชาติ ฯลฯ) ก็จำเป็นต้องสร้าง”ศัตรู” ของชาติขึ้นอีกด้วย และการสร้างศัตรูของชาตินั้นวิธีที่ดีที่สุดคือสร้างประวัติศาสตร์แห่งชาติขึ้นมา  การเลือกพม่าขึ้นมาเป็นศัตรูของชาติไทยเนื่องจากถ้าหากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าในสมัยนั้น พม่า ไม่มีภัยอันตรายอะไร ไม่มีตัวตนในการเมืองระหว่างประเทศเพราะไม่มีรัฐพม่าที่เป็นอิสระ ดังนั้นจะสร้างให้น่าเกลียดน่ากลัวอย่างไรก็ได้  ซึ่งประวัติศาสตร์สำนวนนี้เป็นฐานของประวัติศาสตร์ไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ถือได้ว่าเป็นสำนวนที่ให้สำนึกทางประวัติศาสตร์แก่คนไทยมากที่สุดเพราะผ่านการศึกษามวลชนของคนสมัยใหม่ และสำนึกทางประวัติศาสตร์แบบนี้ก็เป็นผลพวงของวาทกรรมชาติไทยซึ่งกดทับแรงงานพม่าซ้อนเข้ากับวาทกรรมแรงงานข้ามชาติ

เรื่องเล่าจาก น้ำค้าง

            น้ำค้าง อายุ34ปี บ้านเกิดอยู่ที่เมืองทวาย ประเทศพม่า น้ำค้างมีอาชีพขับรถยกในโรงงานยางพารา น้ำค้างเข้ามาอยู่กม.18 เมื่อปี พ.ศ.2544 โดยเข้ามาพร้อมกับแม่และเริ่มทำงานที่โรงงานดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน การเข้ามาเมืองไทยของน้ำค้างนั้นน้ำค้างเล่าว่า

 “นั่งเรือจากทวายมาที่เกาะสอง ใช้เวลานานมากเป็นวัน พอมาถึงเกาะสองก็ต้องนั่งเรือข้ามมาฝั่งไทยอีก เดินทางลำบากมาก ต้องจ่ายเงินให้กับนายหน้าแต่ไม่รู้ว่ากี่บาท”

 น้ำค้างทำงานได้เงินเดือนประมาณ 4,500บาท(วันละ155บาท) น้ำค้างเช่าห้องพักอยู่กับเพื่อนอีก 5 คน ห้องแถวของน้ำค้างส่วนมากเป็นคนมาจากทวายเหมือนกัน ค่าเช่าห้องรวมค่าน้ำค่าไฟตกเดือนละ2,000 กว่าบาท ในห้องเช่าของน้ำค้างเป็นห้องโล่ง กว้าง5 คูณ4 เมตร มีห้องน้ำในตัวซึ่งน้ำค้างและเพื่อนก็รู้สึกพอใจเนื่องจากใกล้กับที่ทำงาน ถึงแม้ว่าห้องเช่าแห่งนี้จะมีระบบการระบายน้ำที่ไม่ดี คูระบายน้ำหลังห้องเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้เป็นอย่างดีและบางครั้งก็มีกลิ่นเหม็นเน่าของเศษอาหารและขยะที่ล้นขึ้นมาจากคูระบายน้ำ แต่ก็ยังดีกว่าบางห้องแถวที่ทุกคนต้องใช้ห้องสุขาร่วมกัน และบางห้องแถวเจ้าของห้องแถวต่อท่อประปามาไว้หน้าห้องเช่าเพื่อให้แรงงานใช้อาบน้ำและเป็นสถานที่ประกอบอาหาร ล้างถ้วยชาม

 เนื่องจากน้ำค้างเป็นแรงงานต่างด้าวตามนโยบายของรัฐบาลน้ำค้างต้องไปทำบัตรแรงงานต่างด้าว เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายน้ำค้างตัดสินใจทำบัตรแรงงานต่างด้าวโดยผ่านเสมียนของบริษัท ซึ่งเสมียนจะหักเงินทุกวีค (15วัน) ครั้งละ300บาทโดยที่เสมียนบอกว่าเงินที่หักนอกเหนือจากการทำบัตร(ค่าทำบัตร 3,900 บาท) จะเก็บไว้เป็นกองทุนให้แรงงานเมื่อแรงงานจะกลับบ้าน แต่น้ำค้างบอกว่ายังไม่เคยมีแรงงานที่กลับบ้านคนไหนได้เงินส่วนนี้

            น้ำค้างเริ่มงาน7โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น หยุดทุกวันอาทิตย์ น้ำค้างมีกลุ่มเพื่อนผู้หญิงรุ่นน้องที่คบกันอยู่ประมาณ 4คน เมื่อมีวันหยุดน้ำค้างและเพื่อนก็จะรวมตัวกันภายในห้องเช่าและดูหนังฟังเพลงกัน บางครั้งก็จะพากันเดินไปเที่ยวห้องแถวของเพื่อนๆในละแวกเดียวกัน และบางครั้งเมื่อมีงานที่บริเวณใกล้ๆก็จะพากันนั่งรถรับจ้าง คนละ50 บาท ไปเที่ยวแต่ก็ไม่บ่อยนักเนื่องจากเงินไม่ค่อยมี และกลัวตำรวจจับ ถึงแม้ว่าจะทำบัตรแรงงานแล้วก็ตาม น้ำค้างเล่าว่าทำบัตรแรงงานแล้วแต่ยังไม่ได้บัตรสีชมพู มีแต่ใบเสร็จรับเงิน ตำรวจก็จับ เสียค่าปรับครั้งละ 200-500 บาท โทรหาเสมียนให้มาช่วยยืนยันกับตำรวจเขาก็ไม่มาก็ต้องเสียเงินกันเอง ถ้าถูกจับบ่อยๆ ปีหนึ่งๆก็เสียเงินรวมแล้วหลายบาทเหมือนกัน ฉะนั้นการพักผ่อนของน้ำค้างและเพื่อนก็ดำเนินไปภายในห้องพักและห้องแถวละแวกใกล้เคียง  นอกจากนั้นน้ำค้างและเพื่อนๆก็ยังไปเที่ยวตามห้องแถวที่มีการจัดงาน (เดินไป) เช่น งานแต่งงาน งานวันเกิด งานบุญต่างๆ (งานเหล่านี้มักจะเป็นการจัดงานเพื่อหาเงินให้กับเจ้าของงานเนื่องจากที่นี่เคยมีกรณีจัดงานวันเกิดให้แมวซึ่งส่วนมากการจัดงานวันเกิดจะเป็นการจัดงานเพื่อถอนทุนคืนเพราะไปทำบุญกับงานคนอื่นไว้มากแต่ตัวเองไม่เคยจัดงานอะไรมาก่อนเลย)

            ตั้งแต่มาอยู่เมืองไทยน้ำค้างกลับบ้านหลายครั้ง ครั้งล่าสุดคือเมื่อปี 2546 เมื่อถามถึงวิธีการในการเดินทางกลับบ้านที่ทวาย น้ำค้างเล่าว่าจะไปกับนายหน้าซึ่งถ้าให้ประหยัดก็ต้องรวมกันไปหลายๆคนโดยนายหน้าจะมีรถมารับถึงหน้าห้องเช่าเลยทีเดียว การเดินทางจะใช้เส้นทางจากสุราษฎร์ธานีไปทาง อำเภอพะโต๊ะจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นรอยต่อกับจังหวัดระนอง แต่ส่วนใหญ่จะไปทางสี่แยกปฐมพร เนื่องจากแถวอำเภอพะโต๊ะจะมีด่านทหารเยอะ ซึ่งเมื่อใกล้ถึงจุดที่มีด่านตรวจนายหน้าจะจอดรถให้แรงงานลงเดินเท้าเข้าไปในป่าซึ่งจะเป็นทางลัดเพื่อไปขึ้นรถหลังจากพ้นจุดตรวจไปแล้ว น้ำค้างเล่าว่าต้องลงเดินหลายครั้งเลยทีเดียว เมื่อถึงจังหวัดระนองก็ต้องข้ามไปเกาะสองซึ่งจะมีการตรวจที่ด่านในประเทศพม่าซึ่งจะต้องตอบคำถามว่ามาจากไหน จะไปไหน คำตอบที่ปลอดภัยที่สุดคือ มาจากเกาะสองข้ามมาซื้อของฝั่งไทยและจะกลับบ้าน เมื่อถึงเกาะสองแล้วก็ต้องต่อเรือหรือนั่งรถกลับบ้านที่ทวาย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับบ้านของแรงงานพม่าจาก กม.18ถึงด่านที่จังหวัดระนองจะอยู่ที่เที่ยวละ3,000บาท (ขาไป) และถ้ากลับก็คิดในอัตราเดียวกัน แต่อาจจะลดลงได้หากว่ามีคนเดินทางเยอะขึ้น โดยที่นายหน้าที่ทำอาชีพนี้ใน กม.18 มีอยู่หลายเจ้าเหมือนกัน ต่อข้อซักถามว่าในเมื่อน้ำค้างทำบัตรแรงงานแล้วทำไมไม่เดินทางกลับเองโดยรถโดยสารประจำทางซึ่งมีอยู่หลายสายจากสุราษฎร์ธานีไประนอง ซึ่งน้ำค้างกล่าวว่า แรงงานถึงจะมีบัตรแต่ก็มักจะใช้บริการของนายหน้ามากกว่าเนื่องจากถ้าเดินทางไปเองกรณีของการถูกค้นและริบสิ่งของมีค่าบริเวณด่านตรวจมีมาก ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็เคยประสบกับเหตุการณ์ที่ตำรวจริบทรัพย์สินของแรงงานพม่าที่เดินทางมากับรถโดยสาร หาดใหญ่-ระนอง

เมื่อมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงและความเสี่ยงที่มากน้ำค้างจึงเลือกที่จะส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่แทนการไปเยี่ยมที่บ้าน วิธีการส่งเงินกลับบ้านของแรงงานกลับบ้านที่ประเทศพม่านั้นก็ใช้บริการของนายหน้าอีกเช่นกัน โดยนายหน้าจะมีเครือข่ายเกือบทุกเมืองในประเทศพม่า หากน้ำค้างจะส่งเงินกลับบ้านก็จะไปหานายหน้าบอกที่อยู่ที่บ้านในประเทศพม่า และจำนวนเงินที่จะส่ง ซึ่งนายหน้าจะคิดค่าบริการ 2 % หรือคิดง่ายๆคือถ้าส่ง 1,000 บาทต้องเสียค่าบริการ 20บาท เมื่อเอาเงินให้นายหน้าแล้วนายหน้าจะโทรศัพท์ไปที่ประเทศพม่าหาเครือข่ายที่อยู่ในเมืองนั้นๆส่วนน้ำค้างก็จะโทรศัพท์บอกให้แม่มารับเงินที่คนที่เป็นเครือข่ายในเมืองหรือในหมู่บ้านที่เครือข่ายคนนั้นอยู่ เมื่อสอบถามถึงระยะเวลาในการได้รับเงินน้ำค้างเล่าว่า ขึ้นอยู่กับว่าจะให้เอาไปให้หรือจะไปรับเอง ถ้ามารับเองกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน10 นาที  แต่หากให้เอาไปให้ที่บ้านต้องดูด้วยว่าอยู่ไกลจากบ้านเครือข่ายหรือไม่

ปัจจุบันพ่อและแม่ของน้ำค้างเสียชีวิตแล้ว แต่น้ำค้างมีพี่ชายทำงานอยู่ที่นากุ้งอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีรายได้ที่ดีกว่างานกรรมกรในโรงงานมากนักแต่น้ำค้างก็ไม่คิดจะเปลี่ยนงานเนื่องจากเป็นงานที่มีความเสี่ยงหากกุ้งที่เลี้ยงตาย (น้ำค้างเรียกว่า “เจ๊ง”) เมื่อถามถึงอนาคตของตัวเอง น้ำค้างตอบว่าคิดจะกลับไปอยู่บ้านที่ทวายเหมือนกัน เพราะที่บ้านยังมีที่ไร่ที่นาอยู่ แต่ตอนนี้ยังกลับไม่ได้เพราะยังไม่มีเงิน เมื่อถามว่ามีเงินเก็บหรือไม่ น้ำค้างหัวเราะก่อนจะตอบว่าเมื่อก่อนมีแต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว

เรื่องเล่าจากมีมี่

            มีมี่ เป็นหญิงสาว อายุ 22 ปี บ้านเกิดอยู่ที่ทวาย อาชีพรับจ้างในร้านขายโทรศัพท์มือถือมีมี่เข้ามาอยู่เมืองไทยพร้อมกับแม่ โดยใช้วิธีการผ่านนายหน้า ครั้งแรกไปทำงานที่สวนส้มโอกับครอบครัว ทำได้หนึ่งปีพ่อกับแม่ย้ายมาทำงานโรงงานยางพาราที่ กม.18 มีมี่จึงย้ายตามพ่อกับแม่มาด้วย โดยแม่ทราบข่าวจากคนรู้จักว่าร้านขายโทรศัพท์ต้องการลูกจ้างขายของหน้าร้าน มีมี่จึงมาสมัครทำงานและได้ทำงานที่ร้านโทรศัพท์ในตลาดกม.18  มีมี่พักอาศัยอยู่กับนายจ้างเริ่มทำงานเวลาเจ็ดโมงเช้าของทุกวันและเลิกงานตอนสองทุ่ม ทำงานไม่มีวันหยุด นายจ้างให้เงินเดือนๆละ4,000 บาท และเมื่อทำได้หนึ่งปีก็ขึ้นให้เป็น 5,000 บาท นายจ้างทำบัตรแรงงานต่างด้าวให้โดยไม่หักเงิน เนื่องจากมีมี่ไม่มีวันหยุด มีมี่จึงไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนเลยกลุ่มเพื่อนที่มีมี่รู้จักก็จะเป็นคนที่ทำงานอยู่ใกล้ๆกัน

 

เรื่องเล่าจากเอ้ย

            เอ้ยเป็นเด็กหญิงชาวมอญ  อายุ12 ปี เข้ามาอยู่เมืองไทยนานแล้วโดยติดตามพ่อกับแม่มาตั้งแต่ยังเล็ก เมื่ออายุ 11 ปี ก็เริ่มทำงานในโรงงานยางพาราในแผนกคีบ เนื่องจากเอ้ยยังเด็กแต่ต้องทำงานเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย เอ้ยจึงต้องทำบัตรแรงงานต่างด้าวแต่เนื่องจากอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่รัฐบาลอนุญาติให้ทำบัตร นายหน้าจึงโกงอายุให้เอ้ยอายุ15 ปี เอ้ยก็เหมือนกับเด็กผู้หญิงคนอื่นๆในพื้นที่ กม.18 ที่ต้องทำงานตั้งแต่ยังเด็ก กิจกรรมยามว่างตอนเย็นหลังเลิกงานของเอ้ยและกลุ่มเพื่อนๆซึ่งมักจะเป็นเด็กผู้หญิงด้วยกันอายุระหว่าง 11 – 15 ปีและเด็กผู้ชายอายุไม่เกิน10ปีมีร่วมกันคือการเล่นขว้างกระป๋อง เด็กเหล่านี้จะพากันไปหากระป๋องนมข้นหวานมาเรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยมพีระมิดและใช้ลูกบอลขว้างกระป๋องให้กระจายระหว่างที่ขว้างกระป๋องให้กระจายออกไปนั้นผู้เล่นก็จะต้องวิ่งหนีให้เร็วที่สุด ผู้ที่ขว้างกระป๋องจะต้องรีบเก็บลูกบอลเพื่อขว้างผู้เล่นคนอื่น คนที่ถูกลูกบอลคว้างใส่ก็จะต้องออกไปจากเกม เช่นเดียวกับคนงานคนอื่นๆ เอ้ยมีวันหยุดคือวันอาทิตย์เพียงวันเดียว เอ้ยพูดภาษาไทยได้ เขียนภาษาพม่าได้นิดหน่อยแต่เอ้ยอยากเรียนภาษาไทยเมื่อผู้เขียนเปิดสอนภาษาไทยในห้องแถวเอ้ยมาเรียนในสองอาทิตย์แรกแต่หลังจากนั้นก

หมายเลขบันทึก: 323842เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2009 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท