"บอกชีวิตด้วย...นิทานธรรม"


“ความไม่มีทิฐิ ยอมรับเหตุผลของกันและกัน” เป็นบันไดแห่งความสงบสุขของสังคม

"บอกชีวิตด้วย...นิทานธรรม" เป็นนิทานจากภูมิปัญญาพุทธศาสนา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาจากขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยอีสานและไทยโบราณถือปฏิบัติสืบทอดมาเป็นวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สมควรที่จะได้มีการร่วมมือกันของคนยุคปัจจุบันเพื่อสร้างเสริมสิ่งที่มีคุณค่าไว้ให้คนยุคต่อไปในอนาคต


นานมาแล้ว ณ ป่าหิมพานต์ อันไกลโพ้น สัตว์สามตัว คือ นกกระทา ลิง และช้าง ได้ผูกมิตรกันเป็นหมั่นเหมาะ มีความรักใคร่กลมเกลียวกันดี ทั้งสามได้พร้อมใจกันมาอยู่ที่ใต้ต้นไทรต้นหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นทำเลที่เหมาะสม  

ตอนเย็นวันหนึ่ง ทั้งสามสหายรัก ได้พูดคุยกันตามประสาเพื่อน อันเป็นเรื่องปกติธรรมดาอยู่แล้ว วงสนทนาวันนั้น ช้างได้ปรารภขึ้นว่า “เพื่อนๆ ทั้งหลาย ความจริง พวกเราน่าจะตั้งใครสักคนหนึ่งขึ้นเป็นใหญ่ เพื่อเป็นที่เคารพยำเกรงของพวกเราบ้างนะ” 

ลิงเมื่อได้ฟัง จึงออกเสียงสนับสนุนว่า “เออ...ดีเหมือนกันนะแต่ถ้าจะทำอย่างนั้น  ก็ควรจะถือตามอายุไว้ก่อน เพราะใครเกิดก่อนเราก็ควรจะยกย่องผู้นั้น ข้อเสนอของเราอย่างนี้ พวกท่านว่าดีไหม?” 

นกกระทา  พูดสวนขึ้นว่า “ดีทีเดียว แต่มันจะมีปัญหาตรงที่ว่าในบรรดาพวกเราทั้งสามนี้ จะรู้ได้อย่างไรว่าใครเกิดก่อน”

“ยังไม่ทราบเหมือนกัน” ช้างพูดขึ้นบ้าง “แต่เรามีข้อเสนอเอาอย่างนี้ดีกว่า เรามาว่ากันรายตัวโดยเอาต้นไทรต้นนี้แหละตัดสิน คือใครเป็นผู้ได้เห็นต้นไทรนี้ก่อน ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้เกิดก่อนสำหรับตัวข้าแล้ว ข้าได้เห็นต้นไทรนี้มา ตั้งแต่ยังเล็กๆ อยู่ ซึ่งตอนนั้นดูเหมือนว่าต้นไทรนี้มันสูงแค่ท้องของข้าเอง ข้าเดินข้ามไปได้สบายมาก เลย” 

ลิงขอโอกาสพูดบ้างว่า “สำหรับข้านะ เพื่อนเอ๋ย คิดว่าข้าต้องเกิดก่อนช้างแน่ๆ เพราะตอนที่ข้ายังเล็กๆ อยู่นั้น ข้าเคยมาชะเง้อคอกัดต้นไทรนี้เล่นเสมอๆ เลย” 

“ฟังก่อน เพื่อนรักทั้งสอง” นกกระทาขยับปากพูด “เราได้ฟังเพื่อนทั้งสองพูดแล้ว เพื่อนๆ จะต้องเกิดทีหลังเราเป็นแน่แท้ เพราะเท่าที่เราจำได้ เมื่อก่อนที่ตรงโน้น มันมีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง เราเคยมากินลูกของมัน แล้วถ่ายอุจจาระที่นี่แหล่ เมล็ดของมันซึ่งเราถ่ายออกมานั่นแหละ ที่มันเกิดเป็นต้นไทรต้นนี้เราขอบอกพวกท่านไว้” 

“ก็เป็นอันว่า ท่านนกกระทาเกิดก่อนเราทั้งสองคน” ช้างกับลิงพูดขึ้นพร้อมกัน “เอเละ ต่อไปนี้ เราทั้งสองจะยกย่องท่านเป็นหัวหน้า และเคารพยำเกรงท่าน เชื่อฟังคำท่านเพียงคนเดียวเพราะฟังคำของท่านแล้วมันมีเหตุผลพอเชื่อถือได้” 

นกกระทา จึงได้รับการยกย่องเป็นหัวหน้า ตั้งแต่บัดนี้และได้ทำหน้าที่ในการสั่งสอนช้างกับลิงเพื่อนรักให้ตั้งอยู่ในศีลห้าประพฤติตนให้ดี เป็นเยี่ยงอย่างของสัตว์ทั้งปวงในป่านั้น  และสัตว์ทั้งสามสหายก็ได้รับการยอมรับจากบรรดาสัตว์ในป่านั้นโดยทั่วกัน 

ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้  ทำให้เราเห็นภูมิปัญญาของสัตว์สามสหาย และสัจจะ ความจริงใจที่มีต่อกัน ฟังเหตุฟังผล การเคารพนับถือผู้มีอาวุโสกว่า ก็เป็นโอกาสให้เราได้รับคำสั่งสอนที่ดี เป็นมารยาททางสังคม ทำให้คนอื่นๆ เขาได้นับหน้าถือตาต่อไปได้อีก และที่สำคัญคือ “ความไม่มีทิฐิ  ยอมรับเหตุผลของกันและกัน”  เป็นบันไดแห่งความสงบสุขของสังคม

คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 323805เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2009 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ถูกต้องที่สุดครับ ทิฐิเป็นสิ่งไม่ดี..

เห็นด้วยนะ ขอสรรเสริญสัตว์ทั้งสามตัวช่างประเสริฐ มากกว่ามนุษย์ในบางแง่โดยเฉพาะในยามนี้ที่มนุษดูวุ่นวายเสียเหลือเกิน (ปีใหม่พีไทยก็เมา)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท