ลูกชุป


ลูกชุปสีสวย

ลูกชุป 

 

ส่วนผสมถั่วกวน 

  1. ถั่วเขียวเลาะเปลือก นึ่งสุกบดละเอียด 2 ½ ถ้วย 
  2. น้ำตาลทราย 1 ½ ถ้วย (หากไม่ชอบหวาน ลดน้ำตาลลงนะคะ ส่วนตัวคิดว่ายังหวานนิดหน่อย) 
  3. กะทิ 1 กระป๋อง 
  4. เกลือป่น ¼ ช้อนชา

     

วิธีทำ






1. นำถั่วเขียวเลาะเปลือกแช่น้ำค้างคืน (จำนวนน้ำหนักถั่วดิบไม่ได้  จดไว้เลยค่ะ เอาเป็นราว ๆ   ประมาณ 500 กรัม กะจากน้ำหนักที่เห็นบนถุงบรรจุถั่วเอา) พอแช่น้ำแล้วนำไปนึ่ง ประมาณ 35 นาที ถั่วจะบานออก ได้ปริมาณเยอะกว่าตอนเป็นถั่วดิบ (มีเหลือค่ะ) นึ่งถั่วเสร็จแล้วนำไปบด แล้วตวงแบบยัดเต็มถ้วยตวง ให้ได้ 2 ½ ถ้วย

 








2. นำถั่วบดลงผสมกับส่วนผสมในข้อ 2-4 อันได้แก่ น้ำตาล กะทิ และเกลือป่นคนส่วนผสมด้วย “พายไม้” (ไม่แนะนำให้ใช้ตะกร้อมือค่ะ พูดตามประสบการณ์ของตัวเอง) จนเข้ากัน





3. นำส่วนผสมที่ได้ลงหม้อคน ใช้หม้อเทปล่อนจะดีกว่าหม้อสแตนเลสธรรมดาค่ะ ใช้ไฟกลาง กวนส่วนผสมตลอดเวลา จนส่วนผสมข้น ล่อนออกจากผิวกะทะ (ไม่ติดกะทะ) ดูประมาณในรูปนะคะ
หากถามว่าใช้เวลานานไหม ขอตอบว่านานเหมือนกันค่ะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของหม้อที่ใช้ด้วย เอาเป็นว่าใช้เวลานานจนกว่าเพื่อน ๆ จะได้เนื้อถั่วกวนข้น (ตามสูตรใช้คำว่า “แห้ง”) ล่อนออกจากผิวกะทะโน่นแหละนะคะ

เสร็จแล้วก็ตักถั่วกวนที่ได้ใส่ถ้วย ทิ้งไว้ให้เย็น ใช้เวลาเหมือนกันค่ะ ประมาณ 25 นาที เช็คดูด้วยการหยิบถั่วกวนมาปั้น หากเนื้อถั่วยังอุ่นอยู่ ก็ปล่อยไว้อีกซักพักใหญ่ จนกว่าถั่วจะเย็น (หากถั่วกวนยังร้อน เนื้อจะเหลวและปั้นยากค่ะ)







 

อุปกรณ์สำหรับการปั้นและลงสี





1. สีผสมอาหาร เตรียมสีที่ต้องการไว้ หรือจะผสมสีขึ้นเองจากแม่สีแดง น้ำเงิน เหลือง

2. ไม้เสียบลูกชิ้น บางสูตรบอกใช้ไม้จิ้มฟัน แต่ตามประสบการณ์แล้ว ไม้เสียบลูกชิ้นดีกว่าค่ะ ได้สั้นกว่าที่เห็นในรูปหน่อยก็จะดีค่ะ แต่ขนาดนี้ก็ใช้งานได้ดีทีเดียว

3. พูกัน ใช้แบบขนอ่อน สำหรับทาสีน้ำจะดีค่ะ ขนาดก็ประมาณเบอร์ 6 หรือ 8 และเบอร์ 2 ในกรณีต้องการตัดเส้น (เบอร์ 6 กำลังพอดี ใช้พู่กันอันเดียวก็ได้ค่ะ เวลาจะเปลี่ยนสี ก็จุ่มล้างในถ้วยน้ำ
เปล่าที่เตรียมไว้ตอนลงสี)

4. ถ้วยเล็ก ๆ สำหรับใส่ผสมสี ใช้หลายสีก็ต้องใช้ถ้วยหลายใบเหมือนกันค่ะ ลูกชุบจะให้สวยต้องเล่นไล่โทนสี อ่อนไปหาแก่ หรือเล่นสีตามธรรมชาติของผลไม้หรือสิ่งที่ปั้น

5. ถ้วยขนาดใหญ่หน่อย สำหรับใส่น้ำเปล่า ไว้จุ่มทำความสะอาดพู่กันดังกล่าวในข้อ 3 (ไม่มีในรูปค่ะ)

6. แผ่นโฟมเนื้ออ่อนสำหรับปักลูกชุบที่ปั้นและทาสีแล้ว

 


วิธีการปั้นและลงสี

1. วิธีการปั้น







ขั้นตอนนี้ เราก็งัดเอาวิชาปั้นที่ร่ำเรียนมาจากสมัยประถม มัธยม มาใช้กันนะคะ ปั้นเป็นรูปผลไม้ หรือ ผักต่าง ๆ ที่ชอบ หรือจะเป็นรูปอื่น ๆ ตามชอบค่ะ เคยทำตัวแมลงเต่าทองด้วยค่ะ แหะแหะ แต่วันนี้ขอทำเป็นหมวดผลไม้ ตามธรรมดาสามัญของลูกชุบนะคะ หากไม่มีทักษะทางการปั้น (พูดยังกะตัวเองมีมาก ความจริงก็ไม่มีเหมือนกันค่ะ) ก็ไม่ต้องกลัวค่ะ ก็ปั้นเป็นลูกกลม ๆ รี ๆ ลูกลำใย มะปราง องุ่น ไป พอทาสี ลงชุบ เค้าก็จะสวยเอง ค่ะเตรียมน้ำเปล่า 1 ถ้วยใหญ่ และ ผ้าสะอาด สำหรับเช็ดมือ กรณีขณะปั้นถั่วกวนติดมือด้วยน่ะค่ะ



 

 

 

 

2. วิธีการลงสี







การเล่นโทนสี จะทำให้ลูกชุบดูเหมือนธรรมชาติค่ะ คือพยามใช้โทนสีอ่อนสีแก่ ประมาณ นั้นน่ะค่ะ พยามอย่าใช้โทนสีฉูดฉาดจนเกินไป ที่เห็นวันนี้ก็สีแรงเชียว เล่นสีตอนกลางคืน สีเพี้ยนค่ะ ก็เป็นธรรมดาของลูกชุบนะคะ ปลอบใจตัวเอง

เมื่อทาสีลูกชุบเสร็จแล้ว ปล่อยให้สีแห้งซัก 20 นาทีค่ะ (ขั้นตอนนี้ก็สำคัญนะคะ เพราะหากสีไม่แห้ง เวลาไปจุ่มในวุ้นร้อน ๆ สีอาจละลายลงในวุ้นได้ค่ะ) เดี๋ยววุ้นจะเลอะเทอะ ใช้งานไม่ได้ ต้องมานั่งกวนวุ้นใหม่นะคะ



 


ส่วนผสมวุ้นสำหรับชุบ 

  1. วุ้นผง 2 ช้อนโต๊ะ
  2. น้ำตาลทราย ¼ ถ้วย
  3. น้ำ 2 ถ้วย

 

วิธีทำ




  1. ใส่น้ำลงในหม้อต้มขนาดเล็ก โรยผงวุ้นลงจนหมด ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วยกขึ้นตั้งไฟ ใช้ไฟกลาง หมั่นคนด้วย “ไม้พาย” (อย่าใช้ตะกร้อมือ) จนวุ้นละลายหมด ใส่น้ำตาล คนละลายให้เข้ากัน หากเห็นหม้อวุ้นเดือดและมีฟองอากาศ ให้ลดไฟลงต่ำสุด แล้วกวนให้ฟองอากาศหายไปให้มากที่สุด แล้วยกลง ในสูตรบอกให้กรองด้วยผ้าขาว แต่เราไม่ได้ทำค่ะ นำไปกรองลอด
    กระชอนเอา (ก็สงสัยเหมือนกันค่ะว่าน้ำวุ้นจะผ่านผ้าขาวบางได้มั้ย เพราะเนื้อข้นเชียว) เนื่องจากน้ำวุ้นที่ต้มครั้งแรกจะค่อนข้างร้อน พักไว้ซักครู่ ประมาณ  3 นาที ก่อนจะดีค่ะ อย่าให้นานมากเดี๋ยววุ้นจะข้นคืนตัวก่อนได้ชุบ วิธีพักน้ำวุ้นไว้นี้จะป้องกันไม่ให้สีละลายในวุ้นในกรณีที่ลูกชุบบางลูกสีแห้งไม่สนิท






  2. นำลูกชุบที่ทาสีแห้งแล้วลงชุบในน้ำวุ้น แล้วนำกลับไปปักบนโฟมให้แห้งรอชุบรอบสองต่อไป หากลูกชุบมีความสูงมากกว่าระดับน้ำวุ้นในหม้อ ก็ให้เอียงหม้อเพื่อให้น้ำวุ้นมีระดับสูงขึ้น ระหว่างชุบหากเห็นว่าน้ำวุ้นเริ่มจับตัวข้น ก็ให้นำหม้อกลับไปอุ่นบนเตา คนจนวุ้นละลาย แล้วนำกลับมาชุบ (ตอนนี้และการอุ่นครั้งต่อ ๆ ไป ก็ไม่ต้องพักน้ำวุ้นแล้วค่ะ)ทำดังนี้ไปเรื่อย ๆ จนหมดลูกชุบ เมื่อวุ้นที่ลูกชุบเย็น (วุ้นจะเย็นเร็วมาก) ก็จัดการชุบรอบที่สอง (ในสูตรให้ชุบ 3 รอบ - ที่จริง 2 รอบก็อาจจะพอสำหรับผู้ที่ไม่ชอบเปลือกวุ้นหนามาก ลองชิมดูก่อนนะคะ วันนี้เราชุบ 3 รอบ ตามสูตรค่ะ) หากหม้อที่ใช้ต้มวุ้น มีขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำวุ้นอาจไม่สูงพอ ไม่สะดวกสำหรับชุบ ให้เทน้ำวุ้นใส่ถ้วยทรงสูง (ที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้) หรือถ้วยกาแฟขนาดใหญ่ที่สามารถจุน้ำวุ้นทั้งหมดได้ วิธีนี้จะสะดวกในการชุบมากกว่าจุ่มชุบในหม้ออีก ค่ะ พอวุ้นเริ่มข้น ก็นำไปอุ่นในไมโครเวฟ คนให้ละลาย (เวลาก็กะเอาค่ะ 40 วินาที - 1 นาที หรือจนกว่าวุ้นจะละลายไม่ข้น) แล้วก็นำมาชุบต่อ อันนี้เป็นเทคนิคที่ค้นพบในช่วงสุดท้ายของการทำ น่าจะคิดได้ตั้งแต่ตอนต้นน้อ

หลังจากชุบลูกชุบ 2 –3 ครั้ง ผิวของลูกชุบก็จะเป็นเงาดีขึ้น เมื่อลูกชุบแห้ง ก็นำออกจากไม้ ตัดส่วนปลายหรือส่วนที่วุ้นละลายเกินออกด้วยมีดเล็ก ๆ คม มีดแกะสลักดีที่สุดค่ะ

จัดใส่จาน ตกแต่งด้วยก้านหรือใบใม้ให้เหมือนจริง หรือจะจัดใส่กระเช้าเล็ก ๆ เป็นของฝากก็น่ารักดีค่ะ อันนี้จัดเพื่อความสนุกที่บ้านไม่ได้จัดให้เพื่อน ค่ะ ของเพื่อนก็ใส่กล่องทัปเปอร์แวร์ ให้ไปจัดเอง

คำสำคัญ (Tags): #ลูกชุป
หมายเลขบันทึก: 323126เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2009 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท