บันทึกจาก นสพ. มน. ปี5 การประชุมเสริมพลังเครือข่ายและจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพอ.นครไทย ตอนที่ 1


บรรยากาศการร่วมงานเป็นแบบไม่เป็นทางการนัก

     ณ โรงแรมทรัพย์ไพรวัลย์ แกรนด์ โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท ซึ่งเป็นที่จัดประชุมระหว่างเครือข่ายสุขภาพของอ. นครไทย พวกเรานิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร วันนี้ได้มีโอกาสออกมาดูงานนอกสถานที่ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ในการประชุมระหว่างเครือข่ายสุขภาพของอำเภอนครไทย (ขณะนี้พวกเรามาฝึกงานในวิชาเวชศาสตร์ชุมชน ที่รพร. นครไทย) ก้าวแรกเมื่อเข้าไปในห้องจัดประชุมพวกเรารับรู้ได้ถึงบรรยากาศของความสงบและความสุขของกิจกรรมสานสัมพันธ์ ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่เข้ามาร่วมงานในเครือข่ายคนอื่นๆ ซึ่งวิทยากรให้ผู้เข้าประชุมนั่งล้อมวงเป็นวงกลม บอกชื่อของตนที่ละคนและตอบชื่อของคนที่อยู่ก่อนหน้าตนก่อนให้ได้ทั้งหมด สร้างเสียงหัวเราะให้ภายในห้องประชุมได้ไม่น้อย เมื่อได้รู้จักกันครบทั้งวงแล้ว จึงเริ่มกิจกรรมต่อไป

กิจกรรมถัดมาคือตลาดนัดความคิด จัดคล้ายเป็นตลาดนัดขนาดย่อมสำหรับแต่ละตำบลได้มีเวทีได้ออกมาแสดงผลงานเด่นของตนให้ผู้อื่นได้รับรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สำหรับพวกเรานั้นทีแรกยังไม่แน่ใจว่าจะต้องทำตัวอย่างไร  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงเด็จพระยุพราช นครไทย คงเห็นพวกเรายืนทำท่าหันรีหันขวางกเปลี่ยนประสบการณ์ พวกเรานั้นคราวลได้มีเวทีได้ออกมาแสดงจึงเดินเข้ามาพาพวกเราเข้าไปฟังการบรรยาย (ซึ่งทำให้ดูคล้ายการขายสินค้า) ในแต่ละตำบล

ตำบลแรกที่ได้เข้าไปฟังคือ ตำบลนครไทย ตัวแทนที่พูดแนะนำสินค้า (ความคิด) ของตำบลคือ รองนายกเทศมนตรี นครไทย หรือที่ทุกท่านรู้จักกันดีในนามของรองใจนั่นเอง สำหรับพวกเราที่ไม่เคยรู้จักท่านมาก่อน เมื่อเข้าไปฟังเหมือนถูกดึงดูด เพราะท่านพูดเชิญชวนและแนะนำได้น่าฟังอย่างยิ่ง มีอารมณ์ขันแทรกตลอด

ในตำบลนครไทย เน้นโครงการเกี่ยวกับกิจกรรมผู้สูงอายุ เนื่องจากภายในตำบลมีจำนวนผุ้สูงอายุค่อนข้างมาก ตัวอย่างโครงการเช่น

  1. การตรวจสุขภาพ
  2. ส่งเสริมการออกกำลังกาย เช่น การรำกระบองหรือไม้พลอง โดยจัดตั้งเป็นชมรมผู้สูงอายุขึ้นมา (ชมรมสาวน้อยร้อยชั่ง วัยเก๋าสาวเสมอ ผู้สูงอายุวัดกลาง)
  3. การแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องสุขภาพ
  4. ร้องเพลงพื้นบ้าน และการอนุรักษ์วัฒนธรรมอื่นๆ เช่น การร้องเพลงกล่อมนาค
  5. ด้านจิตใจ เช่น การเข้าวัด ฟังธรรม ถือศีล
  6. กลุ่มอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น ถั่วคั่วทราย ดอกไม้จันทน์
  7. กองทุนวันละบาท เพื่อเป็นเงินทุนช่วยเหลือเมื่อผู้สูงอายุในตำบลเจ็บป่วย ตาย และเป็นเงินช่วยเหลือเมื่อมีเด็กเกิดใหม่ (เพราะคนที่เลี้ยงก็คือผู้สูงอายุที่บ้านอยู่ดี)
  8. ทันตกรรม ตรวจสุขภาพฟันและช่องปาก รวมทั้งรักษาปัญหาเรื่องฟัน และจัดให้มีการประกวดผู้สูงอายุสุขภาพฟันแข็งแรง (ล่าสุดผู้สูงอายุในตำบลได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งของประเทศ เนื่องจากมีฟัน 31 ซี่และมีโรคประจำตัวเล็กน้อย ส่วนผุ้ชนะเลิศนั้นมีฟันครบ 32 ซี่)

ขณะที่ยืนฟังรองใจพูดอยู่นั้นเหลือบไปเห็นพรีเซนเตอร์ตำบลเนินเพิ่ม ส่งสายตามาว่าหันมาฟังฉันเถิดอยู่หลายครั้ง ดังนั้นเมื่อฟังสาระสำคัญของตำบลนครไทยจบแล้ว จึงหันมาฟังตำบลเนินเพิ่มบ้าง  แม้ว่าตัวแทนของตำบล (มาทราบทีหลังว่าเป็นอสม. ดีเด่นของตำบล) นี้จะพูดไม่เร้าใจ  เท่าตำบลแรก แต่เนื้อหาก้อสามารถทำให้เราสนใจได้ไม่น้อย โดยตำบลเนินเพิ่มเน้นที่การคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน และความดัน ซึ่งอาศัยการทำงานของอสม. ในพื้นที่เป็นหลัก มุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มคนอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป โดยการตั้งคำถามเพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยง (ประวัติครอบครัว น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำมาก) มีการวัดรอบเอวและคำนวณดัชนีมวลกายเพื่อหากลุ่มเสี่ยง และส่งเพื่อรับการตรวจคัดกรองที่สถานีอนามัยอีกครั้ง เมื่อฟังจบแล้วจึงมีแพทย์ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการดูแลกลุ่มผู้ป่วยโดยยกตัวอย่างกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานเป็นหลัก เนื่องจากผู้ป่วยในตำบลเนินเพิ่มส่วนมากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ และมักได้รับการรักษาตัวภายในโรงพยาบาลด้วยเรื่องเดิมๆ เช่น น้ำตาลสูงเกินไปจนมีอาการผิดปกติทางกาย เมื่อกลับบ้านไปได้เพียง บ้างลืมกินยา บ้างกินยาหรือฉีดยาผิด บ้างคนดูแลเรื่องยาไม่อยู่บ้าน บ้างญาติเสีย บ้างควบคุมอาหารไม่ได้เอง หรือยังมีความเชื่อผิดๆ ว่าหมอห้ามไม่ให้กินหวานคือไม่ให้กินน้ำตาลทราย แต่มะม่วงสุก ทุเรียนกินได้ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาบางสาเหตุไม่สามารถเลี่ยงได้ แต่ก็มีบางสาเหตุที่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นทีมแพทย์จึงอยากให้ชุมชนลงไปดูแลในส่วนของกลุ่มป่วยมากกว่ากลุ่มเสี่ยง โดยแพทย์ท่านนั้นยังกล่าวติดตลกไว้อีกว่า “หมออยากให้ชุมชนดูแลกันเองจะดีกว่าที่หมอดู เนื่องจากหมอไม่มีเวลาคุยกับผู้ป่วยมากนัก และชาวบ้านบอกต่อกันเองจะได้ผลดีกว่า เพราะชาวบ้านมักคิดว่าหมอไม่เข้าใจตนจึงไม่ทำตาม และอย่างที่บอกไปคือหมอไม่มีเวลาคุยนานนัก หมอจึงไม่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์กินยา มีอารมณ์ออกกำลังกาย แต่อสม. นั่นแหละน่าจะทำให้ผู้ป่วยเหล่านั้นมีอารมณ์กินยาและออกกำลังกายตุที่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นทีมแพทย์จึงอยากให้ชุมชนลงไปดูแลในส่วนของกลุ่มป่วยมากกว่าก” ซึ่งพี่อสม. ก็รับฟังและรับปากว่าจะไปปฏิบัติตาม ช่วงนี้วิทยากรให้ไปพักรับประทานอาหารว่างสักครู่ แล้วจึงกลับเข้ามาฟังต่อ

จากนั้นพวกเราจึงแยกย้ายกันไปฟังตามจุดต่างๆ ที่สนใจ เราเลือกไปฟังอีกตำบลบ้านพร้าว ซึ่งจัดแผ่นกระดาษนำเสนอผลงานของตนไว้ที่ส่วนหลังของห้องประชุมตัวแทนนำเสนอนั้นเป็นผู้ชายร่ายกายกำยำ ตำบลนี้มีโครงการประชาชนตำบลบ้านพร้าวรวมพลังสร้างสุขภาพ นำเสนอเน้นที่การออกกำลังกาย ทีแรกมีคนให้ความสนใจเป็นอย่างมากทั้งแอโรบิกและรำไม้พลอง แต่ปัจจุบันเหลือแค่รำไม้พลอง เพราะเด็กๆ หนุ่มสาวนั้นเลิกล้มความตั้งใจไปเรียบร้อย เหลือเพียงผู้เฒ่าที่รักสุขภาพมารำไม้พลองเพียงไม่กี่คน การเต้นแอโรบิกและรำไม้พลองจัดไว้สัปดาห์ละ 6 วัน โดยจะสลับกันไปคนละวัน มีที่รวมพล 2 ที่ คือหน้าองค์การบริหารส่วนตำบล และหน้าบ้านผู้ใหญ่ แม้ว่าตอนนี้จะไม่ค่อยมีคนมาออกกำลังกาย แต่ทางตำบลก็ยังไม่หยุดความคิดเพื่อพัฒนาและเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ได้วางแผนเกี่ยวกับการจัดซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกาย มาตั้งไว้บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบล

ขณะนั้นเพื่อนเราเลือกไปฟังตำบลห้วยเฮี้ย ซึ่งเลือกนำเสนอโครงการลดสารตกค้างในร่างกาย เนื่องจากชาวไร่แถวนี้มักใช้สารกำจัดศัตรูพืชเพื่อช่วยให้ผลผลิตงาม จึงได้มีการตรวจดูสารตกค้างในร่างกาย โดยได้รับความร่วมมือจากพยาบาลจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรมาออกหน่วยตรวจให้ และพบว่ามีสารตกค้างจริง จึงได้จัดทำการอบรมแนะนำให้ลดการใช้สารเคมีและหากจำเป็นต้องใช้ควรมีการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง เพื่อลดสารตกค้างภายในร่างกาย มีการเฝ้าระวังทุกปี เสนอชุมชนเรื่องการปลูกผักปลอดสาร ซึ่งเหล่านี้เป็นวิธีป้องกันผลเสียและช่วยลดความรุนแรงของอันตรายที่จะเกิดกับร่ายกายลงได้ แต่มีอุปสรรคอยู่ที่บุคลากรมีจำนวนน้อยทำให้ชาวบ้านบางส่วนได้รับข้อมูลไม่ทั่วถึง

เหลือบไปเห็นโครงการเกษตรอินทรีย์ของตำบลยางโกลนเข้า จึงเดินเข้าไปฟังเพื่อเปรียบเทียบผลระหว่างสองตำบลเสียหน่อย พี่อสม.ที่เป็นตัวแทนนั้นบอกว่าเมื่อก่อนที่ยางโกลนก็เป็นอีกที่หนึ่งที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาก แต่เมื่อมีแนวคิดเกษตรอินทรีย์เข้ามา ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จากการคิดวิเคราะห์และหาวิธีทดแทนการใช้สารเคมี รวมทั้งได้ไปดูงานจากจังหวัดอื่น ได้เข้าอบรมเกษตรอินทรีย์ ทำให้ได้วิธีทดแทนที่ดีมาใช้คือการใช้ราขาวราดำทำให้ผลผลิตงอกงาม กำจัดศัตรูพืช และได้นำเข้าสู่ชุมชนเพื่อขยายผลต่อไป ปัจจุบันได้รับรางวัลยืนยันผักปลอดสาร และสามารถพูดได้ว่าผักจากยางโกลนปลอดสารกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เหลืออีกเพียง 2 หมู่บ้านเท่านั้นที่ยังไม่สามารถปลอดสารได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลงานที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง พวกเรายังแอบคิดว่าถ้าสามารถขยายผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งอำเภอนครไทยได้จะดีมาก สามารถรับประทานผักได้โดยที่ไม่ต้องกังวล

พวกเรารู้สึกหิวนิดๆ จึงเหลือบไปมองเวลา เห็นแล้วรู้สึกเสียดาย เที่ยงกว่าแล้ว วิทยากรจึงให้ทุกคนไปร่วมรับประทานอาหารกลางวันที่ห้องอาหารของโรงแรม บอกได้คำเดียวว่าอร่อยมาก จากนั้นจึงให้ทุกคนกลับไปยังห้องประชุมเพื่อร่วมกิจกรรมช่วงบ่ายต่อไป

หลังจากที่ได้ทำกิจกรรมบำบัด ด้วยการทำ body scan ผู้เข้าร่วมได้เกิดความผ่อนคลายสบายใจ และทำให้สมองปลอดโปร่งแล้ว ลดความเมื่อยล้าที่เกิดจากการร่วมกิจกรรมในยามเช้า วิทยากรได้บรรยายกิจกรรม คือ กิจกรรมแผนยุทธศาสตร์สร้างสุข เพื่อคิดโครงการที่ต้องการเพื่อมาพัฒนาคนและชุมชนที่ตนอยู่และต้องการทำในอนาคตโดยเป็นการทบทวนตนเอง วางแผน และร่วมกันออกความเห็นร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์โครงการแต่ละโครงการนั้นจะให้คนในชุมชนนั้นระดมสมองกันซึ่งจะได้บริบทของชุมชนที่สามารถใช้แก้ไขปัญหา ส่งเสริมคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นบริบทของชุมชนนั้นๆ แล้วให้นำเสนอเพื่อแบ่งบันความคิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่กันระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขเพื่อให้ได้ความคิดและประสบการณ์จากที่อื่นๆ ร่วมกับการเชิญเจ้าหน้าที่สปสช. ทำให้ตอบข้อสงสัยได้ทันที ในด้านงบประมาณทำให้ได้ข้อมูลค่อนข้างมาก

บรรยากาศการร่วมงานเป็นแบบไม่เป็นทางการนัก เหมือนเพื่อนปรึกษาเพื่อน

 พวกเรารู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่ผ่อนคลายและสนุกสนานมีการหยอกล้อกันบ้างตามประสา ไม่มีการแบ่งแยก คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่สร้างทั้งความสัมพันธ์และได้ข้อมูลกลับไปพัฒนากันต่อไป โดยโครงการของตำบลต่างๆ มีดังนี้

ตำบลบ่อโพธิ์

เน้น ส่งเสริมการดำเนินชีวิต

โดยคิดโครงการเรื่อง ครอบครัวสดใส ชุมชนสุขใจ ด้วยอนามัย 3 อ.

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ        

  • ส่งเสริมวิถีพอเพียง
  • ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรค
  • ปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหาร  อารมณ์ ออกกำลังกาย

กลุ่มเป้าหมาย ทุกวัย

กิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป 

  • รณรงค์ให้ปลูกผักสวนครัวอย่างน้อย   5 ชนิดเพื่อลดจำนวนสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายและเพิ่มความปลอดโรค
  • ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี
  • ส่งเสริมให้มีแกนนำทางสุขภาพเพื่อเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผลลัพธ์ คนในชุมชนมีสุขภาพดีตาม 3 อ

โดยการคิดโครงการได้รับคำชมมากมายแต่ได้รับคำแนะนำให้ปรับปรุงการตรวจสุขภาพประจำปีนั้นยังไม่เพียงพอที่จะให้คนรักษาคุณภาพได้อย่างแท้จริงร่วมกับสามอ อาจไม่เพียงพอซึ่งทางกลุ่มชุมชนได้รับฟังและจะนำการที่ปรับปรุงการคิดโครงการต่อไป

ตำบล นครชุม 

“ปลอดพิษ ปลอดโรค”

หลักการและเหตุผล             

  • ปัจจุบันคนในชุมชนซื้อผักมาบริโภคซึ่งมีสารเคมีปนเปื้อนทำให้เกิดโรคมากขึ้น
  • ลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อผัก
  • สร้างกระแสเพื่อให้เกิดการใส่ใจสุขภาพ
  • กระตุ้นการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

เป้าหมายเพื่อ สร้างชุมชนต้นแบบในการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย หนึ่งหมู่บ้าน

วิธีการดำเนินการ

  • คัดเลือกหมู่บ้าน
  • ประชุมเพื่อประชาคมและชี้แจงโครงการ
  • เสริมสร้างความรู้ และความเข้าใจ เกี่ยวกับโทษของสารพิษและประโยชน์ของการกินปลอดสารพิษ

และสรุปสถานการณ์ให้เกิดความตระหนัก

  • มีการไปดูงานเกษตร
  • การจัดประกวดกลุ่มการปลูกผักปลอดสารพิษ

ผลลัพธ์

  • ประชาชนสนใจด้านสุขภาพโดยเฉพาะอาหารมากขึ้น
  • ประชาชนมีสุขภาพดี
  • ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเพิ่มรายได้
  • เพิ่มการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
  • การมีชุมชนต้นแบบเพื่อเกิดการขยายต่อไป

การนำเสนอได้รับคำชมมากมายถ้าทำได้จริงเพราะเป็นประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจ

 ตำบลนครไทย

การนำเสนอของนครไทยเน้นจำนวนโครงการที่จะทำในอนาคตมากกว่าจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวโครงการกล่าวโดยรองใจ

ด้านชุมชน

  • จัดทำบัญชีครัวเรือน  เพื่อ ดูว่าจำนวนประชากร ในตำบลนครไทย  มีเท่าไหร่อย่างไรเพื่อวางนโยบายต่อไป
  • ให้ความรู้การดูแลสุขภาพในทุกกลุ่มอายุ 
  • จัดทำศูนย์การเรียนรู้ IT  เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงความรู้ใหม่ๆ
  • จัดทำแผนที่หมู่บ้านให้ครบถ้วน
  • สร้างวินัยจราจร  เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุในชุมชน
  • หมู่บ้านปลอดอบายมุข 
  • สร้างเศรษฐกิจชุมชน
  • ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  เพื่อ ส่งเสริมรายได้แก่คนในชุมชนและเพื่อประชาสัมพันธ์อำเภอนครไทย
  • ตั้งชมรมจิตอาสา  เพื่อการทำงานอาสาสมัครในการช่วยเหลือคนในชุมชน
  • ลดการเกิดโรคเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยเช่น ไข้เลือดออกและอุจจาระร่วง  เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและเพื่อลดรายจ่ายทางด้านสุขภาพของบุคคลในชุมชน
  • จัดการบริการสุขภาพให้คนในชุมชน เช่น การตรวจคัดกรองโรคเรื้อรัง 

 ด้านบุคคล

  • นครไทยไร้พุง  เพื่อ ลดอัตราการเกิดโรคเรื้อรังของคนในชุมชนและเสริมสร้างสุขภาพแก่คนในชุมชน

ตอนนี้มีการกล่าวว่าให้ตัวชี้วัดการเป็นนครไทยไร้พุงให้วัดที่ท่านผอ. โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชและตัวผู้นำเสนอ

สร้างความสนุกสนานให้แก่ที่ประชุมเป็นอย่างมาก

  • ครอบครัวอบอุ่น/ สานรักสามวัย
  • บุคคลต้นแบบทางด้านสุขภาพ  เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนปฏิบัติให้มีสุขภาพที่ดี

สิ่งแวดล้อม

  • การจัดการขยะ  เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีในชุมชน
  • เตาเผาไร้มลพิษ
  • ถนนคนเดิน  เป็นการที่สามารถเชื่อมโยงไปกับโครงการอื่นๆ โดยโครงการผักปลอดสารพิษทำให้สามารถเพื่อให้เอาสินค้ามาแลกเปลี่ยนกัน
  • บำบัดน้ำเสีย 
  • ลดโลกร้อน
  • พัฒนาแหล่งน้ำ 
  • ปอดนครไทย  โดยจะมีการตั้งเป็นสวนสาธารณะเพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นที่ส่งเสริมสุขภาพให้ทุกคนมาออกกำลังกาย ลดการเกิดโรคเรื้อรังได้

การนำเสนอ  รองใจกล่าวเรื่องโครงการค่อนข้างมากบางอย่างได้ดำเนินการแล้ว เช่นเรื่องปอดนครไทยที่ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว ได้รับคำชมถึงโครงการที่มีแนวคิดสร้างสรรค์และเชื่อมโยงกับชุมชนอื่น 

ตำบลบ้านแยง “การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงวัย”

จุดประสงค์

  • เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง
  • เพื่อให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี
  • เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ
  • เพื่อให้ผู้สูงอายุแลกเปลี่ยนเรื่องการดำเนินชีวิต
  • เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการทางสุขภาพ
  • เพื่อให้ผู้สูงอายุเรียนรู้แลกเปลี่ยนการดำเนินการชีวิต     
  • เพื่อให้ผู้สูงอายุมีกำลังใจดีขึ้น
  • เพื่อกระตุ้นบุตรหลานให้เอาใจใส่แก่ผู้สูงอายุมากขึ้น

การดำเนินการ

  • จัดการให้มีการทำทะเบียนผู้สูงอายุขึ้น
  • ตั้งชมรมผู้สูงอายุในหมู่บ้าน
  • ตั้งชมรมจิตอาสาภายในชุมชน
  • อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ
  • ส่งเสริมกิจกรรมเสริมรักสามวัย

งบประมาณ 20000 บาท

การนำเสนอได้รับคำชมว่ามองการณ์ไกลในการดูแลตนเองในอนาคต  มองเห็นการเปลี่ยนแปลงการเพิ่มขึ้นของประชากรวัยผู้สูงอายุและส่งเสริมให้มีการดูแลผู้สูงอายุโดยลูกหลานได้สานรักของบุคคลในครอบครัว

ตำบลห้วยเฮี้ย

ปัญหา

สภาพพื้นที่ทำการเกษตรค่อนข้างมาก มีทั้ง ข้าว ข้าวโพด พริก หม่อนไหม  มีการใช้สารเคมีค่อนข้างมาก ซึ่งมีราคาสูงและมีผลต่อสุขภาพ

การดำเนินกิจกรรม

  • เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงโดยเป็นประชากรที่เป็นเกษตรที่ใช้สารเคมี หาโดยการเจาะเลือดดูสารพิษ
  • ให้ความรู้เรื่องการใช้สารเคมีและบรรจุภัณฑ์
  • ส่งเสริมกิจกรรมผักกินเอง สวนครัวรั้วกินได้  สมุนไพร พื้นบ้าน (รางจืด)
  • มีสถานที่เรียนรู้ในหมู่บ้าน
  • มีการจัดประกวด สวนครัวรั้วกินได้
  • มีการกรวดน้ำตรวจดินและส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์

ผลของกิจกรรมหวังว่า  การใช้สารเคมีจะลดลงร่วมกับทุนการเกษตรที่ลดลงและสุขภาพที่ดีขึ้น

การนำเสนอ เน้นเรื่องสารเคมี  ได้รับคำชมว่ามีแนวคิดที่ทันสมัยกับเรื่อง ผักที่ในการประชุมก็ได้นำเสนอจากผู้จัดงานว่าคนนครไทยรับประทานผักที่ซื้อกันมากกว่าปลูกกินเองโดยที่ตำบลเน้นการทำงานจริงร่วมกับองค์กรอื่นๆ เช่นร่วมกับทางนิสิตปริญญาโทของมหาวิทยาลัยนเรศวร  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆต่อไป

 ตำบลหนองกระท้าว  มีหลายโครงการด้วยกัน

โครงการควบคุมโรคไข้เลือดออก  จัดการดำเนินการโดย

  • บ่อปลาหางนกยูง
  • รณรงค์เรื่องการทำความสะอาดหมู่บ้าน

โครงการลดเหล้าหน้างานศพ  โดยใช้ให้อบต. เป็นคนดำเนินการช่วยเหลือดังนี้

  • ดอกไม้หน้าศพ
  • จัดผ้าหน้าเมรุ
  • จัดของชำร่วยและพวงหรีด
  • เจ้าภาพ หนึ่งคืน

เมื่ออบต.เป็นเจ้าภาพจะไม่มีใครนำเหล้ามาดื่มและยังลดค่าใช้จ่ายในชุมชนอีกด้วย

โครงการอาหารเพื่อสุขภาพ “ประกวดอาหารพื้นบ้าน”

  • สานรักคนสามวัย
  • นิทรรศการอาหาร
  • จำหน่ายอาหารพื้นบ้าน

โครงการทันตกรรมผู้สูงอายุ

  • คัดกรองสุขภาพปากและฟันของผู้สูงอายุ
  • ทำฟันปลอม
  • ให้ความรู้เรื่องปากและฟัน
  • ส่งพบทันตแพทย์

โดยการดูแลสุขภาพปากและฟันนี้เป็นการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุเพื่อให้สามารถรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ได้

โครงการลดอุบัติเหตุทางจราจร

  • ให้ความรู้แก่เยาวชน เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกแก่เยาวชนและคนในชุมชน

โครงการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

  • บริการดูแลรับส่งผู้ป่วย เพิ่มความเข้าถึงทางบริการทางสุขภาพให้แก่ผู้ป่วย

การนำเสนอได้รับคำชมเนื่องจากครอบคลุมหลายปัญหา

ตำบลเนินเพิ่ม

“สู่สุขภาพดีวิถีเนินเพิ่ม ชุมชนเข้มแข็ง คนแข็งแรง”

โครงการสานใยรักครอบครัวอบอุ่น ครอบครัวเข้มแข็ง สุขภาพแข็งแรง

  • โดยดูแลคุณแม่มือใหม่
  • กินนมเติบใหญ่ กินไข่เติบโต (วัยก่อนเรียน และวัยเรียน)
  • วัยใสห่างไกลอบายมุข ( บุหรี่เหล้า ยาเสพติด การทะเละวิวาท เกมส์ การพนัน)
  • อาสาพาไป ลูกหลานห่วงใยผู้สูงอายุ เพื่อ เพิ่มความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และเพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทย
  • โครงการเนินเพิ่มน่าอยู่ทุกหมู่บ้านดูแลสิ่งแวดล้อม  โดย เน้นที่หมู่บ้านจัดการสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ เกษตรปลอดสาร
  • ทัวร์สุขภาพ  โดยมีการไปมาหาสู่กันและมีการแลกเปลี่ยนเรื่องปัญหาทางสุขภาพร่วมกันในหมู่บ้าน
  • ชุมชนปลอดเหล้า

การนำเสนอนี้ได้รับคำชมในการดูแลจัดการปัญหาโดยเน้นความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัวทำให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆต่อไปได้

ตำบลน้ำกุ่ม

 “โครงการเกษตรอินทรีย์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” เนื่องจากมีภายในตำบลมีครอบครัวทำการเกษตรอยู่มาก และมีการใช้สารเคมีมาก ทำให้เพิ่มรายจ่ายในครัว และเป็นพิษต่อสุขภาพมากขึ้น

ปัญหานั้นเกิดจาก

  • การใช้สารไม่ถูกต้อง
  • ใช้สารเคมีมากขึ้นทุกวัน
  • กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน

  • ให้ความรู้ในการใช้สาร
  • ประกวดหมู่บ้านปลอดสาร

ผลที่ได้

  • ลดต้นทุน
  • สุขภาพแข็งแรง ลดการเกิดโรคจากการใช้สารเคมี

การนำเสนอไม่ได้รับการวิจารณ์เนื่องจาก การประชุมใช้เวลามาก จึงได้แต่นำเสนอเท่านั้น

 ตำบลบ้านพร้าว

“โครงการหน้าบ้านน่ามอง ในบ้านน่าอยู่”

เนื่องจากพบว่ามีการป่วยเป็นโรคจากการติดเชื้อเพิ่มขึ้น เช่น  อุจจาระร่วง  ไข้เลือดออด

จึงกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อ                

  • จัดสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่และสะอาดเพื่อลดการติดเชื้อโดยไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์โรค 
  • เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีจิตสำนึก ตระหนักให้การป้องกันมากกว่ารักษา                  
  • เพื่อให้ความรู้ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

กิจกรรมเน้นด้านสิ่งแวดล้อมโดยมีการประกวดหมู่บ้านน่าอยู่ร่วมกับการออกกฎให้ทำร่วมกัน  ร่วมกับการสร้างจิตสำนึกในการดูแลป้องกันการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยการสื่อสารแบบใช้หอกระจายข่าวให้ทราบโดยทั่วกัน

ผลลัพธ์เพื่อสิ่งแวดล้อมน่าอยู่และปลอดโรค และประชาชนมีจิตสำนึกในการดูแลตนเองและสิ่งแวดล้อม

การนำเสนอไม่ได้รับการวิจารณ์เนื่องจาก การประชุมใช้เวลาค่อนข้างนานจึงได้แต่นำเสนอเท่านั้น

 ตำบลนาบัว

“โครงการสร้างสุขลดทุกข์ด้วยหลักศก.พอเพียง”

ด้านสุขภาพทางกาย

  • สร้างแกนนำออกกำลังกาย
  • ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพแต่ละหมู่บ้าน

อาหารปลอดภัย

  • ปลูกผักกินเอง
  • ให้ความรู้เรื่องผักต่างๆ

ด้านสิ่งแวดล้อม

  • ประกวดหมู่บ้านน่าอยู่
  • จัดหาสมุนไพรมาปลูก

ด้านอารมณ์และจิตใจ

  • มีการทำบุญทุกวันพระ
  • กิจกรรมพบปะผู้สูงอายุทุกเดือน
  • กีฬาครอบครัวสัมพันธ์

ด้านสวัสดิการทางสุขภาพ

  • การตรวจคัดกรองผู้ป่วยเรื้อรัง
  • ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ
  • แนะนำการดูแลผู้สูงอายุ
  • ดูแลผู้ป่วยเบาหวานส่งไปโรงพยาบาล
  • กองทุนสวัสดิการหมู่บ้าน

ตำบลยางโกลน

“โครงการเกษตร อินทรีย์”

ที่มา เพื่อให้มีความตระหนักถึงอันตรายในการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มากขึ้นทำให้เกิดการตกค้างและสะสม

วัตถุประสงค์         

  • เพื่อลดการใช้สารเคมี
  • ลดรายจ่าย
  • สุขภาพดีขึ้น

การดำเนินการ จัดอบรมประชุมเวที แลกเปลี่ยนความรู้ โดยปราชญ์ชาวบ้าน และศูนย์การเรียนรู้เกษตร อินทรีย์

เป้าหมาย เกิดหมู่บ้านนำร่อง 10 หมู่บ้าน

        ในช่วงท้ายการประชุม เป็นเวลาเย็นมากแล้ว การนำเสนอของ 4 ตำบลสุดท้ายจึงใช้เวลาสั้นและไม่มีการวิจารณ์เพิ่มเติมมากนัก

เมื่อสิ้นสุดการนำเสนอในช่วงบ่ายก็เป็นเวลาหกโมงเย็นแล้ว กลายคนเริ่มหมดสมาธิในการฟังการนำเสนอไปก่อนหน้าที่จะนำเสนอจบเสียอีก  ดังนั้นเมื่อนำเสนอจบแล้ววิทยากรจึงเชิญผู้ร่วมประชุมทุกคน (รวมทั้งผู้สังเกตการณ์อย่างพวกเรา) ไปนั่งรับประทานอาหารเย็นร่วมกันบริเวณริมสระน้ำของโรงแรม โดยจัดอาหารเป็นบุฟเฟต์

   เมื่อพวกเรารับประทานอาหารเย็นเสร็จแล้ว จึงเดินไปสำรวจบริเวณรอบๆ โรงแรมพบว่ามีศิลปะหลากหลายแบบทั้งภาพวาดสีน้ำ (ฝีมือของบิดาเจ้าของโรงแรม) ภาพวาดสีน้ำมัน

ไม้แกะสลัก งานปั้นหลายแบบ ตั้งโชว์ไว้ตามจุดต่างๆ ในโรงแรม เมื่อมองไปที่โครงสร้างและการออกแบบขอโรงแรมพบว่าเป็นการออกแบบที่สวยงาม มีศิลปะการออกแบบภายในหลายแขนงมารวมในที่เดียวกันอย่างลงตัวและจากการพูดคุยกับเจ้าของโรงแรมพบว่าเคยมีนักศึกษา

สถาปัตตยกรรมหลายรุ่นมาศึกษาดูงานที่นี่ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่เจ้าของภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

เวลาแห่งความสุขช่วงหัวค่ำหมดไปอย่างรวดเร็ว พวกเราต้องเดินทางกลับไปยังโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช นครไทย กับพี่ทันตแพทย์และพี่พยาบาลเสียแล้ว   จบวันแรก  ตอนที่ 1

   บันทึกโดย......นสพ.พูนสุข ด่านดำรงรักษ์     นสพ.ปวิตรา จารุสาธิต (เมย์)นสพ.นิธินา ยี่สิบแสน (นุ้ย)

                         นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 รพ.มหาวิทยาลับนเรศวร

            นพ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน  / คุณศศิธร เป้รอด ที่ปรึกษา

หมายเลขบันทึก: 322284เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2009 06:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์คะ ขอบคุณมากค่ะ สำหรับการเสียสละเวลาเพื่อมาดูแล นิสิตแพทย์อย่างพวกเรา ประสบการณ์ที่ได้จากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช นครไทย เป็นประสบการณ์ที่ดีมากค่ะ

นสพ.พูนสุข ด่านดำรงรักษ์ (ส้ม)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท