มาตรฐานบริการสาธารณสุขของโรงพยาบาล (HCQA) หมวด 1-2


ไม่พบข้อผิดพลาด ไม่บกพร่อง ไม่เกิดปัญหา ถือว่าเป็นแค่ปกติ ดังนั้นคุณภาพคืออะไร?

สืบเนื่องจากการไปอบรมวิธีสุ่มตรวจประเมินคุณภาพบริการตามมาตรฐานบริการสาธารณสุข (HCQA) คราวที่แล้วได้เกริ่น เรื่องสิ่งส่งมอบ 3 ส่วน (10หมวด) และได้ยกตัวอย่างมาตรฐาน หมวดที่ 7 หัตถการที่กระทำต่อร่างกายผู้รับบริการไปแล้ว ทีแรกก็คิดว่าถ้าใครสนใจก็ให้มายืมหนังสือไปอ่าน แต่คิดอีกทีถ้ามาอ่านที่นี่ จะทำให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ดังนั้นจะขอทยอยลงมาให้อ่าน จนครบ 10 หมวด เลยแล้วกัน

*** ส่วนกระบวนการหรือกิจกรรมที่จะทำให้บริการเกิดคุณภาพนั้นไม่มีข้อบังคับใดๆ***

1. ผลการตรวจ คือ ข้อมูล (Data) ที่ส่งมอบให้ผู้รับบริการรู้และเข้าใจว่าตรวจพบอะไร มีลักษณะอย่างไร หรือไม่พบอะไร ซึ่งได้มาจาก การเก็บข้อมูล การสอบถามอาการ การตรวจร่างกาย การทดสอบ ถ่ายภาพ ส่งสิ่งส่งตรวจ ส่งเอกซเรย์ ฯลฯ ความรู้สึกของผู้รับบริการจะเห็นว่า ผลการตรวจ มีคุณค่าระดับปานกลาง

มาตรฐานกล่าวไว้ว่า ผู้รับบริการ/ญาติจะได้รับผลการตรวจที่ชัดเจน เชื่อถือได้ อย่างครบถ้วน ที่อย่างน้อยต้องระบุว่า พบอะไร มีลักษณะเช่นไร หรือไม่พบอะไร หากแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่า จะต้องให้มีการตรวจทางรังสี หรือมีการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจนั้น จะมีรายละเอียดเพียงพอ สนับสนุนแผนการรักษา รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ผู้คลอด ต้องได้รับทราบผลการตรวจครรภ์ในห้องรอคลอด ตามระยะการคลอด

  2. ผลการวินิจฉัยเบื้องต้นและ/หรือข้อสันนิษฐาน คือ ข่าวสาร (Information=Data ที่ถูกประมวลแล้ว= Usefull data) ที่ส่งมอบให้แก่ผู้รับบริการ ระบุว่า ผลสรุปจากอาการและสิ่งที่ตรวจพบ คาดว่าจะเป็นหรือคล้ายโรคอะไร อาการที่คาดว่าจะเป็นต่อจากนี้ น่าจะเป็นเช่นไรหรือระบุว่าพบปัญหาอะไรหรือไม่ หรือมีสภาพใดที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง และเปลี่ยนไปเพียงใด รวมทั้งสภาพอาการที่คาดว่าจะเป็นต่อจากนี้น่าจะเป็นเช่นไร ความรู้สึกของผู้รับบริการจะเห็นว่าผลการวินิจฉัยเบื้องต้นและ/หรือข้อสันนิษฐานเป็นข่าวสารที่มีคุณค่าระดับสูง

มาตรฐานกล่าวไว้ว่า ผู้รับบริการ/หรือญาติต้องได้รับทราบผลการวินิฉัยเบื้องต้นหรือข้อสันนิษฐานที่สรุปได้จากผลการตรวจ ที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ให้รู้ว่าคล้ายหรือเป็นอะไรหรือไม่ และคาดว่าน่าจะมีอาการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้โดยคำนึงถึง ความพร้อมทางด้านจิตใจ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษญ์และสิทธิของผู้ป่วยในการได้รับทราบข่าวสารนั้นๆ

ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลและ/ญาติ ต้องได้รับทราบความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์ทุกวัน หรือทุกครั้งที่แพทย์มาเยี่ยมอาการ

ผู้คลอดและ/หรือญาติผู้ใกล้ชิดจะต้องได้นับทราบความก้าวหน้าของระยะการคลอดเป็นระยะๆ และทันต่อเหตุการณ์

ผู้ที่รับการผ่าตัดและ/หรือญาติ ต้องได้รับข่าวสารจากการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด ในเวลาที่เหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์

ฝากไว้ให้คิด " บริการที่ไม่พบข้อผิดพลาด ไม่บกพร่อง ไม่เกิดปัญหา ถือว่าเป็นแค่ปกติ ดังนั้น คุณภาพ คืออะไร? คุณภาพคือลักษณะดีๆ ที่เร้าให้เกิดความรู้สึก ยอมรับ อยากได้ และชื่นชมเมื่อได้รับ คุณภาพมิได้เกิดขึ้นเองตามยถากรรม หากเกิดจากจิตสำนึก สติปัญญาและฝีมือของพวกเรา" คุณเห็นด้วยหรือไม่? By Jan

หมายเลขบันทึก: 322047เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2009 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยค่ะ และคิดว่าพวกเราต้องหมั่นฝึกฝนเกี่ยวกับทักษะการสื่อสาร ใช้ภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย ในการให้ข้อมูลกับผู้ป่วย ที่สำคัญต้องครบถ้วน /Nurse ward

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท