การจัดการองค์ความรู้ในชุมชนเสมือน


ถ้าเทียบกับเชื้อโรคแล้ว วิธีจัดการองค์ความรู้ในชุมชนของมนุษย์ยังล้าหลังกว่าวิธีของเชื้อโรคไปหลายสิบล้านปี

สมมติว่าเราประเมินความรู้คนในสังคมเรื่องอะไรก็ได้ สักเรื่องหนึ่ง เช่น เรื่องดาราศาสตร์ เรื่อดารามีกิ๊ก นักร้องมีกั๊ก เรื่องการชงกาแฟ ฯลฯ แล้วให้คะแนน

...

เอาคะแนนนี้มาแจกแจงความถี่เหมือนกับที่ครูตัดเกรดเด็ก เราก็จะได้โค้งรูปหลังเต่าที่เรียกว่าระฆังคว่า ซึ่งใครอยู่ตำแหน่งด้านซ้ายของมัน ก็คือคนที่ได้คะแนนน้อย ใครอยู่ตรงกลางก็คือได้คะแนนเหมือน ๆ คนส่วนใหญ่ ใครอยู่ด้านขวา ก็คือพวกที่รู้ลึก รู้จริง ในเรื่องนั้น ๆ วัดความรู้ลึกได้โดยใช้ z-score มีค่าเป็นลบสำหรับคนที่รู้น้อย เป็นบวกสำหรับคนที่รู้มาก ใครได้ค่านี้เกิน +3 ถือว่าเป็นคนรู้จริงระดับ 13 คนแรกในหมื่นคนของกลุ่มประชากร ถึง +4 ก็จะเป็น 3 ในแสนคนแรก ถึง +5 เป็ย 3 ใน 10 ล้าน และพอถึง +6 จะกระโดดไปเป็น 1 ในพันล้าน

พูดง่าย ๆ คือ ในประเทศไทย ไปแตะเรื่องอะไรสักเรื่อง ทั้งประเทศ จะมีคนเพียง 18 คนที่บรรลุถึงความรู้ลึกระดับ +5 ในเรื่องหนึ่ง ๆ และถ้าจะหาระดับ +6 นี่ ต้องควานหาระดับโลก ถึงจะพอเจอ 3-4 คน

คนที่รู้ลึกแบบ +3 คือถามในแง่มุมไหน ก็ตอบได้ แต่ระดับ +5 หรือ +6 นี่ นอกจากรู้จริงแล้ว ยังลุระดับที่พลิกแพลงต่อออกเชื่อมกับเรื่องอื่นได้ การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะเกิดจากคนกลุ่ม +5 หรือ +6 เพราะแสดงว่าเขารู้จริงจนไม่สามารถยืนอยู่ในมุมมองเดิมได้อีกต่อไป ถ้าใครก็ตามยังคงอยู่ในฐานเดิมได้ นั่นยังไม่ใช่กลุ่ม +5 ขึ้นไป มีแต่ต้องขยายมุมมองของเรา จึงจะสามารถมองเห็นอย่างที่เขาเห็นได้

เครือข่ายสังคมที่มีการสื่อสารภายในอย่างเข้มข้นจะมีพลังเพราะอาศัยการเอาจุดแข็งของปัจเจกบุคคลขึ้นมาเป็นจุดแข็งของเครือข่ายสังคมนั้น เพียงคนเดียวที่รู้จริงระดับ +3 หรือ +4 หากเต็มใจแบ่งปัน จะทำให้ความสามารถของสังคมนั้น ๆ เกิดการก้าวกระโดด เป็นการยกระดับชุมชนในเรื่องความรู้จริงตรงนั้น ซึ่งขนาดกลุ่มทางสังคมยิ่งขนาดใหญ่ ยิ่งเพิ่มโอกาสความรู้ลึกในระดับ +4, +5 ขึ้นไปได้  

ตัวอย่างทางสังคมที่มักมีผู้ยกมาใช้ได้แก่กรณีของวอร์เรน บัฟเฟต คนนี้เป็นนักลงทุนที่มูลการการลงทุนทวีคูณทุก 3 ปีมาตลอดหลายสิบปีนี้ จนนักการเงินการลงทุนเรียกเขาว่าเป็นปรากฎการณ์ทางสถิติแบบ "6 sigma" หรือในความหมายนี้ของเราก็คือคนที่รู้จริงระดับ +6 นั่นเอง

ถามว่าการที่เขารู้ลึกแบบ +6 นี่มีผลอะไรบ้าง มีมากขนาดไหน ลองใช้ google search อ่านดู จะเห็นว่าเขาจะเป็นจุดอ้างอิงมาตรฐานของนักลงทุนแนว Value Investor ในปัจจุบัน ทั้งที่เขาไม่ได้เรียนสูงมาก แต่เขากลับเป็นผู้ที่ปฎิวัติแนวคิดในการลงทุนของโลกปัจจุบันด้วยการนำทฤษฎีที่มีมาก่อนหน้ามาปฎิบัติอย่าง"แตกฉาน" (เขาไม่ได้คิดใหม่ทำใหม่ เขาเองก็ลอกของซือแป๋เขามาอีกต่อ แต่ตีความเสียใหม่ ด้วยมุมมองใหม่) เขาก็ยังวิเคราะห์ธุรกิจโดยตำราเดียวกับที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ใช้ แต่เขาฟันธงว่า นักลงทุนที่ดีตัดสินจากการสามารถควบคุมอารมณ์ได้ และจากการรู้จักมีสามัญสำนึก ไม่ใช่จากการฉลาดกว่าคนอื่น นักลงทุนที่ดีจะไม่ตามแห่โหนกระแส แม้มันจะดูเย้ายวนใจให้ทำตามขนาดไหนก็ตาม ข้อสำคัญคือเขาสามารถทำได้ในสิ่งที่เขาพูด

ดังนั้น การรู้ลึกระดับ +5 หรือ +6 นี่ เรายังจะคาดหวังว่า ไม่ใช่การลอกของเก่าแต่ถ่ายเดียว แต่เป็นการมองเรื่องเก่า ๆ ในมุมมองที่ต่างออกไป กว้างขวางออกไปกว่าเดิม และถ้าจำเป็น คือการมองฉีกออกไปจากฐานรากเดิม

ตัวอย่างทางชีววิทยาคือเมื่อเชื้อดื้อยา ในร่างกายที่ติดเชื้อที่เป็นอันตราย จำนวนเชื้อจะมีมากมหาศาล เมื่อได้ยาฆ่าเชื้อ เชื้อจะพร้อมเพรียงตาย แต่จะมีเชื้อบางตัวที่"เรียนรู้"ลูกเล่นการปรับตัวทางชีวเคมี (ถ้าเป็นคนก็ต้องเรียกว่า"อัจฉริยะ") และอยู่รอดได้ ซึ่งต่อให้เชื้อที่เหลือตายหมดเพราะยาฆ่าเชื้อ แต่ที่รอดเพียงหน่วยเดียวนี้ (ซึ่งคงเทียบเท่าการมีความรู้ลึกในระดับ +5 ขึ้นไปว่าจะอยู่รอดอย่างไรเมื่อเจอยานี้)  สามารถถ่ายทอดความรู้โดยตรงผ่านการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมกับเชื้ออื่นที่มันพบปะด้วย (คิดให้ดีนี่น่าทึ่งมากนะครับ ถ้าคนทำได้อย่างนั้น เพียงแต่เดินผ่านใคร ตบมือแปะกันทีนึง แล้วต่างฝ่ายต่างดูดซับทักษะ ความรู้ ความสามารถอีกฝ่ายมาเพิ่มให้ตัวเองได้เลยโดยตรง) และไม่ช้าไม่นาน ทั้งสังคมใหญ่จะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันว่า จะดื้อยาอย่างไร (ใครไม่เรียนรู้ก็ตายไปตามระเบียบ) การมองว่าเชื้อโรครู้จักการจัดการองค์ความรู้ในชุมชนได้เก่งกว่าคนก็คงไม่ผิดนัก เพราะการส่งต่อความรู้ในคนนั้น ทั้งช้า และด้อยประสิทธิภาพกว่ามาก ประวัติศาสตร์ความผิดพลาดทางสังคมที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของตนเอง ของเพื่อนบ้านทั้งใกล้ไกล เราล้วนซ้ำรอยความผิดพลาดเดิมแบบนั้น ครั้งแล้ว ครั้งเล่า เชื้อเพียงแต่พบปะกัน ก็เกิดการเรียนรู้ได้แล้ว แต่ในคนนั้น ต้องอาศัยเครื่องมือที่ซับซ้อนกว่า เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่แสนจะผิวเผิน คิดในมุมกลับก็คือ หากเอาความสามารถของเชื้อเป็นเป้าหมายอ้างอิง (benchmark) นวัตกรรมของมนษย์ในการสร้างสื่อสำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ยังมีช่องว่างทางโอกาสอีกมากมายมหาศาล เพราะเรายังเหมือนเด็กที่ยังไม่หัดเดินด้วยซ้ำ

ปัจจุบันเกิดเครือข่ายเสมือนหลายรูปแบบ เช่น เว็บบอร์ด บล็อก วิทยุชุมชน ซึ่งใช้ประโยชน์จากปรากฎการณ์ของส่วนหางเช่นนี้ ยกตัวอย่างเช่น ผมเป็นบรรณาธิกรดูแลเว็บบอร์ดทางวิชาการอยู่ (http://drug.pharmacy.psu.ac.th) พบเห็นปรากฎการณ์นี้บ่อย กล่าวคือ มีผู้ post กระทู้เข้ามาถาม ซึ่งอาจเป็นคำถามที่ยาก แต่เมื่ออยู่ใน webboard ซึ่งมีคนเข้ามามาก ก็ทำให้เพิ่มโอกาสที่ผู้เวียนมาเห็นว่า บางคำถาม เป็นสิ่งที่เขามีประสบการณ์มาก่อน เขาใช้เวลานิดเดียวก็ตอบได้แล้ว ในขณะที่ผู้ไม่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรง อาจต้องค้นและคิดสรุปกันหลายวันเพื่อตอบเรื่องเดียวกัน

ด้วยความหลากหลายของภูมิหลัง คำถามที่ดูยากมากสำหรับคนจำนวนหนึ่ง ก็จะมีผู้ชมส่วนหนึ่งหนึ่งที่เคยผ่านประสบการณ์นั้นมาก่อนจะสามารถชี้แนะทางสว่างให้ได้โดยง่าย  

จะเห็นได้ว่า ยิ่งมีขนาดของเครือข่ายใหญ่ ยิ่งมีโอกาสดึงศักยภาพแฝงของปรากฎการณ์ส่วนหางออกมาได้มาก

มีนิทานของ Gurdjief เรื่องหนึ่ง ผมคิดว่าตรงกับกรณีนี้ เขาเล่าไว้ทำนองนี้ว่า  

ผู้วิเศษคนหนึ่งเดินทางไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งยามเย็น ผู้คนในหมู่บ้านก็มามุงดูเพราะไม่มีคนมาที่นี่นานแล้ว

"เรายินดีมากที่ท่านมา"
หัวหน้าหมู่บ้านกล่าวต้อนรับ
"..แต่เรายากจนมาก ไม่มีใครในหมู่บ้านได้กินซุปอร่อย ๆ มานานแล้ว เพราะผลิตผลการเกษตรเสียหายมาก แต่ละบ้านแทบไม่มีอะไรติดบ้านเลย บ้านโน้นล่าสัตว์ ก็แทบไม่ได้ผล บ้านโน้นเพาะปลูก ก็ได้ผลนิดเดียวเอง ฯลฯ"

ผู้วิเศษบอกไม่มีปัญหา เดี๋ยวจัดการให้ แต่ขอให้แต่ละบ้านบอกเขาว่าในบ้านมีอะไรบ้าง หลังจากฟังข้อมูลแล้ว เขาก็ขอให้ตั้งหม้อซุปกลางลาน

"มนตร์วิเศษบอกว่า บ้านโน้น (ชี้นิ้ว) ต้องไปเอาเนื้อตากแห้งมาให้ก่อน ไม่งั้นจะมีอาถรรพ์"
เมื่อได้ชิ้นเนื้อตากแห้งแล้ว เขาก็หย่อนชิ้นเนื้อตากแห้งลงหม้อ แล้วทำแบบเดียวกันกับบ้านหลังอื่น เปลี่ยนรายการไปเรื่อย ๆ เช่น ขอมะเขือ เกลือ ฯลฯ จนท้ายสุด เขาก็ประกาศกับทุกคนพร้อมเปิดฝาหม้อซุปว่า

"มาสิ มนตร์วิเศษบอกข้าว่า ถึงเวลากินซุปอร่อย ๆ แล้ว"

 

เมื่อขนาดชุมชนใหญ่ขึ้น ก็มีเริ่มเกิดจุดอ่อนที่เรียกว่า by-stander effect (ปรากฎการณ์นักมุง)

"ยิ่งมุงมาก ยิ่งช่วยเหลือน้อย"

ซึ่งเมื่อหลาย(สิบ)ปีก่อนผมเคยอ่านผ่านตาการทดลองของนักสังคมวิทยา เขาจัดฉากให้คนหกล้มอุบัติเหตุในที่ต่าง ๆ เขาพบว่า ยิ่งคนร่วมมุงมาก คนยื่นมือมาช่วยยิ่งน้อย แต่หากเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีการมุง การช่วยเหลือกลับมีเต็มร้อย

ดังนั้น หัวใจหลักของการจัดการชุมชนเสมือน จึงอยู่ที่การสร้างฐานชุมชนให้ใหญ่ แต่ให้ปรากฏเสมือนหนึ่งเป็นชุมชนที่เล็ก จึงจะสามารถดึงศักยภาพแฝงชุมชนในเรื่องความรู้ลึก รู้จริง ออกมาได้ นั่นคือ หากชุมชนเสมือนไม่สามารถอยู่แบบกลมกลืนถ่อมตนไปกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง และทำให้เขารู้สึกเหมือนกับเป็นบ้านของเขาเอง อย่างเก่ง เราก็จะดึงคนรู้ลึก +1 หรือ +2 ออกมาได้เท่านั้น ที่เก่งกว่านั้น หวังได้ แต่คงไม่ได้พบ

ทำอย่างไรให้ชุมชนเสมือนกลายเป็นบ้านแหล่งที่สอง เราอาจคงต้องย้อนกลับไปดูโลกแงความเป็นจริง นั่นคือ เราจะทำอย่างไรให้แขกที่มาหาเราที่บ้าน รู้สึกว่า นี่คือการกลับบ้าน ? ดูเหมือนว่าคนทั่วไปจะเข้าใจเรื่องนี้ดีกว่านักวิชาการ...รึเปล่าหนอ ?

เคยอ่านข่าวว่าผู้กำกับ(ตำรวจ) คนหนึ่งในสหรัฐ เขามองว่า อาชญากรรมมักเกิดในที่เปลี่ยว หรือสถานที่ที่ถูกทิ้งร้างไม่ได้รับการดูแล เขาจึงเข็นโครงการ Broken Glass ออกมา คือซ่อมและบูรณะสถานที่ที่เปลี่ยวร้าง กระจกที่แตก กำแพงที่ขีดเขียนสกปรก ปรากฎว่าสถิติอาชญากรรมลดฮวบ สิ่งนี้เกิดขึ้นกับชุมชนเสมือนเช่นกัน เช่น  webboard หากไม่มีระบบบรรณาธิการช่วยตรวจสอบกรองขยะ เราฟันธงได้ว่าไม่ช้า webboard นั้นก็จะเหลือแต่อดีต

หมายเลขบันทึก: 32138เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2006 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ได้ประเด็นที่น่าคิดหลากหลายจริงๆครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท