บทเรียนการขับเคลื่อนชุมชนลดละเลิกเหล้า


เปรียบดังผืนผ้า การที่จะถักทอเป็นผืนผ้าที่สวยงามและแข็งแรงนั้นต้องอาศัยด้ายที่ถักกันในแนวราบและทอลงมาในแนวดิ่งสลับกันไป ดัง

 

จากการถอดบทเรียนในชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการลดละเลิกเหล้าในชุมชน นั้นมีปัจจัยเงื่อนไขที่ทำให้การขับเคลื่อนมีพลังและได้ผลดีมีความสอดคล้องกันหลายประการ ดังนี้

๑. การยึดโยงทางวัฒนธรรม แม้ว่าวัฒนธรรมประเพณีจะเป็นสิ่งที่ผูกโยงไปกับค่านิยมการดื่มเหล้าของประชาชน แต่วัฒนธรรมประเพณีก็เป็นที่ช่วยหล่อหลอมความคิด ความศรัทธา และยึดโยงคนในชุมชนเข้าหากัน ดังนั้นการขับเคลื่อนงานลดละเลิกเหล้าในชุมชนจึงใช้มิติทางวัฒนธรรมประเพณีมาเป็นตัวขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อที่จะช่วยกันจรรโลงไว้ซึ่งสิ่งที่ดีงาม ที่เป็นตัวคุณค่า ความหมาย และความศรัทธาที่คนมีต่อวัฒนธรรม จะเห็นได้ว่าชุมชนต้นแบบส่วนใหญ่จะมีการรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กลับคืนมา ให้คงเอกลักษณ์ความโดดเด่นในคุณค่าและเนื้อหามากกว่ารีตองที่เน้นพิธีการดื่มกิน ทำให้คนในชุมชนเห็นคล้อยตามและเกิดความร่วมมือในที่สุด

๒. แรงขับภายใน เป็นจุดระเบิดภายในที่เป็นแรงขับให้คนในชุมชนได้ลุกขึ้นมาพูดคุยและหาทางออกของปัญหาร่วมกัน ที่เรียกกันว่า “ใจสั่งมา” ในชุมชนต้นแบบทั้งหลายส่วนใหญ่จะมีเหตุการณ์ที่เป็นผลกระทบด้านลบจากเหล้าเกิดขึ้นในชุมชนที่นำไปสู่การไม่ดูดายในปัญหาที่เกิดขึ้น หากแต่ลุกขึ้นนำเอาปัญหาเปลี่ยนเป็นปัญญา สร้างโอกาสในการจัดการลดละเลิกเหล้าในชุมชน ทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างมีพลัง ต่อเนื่อง และยั่งยืน เนื่องจากใช้เหตุการณ์ในชุมชนเป็นบทเรียน

๓. เริ่มจากงานที่ทำได้ง่ายและมีผลเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ การเริ่มจากสิ่งที่ทำได้ง่ายและมีการยอมรับกันก่อนทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและขยายผลไปยังกิจกรรมอื่นๆ จะเห็นได้ว่าชุมชนต้นแบบส่วนใหญ่จะเริ่มจากงานศพปลอดเหล้าก่อน เนื่องจากเป็นงานที่เศร้าโศกเสียใจ ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของเจ้าภาพ การเริ่มจากจุดนี้จึงทำให้เกิดการยอมรับได้ง่าย มีการต่อต้านน้อย หรือบางแห่งอาจเริ่มจากงานบุญในวัดก่อน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน การละเว้นอบายมุขเพื่อทำบุญให้ได้บุญอย่างแท้จริง จึงทำให้เกิดการยอมรับได้ง่าย

๔. ต้นแบบของผู้นำ มีคนกล่าวว่าผู้นำคือผู้ที่สามารถทำให้ผู้อื่นทำตาม ดังนั้นผู้ที่เป็นผู้นำต้องสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คนอื่นๆ เกิดการยอมรับและพร้อมที่จะทำตามได้ จากการถอดบทเรียนชุมชนต้นแบบลดละเลิกเหล้าพบว่าส่วนใหญ่ผู้นำชุมชนจะไม่ดื่มเหล้าหรือคนที่ดื่มก็จะดื่มอย่างรู้กาลเทศะ เมื่อคราวมีงานหรือไปอยู่ในสถานที่ที่ต้องปลอดเหล้าก็จะปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่คนอื่น หรือเมื่อเข้าพรรษาก็จะเข้าร่วมกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นตัวอย่างให้คนในชุมชน ไม่มีแหกกฎกติกาของหมู่บ้าน เรียกว่าเป็นแบบอย่างที่ดีไม่ให้คนอื่นได้ย้อนมาถามว่า “ว่าให้เขา อิเหนาเป็นเอง” นี่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการนำชุมชนไปสู่การลดละเลิกเหล้า

๕. การผลักดันจากภาคนโยบาย แม้ว่าแรงขับภายในจะเป็นเงื่อนไขสำคัญ แต่แรงผลักจากภายนอก โดยเฉพาะจากภาคนโยบาย เช่น ประกาศของอำเภอ, ประกาศของสภาวัฒนธรรม เป็นต้น ก็จะเป็นส่วนผลักดันที่สำคัญที่มาช่วยสานการขับเคลื่อนภายในให้มีพลังมากยิ่งขึ้น เปรียบดังผืนผ้า การที่จะถักทอเป็นผืนผ้าที่สวยงามและแข็งแรงนั้นต้องอาศัยด้ายที่ถักกันในแนวราบและทอลงมาในแนวดิ่งสลับกันไป ดังนั้นภาคนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายปกครอง (ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ) สภาวัฒนธรรม คณะสงฆ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยหนุนเสริมด้านนโยบายสาธารณะ มาตรการ แนวทาง และงบประมาณ ในการสนับสนุนให้การทำงานในพื้นที่เดินไปได้อย่างมีพลัง

๖. เป้าหมาย พบว่า ในพื้นที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานนั้น มีการร่วมกันกำหนดเป้าหมายในลดละเลิกเหล้าเบียร์ในงานประเพณีไว้อย่างชัดเจนว่า จะลดละเลิกในงานประเพณีใด สถานที่ใด เวลาใด และเป้าหมายนั้นได้ถูกนำไปสร้างความเข้าใจร่วมกันของคนในระดับชุมชน ตำบล และอำเภอ ทำให้เกิดเป็นมติของประชาคมที่ต้องถือปฏิบัติร่วมกัน และส่วนใหญ่จะไม่ได้กำหนดเป้าหมายประเพณีไว้จำนวนมาก หากแต่เริ่มจากจำนวนไม่กี่ประเพณีหรือกิจกรรม แล้วค่อยๆ ขยายผลออกไป รวมทั้งเป้าหมายของพื้นที่ในการดำเนินการด้วย ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เริ่มจากพื้นที่ใหญ่ แต่จะเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ แล้วค่อยขยาย

๗. องค์กรขับเคลื่อน พบว่า มีความสำคัญมากในการขับเคลื่อน เพราะจะเป็นกลไกการประสาน สนับสนุน และผลักดันให้เกิดกระบวนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย การมีองค์กรขับเคลื่อนที่ชัดเจน มีความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมจากหลากหลายฝ่าย จึงเป็นจุดแข็งที่สำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือในชุมชน และพบว่าองค์กรที่ขับเคลื่อนส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรที่มีตัวตนจริงอยู่ก่อนแล้ว เช่น สภาวัฒนธรรม, ชมรม อสม., ชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น และพบว่าทุกองค์กรจะมีองค์กรสาธารณสุขเป็นกลไกสนับสนุนที่สำคัญ ความเข้มแข็งขององค์กรเหล่านี้จึงบ่งบอกถึงความเชื่อมสัมพันธ์กับองค์กรสาธารณสุขในระดับพื้นที่ด้วย

๘. กระบวนการขับเคลื่อน พบว่า กระบวนการขับเคลื่อนส่วนใหญ่เริ่มจากการจัดเวทีชาวบ้าน เวทีประชาคม ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ข้อมูล ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากเหล้าเบียร์ และนำไปสู่การกำหนดแนวทางการลดละเลิกเหล้าเบียร์ร่วมกัน เวทีประชาคมจึงเป็นทั้งเวทีความคิด กำหนดแนวทาง การกำหนดมาตรการทางสังคม การสร้างความเข้าใจร่วมกัน การติดตามประเมินผลงานร่วมกัน ที่สำคัญการขับเคลื่อนจะเน้นกระบวนการเชิงรุกและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

๙. มาตรการทางสังคม พบว่า พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จจะมีการกำหนดมาตรการทางสังคมร่วมกันที่ชัดเจน เช่น กำหนดเขตปลอดการดื่มการขาย, กำหนดเวลาให้ดื่มให้ขาย, กำหนดวันที่ปลอดการดื่มการขาย เป็นต้น และมาตรการเหล่านี้เป็นที่ยอมรับและรับรู้ของคนในชุมชน แม้มาตรการทางสังคมเหล่านี้จะไม่ได้ใช้อย่างจริงจัง แต่ก็เป็นการป้องปรามและกำหนดให้เกิดการปฏิบัติตามมติของประชาคม

๑๐. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พบว่า พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จจะมีกระบวนการจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสรุปงาน การสรุปบทเรียน การวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค การศึกษาดูงานพื้นที่อื่นๆ ทำให้เกิดกิจกรรมใหม่ๆ หลากหลาย อย่างต่อเนื่อง

๑๑. กลไกการตรวจสอบ พบว่า พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จจะมีกลไกการตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแนวทางและมาตรการทางสังคมที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง เช่น คณะกรรมการเฝ้าระวังในชุมชน, กรรมการตรวจสอบ, อสม.น้อย เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนี้จะต้องเป็นผู้ที่เป็นกลาง เที่ยงตรง และประเมินอย่างตรงไปตรงมา และการตรวจสอบนี้มิได้เป็นการจับผิด หากแต่นำเอาปัญหาเหล่านี้มาสู่กระบวนการประชาคมเพื่อแก้ไขต่อ

๑๒. การสร้างแรงจูงใจ พบว่า มีการสร้างแรงจูงใจยกย่องคนดี พื้นที่ตัวอย่าง ให้เป็นคนต้นแบบ ร้านค้าต้นแบบ พื้นที่ต้นแบบ รวมทั้งการให้ใบประกาศคนทำดี เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา, ร้านค้าปลอดเหล้าเบียร์ เป็นต้น การสร้างแรงจูงใจนี้เป็นแรงกระตุ้นให้คนที่กล้าทำ กล้าเลิก กล้าเปลี่ยนแปลง ได้มีกำลังใจการทำงานต่อไป

          อย่างไรก็ตามปัจจัยเงื่อนไขของความสำเร็จเหล่านี้หาได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไม่ หาแต่เป็นปัจจัยที่หนุนเสริมกันและกัน เป็นฟันเฟืองที่ทำให้การขับเคลื่อนชุมชนลดละเลิกเหล้ามีความต่อเนื่องและเกิดผลเป็นรูปธรรม

ที่มา : หนังสือ “ชุมชนต้นแบบลดละเลิกเหล้าจังหวัดน่าน”

 

หมายเลขบันทึก: 321132เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2009 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท