ภาวะสุขภาพประชาชน


นำเสนอยุทธศาสตร์ภาวะน้ำหนักหนักเกิน

-   ท่านทราบหรือไม่ว่า จังหวัดนครสวรรค์ ของเรามีสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์

-  ท่านทราบหรือไม่ว่าสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์ปีนี้มีการประชุมเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อ

พิจารณาร่างข้อเสนอมติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกี่เรื่องคำตอบคือ........

เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมากที่ประชาชนทั้งภาครัฐ และเอกชนของจังหวัดนครสวรรค์ ได้ตระหนักถึง

ปัญหาของสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับกรมอนามัยถึง 3 ใน 4 วาระ (เรื่อง) ได้แก่

  1. การพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมเพื่อสุขภาวะของเด็ก เยาวชน และครอบครัว
  2. การพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ
  3. การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
  4. การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน

ในที่นี้จะขอเล่าเฉพาะเรื่องที่ 3 ที่ผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณาและลงมติ

รับทราบ ว่าภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพ เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง ที่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งทางด้านทรัพยากรบุคคล เศรษฐกิจ และสังคม คุณภาพชีวิต ความอยู่ดีมีสุขของประชากร และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของประเทศ

                รับทราบ ว่าปัญหาด้านสุขภาพมีอิทธิพลซึ่งกันและกันกับภาวะเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการระบาดของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีความเป็นเมืองขึ้น เป็นสังคมบริโภคนิยม ทิศทางของสังคมถูกขับเคลื่อนด้วยการค้า การตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ และภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนได้ก่อให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและมีผลเสียต่อสังคม

                ตระหนัก ว่าภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนได้กลายเป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมไทยทั้งในแง่ของความรุนแรงของผลกระทบและขนาดของปัญหา

                มีความกังวล ต่อการเพิ่มขึ้นของปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งทางด้านสุขภาพของประชากร การสูญเสียด้านเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อสังคม รวมทั้งหากไม่มีการจัดการกับปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โดยเฉพาะการทำการตลาดอย่างเข้มข้นโดยมุ่งเป้าหมายไปยังเด็ก ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของเด็ก

                ตระหนัก ว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนนั้นมีข้อจำกัดด้านการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการแบบบูรณาการได้ ขาดกลไกหรือระบบที่ชัดเจนในการพัฒนาการดำเนินงาน องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและศักยภาพของบุคลากร และขาดข้อมูลที่แสดงถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของการดำเนินงาน

               ตระหนัก ว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวควรเป็นการจัดการแบบบูรณาการ ทั้งด้านการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก ส่งเสริมการมีพฤติกรรมการบริโภคและการเคลื่อนไหวออกแรงที่เหมาะสม การจัดการด้านการปรับปรุงสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีพฤติกรรมการบริโภคและการเคลื่อนไหวออกแรงที่เหมาะสม การควบคุมการค้าการตลาดที่ส่งผลให้ประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคและการเคลื่อนไหวออกแรงที่ไม่เหมาะสม และควรมีกลไกในการจัดการกับปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งอยู่บนฐานความรู้ ข้อเท็จจริงและการมีส่วนร่วม อีกทั้งโปร่งใสและเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะเป็นสำคัญ

                ตระหนักว่า การร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาในสังคมเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ

                จึงมีมติดังต่อไปนี้

  1. ให้การรับรอง ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ตามภาคผนวกท้ายมตินี้
  2. ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังนี้

2.1   นำเสนอยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบและสั่งการให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ฯ

2.2   ดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดกลไกระดับชาติ เพื่อยกร่างแผนปฏิบัติการโดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม

การกีฬาแห่งประเทศไทย เครือข่ายคนไทยไร้พุง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรวิชาชีพสาธารณสุข สมาคมภัตตาคารแห่งประเทศไทย สมาคมและองค์กรผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย

2.3   ขอให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนหน่วยงาน และภาคีที่มีส่วนเกี่ยวข้องในยุทธศาสตร์ฯ เพื่อการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการเพื่อจัดการกับปัญหาภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน

2.4   สนับสนุนการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำระเบียบว่าด้วยการตลาดเกี่ยวกับอาหารของประเทศ และโรคไม่ติดต่อ (เอ็นซีดีเอส) เพื่อควบคุมการทำการตลาดอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพ

 2.5   ประสานกับคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เพื่อพัฒนากลไกการติดตามความคืบหน้าในการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยเฉพาะการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ รวมถึงความเหมาะสม ระยะเวลา และกลไกในการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ฯ อย่างมีส่วนร่วม

  1. ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรายงานความก้าวหน้า อุปสรรคและแนวทางการแก้ไขต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4

 

 

 

***********************************

หมายเลขบันทึก: 321123เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2009 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท