กองทุนหมู่บ้าน


มารู้จักกองทุนหมู่บ้านกันดีกว่า

 

กองทุนหมู่บ้าน

 

โครงการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านแห่งละ 1 ล้านบาทซึ่งเป็นนโยบายหลักประการหนึ่งของรัฐบาลที่มีพรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำโดยมุ่งหวังที่จะให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้เกิดการผลิตและจำหน่ายอันส่งผลไปถึงการเพิ่มอำนาจซื้อในระดับท้องถิ่นนั้นโครงการดังกล่าวรัฐบาลคาดว่า จะต้องใช้เงินกว่า 70,000 ล้านบาทเพื่อดำเนินการตามนโยบาย โดยมีพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ

ส่วนคณะทำงานติดตามนโยบายกองทุนหมู่บ้าน มีนายสุวิทย์ คุณกิตติรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนคณะทำงานซึ่งมาจากกระทรวงการคลังธนาคารออมสิน สำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทยและล่าสุดการพิจารณาของคณะทำงานได้ข้อสรุปว่าการดำเนินงานที่ถูกต้องจะมีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นมาเพื่อตั้งเป็น'คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง'โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

การหารือเบื้องต้นนี้ได้มีมติว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในเดือนเม-ษายน2544สำหรับหมู่บ้านที่มีความพร้อมและมีศักยภาพที่เคยทำงานในลักษณะนี้มาแล้วเป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนา หมู่บ้านสินเชื่อเพื่อการพัฒนาชนบท(สพช.)ประมาณ 20,000 หมู่บ้านสำหรับหมู่บ้านที่ยังไม่เคยได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลมาก่อนในทำนองนี้เพราะไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับเงินกองทุนหมุนเวียนก็จะมีการนำเสนอให้คณะกรรมการระดับนโยบายพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ในทางปฏิบัติก็คือหมู่บ้านที่มีความพร้อมมีโอกาสจะได้รับเงินน้อยกว่าหมู่บ้านที่ยังไม่มีความพร้อมเพื่อที่จะนำเงินที่เหลือสำหรับการดำเนินงานในปี 2544ไปกระจายให้กับหมู่บ้านทั่วไปในปี 2546 ประมาณ 2,000หมู่บ้านซึ่งในการดำเนินงานนั้นจะมีการกำกับติดตามประเมินผลเพื่อรายงานปัญหาอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นรายงานให้กับคณะรัฐมนตรีต่อไป

เรื่องของกองทุนหมู่บ้านนอกจากจะมีการดำเนินงานในภาครัฐบาลแล้วยังมีกลุ่มองค์กรเอกชนที่เรียกตนเองว่านักพัฒนาชุมชนอิสระก็ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และการดำเนินโครงการกองทุนหมู่บ้านเช่นกันซึ่งนำโดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสินดร.เอนก นาคะบุตร ผู้อำนวยการโครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม(Social In- vestment Fund-SIF) กับคณะทั้งนี้คณะทำงานชุดนี้ได้มีการประสานงานกับกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตามแนวคิดของทางนักพัฒนาชุมชนอิสระเห็นว่าโครงการกองทุนหมู่บ้านนั้นเป็นโครงการที่ดำเนินงานทั่วประเทศจึงเป็นโครงการใหญ่อีกทั้งจะต้องเชื่อมโยงกับ 3 โครงการใหญ่ของรัฐบาลอีกก็คือโครงการพักหนี้ของเกษตรกรเพื่อตัดวงจรภาระหนี้สินเกษตรกรเสียก่อนแล้วตามด้วยโครงการฟื้นฟูความสามารถทางการผลิตเพื่อให้ชุมชนยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองต่อไปแล้วจึงจะมาถึงกองทุนหมู่บ้านที่เป็นแหล่งเงินทุนการฝึกการออมของประชาชนก่อนที่จะไปถึงอีกโครงการหนึ่งคือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

เหตุนี้กลไกการทำงานของระดับชุมชนหากจะนำไปสู่ความสำเร็จต้องเป็นชุมชนที่เปิดรับความหลากหลายมีความยืดหยุ่นในการทำงานสูงดังนั้นหากจะเอากรอบของระบบราชการซึ่งเป็นลักษณะการรวมศูนย์อำนาจมาใช้ในการกำกับดูแลอาจจะประสบความล้มเหลวได้ทั้งนี้นักพัฒนาชุมชนอิสระเห็นว่ากระบวนการบริหารกองทุนหมู่บ้านควรมีองค์กรใน3 ระดับคือ

1.ระดับชาวบ้านเป็นคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งจะมาจากหลายฝ่ายหลายเพศหลายวัย แต่ไม่ใช่คณะกรรมการหมู่บ้านที่กรมการปกครองตั้งอยู่ก่อนแล้วเพราะคณะกรรมการชุดนี้ในบางพื้นที่ไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมหลายพื้นที่เลือกตั้งเข้ามาในลักษณะบล็อกโหวตเข้ามา

2. ระดับอำเภอ-จังหวัดเป็นกรรมการพี่เลี้ยงคอยให้คำเสนอแนะ ติดตามประเมินผลสำหรับกลไกระดับนี้จะประกอบไปด้วยหน่วยงานภาคราชการ กลุ่มองค์กรเอกชนเช่น เอ็นจีโอผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่เพื่อเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับกรรมการกองทุนหมู่บ้านในการเตรียมความพร้อมการพัฒนา การจัดทำแผนโครงการติดตามประเมินผลทั้งก่อนและหลังการใช้งบประมาณ

3.กรรมการระดับชาติที่กำหนดนโยบายและทิศทางการบริหารกองทุนควรจะเป็นองค์กรอิสระไม่ใช่ระบบราชการแต่ทำงานเคียงข้างกับหน่วยงานราชการที่สำคัญต้องเป็นอิสระจากพรรคการเมืองเพราะอาจจะทำให้ได้รับผลกระทบได้หากการเมืองมีการเปลี่ยนแปลง

องค์กรพัฒนาชุมชนอิสระได้มองว่าเนื่องจากโครงการกองทุนหมู่บ้านเป็นโครงการใหญ่ต้องใช้งบประมาณถึงกว่า70,000 ล้านบาท เพื่อครอบคลุมหมู่บ้านทั่วประเทศดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกลไกในการกำกับตรวจสอบและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถยืนบนขาตนเองได้เพราะหาไม่แล้วจะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงได้หรืออาจจะกลายเป็นเอ็นพีแอลระดับหมู่บ้านขึ้นมาได้เช่นกัน

ตามความเห็นขององค์กรพัฒนาชุมชนประเมินว่า ภายในเดือนตุลาคมศกนี้ชุมชนหมู่บ้านที่น่าจะมีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ก่อนมีอยู่ประมาณ30,000 หมู่บ้าน จากนั้นจึงค่อยขยายไปอีกในส่วนที่เหลือทั้งนี้เพื่อให้สามารถที่จะมีการถ่ายทอดการเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกันของชุมชนหมู่บ้านที่ได้รับเงินกองทุนไปก่อนกับหมู่บ้านที่จะจัดตั้งกองทุนขึ้นภายหลัง

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าแนวคิดและกลไกกระบวนการบริหารงานของกองทุนหมู่บ้านของนักพัฒนาชุมชนอิสระน่าจะเป็นแนวทางที่สามารถนำมาปฏิบัติให้นโยบายบรรลุผลได้เพียงแต่ยังต้องขึ้นกับฝ่ายรัฐบาลจะเห็นดีด้วยหรือไม่เพราะมีข้อกำหนดกีดกันฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงอย่างชัดเจนในทุกระดับชั้นเสมือนเป็นก้างตำคอนักการเมืองที่จะคอยฉกฉวยประโยชน์จากกองทุนแห่งนี้อยู่และนับแต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยมีแม้แต่โครงการเดียวที่นักการเมืองจะไม่ขอเข้าไปมีเอี่ยวด้วย

เราจึงได้แต่หวังว่า'กองทุนหมู่บ้าน'จะเป็นโครงการแรกที่เป็นเขตปลอดจากการเมืองอย่างแท้จริง

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 32068เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2006 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2018 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท