จากดอยหลวงเชียงดาวสู่ป่ากันชน : บ้านหัวทุ่ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ตอนจบ


การจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยกระบวนการชุมชน

ก๋วย และไผ่บง
นอกจากเรื่องป่าแล้ว เรื่องอาชีพก็เป็นสิ่งสำคัญหนึ่งของชุมชน อย่างอาชีพการสานตะกร้าใส่มะเขือ ที่ทำกันมาตั้งแต่บ้านหัวทุ่งยังไม่ได้แยกออกมาจากหมู่บ้านทุ่งละคร จนต่อมาในปีพ.ศ.2525 ได้กลายเป็นอาชีพหัตถกรรมจักสานของชาวบ้าน ที่ริเริ่มจากป้าบุญ ครูไหว ชาวบ้านบ้านหัวได้นำเอาตะกร้าหรือก๋วยผักกาดมาลองให้ชาวบ้านทำ โดยจะจัดหาก๋วย(ปีมก๋วย) มาให้และรับซื้อในราคาใบละ 1.50 สตางค์ ซึ่ง ตอนนั้นชาวบ้านยังใช้มีดอีโต้จักตอก ซึ่งช้ากว่าปัจจุบันมาก

เมื่อชาวบ้านบ้านหัวทุ่งได้นำอาชีพสานก๋วยมาเป็นอาชีพเสริมในครอบครัว ความต้องการไม้ไผ่ในป่าจึงมากขึ้น พอไผ่ออกหน่อชาวบ้านก็จะไปขุดมากิน แต่เวลาที่ไผ่เติบโตได้ที่ก็จะถูกตัดมาทำก๋วย จนเกิดการตัดทำลายมากขึ้นๆ เกิดการรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้ซางเริ่มหมด จากป่าใกล้ๆ บ้านก็เริ่มไปไกลขึ้นๆ ทุกที กลายเป็นปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นกับชุมชน ทำให้แกนนำชุมชน คณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์ร่วมกันหาแนวทางในการจะประสานทั้งอาชีพและธรรมชาติให้สอดคล้องและพึ่งพิงกันได้

ในปีพ.ศ.2542 ทางคณะกรรมการบริหารจัดการป่า แกนนำอย่างพ่อหลวงติ๊บ ศรีบุญยัง จึงได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้านให้มาร่วมกันปลูกป่าไผ่ขึ้นมาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปตัดไม้ไผ่จากในป่า และที่สำคัญหากว่ามีการนำไผ่มาปลูกในพื้นที่ๆ อยู่ใกล้บ้าน ก็จะทำให้ง่ายต่อการไปตัด ชุมชนจึงได้ทำเรื่องขออนุมัติพื้นที่ของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 หรือ น.พ.ค. 32 ซึ่งอยู่ติดกับบ้านหัวทุ่ง โดยขอพื้นที่ว่างทั้งหมด จำนวน 42 ไร่ ซึ่งทางหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 ก็ได้อนุมัติพื้นที่ทางด้านตะวันตกของหน่วยให้แก่ชุมชน

ป่าไผ่ 42 ไร่ 2,000 กว่ากล้า
เมื่อได้ที่ดินในการปลูกไผ่ ชาวบ้านจึงมีการตกลงกันว่าจะนำพันธุ์ไม้ไผ่มาร่วมกันปลูก จำนวนคนละ 15 กล้า จากจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมทั้งหมด 95 คน โดยปัจจุบันมีไม้ไผ่ประมาณ 2,000 กว่ากล้า และมีการวางมาตรการดูแลและการจัดการต่างๆ ที่ทำให้ชาวบ้านได้ใช้ไม้ที่ตนเองปลูกโดยไม่ต้องไปตัดไม้ไผ่ในป่า ทำให้ป่าไผ่(ป่ากองจาง)ได้กลับฟื้นฟูอยู่ในสภาพเดิมต่อไปจนถึงปัจจุบัน

ต่อมา ชาวบ้านจึงได้แพร่ขยายอาชีพการสานก๋วยแก่หมู่บ้านข้างเคียง ซึ่งตอนนั้นพ่อหลวงหมู่บ้านสหกรณ์ ตำบลเมืองงาย นายบุญธรรม อุทัย ได้นำเอาเครื่องจักรตะเกียบจากหมู่บ้านห้วยโจ้ นำมาดัดแปลงเป็นเครื่องจักตอกเป็นเส้น ในปี พ.ศ.2531 เป็นบ้านแรกและในหมู่บ้านหัวทุ่งก็มีเครื่องจักตอกเครื่องแรกที่บ้านพ่ออุ้ยสม สิงห์คำ ซึ่งเป็นเครื่องจักรเส้นเดียว ใช้รับจ้างจักชั่วโมงละ 10 บาท

พ่อถวิล   ศรีเงิน  รองประธานป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง  “ตอนนั้น เราก็ปรับพื้นที่ให้พี่น้องหากล้าไม้มา ใครอยากจะปลูกร่วมก็มาเข้ากลุ่ม และให้หากล้าไม้บงมา 10 กล้า เข้า 95 ราย แต่ยังไม่พอก็ไปหามาเพิ่มเพิ่มมาเป็น 25 ต่อคน จนเต็มพื้นที่ 42 ไร่ มี 2000 กว่ากล้า ดูแลกันมา 5 ปี โดยในช่วงปีที่ 1-3 กรรมการก็สามารถใช้พื้นที่ทำการเกษตรได้อยู่ ปลูกถั่ว ทำไร่ต่างๆ โดยหากทำเกษตรแล้วทำกล้าไม้ตาย ก็หากล้าไม้มาปลูกซ่อมใหม่ จนกระทั่งปีที่สามเมื่อไม้โตขึ้นจึงให้เลิกใช้พื้นที่ในการทำการเกษตร ปล่อยให้ไม้โตจนครบ 5 ปีจึงจะตัดมาใช้ได้ โดยจะตัดกันในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ เวลาตัดก็จะมีการประกาศให้สมาชิกไปตัด สามารถตัดได้ประมาณ 10 ลำต่อหนึ่งคน รวมแล้วจำนวน 95 คน

เมื่อตัดได้แล้ว จะเอากองไม้มารวมกันและแบ่งให้คณะกรรมการดูแลแบ่งตามรายสมาชิก ปักเบอร์ไว้ให้จับเบอร์ กองไหนไม้ใหญ่ ไม้น้อย กรรมการจะแจ้งให้ทราบ ใครจับได้ตรงกับเบอร์อะไรก็ต้องยอมรับกติการ่วมกัน ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก แต่จะตัดไม้มาใช้ทางกลุ่มก็จะปรับเป็นจำนวนเงิน 1,500 บาท

สำหรับชุมชนแล้ว วันนี้ “ก๋วย” เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม แม่หล้า ศรีบุญยัง ประธานกลุ่มแม่ญิ๋งฮักถิ่น “เราใช้ก๋วยในวิถีชีวิต ความสำคัญของก๋วยยิ่งกว่ารายได้ ก๋วยแก้จน ส่งลูกเรียน ส่งเงินสมาชิก ธกส. ส่งเงินออมทรัพย์ ส่งเงินฌาปนกิจ ไม่อับจนก็เพราะก๋วย และยังเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัว แม่สาน ลูกช่วย พ่อตอก อย่างเสร็จไร่นากลับบ้านก็เปิดวิทยุ นั่งล้อมวงสานก๋วยแล้วคุยกัน”

สรุปรายได้จากป่าไผ่ปี 2548
ป่าไผ่เศรษฐกิจ บ้านหัวทุ่ง มีทั้งหมด 42 ไร่ มีสมาชิกทั้งหมด   95   คน และ มีคณะกรรมการดูแลตั้งแต่ปีแรก - ปีที่ 3   ทั้งหมด  42   คน ซึ่งในระหว่างที่ไผ่ยังโตไม่เต็มที่ พื้นที่ดังกล่าวก็สามารถที่จะนำมาปลูกพืชได้ โดยแบ่งพื้นที่ปลูกพืชให้กับสมาชิก คนละ 1 ไร่  โดยมีเงื่อนไขให้ปลูกถั่ว 3 ปี ปลูกข้าวโพด 3 ปี  ชาวบ้านมีรายได้จากการปลูกถั่ว 2,500/ 1 ไร่/ 1 ปี x 3 ปี = 7,500 x 21 คน = 157,500 บาท  ปลูกข้าวโพด 3,000/ 1 ไร่/ 1 ปี x 3 ปี = 9,000  x 21 คน = 189,000 บาท

            ต่อมาเมื่อไผ่เจริญเติบโตเต็มที่ก็มีการตกลงกันว่าจะเริ่มตัดไม้ไผ่ โดยปี 2548  ได้ตัดไผ่ทั้งหมด 4 ครั้ง ให้กับสมาชิกทั้ง 95 คน คนละ 10 เล่ม = 950 เล่ม/ครั้ง ไม้ไผ่  1 เล่ม สามารถตัดได้ 5 ท่อน 10 เล่ม = 50 ท่อน คิดเป็นเงิน 250 บาท/ครั้ง และสามารถแปรรูปจากไม้ 50 ท่อน มาสานก๋วยจะได้ 450ใบ คูณ ลูกละ 4 บาท = 1,800 บาท

            ดังนั้น สมาชิกทั้งหมด 95 คน x 1,800   บาท / ครั้ง = 171,000 บาท ตัดทั้งหมดในปี 48 จำนวน 4 ครั้ง ( 171,000 x 4 = 684,000   บาท ซึ่งเป็นเงินรวมทั้งหมดของสมาชิก 95 คน ) หาก คิดเป็นคนจะได้คนละ 7,200 บาทต่อปี หักค่าร่อนตอก 50 บาทต่อ 50 ท่อน สมาชิกจะเหลือคนละ 50 คูณ 4 = 200 บาท รายได้ต่อคน/ ปี สุทธิ = 7,000 บาท

พลังความร่วมมือ
การจัดการป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง มีกระบวนการขับเคลื่อนงานที่เชื่อมโยงกับกลุ่มองค์กรชุมชนในชุมอื่นๆ ที่รวมกันในลักษณะเครือข่าป่าชุมชนภาคเหนือ ขณะเดียวกันในระดับอำเภอเชียงดาว ที่เกาะอิงกันด้วยฐานทรัพยากรดอยหลวงเชียงดาวร่วมกันแล้ว ก็มีเครือข่ายป่าชุมชนลุ่มน้ำแม่ปิงอำเภอเชียงดาว จำนวน 60 ป่า โดยในส่วนของบ้านหัวทุ่งเอง องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาวก็ได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการทำฝายแม้ว ซ่อมแซมทำเส้นทางการศึกษา และรวมทั้งโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน  ที่เข้ามาหนุนเสริมเครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ชุมชน จุดประกายให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมโดยผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การศึกษาเรียนรู้ต่างพื้นที่ ที่จุดประกายให้ชาวบ้านเกิดพลังความคิดมองเห็นความสำเร็จจากที่อื่นอยากกลับไปพัฒนาชุมชนตัวเองบ้าง

ประจักษ์ บุญเรือง ประธานป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง “การจัดการป่าชุมชนสำหรับเรา เราถือว่าประสบความสำเร็จ สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ ความร่วมมือของพี่น้อง คนคือส่วนสำคัญ หากคนสามัคคี มีผู้นำ ที่มีภาวะผู้นำเข้มแข็ง เกาะกันทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย พี่น้อง เราก็จะทำงานได้ประสบผล ในส่วนโรงเรียน เราก็เริ่มสร้างความร่วมมือโดยการประสานความร่วมมือจัดทำฐานเรียนรู้ทรัพยากรของชุมชนให้แก่เด็กๆ

ส่วนวัด ตุ๊เจ้า(เจ้าอาวาส) ท่านก็สนใจเรื่องสมุนไพร ก็จะมีการร่วมมือกันในด้านการสอน การให้ความรู้ขณะที่ อบต.ก็จะช่วยด้านงบประมาณในการจัดกระบวนการ โดยที่ในการประสานพลังความร่วมมือนั้นเราจะเน้นการทำงานที่จะมีการพูดคุยกันว่าเราควรจะทำอะไรบ้างในป่า เช่น ฝาย เส้นทางการศึกษา การพัฒนาป่าที่จะให้เป็นป่ายั่งยืน หรือเยาวชนเข้ามาเรียนรู้  พูดคุยสร้างการมีส่วนร่วมกันเสมอ

นอกจากนี้ เรายังมีการทำข้อมูลทำวิจัยชุมชน ที่ให้ชาวบ้านทำงานวิจัยสมุนไพร ที่พบว่า การทำวิจัย มีประโยชน์มากในการรักษาป่าชุมชน พบว่ามีสมุนไพร 1,000 กว่าชนิดในป่า รวมทั้งเรายังพบว่า ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่งนั้นเชื่อมโยงกับดอยหลวงเชียงดาว เราเป็นพื้นที่ป่ากันชน ป่ารอบดอยหลวง ข้อมูลต่างๆ ที่เราได้จากการทำวิจัย ชุมชนจะรู้ข้อมูลด้วยจากสื่อเสียงตามสาย และการประชุมกันแต่ละเดือน ที่ชาวบ้านจะรับทราบกันหมด 3 - 4 หมู่บ้าน

สิ่งที่เรายังทำกันต่อ คือ สร้างความร่วมมือ สร้างพลังของความร่วมไม้ร่วมมือต่อ ลำพังตัวผู้นำเพียง 4 - 5 คนจะทำไม่ได้เลยถ้าขาดความร่วมมือของชุมชน เราต้องมีการบูรณาการกัน อายุเราป่านนี้แล้ว แก่ทุกวันๆ แต่ประสบการณ์ ชีวิตที่เราอยู่กับป่า คือ แรงจูงใจที่เราอยากจะทำให้ได้ ป่าที่สมบูรณ์กลับมาเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายแล้วของป่าหัวทุ่ง เราจึงคิดที่จะดูแลรักษาป่าผืนนี้ให้สมบูรณ์ต่อไป ส่วนไหนขาดหายไปเราจะหามาเติมเต็ม”

วันนี้ ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด ไม้ยืนต้นสูงตระหง่าน พืชพันธุ์ป่าระดับต่างๆ ตั้งแต่พืชระดับล่างขึ้นเกลี่ยดินจนถึงพืชระดับบนที่โตสูงระฟ้า รวมทั้งพืชพันธุ์สมุนไพรอีกมากมายที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน

หากความสมบูรณ์ที่ก่อเกิดขึ้น คือ ความสมบูรณ์ที่เชื่อมโยงไปถึงความอุดมสมบูรณ์ของดอยหลวงเชียงดาวที่ใครหลายคนหมายปองจะไปถึงแล้วล่ะก็ ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่งคือหนึ่งในป่ากันชนชั้นดีที่มีความพร้อม ทั้งในรูปธรรมการจัดการ มีกิจกรรมในการดูแลรักษา มีแนวเขตป่าชัดเจน มีประเภทการใช้สอยและกฎกติกาดูแล รวมทั้งมีรูปธรรมของ “คน” ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นเมล็ดพันธุ์กันชนชั้นดีที่สุด คนที่มีสำนึกที่หวงที่แหนป่า คนที่ตระหนัก เข้าใจในคุณค่า คนที่เคยผ่านวิกฤติปัญหาป่าเสื่อมโทรมและไม่อยากจะให้เกิดขึ้นอีกกับลูกกับหลานของตนเอง

“อายุเราป่านนี้แล้ว เรารับไม้มาจากบรรพบุรุษของเรา แต่เราคงจะถือไว้ได้ไม่นานหรอก เราต้องสร้างเพาะเมล็ดพันธุ์เยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้พวกเขาตระหนักว่าเรามีชีวิตอยู่กับป่า ป่าคือมรดกที่ต้องช่วยกันดูแล”

.........กันชนที่ดีที่สุด คือ หัวใจของผู้คนที่อยู่อาศัยและดูแลป่านั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 320586เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2009 00:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท