ธรรมยาตรา


       ถึงเวลาที่ศิษย์ตถาคตจะออกธรรมยาตรา  ธรรมยาตรา คือการสร้างโอกาส ให้ผู้คนจำนวนหนึ่งได้ร่วมใช้ชีวิต ภายใต้กรอบข้อตกลงที่เนื่องอยู่ด้วยหลักธรรมทางศาสนา อัน “พิเศษ” ไปกว่าการ “ปฏิบัติธรรม” ส่วนตัวตามปกติ ซึ่งหลายคน “เลือก” ที่จะปฏิบัติในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

อาจกล่าวได้ว่า ธรรมยาตรา คือการสร้าง “ชุมชน” ของผู้มีความสนใจร่วมกันขึ้นมาในชั่วระยะเวลาหนึ่ง โดยเน้นการใช้หลักธรรม และความเป็นกัลยาณมิตร เป็นวิธีปฏิบัติและเค้าโครงของกิจกรรมอันประกอบด้วยการดำเนินชีวิต การเรียนรู้ การพักผ่อน และการภาวนา ตลอดจนการบริโภค หรือใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมกัน

          ด้วยการยอมรับ กฎ กติกา และมารยาท ตลอดจนข้อวัตรต่าง ๆ ร่วมกันนี้เอง ที่ช่วยให้การร่วมใช้ชีวิต ร่วมเรียนรู้ ร่วมฝึกตน ได้ผลิดอกออกผลด้านต่าง ๆ ขึ้น อย่างไม่ง่ายนักที่จะมีได้ในวิถีชีวิตปกติ

          บางคนจึงได้ “เพื่อน” หรือ “คนรู้ใจ” ด้วยระยะเวลาเพียง ๕ วัน ๑๐ วัน หรือ ๑ เดือน ของการร่วมธรรมยาตรา ทั้งที่เขา และ/หรือ...เธอ เคยร่วมงานในองค์กรเดียวกันมาแล้วหลายปี แต่ที่ผ่านมา มิได้มีอะไรมากไปกว่า ความเป็น “คนร่วมงาน” อย่างผิวเผินเท่านั้น

          หรือกระทั่ง “คนเคยเห็นหน้า” ที่กลับกลายเป็น “เพื่อนสนิท” เพียงเพราะการ “ล้างจาน” หรือ “ทำกับข้าว” ด้วยกัน ในสถานการณ์เช่นที่กล่าวมาแล้ว

          ทั้งที่โอกาสดังกล่าว อาจไม่มีอะไรมากไปกว่าการเดินทาง หรือการเดินเท้าทางไกล “ร่วมกัน” ทำกิจกรรมรวมหมู่ ร่วมแลกเปลี่ยน – เรียนรู้ หรือแสวงหาประสบการณ์ร่วมกันชั่วเศษเสี้ยวสั้น ๆ ของชีวิต ด้วยการใฝ่ใจ และใส่ใจในการประยุกต์ใช้หลักธรรมมาเป็นวิถีแห่งการปฏิบัติ และความใฝ่ใจในศาสนธรรมนั่นเองกระมัง ที่ทำให้ทุกอย่างกลายเป็น การปฏิบัติธรรมร่วมกัน ได้โดยง่าย

ภาพที่บรรพชิต ซึ่งส่วนใหญ่มิใช่คนท้องถิ่น  จำนวนหลายสิบหรือนับร้อย ๆ คน เดินเรียงแถวไปด้วยกิริยาสงบดั่งกับ กำลังภาวนา บ้างถือธง ถือป้ายผ้า  ดูราวเป็นขบวนบรรพชิตน้อยที่พลัดหลงผ่านเข้ามาในชุมชน  ยิ่งเมื่อถึงยามค่ำ แทนที่นักเดินทั้งคณะ ซึ่งมักพักค้างคืนกันตามวัดหรือโรงเรียน จะรีบพักผ่อนนอนหลับ ก็กลับเชิญชวนผู้คนในชุมชนใกล้ไกล มาร่วมประกอบพิธีกรรม ทั้งทำวัตรสวดมนต์ ฟังเทศน์ฟังธรรม และร่วมกันทำสมาธิภาวนา ภายใต้สิ่งที่ “นักเดิน” เหล่านั้นเรียกกันว่า “หลักศาสนธรรม

หลักพุทธธรรม หรือหลักศาสนธรรมในพุทธศาสนานั้น แม้ว่าจะไม่จำกัดด้วยกาล คือ มิได้เสื่อมไปด้วยเวลาที่ล่วงผ่าน ด้วยว่าเป็นสัจจะแห่งธรรมชาติที่ศาสดาค้นพบ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย (หากมีสติปัญญา และอุบายอันเป็นกุศลเป็นเครื่องช่วย) ก็ตาม แต่บ่อยครั้ง ที่มีเหตุให้สรุปความ ว่า “ธรรมะ” เป็นเรื่องยาก “การปฏิบัติธรรม” คือ ความลำบาก น่าอึดอัดขัดข้อง ก็ทำให้ “ศาสนิก” เข็ดขยาดและห่างเหินการพระศาสนาเชิงแก่นสาระออกไป เหลือไว้เพียงพิธีกรรมที่จำเป็นต้องมี หรือจำเป็นต้องข้องเกี่ยว ทั้งที่จะว่าไปแล้ว “วิถีแห่งพุทธธรรม” ก็คือ แนวการประพฤติปฏิบัติ อันช่วยให้คนเป็นอิสระจากอกุศล จากเหตุปัจจัยแห่งทุกข์ เพื่อมีกำลังและโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตน เพื่อประโยชน์ระดับบุคคลและส่วนรวม—นั่นเอง

     และสิ่งที่น่าชื่นใจยิ่ง  คือ ภาพที่บ่งบอกถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมิเสื่อมคลายของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย  ศรัทธามิเสื่อมคลายหากศิษย์ตถาคตมิเลิกละประพฤติธรรม  คลองตนด้วยศีลพรต  ยืนหยัดประกาศตนอุทิศใจกายเพื่อพระพุทธศาสนามิเสื่อมคลาย  สาธุ.... 

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมะ
หมายเลขบันทึก: 320565เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2009 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

มาชมภาพเณรน้อยให้พรคุณโยมยายผู้ใจศรัทธาน่ารักดี

เหมือนกันเลยครับพระอาจารย์ มก็ชอบภาพนี้มาก ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท