การศึกษาปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน (6)


การศึกษาปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานของนิสิต

การศึกษาปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน

 ของนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิน

 

ผู้วิจัย : สมภพ  ล่ำวัฒนพร

ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต  วิชาเอกคณิตศาสตร์

มีนาคม  2544

 

ความสำคัญของปัญหา

                วิชาคณิตศาสตร์ได้ถูกบรรจุเป็นวิชาบังคับเรียนไว้ในหลักสูตร  ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา  สำหรับทุกมหาวิทยาลัยได้จัดรายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานเป็นวิชาที่นิสิตนักศึกษาทุกคนที่เรียนสายวิทยาศาสตร์และบางสายของสังคมศาสตร์จะต้องเรียน  เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาค้นคว้าในระดับสูงต่อไป

                ปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานของนิสิตมีอยู่เป็นจำนวนมาก  เช่น  ปรับตัวไม่ทัน  ไม่คุ้นเคยกับการเรียนในมหาวิทยาลัยปีแรก  ไม่ทำโจทย์แบบฝึกหัด  ไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์  ไม่ชอบเรียนคำนวณ ทำกิจกรรมมากเกินไป  (นิภา  ศรีเลณวัติ. 2522 : 61-62)  ทั้งยังไม่มีแรงจูงใจในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์  เพราะค่าตอบแทนที่จะได้รับไม่ได้มากกว่าคนที่ไม่ได้เรียนวิชาคณิตศาสตร์  (สิริพร  ทิพย์คง. 2541: 27)

                วิธีการสอนในมหาวิทยาลัยให้เสรีภาพทางวิชาการแก่ผู้สอน  อาจารย์ผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกฝนเกี่ยวกับหลักการศึกษา  วิธีการสอนการวัดและการประเมินผลโดยตรง  แต่จะศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง แล้วมุ่งสอนเนื้อหาให้ชัดเจนเพียงอย่างเดียว  นิสิตนักศึกษาที่เรียนดีจะสอบผ่าน ส่วนผู้ที่เรียนไม่ดีจะสอบตก (สิริพร ทิพย์คง. 2541: 27

ความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า

                1. เพื่อศึกษาระดับปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานของนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิน

                2.  เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระดับปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน  ของนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิน  จำแนกตามตัวแปร  วิธีสอบคัดเลือก เพศ และคณะ

                3.  เพื่อศึกษาความต้องการของนิสิตและแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน

ความสำคัญของการศึกษาค้นคว้า

                1.  ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาและอุปสรรคของการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานของนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิน  ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานให้ดียิ่งขึ้น

                2.สามารถจัดการเรียนการสอนตอบสนองความต้องการของนิสิตส่วนใหญ่ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเรียนการสอน  ตลอดจนสร้างทัศนคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์

                3.  เป็นแนวทางในการวิจัยต่อไป

 

สมมติฐานการวิจัย

1.  ปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานของนิสิตอยู่ในระดับปานกลาง

2.  นิสิตสอบร่วมและนิสิตโควตามีปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานแตกต่างกัน

3.  นิสิตชายและนิสิตหญิงมีปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานแตกต่างกัน

4.  นิสิตคณะวิทยาศาสตร์  คณะศึกษาศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ปีปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานแตกต่างกัน

 

วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้า

 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

                1.  ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิน  ระดับปริญญาตรี  ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาคณ 111 คณิตศาสตร์ 1  และ คณ 112  คณิตศาสตร์ 2  ในภาคเรียนต้น  ปีการศึกษา  2543  จำนวน  408  คน

                2.  กลุ่มตัวอย่าง  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นิสิตมหาวิทยาลัยทักษิน ระดับปริญญาตรี ที่ลงทะเบียนเรียนวิชา  คณ 111  คณิตศาสตร์ 1 และ คณ  112  คณิตศาสตร์ 2  ในภาคเรียนต้น  ปีการศึกษา  2543  จำนวน  143  คน  ผู้วิจัยได้ดำเนินการสุ่มตัวอย่าง  ใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ  โดยจัดประชากรออกเป็นชั้นภูมิแล้วสุ่มตัวอย่างจากนิสิตในแต่ละชั้นภูมิตามสัดส่วน  ด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย

 เครื่องมือการวิจัย

                แบบสอบถาม

 วิธีสร้างเครื่องมือ

                1. ศึกษาปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานของนิสิต  มหาวิทยาลัยทักษิน  ในปัจจุบัน

                2.  ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างแบบสอบถาม

                3. ดำเนินการสร้างแบบสอบถามให้สอดคล้องกับความมุ่งหมายของการวิจัย

                4.  นำแบบสอบถามที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วเสนอประธานและกรรมการที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์  เพื่อตรวจสอบหาข้อบกพร่อง  ตลอดจนปรับปรุงแก้ไขการใช้สำนวนภาษา และพิจารณาถึงการครอบคลุมเนื้อหาของแบบสอบถาม      

5.  นำแบบสอบถามตามข้อ 4  เสนอผู้เชี่ยวชาญ  จำนวน  3  ท่าน เพื่อพิจารณาตรวจสอบความเที่ยงตรง  (validity)  และแก้ไขปรับปรุง

6.  ปรับปรุงแบบสอบถามตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ  แล้วนำเสนอประธานและกรรมการที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ตรวจสอบอีกครั้ง  แล้วดำเนินการจัดพิมพ์และนำไปทดลองใช้

 7.  หาความเชื่อมั่น  (reliability)  ของเครื่องมือโดยนำแบบสอบถามที่ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วไปทดลองใช้กับนิสิตที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างจำนวน  30  คน  นำผลที่ได้มาตรวจสอบคุณภาพ  โดยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่า  (alpha  coefficient)  ซึ่งเป็นค่าที่แสดงถึงความเชื่อมั่นของเครื่องมือ  โดยวิธีของครอนบาค  (Cronbach)  (บุญชม  ศรีสะอาด. 2535: 96) ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ  0.92

 8.  นำแบบสอบถามฉบับสมบูรณ์แล้วไปดำเนินการจัดพิมพ์ และนำไปเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

                ในการวิเคราะห์ข้อมูลครั้งนี้  ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์  (Statistical Package for Social Seiences/Personal Computer Plus : SPSS/PC) เพื่อหาค่าสถิติต่อไป

                1.  สถิติพื้นฐาน

                     1.1  ค่าคะแนนเฉลี่ย

                     1.2  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

                2.  สถิติที่ใช้หาคุณภาพของเครื่องมือ  หาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม  โดยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่า ตามวิธีของครอนบาค

                3.  สถิติที่ใช้ทดสอบสมมติฐาน

                     3.1  การทดสอบที

                     3.2  การทดสอบเอฟ  และเมื่อพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของค่าคะแนนเฉลี่ยของระดับปัญหาการเรียน  จะทดสอบตามวิธีของนิวแมน-คูลส์

 

สรุปผลการวิจัย

                1.  ระดับปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานของนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิน  โดยภาพรวมและแต่ละด้าน อยู่ในระดับปานกลาง

                2.  ระดับปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานของนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิน  จำแนกตามตัวแปร  วิธีสอบคัดเลือก  พบว่า  โดยภาพรวมและแต่ละด้าน  ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

                3.  ระดับปัญหาของการเรียนคณิตศาสตร์พื้นฐานของนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิน  จำแนกตามตัวแปร เพศ พบว่า โดยภาพรวมและแต่ละด้าน ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติยกเว้นปัญหาด้านการประเมินผลการเรียน  แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

                4.  ระดับปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานของนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิน  จำแนกตามตัวแปร คณะ  พบว่าโดยภาพรวม ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านการประเมินผลการเรียน และด้านปัจจัยสนับสนุนการเรียนการสอน  แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  ในขณะที่ระดับปัญหาด้านการเรียนของนิสิตและด้านอาจารย์ผู้สอน  ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 

 

หมายเลขบันทึก: 320081เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2009 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นงานวิจัยที่ดีมากๆเลยที่เดียวค่ะ

ขอบคุณมากนะค่ะ ถ้าไม่มีงานวิจัยชิ้นนี้คงไม่มีแนวทางทำตัวอย่างงานวิจัยส่งอาจารย์แน่นอนค่ะ เป็นวิชาที่ยากมากจริงๆ T T

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท