รักอย่างไรที่วัยรุ่นต้องการ(ตอนจบ)


ผลลัพท์ที่ได้

ผลลัพท์ที่ได้

สิ่งที่ได้รับในส่วนของการทำกิจกรรม YC กับ กลุ่มเด็กๆ   ในพื้นที่โรงเรียนนำร่อง ทั้งสองโรงเรียน คือ การได้สร้างพื้นที่แห่งการแบ่งปันของรักที่มีแต่ให้  ให้นักเรียนที่เข้ากลุ่มได้ฝึกปฏิบัติเป็นทักษะชีวิตในการจัดการปัญหาแบบเพื่อนช่วยเพื่อน  นอกจากนั้น ยังทำให้เราทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กแต่ละคนและทราบถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่ล้อมรอบตัวเด็กอีกด้วย   ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนความรู้สึกต่อเพศวิถีของเพื่อนที่เป็นเพศที่สาม  เช่น  ในรายของน้องที่มีทอมมาจีบ ซึ่งมีมุมมองที่เจ้าตัวเองสะท้อนความคิดและวิถีปฏิบัติของตนเองได้อย่างชัดเจน  คือ การไม่มีความรู้สึกอคติทางเพศ การที่ไม่รู้สึกเครียด  และสามารถบรรยายความรู้สึกที่ไม่ได้รังเกียจต่อเพื่อนคนนั้นว่า  “ตัวหนูไม่ได้รังเกียจอะไรเพราะว่าค่อนข้างจะเปิดกว้างเกี่ยวกับเพศที่สาม  แต่คนนี้จะเป็นทอมก็เหมือนไม่ใช่  จะว่าเป็นผู้หญิงก็ไม่เชิง  ที่หนูเห็นชัดๆ คือ  ตอนที่มีเพื่อนผู้ชายในกลุ่มเดียวกันกับทอมคนนี้แอบชอบทอมคนนี้อยู่  แล้วก็รู้สึกว่าทอมคนนี้ก็มีท่าทีสนใจผู้ชายคนนั้น  รวมทั้งหนูด้วย  ก็เลยไม่แน่ใจว่าเขาเป็นทอมจริงๆ หรือเปล่า  แต่โดยรวมแล้วทอมคนนี้ก็ถือเป็นคนดีทีเดียว  ตอนนี้ก็เลยคบกันเป็นเพื่อนไปก่อนเพราะคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในตอนนี้  แต่เรื่องราวจะเป็นอย่างไรก็ต้องคอยดูต่อไปค่ะ”  

การพยายามสะท้อนตัวตนของเด็กวัยรุ่นชาย ที่พยายามจะพิสูจน์ความเป็นผู้ชายโดยการพยายามจีบสาว แต่ก็พบว่า ความพยายามนั้นยังไม่เป็นผล จนถึงกับเขียนระบายตัดพ้อออกมาว่า “แฟนทิ้ง หาแฟนใหม่ไม่ได้........แล้วทำไมเวลาชอบคนโน้นคนนี้พวกเขาต้องมีแฟนแล้ว   ทำไมคนที่..รักต้องมีแฟนแล้วทุกคนเลย”  เช่นเดียวกับอีกคนหนึ่งที่มีอาการใกล้เคียงกัน คือ “เวลาชอบผู้หญิงก็มักจะมีแฟนแล้วทุกคน และเพิ่งเลิกกับแฟนไป”   และที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และต้องเติมเต็มทักษะชีวิตในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การรู้จักตนเอง การมองโลกในแง่ดี  การยอมรับในการตัดสินใจของคนอื่น  และการไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา  เป็นต้น อย่างในรายนี้ ที่บอกว่าตนเองเป็น  “คนไร้คู่ ผมเป็นคนที่เกิดมาเป็นคนไร้คู่ รักใครชอบใคร เขาก็ไม่รักไม่ชอบ ผมแอบรักผู้หญิงอยู่คนหนึ่งผมพยายามบอกเธอหลายรอบแต่เธอก็ไม่ยอมฟังและปฏิเสธผมเป็นแบบนี้มาหลายรอบแล้ว จนผมเบื่อไปเองกับคำว่าคู่และความรัก ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงให้เธอเข้าใจเหมือนกัน”

การพยายามสะท้อนตัวตนของเด็กวัยรุ่นหญิง ก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าเด็กวัยรุ่นชายเช่นกัน อย่างเช่น รายนี้ที่บอกว่า

“ฉันแอบรักเพื่อนของฉันอยู่  แอบรักมาตั้งแต่ ม.2  แต่ก็ไม่กล้าที่จะไปบอกเขา  และฉันจะไปตีสนิทความเป็นเพื่อนของเขาอย่างไร”  สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองความคิดและการแสดงออกของเด็กผู้หญิง ที่ถูกหล่อหลอมมาอย่างมีความแตกต่างกับเด็กผู้ชาย คือ มีความเหนียมอาย ไม่กล้าบอกความรู้สึกของตนเองต่อฝ่ายตรงข้าม เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้รับผลตอบรับกลับมาอย่างไร 

ต่างกับอีกรายหนึ่งที่กล้าบอกความรู้สึกแต่ก็ยังสับสนจนไม่สามารถสร้างความเข้าใจให้กับอีกฝ่ายได้ จึงต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนที่เป็นบัดดี้ ที่ต้องทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเพื่อนแบบ YC แล้วในตอนนี้ เพราะเพื่อนกำลังสับสน ไม่รู้จะจัดการกับความรู้สึกของตนเองได้อย่างไร  จนต้องเขียนระบายออกมาแบบนี้  “เรื่องของ....ตอนนี้สับสนเหลือเกิน พูดให้ตายยังไงเค้าก็ยังไม่เชื่อ เค้าหวังว่าเธอคงจะรู้นะว่าเป็นเรื่องอะไร ...อ่ะรักทั้ง 2 คนนะแล้วก็บอกไม่เชื่อว่าพี่เค้าเป็นแค่พี่ชายคนหนึ่งที่...รักมากและนับเป็นพี่ชายแท้ๆ อีกคนหนึ่งเลย ส่วนเค้าคนนั้น....รักมากพอๆ กับพี่เค้าแต่ฐานะยังไงก็แตกต่างกันอยู่ดี เมื่อไหร่นะที่เค้าจะเข้าใจซักที เมื่อไหร่จะเลิกมองตาขวางใส่ เมื่อไหร่เค้าจะเลิกคำและกริยาที่หยาบคาย เค้าจะรับรู้บ้างไหมว่าตอนนี้กลายเป็นคนที่เย็นชาไปหมดแล้ว ต่อให้เค้าฆ่า....เลยก็คงไม่รู้สึกเสียใจอีกแล้ว อีกอย่าง...ไม่เข้าใจเลยนะว่า เอ๊ะ คุยอะไรกับพี่เค้านักหนา ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เรา 2 คนต้องทะเลาะกัน  มีความรู้สึกรักน้อยลง มันก็เกิดจากตัวของ...เองเท่านั้นที่เป็นจุดเริ่มต้น มันไม่ได้เกี่ยวกับพี่เค้าเลยสักนิด ทำไมเหรอ  ระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งหมดมันไม่มีความหมายเลยใช่ไหม ถามหน่อยเคยเชื่อใจกันบ้างไหม ....BUDDY ของ...ช่วยหน่อยนะตอนนี้....เหมือนคนที่เป็นตัวอะไรสักอย่าง มันทำตัวไม่ถูกและรู้สึกลำบากใจ”  จากการติดตามผลหลังจากนั้น ทำให้ได้ทราบว่า การได้บ่น เขียนระบายความรู้สึก และเล่าให้เพื่อนสนิทฟังอย่างเป็นระบบ คือ เพื่อนตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง และสะท้อนกลับความคิดของเธอได้อย่างตรงจุด คือ เธอกำลังเกิดความไม่พอใจเพื่อนชายคนนั้น ที่เขาแสดงความไม่ไว้วางใจในตัวเธอ และหวาดระแวงความสัมพันธ์ของเธอกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง เธอกำลังเกิดความขัดแย้งในใจจึงทำให้เธอสับสน ใช่หรือไม่ การตั้งคำถามของเพื่อนช่วยทำให้น้องคนนี้มีกำลังใจในการจัดการความรู้สึกสับสน ทรมานจากความรักที่มีการสื่อสารทางลบต่อกันกับเพื่อนชาย  โดยพยายามเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยสมมติว่าลอง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ดูว่า ถ้าเธอเป็นเพื่อนชายคนนั้น เธอจะรู้สึกอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น  เธอเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาและเข้าใจถึงสิ่งที่เพื่อนชายคนนั้นแสดงออกต่อเธอ และพยายามสื่อสารทางบวกให้เขารู้ว่าเธอเข้าใจ  แม้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่อาจจะยังไม่ราบรื่นเลยทีเดียว แต่อย่างน้อยเธอก็รู้ว่าจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

                จะเห็นได้ว่า รักที่วัยรุ่นต้องการนั้น  ส่วนใหญ่ยังหมกมุ่น อยู่กับความรักใคร่ปรารถนาในรูปแบบที่มีความหลากหลาย และลื่นไหลไปตามเพศวิถีของแต่ละคน เพื่อแสวงหาตัวตนและคำตอบเกี่ยวกับความรัก แต่สิ่งที่สำคัญในการแสวงหาตัวตนของวัยรุ่นนั้นก็คือ เพื่อน ที่เป็นกัลยาณมิตร และพ่อแม่ ครูอาจารย์ ที่เข้าใจและคอยสนับสนุนให้กำลังใจ ให้วัยรุ่นมีความเชื่อมั่นในการเลือกเดินในทางที่ไม่เบียดเบียนทำร้ายตนเองและผู้อื่น  สามารถค้นหาศักยภาพในตนเองและพัฒนาศักยภาพเหล่านั้นอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตที่มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และที่สำคัญที่สุด ก็คือ การที่ทำให้วัยรุ่นได้รู้จักถึง มหัศจรรย์แห่งรัก ในมิติที่ไปไกลกว่า ความรักตัวกลัวตาย ความรักใคร่ปรารถนา รักเมตตาอารีที่ยังมีเงื่อนไข ไปสู่รักมีแต่ให้ ซึ่งเป็น รักแท้ แห่งความกรุณา เป็นรักเหนือรัก ที่ยั่งยืน เป็นสากล ซึ่งนำมาแต่ความสุขในการสร้างตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและสงบร่มเย็น ซึ่งการที่วัยรุ่นจะค้นพบรักแท้ดังกล่าวได้ ก็ต้องอาศัยการเรียนรู้จากผู้ใหญ่และใครต่อใครในสังคมที่จะช่วยการแสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรม ด้วยการแบ่งปันโอกาส แบ่งปันความรัก ความเข้าใจ แบ่งปันความสุขจากการให้อภัย และการไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่พวกพ้องนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 319940เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2009 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท