รักอย่างไรที่วัยรุ่นต้องการ(7)


กิจกรรม YC รูปแบบหนึ่งของ รักมีแต่ให้

กิจกรรม YC

กิจกรรม YC เป็นรูปแบบหนึ่งของ รักมีแต่ให้  ที่ก่อให้เกิดการแบ่งปัน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมที่ทางโครงการฯ ได้ใช้ทำงานร่วมกับเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยตระหนักถึงความสำคัญของเพื่อนในการให้คำปรึกษาแก่เพื่อน โดยมีพื้นฐานการวิจัยเรื่องอิทธิพลของกลุ่มเพื่อนที่มีต่อเด็กในวัยนี้ที่เริ่มย่างเข้าสู่การเป็นวัยรุ่น การต้องการแสดงออกถึงความเป็นตัวตนที่แตกต่างไปจากเดิมในสมัยที่ยังเป็นเด็กประถม การเป็นผู้นำกลุ่ม การต้องการการยอมรับจากเพื่อน และการมีพื้นที่ดีในการแสดงออกของกลุ่มเพื่อนทั้งในโรงเรียนและพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ผู้ใหญ่เข้าใจในสิ่งที่เขาคิดและแสดงออกมา

                หลักการสำคัญของกิจกรรม YC คือ การฝึกทักษะในการรับฟังอย่างลึกซึ้ง ( Deep listening skills) ให้กับนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อให้เกิดทักษะในการสร้างความไว้วางใจ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับเพื่อน จนเพื่อนรู้สึกอุ่นใจว่าเราจะไม่ขัดคอหรือเอาเรื่องที่พูดคุยกันไปเปิดเผยให้คนอื่นรู้ โดยที่ตัวเจ้าของเรื่องไม่อนุญาต ซึ่งในจุดนี้เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมความมั่นใจให้กับวัยรุ่นที่กำลังประสบปัญหาว้าวุ่นใจ สับสน และยังหาทางออกของปัญหาไม่ได้ อย่างน้อยก็ยังมีใครสักคนที่ตนเองรู้สึกไว้วางใจ คอยเป็นเพื่อนรับฟัง รับรู้ในสิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขารู้สึก และสามารถสะท้อนให้เขาเห็นความคิด ความรู้สึกของตนเอง ด้วยทักษะการสนองตอบและการสะท้อนกลับ (Responding and Reflective skills) เพื่อช่วยให้มองเห็นปัญหา และสาเหตุของปัญหาได้ชัดเจนขึ้น และมีกำลังใจในการที่จะเสาะแสวงหาแนวทางในการจัดการกับความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก่อนลงมือแก้ปัญหาในแนวทางที่ตนเองเลือกโดยผ่านการพิจารณาหาเหตุผลอย่างรอบด้าน  ซึ่งในส่วนนี้เพื่อนก็มีส่วนสำคัญในการใช้ทักษะการตั้งคำถาม (Asking Skills) ซึ่งเน้นให้ใช้คำถามปลายเปิด เช่น  “เธอคิดอย่างไร? ต่อเรื่องนี้”  “เรื่องมันเป็นยังไง ?พอจะเล่าให้เล่าฟังหน่อยได้ไหม”  “เธอรู้สึกต่อท่าทีที่เขาแสดงออกมาอย่างไร?”  เป็นต้น ซึ่งทักษะในการตั้งคำถามนี้มีข้อควรระวังที่สำคัญ สำหรับการให้คำปรึกษาเพื่อนคือ อย่าถามด้วยความอยากรู้อยากเห็น  แต่จงถามเพื่อช่วยให้เพื่อนได้มีโอกาสบอกเล่า และได้ตรวจสอบความคิดของตนเองที่มีต่อเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วเกิดความสับสน หรือเล่าไปมาวกวน จนคนฟังก็สับสนไม่ชัดเจนในสิ่งที่ตนเองได้ยินว่าเป็นอย่างไร การตั้งคำถามจะช่วยให้เกิดความกระจ่างขึ้น

               

                กิจกรรม YC ที่จะให้ได้ผล ควรจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงในการฝึกปฏิบัติให้ครบกระบวนการ เริ่มต้นตั้งแต่ให้นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคนได้ลองทบทวนปัญหาหรือสิ่งที่รบกวนความรู้สึก ทำให้เกิดความอึดอัด สับสน วกวน หาทางออกไม่ได้ มาสัก 1 เรื่อง จากนั้นให้เขียนบรรยายเกี่ยวกับเรื่องนั้นลงในกระดาษเอ 4 โดยใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที เมื่อทุกคนพร้อมแล้วให้จับคู่กับคนที่ตนเองรู้สึกสบายใจที่จะคุยด้วยเพื่อเล่าระบายความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องที่ได้เขียนไว้ให้เพื่อนรับฟัง

โดยมีกติกาว่า ในขณะที่รับฟังนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเพื่อนควรฟังอย่างตั้งใจ ไม่ผลัก ไม่ดัน ไม่ดึง ไม่ตั้งคำถาม ให้เพื่อนออกจากประเด็นที่กำลังเล่านั้นจนเพื่อนเล่าจบ จากนั้นจึงค่อยสะท้อนให้เพื่อนฟังว่าเราได้ยินอะไรบ้างจากสิ่งที่เพื่อนเล่ามาทั้งหมด  ตรงนี้หากมีประเด็นไหนฟังแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจ สามารถตั้งคำถามปลายเปิดถามเพื่อนเพื่อให้เพื่อนได้ทบทวนความรู้สึกต่อสิ่งที่เล่ามาแล้วหรือเพิ่มเติมข้อมูลให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นได้ และสามารถใช้การตั้งคำถามเพื่อถามถึงทางออกของปัญหาที่เพื่อนคิดไว้แล้วว่าเป็นอย่างไร ได้พิจารณาถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาอย่างไรแล้วบ้าง  หากเป็นปัญหาที่หนักมากๆ  และเพื่อนต้องการความช่วยเหลือโดยด่วน อาจจะบอกเพื่อนว่ายังมีคนอื่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถให้คำปรึกษาแนะนำเพิ่มเติมกับเพื่อนได้อีกนะ แต่ก่อนอื่นต้องสอบถามความสมัครใจของผู้รับคำปรึกษาก่อนว่าจะสามารถเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้คนอื่นรับรู้เพื่อให้การช่วยเหลือหรือไม่  ซึ่งผู้ช่วยเหลือเบื้องต้นในเรื่องนี้คือ ผู้นำกิจกรรมนั่นเอง ที่ต้องเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือเมื่อได้รับการร้องขอ และทำหน้าที่ประสานงานส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายที่ต้องการได้รับบริการในส่วนนี้ และทำงานร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาที่เด็กให้ความไว้วางใจ โดยคำนึงถึงการรักษาความลับของข้อมูลเด็กเป็นสำคัญ

ท่านได้รู้จักกับกิจกรรม YC ไปแล้วนะคะ อย่าลืมติดตามอ่านฉบับหน้าซึ่งเป็นตอนจบของรักอย่างไรที่วัยรุ่นต้องการนะคะ ว่าผลลัพท์ที่ได้ของกิจกรรมนี้จะออกมาเป็นอย่างไร

หมายเลขบันทึก: 319937เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2009 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท