รักอย่างไรที่วัยรุ่นต้องการ(3)


รักเกิดขึ้นได้อย่างไร

รักเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ในหนังสือมหัศจรรย์แห่งรักของอาจารย์ ว.วัชรเมธี ยังได้กล่าวถึงว่า รักทั้ง ๔ ประเภทที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร?  ไว้อย่างน่าสนใจมาก ดังนี้

๑.ความรักตัวกลัวตาย ความรักชนิดนี้เกิดขึ้นจากสัญชาติญาณในการเอาตัวรอด เนื่องจากสิ่งมีชีวิตทุกประเภท จะต้องมีความเห็นแก่ตัวอยู่เป็นพื้นฐานดั้งเดิม และความเห็นแก่ตัวนี่เอง ที่เราอาจเรียกได้ว่าเป็น “ความรักตัวเอง”

และเมื่อรักตัวเองแล้ว เราจึงพยายามอย่างถึงที่สุด ที่จะปกป้องตัวเองให้รอดพ้นจากภัยอันตรายในทุกๆ รูปแบบ ความรักตัวเองนี้ ทำให้เราเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองให้รอดพ้นจากทุกสถานการณ์ จากภัยอันตรายทุกชนิดที่อยู่รายล้อมตัวเรา หรือที่จะสามารถทำอันตรายต่อชีวิตและต่อความมั่นคงของเราได้

ข้อดีของความรักชนิดนี้ก็คือ ทำให้เราเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์ของชีวิต แต่ข้อเสียก็คือ เพื่อที่จะเอาตัวรอดในบางครั้งอาจทำให้เราต้องทำร้าย ทำลาย เข่นฆ่า ลงมือประหัตประหาร หรือแม้กระทั่งก่อสงครามต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อสัตว์อื่น เพียงเพื่อให้ตนเองได้อยู่รอดปลอดภัย...

ความรักชนิดนี้ แม้ว่าจะถูกลำดับให้เป็นความรักในขั้นพื้นฐาน แต่ก็นับเป็นความรักที่เคลือบแฝงไปด้วยอันตรายอย่างยิ่งเลยทีเดียว

บุคคลใดก็ตามที่มีความรักตัวกลัวตายมากๆ เขาผู้นั้นจึงมีโอกาสสูงยิ่งที่จะเป็นคนเห็นแก่ตัว และก็มีโอกาสสูงมากอีกเช่นกัน ที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดของตนเอง โดยพร้อมเสมอที่จะทำให้ใครต่อใครต้องเดือดร้อน ต้องบาดเจ็บล้มตายลงไปเท่าไหร่ก็ได้ เพียงเพื่อขอให้ตนเองได้อยู่รอดปลอดภัย

๒.ความรักใคร่ปรารถนา ความรักชนิดนี้วางอยู่บนสัญชาตญาณของการดำรงเผ่าพันธุ์ ซึ่งสัญชาตญาณของการดำรงเผ่าพันธุ์นั้น ไม่ได้ฝังลึกลงในระดับของดีเอ็นเอ (DNA) หรือ ในยีน (Gene)  ของทุกสรรพชีวิตเพียงเท่านั้น แต่กลายเป็นสัญชาตญาณในการดำรงเผ่าพันธุ์นี้ ได้ถูกฝังรากอย่างลึกซึ้งถึงที่สุดในระดับจิตใต้สำนึกทั้งในมนุษย์และสัตว์เลยทีเดียว ซึ่งศัพท์เทคนิคในทางพระพุทธศาสนา เรียกสิ่งที่ฝังรากลึกนี้ว่า ตัณหา (Craving)

ตัณหาที่ต้องการจะดำรงเผ่าพันธุ์ ตัณหาที่ต้องการจะมีตัวตนอย่างมีความหมาย เราเรียกตัณหาในประเภทนี้ว่า ภวตัณหา คือ ตัณหาที่ต้องการจะมีตัวตน ตัณหาที่ต้องการจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสำคัญ ตัณหาที่ต้องการจะมีชีวิตที่เป็นอมตะ ตัณหาชนิดนี้ฝังตัวอย่างแนบเนียน ละเอียดลึกซึ้งอยู่ภายใต้จิตสำนึกของเราทุกคน ความลึกของมันสะท้อนออกมาถึงขั้นที่ว่า สามารถติดตามข้ามภพข้ามชาติได้ และมนุษย์โดยมากก็มักตกเป็นทาสของภวตัณหา เช่นนี้ และนั่นจึงเป็นเหตุให้เกิดมีมัมมี่เกิดขึ้น มัมมี่ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นมัมมี่ที่ขุดพบ ณ มุมใดตำแหน่งใดในโลก ไม่ว่าจะเป็นที่จีน ที่อียิปต์ หรือยุโรป ล้วนวางรากฐานอยู่บนความรักชนิดรักใคร่ปรารถนาด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น นั่นคือ ความรักที่จะมีตัวตนตราบนิรันดร์ และความรักชนิดนี้นี่เอง ที่จะเป็นอุปสรรคขวากหนามสำคัญต่อการพัฒนาความรักให้เจริญงอกงาม ไปจนถึงความรักลำดับที่ ๔ นั่นก็คือ   รักมีแต่ให้  เนื่องจากความรักใคร่ ความปรารถนาที่มาพร้อมกับตัณหาและภวตัณหานี้ จะเป็นเสมือนบ่วงบาศขนาดมหึมาที่ทรงพลังมหาศาล ในการฉุดรั้งทำให้เราไม่สามารถหลุดพ้นจากวัฏจักรของการเวียนว่ายตายเกิดไปได้นั่นเอง

แต่ในเสียย่อมมีดี หากจะยกเครดิตให้แล้ว ความรักใคร่ปรารถนานี้ ก็จัดว่ามีคุณอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เพราะด้วยความรักชนิดนี้นี่เอง ที่ทำให้เผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติ ยังคงดำรงอยู่ได้ และทำให้บุคคลสำคัญในระดับมหาบุรุษของโลกได้โอกาสมาอุบัติเพื่อสร้างคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงจนกลายเป็นตำนานระดับโลกได้

ฉะนั้น ถึงแม้ความรักใคร่ปรารถนาจะเป็นความรักที่มีโทษ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความรักที่ทรงคุณด้วยเช่นกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ความรักใคร่ปรารถนานั้นเป็นความรักที่มีคุณลึกซึ้ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีโทษอย่างร้ายแรงที่สุด และความรักชนิดนี้นี่เอง เป็นความรักที่ทำให้มวลมนุษย์หมกมุ่น ครุ่นคิด วุ่นวาย มีสุขมีทุกข์ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอันยาวไกลนี้ อย่างไม่รู้จบรู้สิ้น

 

๓.รักเมตตาอารี ความรักชนิดนี้เป็นความรักที่อิงอารมณ์ และความรู้สึกเป็นพื้นฐาน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงเป็นอารมณ์หรือความรู้สึกที่เป็นไปในเชิงบวกมากกว่าในเชิงลบ

ความรักตัวกลัวตาย และรักใคร่ปรารถนานั้นอิงอารมณ์ในเชิงลบมากกว่าในเชิงบวก นั่นคือ อารมณ์ปรารถนา อารมณ์อยากได้ใคร่มี อารมณ์อยากครอบครอง อารมณ์จริงใจ คลั่งไคล้ ใหลหลง

แต่รักเมตตาอารีนั้น เป็นความรักเชิงบวกที่อิงอารมณ์เชิงบวก กล่าวคือ มีความรู้สึกฝ่ายดีเป็นตัวขับเคลื่อน ถ้าเราเมตตาอารีต่อใคร เรามักรู้สึกอยากจะเป็นผู้ให้กับเขาคนนั้น เช่น พ่อแม่ให้ความรัก ให้ความหวังดี ให้การดูแล ให้ความเอาใจใส่ ให้การเลี้ยงดู ให้การทุ่มเทต่อลูก ครูบาอาจารย์ให้ความรู้ต่อศิษย์ พระมหากษัตริย์ให้ความรัก ให้การดูแล ให้การปกครองต่อประชาชนพลเมือง รัฐบุรุษ นักการเมือง ผู้นำประเทศ ก็ให้ความสนใจ รับใช้ ดูแล เป็นห่วงเป็นใยต่อราษฎรของตนเอง กระทั่งว่า มนุษยชาติให้ความเป็นเพื่อน ให้มิตรภาพ และให้น้ำใจไมตรีต่อมนุษยชาติด้วยกันทั่วทั้งโลกรวมไปถึงบรรดาสรรพสัตว์

แต่ในดีย่อมมีเสีย จะเห็นได้อย่างชัดแจนว่า รักเมตตาอารีนั้นเป็นความรักเชิงบวก แต่ก็ยังเป็นเชิงบวกที่ไม่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากยังมีขีดจำกัดบางประการอยู่ นั่นก็คือ เราจะรักได้มากเมตตาได้มาก ก็เฉพาะคนที่มีรากร่วมทางวัฒนธรรมเดียวกับเรา ในแง่ใดแง่หนึ่งเท่านั้น เช่น เป็นคนชาติเดียวกัน ศาสนาเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน สีผิวเดียวกัน ถือสัญชาติเหมือนกัน หรือแม้กระทั่งว่าเป็นมนุษยชาติเหมือนกัน  คราวนี้หากใครคนใดก็ตามที่ไม่มีรากร่วมทางวัฒนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกันกับเรา ความรักชนิดนี้ก็จะมีข้อจำกัดหรือถูกปิดตายทันที...

 

๔.รักมีแต่ให้ ความรักชนิดนี้ เป็นความรักที่วางรากฐานอยู่บนปัญญาที่แท้  ปัญญาที่แท้นั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้เราก้าวข้ามความไม่รู้ (อวิชชา) ซึ่งเป็นเสมือนผนังทองแดง กำแพงเหล็ก ที่กีดกั้นมนุษย์ออกจากกันและกัน และทำให้หัวใจเราสูญสิ้นอิสรภาพ เราจึงกลายเป็นคนใจเล็ก ใจแคบ และก็ใจมืด

ใจเล็ก     ก็คือ     เห็นแก่ตัว

ใจแคบ   ก็คือ     รักได้เฉพาะบางคน

ใจมืด     ก็คือ      บางครั้งเรายังหันมาเข่นฆ่าทำร้ายและทำลายเพื่อนมนุษย์ ซึ่งแท้ที่จริง ก็คือ ผู้ที่เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันกับเรานั่นเอง

ต่อเมื่อเรามี รักแท้ คือ กรุณา เกิดขึ้นมาแล้ว เราจะก้าวข้ามความใจเล็ก คือ ไม่เห็นแก่ตัว ก้าวข้ามความใจแคบ คือ รักคนได้ทั้งโลก และก้าวข้ามความใจมืด คือเรา จะมีปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต ว่าแท้ที่จริงแล้ว สรรพชีพสรรพสัตว์ทั่วทั้งโลก ไม่มีใครเลย ที่คู่ควรแก่ความโกรธเกลียดชิงชังของเรา เขาเหล่านั้นทั้งหมดทั้งมวลก็คือพี่น้องท้องเดียวกันกับเรา

รักแท้ คือกรุณา เมื่อผลิบานขึ้นมาแล้ว จะทำให้ผู้มีความรักนี้ เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข และก็พร้อมเสมอที่จะแบ่งปันความสุขและความรักนั้นให้แก่สรรพชีพสรรพสัตว์ ทั่วทั้งโลกทั้งสกลจักรวาล

 

อย่าลืมติดตามตอนต่อไปนะคะว่า  ทำไมทุกคนต้องการความรัก?

หมายเลขบันทึก: 319924เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2009 08:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท