รักอย่างไรที่วัยรุ่นต้องการ(2)


รักอย่างไรที่วัยรุ่นต้องการ

รักคือเรื่องของอารมณ์ จิตใจ หรือเหตุผล ? 

จากหนังสือมหัศจรรย์แห่งรัก ท่านอาจารย์ว.วชิรเมธี ได้กล่าวไว้ว่า...

ความรักมีทั้งสัดส่วนที่เรียกกันว่า อารมณ์ ในขณะเดียวกันก็มีทั้งสัดส่วนที่เรียกกันว่า ปัญญา หรือ เหตุผล เช่น ในหลักธรรมชุดหนึ่งที่มีชื่อว่า พรหมวิหารธรรม ๔  คือ เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา....

ฉะนั้น ความรักจึงมีฐานที่เกิดทั้งจากกิเลส ซึ่งส่งผลเป็นความรักในระดับอารมณ์ และทั้งจากฐานคือ ปัญญา ซึ่งส่งผลเป็นความรักแท้ในระดับเหตุผล ที่เราเรียกกันว่า “กรุณา”

รักแบ่งออกเป็นประเภทได้หรือไม่?

ความรักมีหลากหลายประเภทแล้วแต่ว่าใครจะเป็นผู้แบ่ง ใครจะเป็นผู้ขีดเส้น หรือใครจะเป็นผู้ให้คำนิยาม แต่ท่านอาจารย์ ว.วัชรเมธี มองว่าความรักแบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภท กล่าวคือ

๑.รักตัวกลัวตาย คือ ความรักที่อิงสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดซึ่งมนุษย์และสัตว์ต่างก็มีเหมือนกันทั้งหมดทั้งสิ้น ความจริงนั้นถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องแล้ว แม้แต่ต้นไม้ใบหญ้าหรือพืชพรรณทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่มีความรักชนิดนี้เป็นพื้นฐานเจือปนอยู่ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

๒.รักใคร่ปรารถนา เป็นความรักที่อิงสัญชาตญาณการดำรงเผ่าพันธุ์ ซึ่งมีอยู่ในคน ในสัตว์ และในพืช รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้

ความต้องการที่จะดำรงเผ่าพันธุ์นี้ เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อนมาก และความต้องการชนิดนี้ ก็ฝังอยู่ในจิตส่วนที่ลึกซึ้งที่สุดของทุกสิ่งมีชีวิต ทั้งที่เป็นคน เป็นสัตว์ และพืชพรรณทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ ความรักใคร่ปรารถนา จึงเป็นความรักที่มีแรงขับที่ลึกซึ้ง เข้มข้น และก็มีพลังอย่างมหาศาล ความรักที่เราพูดถึงกันทุกวันนี้ โดยมากก็มักจะมาติดตันกันอยู่ที่ความรักใคร่ปรารถนานี่เอง

๓.รักเมตตาอารี  คือ ความรักที่อิงเงื่อนไขในทางวัฒนธรรม ความเป็นสายเลือดเดียวกัน เป็นสัญชาติเดียวกัน เป็นศาสนาเดียวกัน เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน พูดจาภาษาเดียวกัน หรือ แม้กระทั่งว่า สังกัดอยู่ในกลุ่มหรือในสปิชี่ (Species) เดียวกัน......รักเมตตาอารี จึงเป็นความรักที่ยังมีข้อจำกัด กล่าวคือ จะต้องอาศัยบางสิ่งบางอย่างมาเป็นตัวเชื่อมโยงให้เกิดความรู้สึกนึกรัก ถ้าปราศจากบางสิ่งบางอย่างนั้นมาเป็นตัวเชื่อมโยง หรือ เป็นสะพานแห่งความรักแล้ว เราก็จะรู้สึกเฉยเมย รู้สึกเย็นชา รู้สึกธรรมดากับสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา ฉะนั้น ความรักในระดับเมตตาอารี จึงยังเป็นความรักที่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้มนุษยชาติดำรงอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข

๔.รักมีแต่ให้  เป็นความรักขั้นสูง ซึ่งวางรากฐานอยู่บนคุณธรรม ที่ชื่อกรุณา และปัญญาที่แท้ ซึ่งความรักชนิดนี้จะเกิดขึ้นได้หลังจากที่ใครคนใดคนหนึ่งเกิดการรู้แจ้งทางจิตวิญญาณหรือทางปัญญาอย่างลึกซึ้ง อย่างที่ทางพุทธศาสนาเรียกกันว่า ตื่นรู้ เมื่อใครคนใดคนหนึ่งเกิดการรู้แจ้งทางจิต หรือทางปัญญาขึ้นมาแล้ว จิตใจของบุคคลผู้นั้นก็จะหลุดพ้นจากมายาคติ ซึ่งสิ่งนี้เปรียบเสมือนดั่งคุกที่กักขังจองจำเขาเหล่านั้นให้ตีบตันอยู่ใน ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือ ในอคติ ๔ เช่น

            ๑.ความลำเอียงเพราะรัก (ฉันทาคติ)

            ๒.ความลำเอียงเพราะชัง (โทสาคติ)

            ๓.ความลำเอียงเพราะเขลา (โมหาคติ)

            ๔.ความลำเอียงเพราะกลัว (ภยาคติ)

    .....รักแท้ คือ กรุณา เมื่อเกิดขึ้นเพราะล่วงรู้ความจริงอย่างถึงที่สุดแล้ว จะสามารถนำพาเราให้ก้าวข้ามมายาคติ ก้าวข้ามอคติ และก้าวข้ามความตระหนี่ถี่เหนียวหวงแหนทุกรูปแบบ(ตามลำดับขั้นของการฝึก-ผู้เขียน) ทำให้ผู้ที่บรรลุถึงความรักชนิดนี้ ได้ค้นพบอิสรภาพภายในจิตใจของตนเองอย่างแท้จริง จนสามารถยกระดับความรักให้สูงขึ้น กลายเป็นความรักที่ไร้ขอบเขต และสามารถมอบความรักนั้นให้กับผู้คนได้ทั้งโลกอย่างไร้ซึ่งขีดจำกัด เหมือนกับแสงเดือนแสงตะวัน สาดโลมผืนโลก โดยไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชัง และไม่เคยทวงถามถึงการตอบแทนอันใด

ซึ่งรักแท้ คือ กรุณา นี้เป็น “รักเหนือรัก” คือ รักบริสุทธิ์ เป็นรักของผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน และเป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ซึ่งประกอบด้วย พระมหากรุณาธิคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระปัญญาธิคุณ (ทันตแพย์หญิงสีใบตอง บุญประดับ, 2550 : 148)[1]

 

อย่าลืมติดตามตอนต่อไปนะคะว่า รักเกิดขึ้นได้อย่างไร?

 


[1] จากหนังสือชื่อ “การพัฒนางาน ด้วยระบบ RE-ENGINEERING, AIC,QC, ฯลฯ และ ประยุกต์มรรคมีองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้า คุณธรรม “รักเหนือรัก” หรือคุณธรรม สาราณียธรรม ๖ เพื่อพุทธพจน์ ๗ และระบบบุญนิยม ในระดับศีล ๕ ของศาสนาพุทธ เพื่อการบริหารงานให้ประสบผลสำเร็จ  โดย ทันตแพทย์หญิงสีใบตอง บุญประดับ ผู้อำนวยการบ้านเกื้อรัก, แววรุ้ง สุบงกฎ บรรณาธิการ ,พิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมบรรณาการโดย นิตยา ลักษณวิสิษฐ์ (น้ำพริกนิตยา บางลำพู) ประธานบ้านเกื้อรัก สาขา ๙ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

หมายเลขบันทึก: 319922เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2009 08:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท