CIPP Model


การประเมินโครงการ

CIPP Model

 ในการจัดการศึกษา สิ่งหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือการประเมิน (Evaluation) โดยเฉพาะการประเมินที่เป็นระบบ เพื่อให้ทราบถึงผลการปฏิบัติว่าในสิ่งที่ดำเนินการว่าได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้หรือไม่  อย่างไร  การประเมินจึงมีลักษณะเป็นกระบวนการที่ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลและตัดสินคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ โดยเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนที่เป็นวิทยาศาสตร์   ซึ่งในการประเมินได้มีนักวิชาการและนักการศึกษาได้เสนอแนะเป็นเอกสารและข้อเขียนอื่นๆ และยังได้กำหนดรูปแบบไว้มากพอสมควร ซึ่งในการประเมินนั้น ผู้ประเมินจะต้องยึดหลักการประเมินให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป็นที่ตั้ง

รูปแบบการประเมินของ Stufflebeam ซึ่งเป็นรูปแบบการประเมินที่เน้นการตัดสินใจ  (Decision makeing) เป็นรูปแบบที่มุ่งให้ได้มาซึ่งข้อมูลและข่าวสารต่าง ๆ  เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกทางเลือกต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง  เป็นรูปแบบการประเมินที่เป็นที่นิยมในการประเมินเรื่องต่างๆแม้กระทั้งในวงการศึกษาไทย ได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะสามารถใช้ครบทั้งระบบ                CIPP Model เป็นรูปแบบการประเมินที่แดเนียล  แอล  สตัฟเฟิลบีม (Daneil L. Stufflebeam) กำหนดขึ้น โดยเน้นการประเมินที่เป็นกระบวนการอย่างต่อเนื่องทั้งระบบ โดยมีจุดเน้นสำคัญเพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจบริหารโครงการอย่างต่อเนื่อง และได้ข้อสรุปที่จะนำไปใช้ในการวิเคราะห์กิจกรรมหรือโครงการที่ได้ดำเนินการไปว่าบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไร    คำว่า CIPP  model  คืออะไร  Daneil L. Stufflebeam ได้ใช้ตัวย่อของคำต่อไปนี้

 Context  หมายถึง บริบท หรือสภาวะแวดล้อม รอบๆที่อาจต้องมองให้ครอบคลุม

 Input  หมายถึง ปัจจัยเบื้องต้น เป็นตัวป้อนในการดำเนินการในเรื่องต่างๆ

 Process หมายถึง กระบวนการ ขั้นตอนของการดำเนินการ

 Product หมายถึง ผลผลิต หรือผลที่เกิด

                Daneil L. Stufflebeam ให้ความหมายการประเมินไว้ว่า เป็นกระบวนการของการบรรยาย   การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร   เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสม 

                1. การประเมินสภาวะแวดล้อม  เป็นการประเมินให้ได้ข้อมูลสำคัญเพื่อช่วยในการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ  ความเป็นไปได้ของโครงการ  เป็นการตรวจสอบว่าโครงการที่จะทำสนองปัญหาหรือความต้องการจำเป็นที่แท้จริงหรือไม่  วัตถุประสงค์ของโครงการชัดเจน  เหมาะสม  สอดคล้องกับนโยบายขององค์การหรือนโยบายหน่วยเหนือหรือไม่ 

                2.   การประเมินปัจจัยเบื้องต้น   เป็นการประเมินเพื่อใช้ข้อมูลตัดสินใจต่อปัจจัยต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับโครงการว่า  เหมาะสมหรือไม่   โดยดูว่าปัจจัยที่ใช้ทั้งบุคลากร  งบประมาณ  วัสดุอุปกรณ์  การบริหารจัดการ  จะมีส่วนช่วยให้บรรลุจุดมุ่งหมายของโครงการหรือไม่  ปัจจัยที่กำหนดมีความเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ 

                3.   การประเมินกระบวนการ   เป็นการประเมินระหว่างการดำเนินงานโครงการ  เพื่อหาข้อดี  ข้อบกพร่องของการดำเนินงานตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ว่า  การปฏิบัติงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่ 

                4.   การประเมินผลผลิต   เป็นการประเมินเพื่อดูว่าผลที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือตามที่คาดหวังไว้หรือไม่   โดยอาศัยข้อมูลจากการประเมินสภาวะแวดล้อม  ปัจจัยเบื้องต้นและกระบวนการร่วมด้วย  เพื่อตรวจสอบว่าเกิดผลตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่  คุณภาพของผลลัพธ์เป็นอย่างไร  เกิดผลกระทบหรือผลข้างเคียงอื่นใดหรือไม่ 

                การประเมินทั้งระบบแบบ CIPP เป็นการประเมินที่ครอบคลุมองค์ประกอบทั้งหมด  ซึ่งผู้ประเมินจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมินที่ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน   กำหนดประเด็นของตัวแปรหรือตัวชี้วัด   กำหนดแหล่งข้อมูลผู้ให้ข้อมูล  กำหนดเครื่องมือการประเมิน  วิธีการที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  กำหนดแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูล  และเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน

                หากผู้ประเมินวางแผนและดำเนินการประเมินอย่างเป็นระบบและเหมาะสมก็จะทำให้การประเมินตามแผนและโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการประเมินในด้านการศึกษาที่มีกิจกรรม โครงการ แผนงาน ที่ปฏิบัติมาก แต่ขาดการประเมินอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การนำCIPP Model ไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง จะทำให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

หมายเลขบันทึก: 319712เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2009 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท