ความสะอาดและความไม่สะอาดทางกาย วาจา ใจ - จากพระพุทธวจนะ


 

สาระที่ได้จากการศึกษาจุนทสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 24  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

สรุปความโดย ผู้เขียน
ตรวจทานและปรับแก้ โดย คุณสุวิทย์ ศรีภักดีวงศ์

อกุศลกรรมบถ  10 ประการ มีดังนี้

ความไม่สะอาดทางกาย มี 3 ประการ คือ

  1. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า ตั้งอยู่ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิต
  2. เป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย
  3. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ถึงความประพฤติล่วงในสตรีที่มีผู้ดูแลรักษา (ผู้ดูแลรักษานี้ ได้แก่ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว หรือญาติ) สตรีที่ประพฤติธรรม สตรีที่มีสามี รวมถึงสตรีที่มีคู่รัก

ความไม่สะอาดทางวาจา มี 4 ประการ คือ

  1. เป็นผู้พูดเท็จ ตั้งใจกล่าวเท็จทั้งที่รู้ว่าเป็นเท็จ ไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ของตน ประโยชน์ของผู้อื่น
  2. เป็นผู้พูดส่อเสียด กล่าวแต่คำที่ทำให้แยกกัน  คือ ยุยงคนทั้งหลายผู้สามัคคีกันให้แตกกัน  หรือส่งเสริมคนทั้งหลายผู้แตกกันแล้ว ให้ชอบ ยินดีและเพลิดเพลินในความแยกกัน 
  3. เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ กล่าววาจาที่หยาบคาย ทำให้ผู้อื่นคับข้องใจ เดือดร้อนแก่ผู้อื่น
  4. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ กล่าวไม่ถูกเวลา กล่าวเรื่องไม่จริง ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

 ความไม่สะอาดทางใจ มี 3 ประการ คือ

  1. เป็นผู้อยากได้ของผู้อื่น คือ อยากได้วัตถุที่เป็นของบุคคลอื่น
  2. เป็นผู้มีจิตปองร้าย คือ มีความคิดในใจอันชั่วร้ายว่าสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า ถูกทำลาย ขาดสูญ หรือพินาศ
  3. เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นว่า..
  • ผลแห่งการทำดี ไม่มี  ผลแห่งการทำชั่ว ไม่มี กฏแห่งกรรม ไม่มีจริง
  • สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ  ผู้ปฏิบัติชอบ  ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม  ไม่มีจริง

ผู้ประกอบอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่สะอาด เพราะว่าอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เป็นทั้งความไม่สะอาด และเป็นเหตุให้เกิดความไม่สะอาด   และผลของการประกอบอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้เป็นประจำ ก็คือ..ตกนรก เกิดเป็นดิรัจฉาน หรือเป็นเปรต หรือไปสู่อบายภูมิ อย่างใดอย่างหนึ่ง

กุศลกรรมบถ 10 ประการ มีดังนี้

ความสะอาดทางกาย  มี 3 ประการ คือ

  1. ละการฆ่าสัตว์  เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ มีความละอาย มีความเอ็นดู ความกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง
  2. ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ไม่ถือเอาวัตถุที่เป็นของบุคคลอื่นที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยเจตนาขโมย
  3. ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ไม่ถึงความประพฤติล่วงในสตรีที่มีผู้ดูแลรักษา (ผู้ดูแลรักษานี้ ได้แก่ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว หรือญาติ) สตรีที่ประพฤติธรรม สตรีที่มีสามี รวมถึงสตรีที่มีคู่รัก

ความสะอาดทางวาจา  มี 4 ประการ คือ

  1. ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้ว่าเท็จ ไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ของตน ของผู้อื่น
  2. ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ทำให้คนแตกแยกกัน กล่าววาจาที่ทำให้คนพร้อมเพรียงสามัคคีกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้ว ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันให้สามัคคีกัน  ยินดีและเพลิดเพลินในความสามัคคีของหมู่ชน
  3. ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ ไพเราะหู ชวนให้รักใคร่ พอใจ
  4. ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกเวลา พูดแต่คำที่เป็นจริง มีหลักฐานอ้างอิง  และประกอบด้วยประโยชน์ 

ความสะอาดทางใจ  มี ประการ คือ

  1. ไม่อยากได้ของผู้อื่น คือ ไม่อยากได้วัตถุสิ่งของของบุคคลอื่น
  2. ไม่มีจิตปองร้าย คือ ไม่มีความคิดในใจอันชั่วร้าย คิดแต่ว่าสัตว์ทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความมุ่งร้ายกัน ไม่มีทุกข์  มีสุข และรักษาตนเถิด
  3. มีความเห็นชอบ คือ มีความเห็นว่า...
  • ผลแห่งการทำดี มี  ผลแห่งการทำชั่ว มี  กฏแห่งกรรม มีจริง
  • สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ  ผู้ปฏิบัติชอบ  ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม  มีจริง

ผู้ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ย่อมเป็นผู้สะอาด เพราะว่ากุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้เป็นความสะอาด และเป็นเหตุแห่งความสะอาด  และผลของการประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้เป็นประจำ คือ..ได้เกิดเป็นเทวดา หรือเป็นมนุษย์ หรือไปสู่สุคติภูมิ อย่างใดอย่างหนึ่ง

------------------------------------------------

  • ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านผู้ศึกษาธรรมทุกท่าน
  • ขอเชิญท่านผู้สนใจ..ศึกษาธรรมะจากจุนทสูตร ต้นฉบับ ได้จาก website ต่อไปนี้

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔  บรรทัดที่ ๖๒๗๕ - ๖๔๑๙.  หน้าที่  ๒๗๑ - ๒๗๗.

http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=24&A=6275&Z=6419&pagebreak=0

ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-

http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=165

สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔

http://84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๔

http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/mean_reverse.php?text=24&Aindex=%CA%D2%C3%BA%D1%AD

หมายเลขบันทึก: 319406เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2009 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขออนุโมทนาครับ

ยินดีที่มีผู้ใส่ใจในความปรารถนาดีที่มอบให้

หากมีข้อแนะนำประการใด

กรุณาบอกให้ทราบด้วยนะคะ

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ขอบพระคุณมากครับขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท