บิดาแห่งวิชาเคมี (ของจริง)


อิบนุ ฮัยยาน จีเบอร์บิดาแห่งวิชาเคมี

อิบนุ ฮัยยาน หรือ จีเบอร์ (Geber)

โดย อัล-ฮิลาล

http://www.musliminventionsthailand.com/main/index.php

อบูมูซา จาบิร อิบนุฮัยยาน (Abu Musa Jabir Ibn Hayyan) หรือที่ชาวตะวันตกรู้จักในชื่อ จีเบอร์ (Geber) เป็นนักเคมี แพทย์ นักปรัชญา นักดาราศาสตร์ และนักฟิสิกส์ โลกมุสลิมถือว่าจีเบอร์เป็น บิดาแห่งวิชาเคมี แต่โลกตะวันตกเรียกเขาว่า บิดาแห่งวิชาเคมีโลกอาหรับ

จีเบอร์เกิดที่โคระส่าน เปอร์เซีย เป็นลูกของฮัยยาน อัล-อัซดี เภสัชกรแห่งเผ่าอารเบียนอัซดฺ ซึ่งอพยพจากเยเมนมาอยู่ที่คูฟา (Kufa อยู่ในอิรักในปัจจุบัน) ช่วงราชวงศ์อุมัยยาฮ์ พ่อของจีเบอร์อยู่ข้างพวกอับบาซียาฮ์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับราชวงศ์อุมัยยาฮ์ พ่อของเขาถูกพวกอับบาซียาฮ์ส่งไปยังโคระส่านเพื่อรวบรวมกำลังโค่นพวกอุมัยยา ฮ์ แต่กลับถูกพวกอุมัยยาฮ์จับได้และโดนประหารชีวิต ซึ่งเชื่อกันว่านี่คือสาเหตุให้ตระกูลของจีเบอร์ต้องหนีกลับไปยังเยเมน ที่ซึ่งจีเบอร์ได้รับการศึกษา แต่ต่อมาเมื่อพวกอับบาซียาฮ์ยึดเมืองได้ ตั้งเป็นราชวงศ์อับบาซียาฮ์ขึ้นมา จีเบอร์ก็กลับมายังเมืองคูฟาอีก และใช้เวลาที่เหลือส่วนใหญ่ที่นี่

ที่ คูฟา จีเบอร์เป็นลูกศิษย์ของจัฟฟาร์ อัล-ซาดิก ปราชญ์มุสลิมผู้เรืองนามและเป็นอิหม่ามคนที่ 6 เชื่อกันว่านอกจากนี้แล้วจีเบอร์ยังเป็นลูกศิษย์ของเจ้าชายคอลิด อิบนุยาซิด แห่งราชวงศ์อุมัยยาฮ์อีกด้วย เขาเริ่มชีวิตการทำงานด้วยอาชีพเภสัชกรตามอย่างพ่อของเขา จีเบอร์อยู่ภายใต้อุปถัมภ์ของบาร์มากิด ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของกาหลิบฮารูน อัล-ราชิด

การ ที่เขาสนิทสนมกับบาร์มากิด ทำให้ชีวิตเขาประสบความลำบากในบั้นปลาย จีเบอร์ถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านที่คูฟาตราบจนสิ้นชีวิต หลังบาร์มากิดหมดอำนาจลงในปีค.ศ.803

งานด้านวิชาเคมี 

จีเบอร์โด่งดังที่สุดด้านวิชาเคมี เขาเน้นเรื่องการทดลองเป็นสำคัญ และพยายามอย่างที่สุดที่จะเปลี่ยนจาก อัลเคมี (alchemy) หรือ การเล่นแร่แปรธาตุอย่างงมงายของคนยุคกลาง ไปเป็น วิชาเคมี (chemistry) ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เขาเป็นผู้คิดค้นเครื่องมือในการทดลองทางเคมีจำนวนมาก และยังค้นพบและอธิบายธาตุและวิธีการทางเคมี (ที่เดี๋ยวนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา) อาทิ กรดไฮโดรคลอริค กรดไนตริก การกลั่น และการตกผลึก ซึ่งได้กลายเป็นพื้นฐานของวิชาเคมีและวิศวกรรมเคมีของทุกวันนี้

เขายังเป็นผู้ปูทางให้กับนักเคมีมุสลิมที่มีชื่อเสียงในรุ่นต่อมาเช่น อัล-ราซี (al-Razi) อัล-ตุกไร (al-Tughrai) และ อัล-อิรัก (al-Iraqi) ผู้มีชีวิตในช่วงศตวรรษที่ 9, 12, และ 13 ตามลำดับ และหนังสือของจีเบอร์มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักเคมีในยุโรปสมัยกลาง

จีเบอร์คิดค้นและพัฒนาเครื่องมือทางเคมีจำนวนมากที่ยังคงใช้อยุ่ในทุกวันนี้ เช่น อเลมบิกหรือเครื่องกลั่น (alembic) ซึ่งทำให้การกลั่นของเหลวง่าย ปลอดภัย และประสิทธิภาพมากขึ้น และจากการที่เขากลั่นเกลือหลายชนิดกับกรดซัลเฟอริก (กำมะถัน) จีเบอร์ได้ค้นพบ กรดไฮโดรคลอริก (จากเกลือ) และ กรดไนตริก (จากโปรตัสเซียมไนเตรดที่ใช้ทำดินปืน) เขารวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน เรียกว่า aqua regia ใช้ละลายทองและพลาตินัม (aqua regia เป็นของเหลวที่ประกอบด้วยกรดไนตริก 1 ส่วน และกรดไฮโดรคลอริก 3 ส่วน)

จีเบอร์ยังมีชื่อเสียงจากการค้นพบ กรดไซตริก (citric acid ส่วนที่เปรี้ยวของมะนาวและผลไม้ที่ยังไม่สุก) กรดอซิติก (acetic acid จากน้ำส้มสายชู) และ กรดทาร์ทาริก (tartaric acid ของเหลือจากกระบวนการทำไวน์)

จี เบอร์ยังใช้ความรู้ด้านเคมีของเขาปรับปรุงกระบวนการผลิตหลายอย่าง เช่น การทำเหล็กและโลหะอื่นๆ การป้องกันสนิม การแกะสลักทอง การย้อมสี การผลิตเสื้อผ้ากันน้ำ การฟอกหนัง การวิเคราะห์ทางเคมีของสีย้อมผ้าและอื่นๆ

เขาพัฒนาการใช้แมงกานีสไดออกไซด์ในการทำแก้ว เพื่อป้องกันการเจือปนของสีเขียวที่มาจากเหล็ก ซึ่งเป็นวิธีการที่มนุษย์เรายังคงใช้อยู่ในทุกวันนี้

จีเบอร์สังเกตว่า การต้มไวน์จะปล่อยไอที่ติดไฟได้ออกมา ซึ่งปูทางให้ อัล-ราซี ยอดนักวิทยาศาสตร์มุสลิมได้ค้นพบ 'เอธานอล' ในศตวรรษต่อมา

โลกสมัยใหม่แยกธาตุออกเป็น โลหะและอโลหะ อาจมองเห็นได้จากการตั้งชื่อทางเคมีของจีเบอร์ เขาแบ่งธาตุออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้

  1. ของเหลว ระเหยได้เมื่อโดนความร้อน เช่น การบูร สารหนู อัมโมเนียมคลอไรด์
  2. โลหะ เช่น ทอง เงิน ตะกั่ว ทองแดง และ เหล็ก
  3. หิน ที่สามารถเปลี่ยนเป็นผงฝุ่นได้

ในสมัยกลาง ผลงานด้านเคมีของจีเบอร์ถูกแปลเป็นภาษาละตินมากมาย และกลายเป็นหนังสือมาตรฐานของนักอัลเคมีในยุโรป อาทิเช่น กิตาบ อัล-กิมยา (the Kitab al-Kimya) แปลโดยโรเบิร์ตแห่งเชสเตอร์ในปีค.ศ.1144; กิตาบ อัล-ซบีน (the Kitab al-Sab'een) แปลโดยเจอราดแห่งครีโมนาก่อนปีค.ศ.1187

มาร์เซลิน เบอร์ธาลอต ก็ได้แปลผลงานของจีเบอร์อีกหลายเล่ม ใช้ชื่อเก๋ๆ เช่น ตำราแห่งอาณาจักร (Book of the Kingdom), เรื่องของดุลยภาพ (Book of the Balances) และ ตำราแห่งดาวพุธตะวันออก (Book of Eastern Mercury)

คำเฉพาะทางเคมีหลายอย่างที่จีเบอร์เป็นคนริเริ่มใช้ เช่น อัลคาไล (alkali) ได้กลายไปเป็นคำแพร่หลายในภาษาต่างๆ ของชาวยุโรป และกลายเป็นส่วนหนึ่งของศัพท์วิทยาศาสตร์มาจนทุกวันนี้

และคำภาษาอังกฤษ gibberish (หมายถึง การพูดหรือใช้ศัพท์แปลกๆ และไม่ชัดเจน) มีต้นตอมาจาก จีเบอร์ นี่เอง (มาจากคำว่า gibber ซึ่งมาจากภาษาอารบิก jabber )

จีเบอร์เคยกล่าวไว้ว่า สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดของวิชาเคมีคือ คุณจะต้องทดลอง ผู้ไม่เคยทดลองใดๆ จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

แม็กซ์ เมเออฮอฟ เคยกล่าวถึงจีเบอร์ว่า อิทธิพลของจีเบอร์สามารถดูได้จากวิชาอัลเคมีและวิชาเคมีในอดีตทั้งหมดของยุโรป

หนังสือของจีเบอร์ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม:

  1. หนังสือ 112 เล่มที่อุทิศแด่บาร์มากิด ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของกาหลิบฮารูน อัล-ราชิด ประกอบไปด้วย Emerald Tablet เป็นงานโบราณที่เป็นรากฐานของอัลเคมี งานชุดนี้ถูกแปลออกเป็นภาษาละตินในสมัยกลางชื่อ Tabula Smaragdina แพร่หลายทั่วไปในหมู่นักอัลเคมีในยุโรป
  2. หนังสือ 70 เล่ม ส่วนใหญ่ถูกแปลเป็นภาษาละตินในสมัยกลาง ในหนังสือพวกนี้ที่มีชื่อเสียงได้แก่ กิตาบ อัล-ซูรา หรือ หนังสือแห่งความรัก (Kitab al-Zuhra) และ กิตาบ อัล-อาฮฺจารฺ หรือ ความรู้เรื่องหิน (Kitab Al-Ahjar)
  3. หนังสือ 10 เล่มเกี่ยวกับ การแก้ไขให้ถูกต้อง (Rectification) ประกอบด้วยคำอธิบายของ นักอัลเคมี เช่น พิธากอรัส โสคราตีส พลาโต และอริสโตเติล
  4. หนังสือเกี่ยวกับดุลยภาพ กลุ่มนี้ประกอบไปด้วยหนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา ทฤษฏีสมดุลธรรมชาติ (Theory of the balance in Nature)

หนังสือแปลจากงานของจีเบอร์:

  • E. J. Holmyard (ed.) The Arabic Works of Jabir ibn Hayyan, translated by Richard Russel in 1678. New York, E. P. Dutton (1928); Also Paris, P. Geuther.
  • Syed Nomanul Haq, Names, Natures and Things: The Alchemists Jabir ibn Hayyan and his Kitab al-Ahjar (Book of Stones), [Boston Studies in the Philosophy of Science p. 158] (Dordrecht: Kluwer Academic Publishers, 1994).
  • Donald R. Hill, 'The Literature of Arabic Alchemy' in Religion: Learning and Science in the Abbasid Period, ed. by M.J.L. Young, J.D. Latham and R.B. Serjeant (Cambridge University Press, 1990) pp. 328-341, esp. pp 333-5.
  • William Newman, New Light on the Identity of Geber, Sudhoffs Archiv, 1985, Vol.69, pp. 76-90.

ที่มา: http://www.ummah.net/history/scholars/HAIYAN.html

http://en.wikipedia.org/wiki/Jabir_ibn_Hayyan

http://home.att.net/~a.f.aly/jabir.htm

คำสำคัญ (Tags): #เคมี
หมายเลขบันทึก: 319211เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2009 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท