เปิดปูมแผนที่ลมธนาคารโลก


….จากการศึกษาโดยเทคนิค micrositing เพื่อหาพื้นที่พลังงานลมสูงพบว่า นอกจากบริเวณชายฝั่งภาคใต้แล้ว บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางพื้นที่ เช่น อ่างเก็บน้ำตอนบนเหนือเขื่อนลำตะคอง จัดเป็นพื้นที่ที่มีพลังงานลมสูงและดีกว่าภาคใต้อีกด้วย..

  แผนที่ลมธนาคารโลก

การศึกษาหาแหล่งพลังงานใหม่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมความเป็นอยู่ของประชากร ในสถานการณ์ปัจจุบันที่แหล่งพลังงานหลักของโลกเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นับวันแต่จะหมดสิ้นไป การสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนเช่น พลังงานลมตามกรอบ RPS (Renewable Portfolio Standard) จึงเป็นการเสาะหาพลังงานที่ยั่งยืนที่สามารถใช้ได้ตลอดไป กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบายด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานลมมีเป้าหมายติดตั้งได้ถึง 115 MW ภายในปี 2554 การศึกษาหาพื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานลมสูงจึงเป็นสิ่งจำเป็น 

การศึกษาด้านศักยภาพพลังงานลมในประเทศไทยยุคแรกก่อนปี 2545 เช่น โดย AIT กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) รวมทั้งกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน[3] (ปัจจุบันเป็นกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) การศึกษาส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลลมจากสถานีตรวจวัดของกรมอุตุนิยมวิทยา ตรวจวัดลมที่ระดับความสูง 10-11 เมตร ต่างก็ให้ผลการวิเคราะห์ที่สอดคล้องกันว่า บริเวณจังหวัดสงขลาและข้างเคียงมีศักยภาพพลังงานลมสูงสุดในประเทศไทย ในปี 2544 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน[3] รายงานว่าบริเวณจังหวัดสงขลาที่ระดับความสูง 50 เมตร จะมีความเร็วลมเฉลี่ย 6.4 เมตร/วินาที

ปี 2545 ธนาคารโลกได้ตีพิมพ์รายงาน  แผนที่ศักยภาพพลังงานลมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[4] โดยใช้วิธี mesomapping ดังแสดงในรูปที่ 1 อย่างไรก็ตามบทวิเคราะห์ในรายงานของธนาคารโลกนั้น ไม่ได้ให้ความสนใจต่อศักยภาพพลังงานลมของประเทศไทยมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านเช่นเวียดนามที่มีลมในชั้นดีเลิศ (exellent) ทั้งที่ในความเป็นจริงสำหรับประเทศไทยเองนั้น ถ้าพิจารณาโดยละเอียดจากแผนที่ลมของธนาคารโลกเอง จะพบพื้นที่น่าสนใจว่า บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียง เหนือของไทยมีบริเวณที่มีศักยภาพพลังงานลมสูงหลายแห่ง เช่น แนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ ที่มีศักยภาพพลังงานลมสูงมาก ตั้งแต่ ภูหลวง ภูหินร่องกล้า ภูกระดึง จ.เลย  เขาค้อ จ. เพชรบูรณ์  ภูเขียว ป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ เรื่อยลงมาจด เขายายเที่ยง จ. นครราชสีมา ที่มีค่าความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 8-9 เมตร/วินาที แต่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เขาสูง และเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้ยากต่อการติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่ พื้นที่อันดับรองลงมาที่มีศักยพลังงานลมสูงพอสมควร คือ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง เช่น มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และบางส่วนของยโสธรและร้อยเอ็ด จะมีค่าความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 6.5-7.5 เมตร/วินาที เป็นต้น ขณะที่บริเวณภาคใต้ของไทย บริเวณลมดีคือ บนยอดเทือกเขานครศรีธรรมราชและเทือกเขาสันกาลาคีรี มีความเร็วลมเฉลี่ย 5.5-6 เมตร/วินาที  ส่วนบริเวณรอบทะเลสาบสงขลา จะมีลมระดับพอใช้ เฉลี่ย 5.5-6 เมตร/วินาที

อย่างไรก็ตาม การศึกษาของธนาคารโลกนั้นใช้เทคนิควิเคราะห์แผนที่ภาพรวมรายละเอียดปานกลาง (mesomap) ที่มีขนาดกริด 1 กิโลเมตร ทำให้ในการพัฒนาโครงการติดตั้งไร่กังหันลมจริงจำเป็น ต้องมีการวิเคราะห์แผนที่ละเอียดขึ้นโดยเทคนิค micrositing ที่มีรายละเอียดขนาดกริด 20-50 เมตร จึงจะสามารถหาพื้นที่ เพื่อจัดทำรูปแบบและพิกัดตำแหน่งที่เหมาะสมของกังหันลมแต่ละตัวในไร่กังหันลมได้ (micrositing เป็นเทคนิควิเคราะห์พลังงานลม โดยการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือวัดความเร็วและทิศทางลม ณ บริเวณพื้นที่ที่สนใจเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน แล้วนำข้อมูลลมมาคำนวณวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ด้วยคอมพิวเตอร์ ได้ผลลัพธ์เป็นแผนที่ศักยภาพพลังงานลมอย่างละเอียด)

ในปี 2549 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ศึกษา[1] โดยการติดตั้งสถานีตรวจวัดลมที่ระดับความสูง 40 เมตร 3 สถานีบริเวณจังหวัดสงขลาและข้างเคียงพบว่า ที่ระดับความสูง 50 เมตร บริเวณบ้านบ่ออิฐ อ.เมือง และบ้านสนามชัย อ.สะทิงพระ จ.สงขลา จะมีความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 4.5 เมตร/วินาที ในรายงานนี้[1] ซึ่งดำเนินงานโดยสมานและคณะ ได้ใช้เทคนิค micrositing เป็นผู้วิจัยคณะแรกในประเทศไทย โดยใช้ซอฟต์แวร์มาตรฐานอุตสาหกรรมพลังงานลมคือ WAsP 8.2 ทำการจำลองแบบ แผนที่ศักยภาพพลังงานลมเฉพาะแหล่ง พบว่า พื้นที่บริเวณเกาะใหญ่ จังหวัดสงขลามีศักยภาพพลังงานลมดี มีความเร็วลมเฉลี่ย 5.6 เมตร/วินาที

ต่อมาปี 2551 สมานและเกริกชัย[2] ด้วยทุนวิจัยที่สนับสนุนโดย กฟผ. ได้ใช้เทคนิค micrositing อีกครั้งเพื่อหาพื้นที่พลังงานลมสูงพบว่า นอกจากบริเวณชายฝั่งภาคใต้แล้ว บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางพื้นที่ เช่น อ่างเก็บน้ำตอนบนเหนือเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมาจัดเป็นพื้นที่ที่มีพลังงานลมสูงและดีกว่าภาคใต้อีกด้วย มีความเร็วลมเฉลี่ย 6.6-8.6 เมตร/วินาที โดยได้เสนอรูปแบบไร่กังหันลมขนาด 15 MW ที่ประเมินว่าจะมีต้นทุนการผลิตประมาณ 3.33 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง (ปัจจุบัน ติดตั้งไปแล้ว 2.5 MW)

 

 จากผลการศึกษาของสมานและคณะ[1,2] พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า ผลการศึกษาของธนาคารโลก[4] ในรูปแผนที่ศักยภาพพลังงานลมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีความถูกต้องสูง แต่เนื่องจากเป็นแผนที่ภาพรวมรายละเอียดปานกลาง  (mesomap) ขนาดกริด 1 กิโลเมตร ทำให้จำเป็นต้องศึกษาโดยละเอียดขึ้นด้วยเทคนิค micrositing เพื่อทำแผนที่ลมความละเอียดสูง ขนาดกริด 20-30 เมตร โดยการตรวจวัดข้อมูลลมจริงในบริเวณต่าง ๆ ที่คาดว่าจะมีศักยภาพพลังงานลมสูง ซึ่งนอกจากเป็นการปรับฐานองค์ความรู้เรื่องพลังงานลมในประเทศไทยให้ชัดเจนขึ้นแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาโครงการนำร่องไร่กังหันลมได้จริงเพิ่มเติมจากที่กำลังดำเนินการโดย กฟผ. และสามารถใช้อ้างอิงสำหรับการออกมาตรการหรือนโยบาย ในการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนด้านพลังงานลมในประเทศไทยต่อไป

 

“….micrositing เป็นเทคนิควิเคราะห์พลังงานลม โดยการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือวัดความเร็วและทิศทางลม ณ บริเวณพื้นที่ที่สนใจเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน แล้วนำข้อมูลลมมาคำนวณวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ด้วยคอมพิวเตอร์ ได้ผลลัพธ์เป็นแผนที่ศักยภาพพลังงานลมอย่างละเอียด...”

เอกสารอ้างอิง

  1. การศึกษาศักยภาพพลังงานลมเฉพาะแหล่ง, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, พิมพ์ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2549.
  2. สมาน เสนงาม และเกริกชัย ทองหนู, การศึกษาศักยภาพพลังงานลมเฉพาะแหล่ง: ลำตะคอง, อ่าวไผ่, และแหลมพรหมเทพ, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์, 2551.
  3. แผนที่ศักยภาพพลังงานลมของประเทศไทย, กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน, เซ็นทรัลการพิมพ์, 2544.
  4. The World Bank, Wind Energy Resource Atlas of Southeast Asia, 2002, http://www.worldbank.org/astea/werasa/windenergy.htm, accessed Febraury 21, 2005.
คำสำคัญ (Tags): #wind map#พลังงานลม
หมายเลขบันทึก: 318900เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2009 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท