เทคนิคการสอนเกม


เทคนิคการสอนเกม

                            4.   เทคนิคและขั้นตอนในการสอนเกม

                                  วีระ  มนัสวานิช  (2539 : 27-30)  เทคนิคของการสอนเกม  คือ  กระบวนการที่จะทำให้จุดมุ่งหมายของการสอนบรรลุจุดมุ่งหมายปลายทางตามที่วางไว้  กระบวนการสอนซึ่งมีเทคนิคขั้นตอนที่สำคัญ  ที่ครูหรือผู้นำควรจะถือเป็นแนวทางปฏิบัติเป็นขั้น ๆ ดังนี้

                                    เทคนิคการอบอุ่นร่างกาย

                                    การอบอุ่นร่างกายเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายได้ปรับตัว  เช่น  ระบบกล้ามเนื้อเพิ่มอุณหภูมิหดตัวได้ประสิทธิภาพสูง  มีการประสานงานระบบไหลเวียนโลหิตและระบบการหายใจให้มีการเคลื่อนตัวในระยะคงที่  พร้อมที่จะเคลื่อนไหว  หลักในการอบอุ่นร่างกายที่สำคัญ  มีดังนี้

                                                1.  การอบอุ่นร่างกายแต่ละครั้งควรใช้เวลาให้น้อยที่สุดเพื่อให้ผู้เล่นมีเวลาในการเล่น  หรือทำกิจกรรมให้มากที่สุด

                                                2.  ท่าบริหารกายที่ใช้ในการอบอุ่นร่างกาย  ควรเป็นท่าบริหารทั่วไปเพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวโดยทั่ว ๆ ไป  หรือการบริหารที่ต้องใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นๆสำหรับกิจกรรมเฉพาะอย่าง   เช่น  แขน  ขา  ลำตัว  ทำให้ร่างกายพร้อมที่จะทำงานหรือเคลื่อนไหวได้ในเวลาอันรวดเร็ว

                                                3.  การอบอุ่นร่างกายควรจะเริ่มด้วยท่าที่ช้า ๆ ง่าย ๆ เบา ๆ ก่อนแล้วจึงเร่งความเร็ว  ความยาก  ความหนักขึ้นตามลำดับ  อาจจะเริ่มต้นจากศีรษะลงไปเรื่อย ๆ จนถึงข้อเท้า

                                                4.  อบอุ่นร่างกายแต่ละครั้งควรให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้รับการบริหารอย่างทั่วถึงโดยเริ่มต้นจากการบริหารคอลงไปเรื่อยจนถึงข้อเท้า  จากท่ายืนไปสู่ท่านั่ง  บริหารคนเดียวหรือบริหารคู่

                                                5.  เพื่อให้ผู้เล่นได้มีส่วนร่วมและเป็นการส่งเสริมคุณลักษณะในการเป็นผู้นำในตัว      ผู้เล่นครูผู้นำควรจะจัดให้ผู้เล่นมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมานำการอบอุ่นร่างกายเป็นประจำวันๆ หนึ่งหรือหลายคนก็ได้  โดยมีการตกลงกันและมอบหมายให้นักเรียนเหล่านั้นได้ทราบและเตรียมตัวล่วงหน้า

                                                6.  เพื่อความพร้อมเพียงกันและทำให้การอบอุ่นร่างกายเป็นไปด้วยความสนุกสนาน  ครูผู้นำอาจจะให้ผู้เล่นออกเสียงพร้อม ๆ กันตามการจังหวะการบริหารกายนั้น ๆ ด้วย  เช่น  ให้ผู้เล่นออกเสียงดัง ๆ คำว่า  “ซ้าย”  ในขณะที่นักเรียนวิ่งเหยาะ ๆ ลงด้วยเท้าซ้ายพร้อม ๆ กัน  หรือให้ผู้เล่นออกเสียงคำว่า  หนึ่ง-สอง  เป็นจังหวะในขณะที่ผู้เล่นกระโดยตบมือเหนือศีรษะ  เป็นต้น

                                                7.  การอบอุ่นร่างกายแต่ละครั้ง  ควรจะให้ผู้เล่นรู้สึกว่าเหนื่อยกว่าปกติจริงๆ  เช่น ให้ผู้เล่นหายใจถี่ขึ้นชีพจรเร็วหรือมีเหงื่อออกมาก  ไม่เช่นนั้นการอบอุ่นร่างกายจะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร

                                                8.  เพื่อเป็นการเสริมสร้างสมรรถภาพทางด้านร่างกายควบคู่กันไปด้วย  ท่าบริหารกายบางอย่าง  เช่น  การดันพื้น  การลุก-นั่ง  อาจจะนำมาใช้เพื่อเปิดรายการอบอุ่นร่างกายในแต่ละครั้งด้วย 

                                    เทคนิคการอธิบายและการสาธิต

                                    การอธิบายและการสาธิตเป็นวิธีการสอนที่จะให้ผู้เล่นได้มีความรู้  ความเข้าใจในสิ่งที่เล่นเพื่อจะได้นำไปเป็นแนวทางในการที่จะฝึกหัดและเล่นต่อไป  เพื่อจะได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้  เพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้นและสอดคล้องกับแนวการสอนแบบใหม่  ครูหรือผู้นำควรใช้หลักที่สำคัญเพื่อเป็นแนวทางดังต่อไปนี้  คือ

                                                1.  ผู้นำบอกชื่อเกมให้ผู้เล่นและจัดให้ผู้เล่นจัดรูปแถวในการเล่น

                                                2.  อธิบายวิชาการเล่นสั้น ๆ เข้าใจง่ายจนผู้เล่นเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง

                                                3.  อธิบายกฎกติกาการเล่น  การฟาวล์  การแพ้ชนะกัน

                                                4.  ผู้นำทดสอบความเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง  โดยให้ผู้เล่นถามหรือผู้นำถามเองก็ได้แล้วสาธิตหรือให้ผู้เล่นทดลองอย่างช้า ๆ จนทุกคนเข้าใจ

                                                5.  ก่อนเล่นผู้นำต้องย้ำความปลอดภัยให้ผู้เล่นทราบทุกครั้ง

                                    เทคนิคการเล่นเพื่อความสนุกสนานหรือการแข่งขันกัน

                                    เมื่อทุกคนเข้าใจใน  กฎ  กติกาและขั้นตอนการเล่นอย่างชัดเจนแล้วครูหรือผู้นำก็ลงมือให้เล่นทันทีโดยไม่ชักช้าเพราะเวลามีค่าต่อผู้เล่นมาก  ผู้เล่นได้นำความรู้ความเข้าใจ  ข้อบังคับของการเล่นมาปฏิบัติในสภารพการณ์ของการเล่นจริง  ครูหรือผู้นำมีโอกาสที่จะปลูกฝังคุณธรรม  ระเบียบวินัย  การเป็นผู้เล่น  การรวมหมู่  ความสามัคคี  การรู้จักแพ้ชนะ  การอภัย  ตลอดจนพฤติกรรมอื่น ๆ ในตัวผู้เล่นได้เป็นอย่างดี  ครูผู้นำได้รู้จักนิสัยใจคอของผู้เล่นอย่างแท้จริงว่าผู้เล่นคนไหนมีพฤติกรรมที่พึงปรารถนาหรือควรจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างไร  สำคัญอยู่ที่ครูหรือผู้นำจะสามารถฉวยโอกาสนี้เพื่อนำมาใช้ให้มีประโยชน์และมีความหมายต่อผู้เล่นมากน้อยแค่ไหน  โดยนำหลักการและเทคนิคการจัดการแข่งขันหรือการเล่นมาปฏิบัติดังนี้

                                                1.  จำนวนผู้เล่นในแต่ละหมู่ให้มีจำนวนเท่า ๆ กัน

                                                2.  ผู้เล่นที่มีส่วนเกินก็จัดให้มีส่วนร่วมโดยการเป็นกรรมการช่วยครูในการตัดสิน

                                                3.  จัดให้มีหัวหน้าหมู่  สีประจำในแต่ละหมู่  หรือสี

                                                4.  เส้นเริ่ม  เส้นกลับตัว  หรือเส้นชัดควรเขียนให้ชัดเจนไม่ควรมีสิ่งกีดขวาง

                                                5.  การตัดสินควรจะเป็นไปอย่างยุติธรรม

                                                6.  ให้ผู้เล่นได้ปฏิบัติตามกติกาและระเบียบการเล่น

                                                7.  ถ้าหมู่ใดคนใดชนะ  ให้หมู่คนอื่น ๆ ปรบมือให้เกียรติ  และหมู่ชนะควรจะได้แสดงความขอบคุณโดยการคำนับ  โค้งให้เกียรติเพื่อเป็นการปลูกฝังการแพ้ชนะในตัวผู้เล่น

                                                8.  ครูผู้นำควรบอกข้อดีและข้อเสียของกลุ่มชนะและกลุ่มแพ้เพื่อจะปรับปรุงต่อไป

                                                9.  ครูผู้นำอาจจะจัดให้มีการเล่นหรือแข่งขันกันใหม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เล่น

                                    การสรุปและสุขปฏิบัติ

                                    การสอนในขั้นนี้นับว่ามีความสำคัญที่จะทำให้การสอนมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นตามหลักขอการสอนเกมหรือการสอนพลศึกษา  วัตถุประสงค์ของการสอนในขั้นนี้ที่สำคัญมี  2  ประการคือ

                                                1.  เพื่อสรุปผลและประเมินผลที่เกี่ยวกับการเรียนการเล่นในชั่วโมง

                                                2.  เพื่อผลทางด้านการปลูกฝังสุขนิสัยให้แก่สมาชิกหรือผู้เล่น

                                    ก่อนหมดเวลา  5-8  นาที  ครูหรือผู้นำควรหยุดการเล่น  การแข่งขัน  ให้ผู้เล่นทั้งหมดรวมกัน  ครูหรือผู้นำทำการสรุปผลและประเมินผลการเรียนการเล่นของผู้เล่น  โดยการสังเกตพฤติกรรมของผู้เล่นที่แสดงออก  ระเบียบวินัย  การปฏิบัติในการเล่น  การเอารัดเอาเปรียบ  น้ำใจนักกีฬา  การใช้คำพูด  ครูหรือผู้นำสรุปให้ผู้เล่นทราบนำไปปรับปรุงและปฏิบัติในโอกาสต่อไปเพื่อเป็นแนวทางในการเรียนการสอนและการเล่น

                                    จิราภรณ์  ศิริประเสริฐ  (2545 : 60-64)  ได้ให้ความสำคัญในการสอนหรือการนำเกมว่าผู้สอนหรือผู้นำเกม  ควรมีการเอาใจใส่ดูแลควบคุมให้การเรียนการสอนหรือการเล่นดำเนินต่อไปอย่างมีระบบ  ผู้สอนหรือผู้นำเกมพึงได้เตรียมในเรื่องดังต่อไปนี้

                                            1.    การเตรียมตัว

                                                    1.1  วางแผนว่าในแต่ละเกมที่จะสอนหรือนำมีจำนวนผู้เล่นจำนวนสูงสุดได้เท่าใด  เพื่อให้ทุกคนได้มีกิจกรรมทำตลอดเวลา  โดยพยายามหลีกเลี่ยงเกมที่มีผู้เล่นเพียงหนึ่งหรือสองคนปฏิบัติกิจกรรมขณะที่ผู้เล่นคนอื่น ๆ คอยดูเท่านั้น  และพยายามหลีกเลี่ยงเกมที่มีการจำกัดผู้เล่นออกไป  นอกเสียจากว่าผู้สอนสามารถเปลี่ยนกฎการจำกัดผู้เล่นให้อยู่ในรูปแบบที่ผู้เล่นทุกคนมีกิจกรรมทำตลอดเวลา

                                                1.2  มีการพัฒนาปรับปรุงเกมที่นำมาใช้อยู่เสมอ  ให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการสอนหรือการเล่นในด้านของการเพิ่มทักษะและสมรรถภาพของผู้เล่น

                                                 1.3  มีการวิเคราะห์เกมที่จะนำมาสอน  ว่าเหมาะสมกับระดับความสามารถและความสนใจของผู้เล่นหรือไม่  เพื่อให้ได้เกมที่เหมาะสมและให้เกิดความปลอดภัยในการเล่น

                                                 1.4  เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้สำหรับแต่ละเกมไว้ให้พร้อมเพียงพอและสะดวกต่อการนำมาใช้ก่อนถึงเวลา  อาจแบ่งงานให้ผู้เล่นรับผิดชอบดูแลอุปกรณ์

                                                 1.5  เลือกสถานที่เล่นให้เหมาะสม  ถ้าต้องมีการตีเส้นด้วยต้องเตรียมให้พร้อมก่อนที่จะเริ่มเล่น  ใช้กระดาษกาวหรือชอล์กตีเส้นถ้าเล่นในร่ม  กรณีที่เล่นในสนามกลางแจ้งให้ใช้เชือกหรือเสา  เป็นต้น  เป็นตัวกำหนดอย่างให้ผู้เล่นใช้จินตนาการในการกำหนดขอบเขต

                                                 1.6  ปรับและเปลี่ยนวิธีการเล่น  กฎกติกา  ทักษะ  อุปกรณ์  และสนามที่ใช้เล่นให้มากขึ้นหรือลดลงตามความ

                                                 1.7  เกมที่กำหนดผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย  ให้กำหนดสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความแตกต่างของผู้เล่นทั้ง  2  ทีม  เช่น  อาจให้ใส่เสื้อคนละสีหรือใช้แถบสีติด  เพื่อช่วยให้ควบคุมเกมได้ง่ายขึ้น

                                                 1.8  เกมที่ใช้สอนในแต่ละครั้งควรมีหลายรูปแบบ  แต่ไม่แตกต่างกันมาก  เพราะจะทำให้เสียเวลาในการเคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนรูปแบบ

                                                 1.9  ควรมีทั้งเกมหนักสลับเกมเบาตลอดช่วงของการเรียนหรือการเล่น

                                                 1.10  ทำความคุ้นเคยกับเกมที่จะสอนหรือจะนำและเตรียมพร้อมในแต่ละเกมเป็นอย่างดี  เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้มีส่วนร่วมในการวางแผน

                                            2.  วิธีการในการสอนหรือการนำเกม

                                                 ในการสอนหรือการนำเกม  มีวิธีการในการปฏิบัติเช่นเดียวกับเมื่อเวลาสอนกิจกรรมพลศึกษาอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยวิธีการที่เป็นที่นิยมใช้กันมากตามลำดับขั้นตอน  ดังนี้  (สงวน  มีระหงษ์.  2510 : 1-3)

                                                2.1  ขั้นอธิบาย  ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้เล่นในวัยต่าง ๆ พูดสั้น  ชัดเจน  และตรงจุดมุ่งหมายที่ต้องการ

                                                2.2  ขั้นการสาธิต  หลังจากอธิบายแล้วให้เริ่มการสาธิตหรือการทำให้ดู  ระหว่างที่ทำการสาธิตให้อธิบายประกอบไปด้วย  วิธีการสาธิตทำได้  2  แบบคือ

                                                        2.2.1  สาธิตตั้งแต่ต้นจนจบเกม

                                                        2.2.2  สาธิตเป็นตอน ๆ แล้วจึงลงมือปฏิบัติทั้งหมด

                                                การที่จะเลือกวิธีสาธิตแบบใดนั้น  ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและความเหมาะสมของเกมนั้นๆ หรืออาจใช้ทั้งสองแบบรวมกันก็ได้  วิธีการใดใช้ได้ผลดีและใช้เวลาน้อยให้เลือกใช้วิธีดังกล่าว  ในขณะที่ทำการอธิบายและสาธิตควรให้ผู้เล่นนั่งเป็นรูปครึ่งวงกลม  ผู้สอนหรือผู้นำควรยืนอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่ผู้เล่นสามารถมองเห็นและได้ยินคำอธิบายอย่างชัดเจน  ควรถามผู้เล่นว่าเข้าใจหรือไม่  มีคำถามอะไรที่จะถาม

                                                2.3  ขั้นการร่วมเล่น  เมื่อทุกคนเข้าใจในการอธิบายและสาธิตแล้ว  หลังจากนั้นให้ลงมือทันที  ควรให้ผู้เล่นทุกคนได้ร่วมเล่นมากที่สุดอย่างทั่วถึงพอเพียง  ไม่ควรให้รอที่จะเล่นนานเกินไป  ซึ่งมีวิธีการดังนี้คือ

                                                        2.3.1  แบ่งผู้เล่นออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ หรือแบ่งกิจกรรมให้ทุกคนได้มีโอกาสปฏิบัติ  โดยไม่ต้องรอคอยรอบของตนนานเกินไป

                                                        2.3.2  จัดเตรียมอุปกรณ์  สิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่เล่นไว้ให้เรียบร้อยก่อนทำการเล่น  รวมทั้งการทำเครื่องหมาย  ขอบเขตหรือเส้นต่าง ๆ เช่น  เส้นเริ่มต้น  เส้นกลับตัว  วงกลม  ฯลฯ

                                                2.4   ขั้นการประเมินผล  ให้ใช้เวลาสั้น ๆ เพื่อวัดความก้าวหน้าของทักษะที่ต้องการกฎกติกาของการเล่นนั้น ๆ และพฤติกรรมที่แสดงออกในการเล่นในเรื่องของความมีน้ำใจนักกีฬา  ความร่วมมือและความรับผิดชอบ  อาจประเมินผลทุกครั้งที่ทำการเล่นหรือประเมินผลบางครั้ง  แล้วแต่ดุลยพินิจว่ามีความจำเป็นเพียงใด  ผลจากการประเมินยังทำให้ทราบถึงข้อดีและข้อที่ควรแก้ไข  เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงในการเรียนการสอนหรือการเล่นต่อไป  การประเมินผลควรครอบคลุมไปถึงรายละเอียดต่อไปนี้ด้วย  ได้แก่

                                                        2.4.1  ให้ผู้เล่นได้แสดงความคิดเห็นว่าควรมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเกมนั้น ๆ อย่างไร  เพื่อให้เพิ่มความสนุกสนานไปพร้อมกับการพัฒนาทักษะส่วนต่าง ๆ การประเมินผลสามารถทำได้ตลอดเวลาที่เหมาะสม  หรือในขณะพักหรือขณะที่ผู้เล่นเปลี่ยนตำแหน่ง  ไม่จำเป็นต้องประเมินผลในตอนสุดท้ายของการเล่น

                                                        2.4.2  ประเมินผลทุกเกม

                                                        2.4.3  รายการตรวจสอบเพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินผล  (Evaluation  Check  List)  ตัวอย่าง  เช่น

                                                                    1)  ผู้เล่นวิ่งออกจากเส้นเริ่มก่อนที่สัญญาณได้ดังขึ้นหรือไม่

                                                                    2)  ผู้เล่นได้ปฏิบัติถูกต้องตามข้อตกลงก่อนการเล่นหรือไม่

                                                                    3)  ผู้เล่นวิ่งครบระยะทางที่กำหนดไว้หรือไม่

                                                                    4)  ผู้เล่นเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วว่องไวหรือไม่

                                                                    5)  ผู้เล่นสนใจฟังคำอธิบายหรือคำถามหรือไม่

                                                                    6)  ผู้เล่นมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างใด

                                                                    7)  ผู้เล่นเข้าใจวิธีการเล่นมากน้อยเพียงใด

                                                                    8)  ผู้เล่นทำหน้าที่ผู้นำและผู้ตามได้มีประสิทธิภาพเพียงใด

                                                                    9)  ผู้เล่นมีการสนับสนุนช่วยเหลือผู้เล่นคนอื่น ๆ ภายในกลุ่มหรือไม่

                                                            10)  ผู้เล่นมีการร้องเพลงต่อเนื่องหรือไม่

                                                            11)  ผู้เล่นมีการรักษารูปแบบของการเล่นเป็นอย่างไร

                                                2.5  ขั้นการสรุป  ควรมีการสรุปสั้น ๆ การเล่นรวมทั้งประกาศผู้ชนะพร้อมด้วยเหตุผลในการนี้ควรเน้นความสำคัญในเรื่องของความมีน้ำใจนักกีฬา  และความร่วมมือกันที่แสดงออกในการเล่นของแต่ละคนมากกว่าที่จะเน้นในเรื่องการเป็นผู้ชนะแต่เพียงอย่างเดียว  ชมเชย    ผู้เล่นที่เก่งและมีน้ำใจนักกีฬา

                            3.    กิจกรรมการเรียนการสอน

                                   ในการสอนหรือการนำเกม  หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความสนุกสนานเพียงอย่างเดียวแต่ต้องดูว่าการเล่นบรรลุจุดมุ่งหมายที่ต้องการหรือไม่  ดังนั้นการจัดกิจกรรการเรียนการสอนหรือการเตรียมกิจกรรมในการเล่น  เพื่อให้การเล่นดำเนินไปด้วยความสนุกสนานบรรลุจุดมุ่งหมายและเป็นระเบียบเรียบร้อย  ผู้สอนหรือผู้นำเกมพึงระลึกถึงข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้

                                 3.1  ก่อนเริ่มสอนหรือนำเกมจะต้องบอกให้ผู้เล่นเคารพในสัญญาณและกฎกติกาที่กำหนดไว้  เช่น  กระตุ้นให้ผู้เล่นยอมรับในเกมที่ต้องถูกแตะตัวเมื่อตนเองถูกแตะตัวมีการยกมือ  เมื่อผู้เล่นทำผิดหรือสงสัยว่าตนเองทำผิดกติกา  หรือเมื่อมีกาดรเล่นที่รุนแรงเกิดขึ้น

                                    3.2  ปฏิบัติตามกฎกติกาอย่างเคร่งครัด  ไม่อนุญาตให้มีการถกเถียงหลังคำตัดสินของกรรมการ  แต่ถ้าเมื่อมีการหยุดเล่นบ่อยครั้งเนื่องจากกฎกติกาก็ให้ปรับเปลี่ยนกฎกติกาที่ยากให้ง่ายขึ้นให้เหมาะสมกับความสามารถของกลุ่มผู้เล่น  ผู้สอนหรือผู้นำเกมควรแม่นยำในกฎกติกาการเล่น

                                   3.3  ตรวจดูว่าแต่ละทีมต้องมีจำนวนผู้เล่นเท่ากันก่อนเริ่มเล่น

                                   3.4  ถ้าสังเกตเห็นผู้เล่นคนใดคนหนึ่งไม่เข้าใจกฎกติกาการเล่นหรือทำไม่ได้  การเล่นเป็นไปอย่างขลุกขลัก  หรือผู้เล่นขาดความสนใจ  ให้ยุติการเล่นทันทีเพื่อคนหาสาเหตุและจัดการแก้ไข  เช่น  ถ้าผู้เล่นไม่เข้าใจให้เริ่มต้นอธิบายวิธีการเล่นหรือกฎกติกาอีกครั้งหนึ่ง

                                   3.5  ผู้สอนหรือผู้นำเกมอาจต้องร่วมเล่นด้วยในบางโอกาส  แต่อย่าให้ตนเองเป็นจุดเด่น  เมื่อเกมดำเนินไปด้วยดีอาจถอนตัวออกมาโดยที่ผู้เล่นไม่ทันสังเกตเห็น  ผู้เล่นมักรู้สึกสนุก    ถ้าผู้สอนหรือผู้นำเกมร่วมเล่นด้วย

                                   3.6  พยายามให้ผู้เล่นแต่ละคนได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเล่นหรือผลัดเปลี่ยนกันเล่นในตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนได้เล่นในตำแหน่งที่ตนเองชื่นชอบ  ระวังไม่ให้ผู้เล่นบางคนเป็นจุดเด่น  หรือควบคุมการเล่นทั้งหมด

                                    3.7  การสอนสอดแทรกระหว่างเกมเป็นสิ่งจำเป็น  เมื่อเกมเริ่มแล้วให้ผู้สอนหรือผู้นำเกมสำรวจดูว่า  มีผู้เล่นคนใดต้องการการกระตุ้น  การให้กำลังใจ  ดูการใช้ทักษะและที่ว่างของผู้เล่นแต่ละคน  หาโอกาสที่จะสอนสอดแทรกทุกขณะเมื่อมีโอกาส  โดยสอดแทรกทีละนิดให้หยุดกิจกรรมทันทีเมื่อจำเป็นต้องให้คำแนะนำ

                                    3.8  เมื่อผู้เล่นเริ่มเบื่อให้ยุติการเล่นทันที

                                    3.9  เมื่อเวลาในการสอนหรือการเล่นใกล้หมด  ไม่ควรเริ่มเกมใหม่  นอกจากว่ามีเวลาเพียงพอในการเล่น

                                    3.10  การเล่นควรดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว  ควรเริ่มเล่นทันทีเมื่อเกมนั้นผู้เล่นเคยเล่นมาก่อน

                                    3.11  รักษาบรรยากาศของการเรียนการสอนไว้  ผู้เล่นส่งเสียงดังได้ขณะที่เล่นอย่างตั้งใจ  แต่ถ้าส่งเสียงดังเพื่อเป็นการก่อกวน  ให้ส่งสัญญาณให้ผู้เล่นเงียบและสนใจในเกมโดยใช้สัญญาณ  นกหวีด  หรือยุติการเล่นเมื่อมองเห็นว่าผู้เล่นไม่สนใจการเล่นเท่าที่ควร

                                    3.12  ให้ความยุติธรรมในการเลือกผู้เล่นที่จะเป็นผู้นำกลุ่ม  เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เลือกหัวหน้ากันเอง  มีการหมุนเวียนกันเป็นผู้นำกลุ่มเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พัฒนาการเป็นผู้นำ  ผู้ตามที่ดี

                                    3.13  ให้ผู้เล่นทุกคนได้รับความสนุกสนานไม่คำนึงถึงการเป็นผู้แพ้ผู้ชนะ  แต่มุ่งไปที่การร่วมมือและการเข้าร่วมเล่นเป็นสำคัญ  ผู้เล่นทุกคนควนจะร่วมเล่นเกมจนจบเกม  อีกประการหนึ่งทีสำคัญควรส่งเสริมให้เล่นด้วยท่าทีและมีน้ำใจนักกีฬาอย่างแท้จริง  เช่น  แสดงออกอย่างสุภาพ  ควบคุมอารมณ์ให้มั่นคง  เคารพสิทธิของผู้อื่น  เคารพในกฎกติกาและคำตัดสิน  เล่นด้วยความยุติธรรมและถูกต้อง  เป็นต้น

                                    3.14  ภายหลังจากที่ได้สอนหรือนำเกมไปจำนวนหนึ่งแล้ว  ให้ถามผู้เล่นว่ามีเกมใดที่ต้องการเล่น  โดยเปิดโอกาสถามผู้เล่นหนึ่งหรือสองคนทุกครั้ง

                                     3.15  ทบทวนเกมทั้งหลายที่ได้เล่นไปแล้ว  เพื่อพัฒนาทักษะและกลวิธีในการเล่นให้ดีขึ้น  แต่ระวังผู้เล่นอาจเกิดความเบื่อหน่าย  แนะนำเกมใหม่เพียง  1-2  เกมต่อหนึ่งบทเรียนหรือต่อการเล่นครั้งหนึ่ง ๆ

                                    3.16  หากว่าเกมใดมีการกำหนดผู้เล่นไว้น้อยคน  ให้มีการเล่นหลาย ๆกลุ่มในเวลาเดียวกัน  ผู้ที่เริ่มเปิดเกมอาจเป็นผู้สอนหรือผู้นำเกมหรือผู้เล่นก็ได้

                                    3.17  ใช้โสตทัศนูปกรณ์ในการแนะนำเกม  เพื่อให้ผู้เล่นเข้าใจได้ง่ายขึ้น  เช่น  ใช้กระดาน

หมายเลขบันทึก: 318609เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2009 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

งง มากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก

แต่อยากเล่นครับ ถ้าสอนง่าย ๆแเละเข้าใจแบบไม่ยากก็จะได้เล่นเป็นแบบไม่ยากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท