ป้าสันที...ชีวิตที่ไม่สิ้นไร้หัวใจแห่งความหวัง


 

            ท่ามกลางกระแสความวุ่นวายของสังคมไทยในปัจจุบันนี้ เมื่อเรามองอีกด้านหนึ่งของสังคมไทยนั้น จะเห็นได้ว่าก็ยังมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่เกือบจะถูกลืมเลือนไปจากสังคมไทย ซึ่งพวกเขามิได้ต้องการเรียกร้องสิ่งใดจากสังคม นอกเสียจากการดำรงชีวิตอย่างพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนเองและคนในครอบครัวไปวัน ๆ แต่ว่าการดำรงชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นมิได้เป็นไปอย่างง่ายดายนัก กลับมีอุปสรรคมากมายดั่งมรสุมชีวิต แต่ว่าพวกเขาก็มิได้ย่อท้อต่อชะตากรรมที่ลิขิตชีวิตของพวกเขา แต่กลัมีหัวใจที่พร้อมจะสู้ต่อไปเพื่อการอยู่รอดของชีวิต นั่นก็คือ ป้าสันทีและครอบครัว

 

            ป้าสันทีเป็นคนเชื้อชาติมอญ เกิดที่ทวาย ประเทศพม่า เมื่อประมาณพ.ศ. ๒๔๘๙ ป้าสันทีไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า แม้เกิดในประเทศพม่า เมื่อพม่าไม่สงบ ด้วยเหตุที่มีการสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยป้าสันทีก็ทำแบบคนมอญในทะวายทำ ก็คือ เดินมาประเทศไทย เพื่อมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินของพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยพระบารมีและน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านจึงทำให้บ้านเมืองแผ่นดินไทยสงบร่มเย็นและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลาหาร อีกทั้งพสกนิกรของพระองค์ท่านก็อยู่ดีกินดีมีสุขมาโดยตลอด

 

             การเดินทางเข้าประเทศของป้าสันทีนั้น โดยการเดินทางผ่านทางหมู่บ้านบ้านไร่ ตำบลปิล๊อค อำเภอทองผาภูมิ เมื่อประมาณพ.ศ. ๒๕๐๕ และได้อยู่กินกับนายสอน ซึ่งเป็นคนเชื้อชาติมอญเหมือนกันเมื่อประมาณพ.ศ. ๒๕๐๖ ป้าสันทีและสามีย้ายไปมาเพื่อรับจ้างทำไร่ อยู่ในแถบชายแดนของจังหวัดกาญจนบุรี และสุดท้ายได้มาปักหลักที่หมู่บ้านทุ่งก้างย่าง ตำบลบ้านไร่ อำเภอทองผาภูมิ โดยได้คลอดบุตร ๕ คนแรกที่หมู่บ้านนั้น ซึ่งตอนเกิดลูกของป้าสันทีทำคลอดโดยหมอตำแย และไม่ได้แจ้งเกิดอีกทั้งมีเอกสารพิสูจน์ตนใด ๆ เลย และพออยู่มาได้ไม่นาน ทั้งครอบครัวของป้าสันที และคนมอญอื่น อีกจำนวนมากก็ถูกทางการขับไล่ออกจากพื้นที่ของบ้านทุ่งก้างย่าง

            เมื่อถูกรื้อเผาหมู่บ้านทิ้ง ป้าสันทีและครอบครัวจึงอพยพกันไปอยู่ที่หมู่บ้านหม่องสะเทอ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี แต่ที่นั่น ป้าสันทีบอกว่าอาศัยอยู่กันอย่างลำบากมาก เพราะคนอยู่กันเยอะ ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีงานให้รับจ้าง และพื้นที่ยังทุรกันดารมาก ต่อมาไม่นานสามีและลูกคนหนึ่งก็เสียชีวิตลง ซึ่งทำให้ป้าสันทีต้องเลี้ยงดูสมาชิกทุกคนในครอบครัวเพียงคนเดียวทั้ง ๆ ที่เจ็บป่วยจากมดลูกอักเสบ จึงทำงานในไร่หนัก ๆ ไม่ได้ ป้าสันทีกลัวว่าลูก ๆ อีก ๕ คนจะตาย เพราะไข้ป่าหรือไม่ก็ "อดตาย" อีก จึงย้ายครอบครัวเข้ามาทำงานรับจ้างในเมือง โดยการชักชวนเข้ามาทำงานที่โรงงานในจังหวัดสมุทรปราการ ป้าสันทีก็แทบไม่เคยกลับไปที่หมู่บ้านอีกเลย ดังนั้น ป้าสันทีและลูก ๆ อีก ๕ คนจึงไม่เคยมีเอกสารรับรองใด ๆ จากทางราชการที่จะใช้แสดงตนว่าตนเคยได้รับการสำรวจจากทางราชการ แม้ว่าป้าสันทีจะเคยได้รับการสำรวจโดยทางการถึง ๒ ครั้ง ที่อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอไทรโยค พร้อมกับชาวมอญคนอื่นๆ ในหมู่บ้านที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว

 

            เมื่อทั้งครอบครัวของป้าสันทีนั้นไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน และเอกสารรับรองจากทางราชการใด ๆ เลยจึงทำให้การทำมาหากินของทุกคนของครอครัวเป็นไปอย่างลำบากแร้นแค้น หางานทำก็ยาก ต้องตกงาน มีอาชีพที่ไม่มั่นคง ทำให้ต้องหาเลี้ยงชีพโดยการหาเช้ากินค่ำ บางวันไม่มีรายได้มาจุนเจครอบครัวเลย บางคราวก็ถูกตำรวจจับ หรือเมื่อขอความช่วยเหลือจากทางราชการในหลาย ๆ ครั้งก็จะถูกนำส่ง ต.ม. อยู่เรื่อย

 

            เวลาป่วยไข้ไม่สบายก็ไม่สามารถไปหาหมอที่โรงพยาบาลได้ เพราะไม่มีหลักฐานอะไรเลยที่แสดงให้ทางโรงพยาบาล ต้องไปซื้อยากินเองที่ร้านขายยาทุกครั้ง

 

            ทั้ง ๆ ที่เป็นคนไทย เกิดบนแผ่นดินไทย รักประเทศไทย อีกทั้งผู้เป็นแม่ก็มีความกลมกลืนกับสังคมไทยแม้จะเกิดต่างประเทศก็ตาม แต่กลับได้รับการปฏิบัติต่างจากคนไทยทั่วไป ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

            แต่ความหวังที่จะแก้ปัญหาชีวิตของครอบครัวนี้ก็มิได้หมดไปด้วยอุปสรรคนานาประการ เมื่อต้นปี ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา อำพล ลูกชายคนหนึ่งของป้าสันทีร้องขอความช่วยเหลือเรื่องปัญหาสถานะบุคคลของตนเองและครอบครัวเข้ามาที่โครงการห้องเรียนกฎหมายเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ภายใต้การดูแลของรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร จึงได้ทำการสอบประวัติ อีกทั้งสร้างกิจกรรมอันเป็นกระบวนการทำความเข้าใจ และให้ความรู้ในการแก้ไขปัญหาแก่ครอบครัวของป้าสันที แต่เนื่องจากยังไม่พบเอกสารพิสูจน์ตนใด ๆ เลยของครอบครัวนี้ แม้ว่าสมาชิกในครอบครัวได้พยายามที่จะติดต่อกับทางราชการเพื่อขอค้นเอกสารในหลายต่อหลายครั้งแล้ว

            ในความโชคร้ายย่อมมีความโชคดีอยู่เสมอ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ นี้เอง ทางอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนะบุรีได้แจ้งมาทางเราแล้วว่า พบเอกสารทะเบียนประวัติของครอบครัวป้าสันที เพียงแต่ขอให้ทั้งครอบครัวไปแสดงตนเพื่อพิสูจน์สถานะบุคคลตามกฎหมายไทย

 

              ในวันนี้ด้วยหัวใจที่เต็มไปด้วยความหวังและการรอคอยอันนานแสนนานของครอบครัวนี้ ความหวังครั้งใหม่ครั้งนี้ ทางป้าสันทีและครอบครัวต่างก็ดีใจ และรอคอยจะให้ถึงวันนั้นโดยเร็ว โดยทางคณะทำงานโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษกฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล (BKK legal clinic) (ภายใต้กองทุนศาตราจารย์ คนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ได้ให้ความช่วยเหลือต่อและจะพาครอบครัวนี้ไปพิสูจน์สถานะบุคคล ในวันนี้ป้าสันทีและพวกเราพร้อมจะสู้ต่อ เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะของตน เพื่อที่จะมีการดำรงชีวิตที่ดี

 

             ในศุภวาระดิถีมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ นี้ ประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างก็คิดทำดีเพื่อวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพ่อหลวงของเรา

 

            เนื่องจากเพราะว่า ”ความมั่นคงเชิงประชากรก็คือความมั่นคงของประเทศ” และจากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องของการพัฒนาคน ดังนั้น สิ่งที่ข้าพเจ้าในฐานะพสกนิกรชาวไทยคนหนึ่งคิดจะทำดีเพื่อ”ถวายเป็นพระราชกุศล” และเพื่อ “ทดแทนคุณแผ่นดิน” นั้นก็คือ ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่มีลมหายใจบนแผ่นดินผู้เป็นพสกนิกรของพระองค์ท่าน

 

            ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชวโรกาสน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคลขอพระองค์ทรงพระเกษมสำราญ ทรงมีพลานามัยที่แข็งแรง มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ 

                                       ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา

หมายเลขบันทึก: 318200เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2009 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • พยายามต่อไปน้อง
  • พี่เองสักวันคงได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือบุคคลกลุ่มนี้บ้าง

โอ๊ตคะ ต้อยด้วย

การทำงานวิจัยอย่างดี จะช่วยคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลเหล่านี้ได้

ควรหาเวลาคิดงานวิจัยที่แต่ละคนรับผิดชอบให้ดีนะคะ

ไม่ต้องรอ "สักวัน" ทำวันนี้เลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท