อินทรชิต
นาย ทนงศักดิ์ เล็ก แหล่งสนาม

การดูแลเด็กที่ถูกทารุณกรรมและทอดทิ้ง


การดูแลเด็กที่ถูกกระทำทารุณกรรมและถูกทอดทิ้ง

 สถาบันพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม Justice Officials Training Institute Office of Justice Affairs โทร. 0 2502 8258 โทรสาร 0 2502 8260 โทร. 0 2502 8257

 โทรสาร 0 2502 8251 ________________________________http://www.oja.go.th____________________________ การดูแลรักษาเด็กที่ถูกทารุณกรรมและทอดทิ้ง

พญ.นิรมล พัจนสุนทร

กรณีที่สงสัยว่าเด็กที่มาพบด้วยอาการบาดเจ็บเกิดจากการทารุณกรรม ให้ดำเนินการดังนี้

1. ควรรายงานให้ผู้ทำงานพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (child protective service , CPS) ทราบ ถ้ามีกฎหมาย ให้รายงาน ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ผู้ที่เป็นแพทย์, พยาบาล, ทันตแพทย์ ผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์ พี่เลี้ยง จะต้องรายงาน และไม่ควรปล่อยให้เด็กกลับบ้านโดยไม่ได้แจ้งหน่วย CPS ในขณะนี้วิธีการที่ดีที่สุด ควรจะคำนึงถึงว่าเด็กควรกลับบ้านได้หรือไม่ บ้านปลอดภัยหรือไม่ เด็ก ๆ คนอื่นในบ้านถูกกระทำด้วยหรือไม่

2. ให้การดูแลรักษา บาดเจ็บทางกาย ในกรณีที่ยังคลุมเครือว่าจะเกิดจากการทารุณในบ้านหรือไม่ อาจจะให้รักษาในโรงพยาบาลต่อเพื่อรักษาการบาดเจ็บทางกาย

3. กรณีที่พ่อแม่แสดงปฏิกิริยาโกรธ ให้เข้าใจว่าเป็นธรรมชาติที่จะรู้สึกเช่นนั้น ไม่ควรโกรธตอบหรือโต้เถียง ควรสนับสนุนให้พ่อแม่เข้าเยี่ยมเด็ก บุคลากรในโรงพยาบาลความแสดงความปรารถนาดีและต้องการช่วยเหลือเด็กและครอบครัว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การบำบัดและรักษาเด็กที่ได้ข้อสรุปว่าถูกทารุณกรรมทางกายแล้ว มีหลาย Model ได้แก่

การรักษาแบบหลายมิติหรือนิเวศวิทยา (Ecosystem Framework) เป็นแบบดังแผนผัง :

ความต้องการของเด็กด้านการส่งเสริมพัฒนาการ                     ศักยภาพของการทำหน้าที่บิดามารดา

         การสอนให้เด็กมีทักษะดูแลตนเอง                       -ให้ความปลอดภัยแก่ลูก

         การสอนให้เด็กรู้จักสังคมและการเข้าร่วมสังคม         -ให้ความอบอุ่นแก่ลูก

         การให้เด็กมีเอกลักษณ์และความมั่นคงในตนเอง        -การส่งเสริมให้ลูกมีศักยภาพ

         การพัฒนาทางอารมณ์และพฤติกรรมที่เหมาะสม             -การคุ้มครองและการกำหนดขอบเขตวินัยให้ลูก

          การศึกษาและสุขภาพ

 

 

 

ความปลอดภัย

และส่งเสริม

ศักยภาพของเด็ก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ครอบครัวและสภาพแวดล้อม

  • หน้าที่ของครอบครัว
  •  ความสัมพันธ์ในหมู่ญาติ
  • ที่อยู่อาศัย
  •  อาชีพการงาน และรายได้
  •  การปรับตัวของครอบครัวในสังคม
  •  มีชุมชนสนับสนุนครอบครัว

Main , Goldwyn และ Wolfe : ยังเน้นว่า.

1. การรักษาควรเน้นในเรื่องการแก้ไขวงจรของการทารุณกรรม (cycle of maltreatment)

2. การแก้ไขโดยการเปลี่ยนความสัมพันธภาพผู้ปกครอง-เด็ก จากลบให้เป็นบวก

3. การแก้ไขปัญหาทางอารมณ์และทางจิตของผู้ปกครอง

4. การแก้ไขความเปราะบางในตัวเด็ก, ครอบครัวที่ทำหน้าที่ได้ไม่ปกติ, และความเครียดจากชีวิต

    และสิ่งแวดล้อม เช่น ยากจน, ตกงาน และขาดการประคับประคองจากสังคม

 

รูปแบบการรักษามีหลายระดับดังนี้

1. การรักษาเฉพาะบุคคล (Individual psycho pathology)

2. การรักษาระดับครอบครัว (family dysfunction)

3. การแก้ไขสิ่งแวดล้อมและบรรเทาความเครียด

 

การหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับเด็ก

ในกรณีที่จำเป็นอาจจะต้องหาที่พักอาศัยและที่อยู่ใหม่ให้เด็กและฟื้นฟูเด็ก โดยพิจารณาจากปัจจัยดังนี้ คือ

1. เด็กแสดงความต้องการที่จะไปอยู่ที่อื่นที่ปลอดภัยกว่าบ้าน

2. มารดาหรือผู้ที่ปกครองเด็กที่ไม่ใช้ผู้กระทำไม่เชื่อว่าเด็กเล่าความจริงเกี่ยวกับการทารุณกรรมทางกายและทางเพศให้ฟัง, หรือผู้ปกครองที่ไม่ใช่ผู้กระทำไม่มีความเห็นใจเด็ก

3. ครอบครัวมีความยุ่งเหยิงและไม่ปลอดภัยต่อเด็ก

 

การรักษาพ่อแม่ที่กระทำทารุณกรรมลูก

1. ควรได้รับการรักษาในหน่วยงานพิเศษ เนื่องจากโอกาสไม่มารักษาอย่างต่อเนื่องสูง จึงต้องมี

    หน่วยงานที่สามารถติดตามได้ และเข้าใจความต้องการของเขา

2. พ่อแม่เหล่านี้มักมีประสบการณ์ถูกทอดทิ้ง และการไม่ยอมรับจากพ่อแม่ของตน รวมทั้งเคย

    ประสบกับความรุนแรงในบ้านมาก่อน จึงมักต้องการการฟูมฟักและการให้การช่วยเหลือจาก

    ผู้รักษา

3. พ่อแม่เหล่านี้มักมีทัศนคติ ไม่ไว้วางใจ สงสัยหวาดระแวงและต่อต้านต่อผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าตน

4. การบำบัดประกอบด้วย

4.1 การช่วยเหลือในการลดความตึงเครียดวิตกกังวลและการประคับประคอง ได้แก่การรับฟังความทุกข์กังวลของพ่อแม่ และมีความเห็นอกเห็นใจในประสบการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเขา โดยไม่ไปด่วนตัดสินถูกผิดในการกระทำของเขา

 

4.2 การเป็นแบบอย่างที่ดีของการเป็นพ่อแม่ โดยการให้พ่อแม่ได้เข้าใจพัฒนาการพื้นฐานของเด็กเพื่อแก้ไข การคาดหวังในพฤติกรรมของเด็กที่เกินกว่าวัยที่เป็นจริง เช่น ไม่ให้ร้องไห้ ให้ทำในส่งที่เกินความสามารถของเด็ก สอนวิธีการสร้างวินัยให้ลูกโดยวิธีการไม่ทำร้ายร่างกายลูก เช่น เรียนรู้วิธีการให้คำชม การกอดสัมผัสแสดงความดีใจเมื่อลูกทำได้ เป็นต้น

4.3 การรักษาเพื่อลงลึกไปถึงพยาธิสภาพทางจิตของพ่อแม่ เพื่อให้พ่อแม่เข้าใจตนเอง และหาวิธีแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งมักทำโดยจิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัด

4.4 การรักษาครอบครัว โดยการทำครอบครัวบำบัด เพื่อมุ่งเน้นให้มีการปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว การลดการทำให้เด็กเป็นแพะรับบาป และแก้ไขความขัดแย้งของสามีภรรยาและเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหาหรือการเผชิญปัญหาของครอบครัว

 

การดูแลรักษาที่ตัวเด็ก

การดูแลรักษาเด็กที่ถูกกระทำทารุณทางกาย แบ่งเป็น 4 ตอน คือ

1. การรักษาในระยะวิกฤติ

2. การรักษาปฏิกิริยาของเด็กต่อการบาดเจ็บ

3. การแก้ไขผลกระทบต่อการพัฒนาการทางอารมณ์และความผูกพันต่อพ่อแม่

4. การแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่เป็นความเปราะบางที่ทำให้ให้เด็กถูกเลือกเป็นเหยื่อ

 

การรักษาในระยะวิกฤติ หมายถึง ในภาวะที่เด็กได้รับบาดเจ็บรุนแรงต้องการช่วยเหลือชีวิตด่วน การรักษาจึงประกอบไปด้วย

- การรักษาทางกายเพื่อช่วยชีวิตและบรรเทาความเจ็บปวด

- การให้ที่พักอาศัยที่ปลอดภัยและได้รับการดูแลในสิ่งที่เด็กที่เด็กควรได้รับ เช่น บรรเทาหรือปลอบ

   ให้หายกลัว, หายหิว, หายอ่อนเพลียและพักผ่อนได้

- เด็กได้รับการช่วยเหลือให้ได้มีกิจกรรมที่เหมาะสมตามวัย เช่น การเล่น การเรียน การมีเพื่อน

- การหาวิธีช่วยให้เด็กได้แสดงความรู้สึกออกมาได้ และเด็กได้รับการยอมรับ ความรู้สึกอันนั้น ได้แก่การพูดระบายความรู้สึกต่อเหตุการณ์, การร้องไห้, การวาดรูป, การเล่นซ้ำ ๆ เป็นต้น

การรักษาปฏิกิริยาที่เกิดจากการบาดเจ็บของเด็ก

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอาจแสดงออกดังนี้

1. ความวิตกกังวลอันเป็นอาการเฉียบพลันจากการถูกทำร้าย (Acute stress disorder)

2. อาการวิตกกลัวเกินระยะเวลาที่บาดเจ็บผ่านไปแล้ว (Post traumatic stress disorder)

3. ความรู้สึกเศร้าและการทำร้ายตนเอง

4. มีพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้าน หรือเกเร

5. มีอาการวิตกกังวลที่แสดงออกมาเป็นอาการทางกาย (Psychosomatic reaction)

การรักษาความวิตกกังวลจากการถูกทำร้าย (Acute stress disorder)

เด็กอาจจะมีอาการวิตกกังวลมาก หวาดกลัว และอยู่ในความรู้สึกงุนงง บางทีอาจมีอาการของ Dissociation เช่น การรับรู้ตนเองต่อเหตุการณ์เสียไป จำไม่ค่อยได้ เหมือนอยู่ในความฝัน การรักษาได้แก่ การช่วยให้เด็กได้ระบายความรู้สึก การยอมรับปฏิกิริยาที่เด็กเกิดขึ้นว่าทุกคนที่เกิดเหตุการณ์แบบเขาย่อมตกอยู่ในสภาพแบบเขา เด็กที่มีอาการมากอาจจะต้องให้ยาบรรเทาอาการวิตกกังวล เช่น Diazepam, Imipramine หรืออาจจะต้องใช้ antipsychotic ในขนาดต่ำ ๆ

การรักษาความวิตกกลัวที่เกิดเกินระยะเวลาที่ถูกกระทำผ่านไปแล้ว หรือ Post –traumatic stress disorder ( PTSD )

เมื่อเวลาผ่านไปเกิน 1 เดือน เด็กก็ยังมีอาการหวาดกลัว วิตกกังวลและภาพเหตุการณ์ในอดีตย้อนขึ้นมาในความคิดอีก (Reexperience) มีอาการตื่นตระหนกง่ายต่อเสียง หรือเหตุการณ์ทั่วไปที่อาจจะคล้ายเหตุการณ์ที่ถูกระทำทารุณ (hyperarousal) มีความพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้ตกใจเหล่านั้น (avoidance) อาการอาจจะเกิดหลังเหตุการณ์ไปแล้วสักระยะ PTSD มักจะเป็นอยู่นาน หรืออาจจะเป็นอยู่ตลอดไปจนเป็นผู้ใหญ่ ขึ้นกับความรุนแแรงและยะยะเวลาของการถูกทารุณ ความบอบบางของแต่ละคนต่อความเครียด

การรักษา PTSD ได้แก่ การรักษาด้วยยา ถ้าอาการ PTSD รุนแรงจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน ยาที่ใช้ได้แก่ clonidine, propanolol, SSRI, ร่วมกับการรักษาโดยวิธีอื่น ได้แก่ การบำบัดเฉพาะบุคคล (Individual therapy) ได้แก่ การให้เด็กได้มีโอกาสฉายความรู้สึกออกมา (projecting) โดยการวาดรูป, การเล่น, การเล่านิทาน ตามด้วยการคุยกันเรื่องที่เกิดขึ้นและการรับรู้เหตุการณ์ของเด็ก, ความรู้สึกของเด็ก, การโทษตัวเอง, การต้องการแก้แค้น จากนั้นให้สรุปตามจริงและคาดการเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอีกและซักซ้อมวิธีการป้องกัน ในการรักษา avoidance โดยการไม่ส่งเสริมการหลบหนีหรือกลบเกลื่อนความจริง เหมือนจะทำให้เด็กอยู่ดี ไม่มีความเครียด แต่จะมีอาการของ hyperarousal และ reexperience มาแทน การรักษาด้วยการ desensitization และ relaxation และพฤติกรรมบำบัดวิธีอื่นก็นำมารักษา PTSD รวมทั้งการทำกลุ่มบำบัดในเด็กที่มีประสบการณ์เดียวกัน โดยมีการให้ความรู้ ความเข้าใจ ในการเกิดอาการ การแบ่งปันความรู้สึกร่วมกัน ช่วยทำให้เด็กที่ไม่กล้าเปิดเผย กล้าเปิดเผยมากขึ้น แลกเปลี่ยนทักษะในการแก้ปัญหา เผชิญปัญหา วิธีการรักษาอื่นคือการทำครอบครัวบำบัดใน PTSD เพื่อช่วยบรรเทา PTSD ในสมาชิกครอบครัวคนอื่นอีก และยังช่วยการแก้ไขการหลบปัญหาและการปฏิเสธความจริงที่เกิดขึ้นต่อเด็ก

การรักษาความรู้สึกเศร้า ขาดคุณค่าในตัวเอง และการทำร้ายตัวเอง

เด็กที่จะเศร้ามักจะเป็นเด็กหญิง และกลุ่มวัยที่โตขึ้น, พ่อแม่ไม่เชื่อว่าลูกถูกทารุณกรรม, ครอบครัวไม่สนับสนุนช่วยเหลือเด็ก, ไม่ค่อยมีเพื่อน, มีแม่ค่อนข้างซึมเศร้า เด็กเหล่านี้อาจจะแสดงอารมณ์เศร้าโดยการทำร้ายตนเองและใช้ยาเสพติด พ่อแม่ที่เคยพยายามฆ่าตัวตายให้ลูกเห็น ลูกก็จะมีโอกาสกระทำตามค่อนข้างสูง วิธีการรักษามีทั้งการรักษาด้วยยาต้านเศร้า ซึ่งจะใช้ในกรณีเด็กเศร้ามากไม่สามารถนอนหลับได้ การทำจิตบำบัดและการทำครอบครัวบำบัด สอนให้เด็กรู้จักวิธีบอกผู้รักษาเมื่อมีความเครียด เศร้าแล้วคิดทำร้ายตัวเอง

การรักษาพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้านหรือเกเร

ในเด็กที่ขาดคุณค่าในตัวเองเนื่องจากถูกทารุณกรรมมายาวนาน จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวและใช้ความรุนแรง โดยดูแบบอย่างมาจากผู้ปกครอง เด็กที่ขาดคุณค่าในตัวเอง ไม่รักตัวเอง ไม่นับถือตัวเอง และไม่แคร์ต่อการกระทำใดๆของตัวเอง รวมทั้งยังเป็นปรปักษ์ต่อผู้ใหญ่ และสังคม เนื่องจากขาดความไว้ใจและขาดความผูกพัน (attachment)  การรักษาจึงเน้นที่ต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมก้าวร้าวเกิดจากพื้นฐานในใจที่ขาดความสุข ต้องการความรักและสร้างความไว้ใจ การรักษารายบุคคล เพื่อสร้างความไว้ใจและความผูกพัน จะทำให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวน้อยลง

การรักษาอาการทางกายที่เกิดจากความวิตกกังวล ( Psychosomatic symtom )

เด็กที่ถูกกระทำทารุณกรรมบางรายอาจจะแสดงอาการออกมาเป็นอาการทางกาย ได้แก่อาการปวดหัว ปวดท้อง หายใจไม่อิ่ม ฯลฯ ซึ่งมักจะมีต้นเหตุมาจากการเก็บความรู้สึกโกรธ, ความกลัว ไม่สามารถเปิดเผยเหตุการณ์มาเป็นคำพูดได้ การรักษาจึงเน้นที่การตรวจแยกที่สาเหตุทางกายออกไปก่อน ถ้าแน่ใจว่าเป็นเรื่องของจิตใจ ก็มุ่งเน้นการทำจิตบำบัด

การแก้ไขผลกระทบต่อการพัฒนาการทางอารมณ์ และความผูกพันต่อพ่อแม่

การกระทำทารุณกรรมต่อเด็กมักเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ทำให้ไปขัดขวางพัฒนาการของเด็กตั้งแต่เยาว์วัย ผลกระทบเหล่านั้นได้แก่

1. การพัฒนาความสัมพันธ์กับพ่อแม่ ( Attachment )

2. การพัฒนาการทางอารมณ์ ( Emotional life )

3. การพัฒนาคุณค่าและเอกลักษณ์ของตัวตน ( Sense of self )

4. การพัฒนาการทางเพศและเอกลักษณ์ทางเพศ ( Sexual and gender role )

 

 

การรักษาปัญหาและแก้ไขปัญหาการพัฒนาการทางด้านความผูกพันกับพ่อแม่ ( Attachment )

 

เด็กที่ถูกทารุณกรรมจากพ่อแม่ มักจะเสียการพัฒนาการ ในความไว้วางใจ ( Trust ) ซึ่งพ่อแม่ควรจะเป็นผู้ที่รักและคุ้มครองเด็ก แต่กลับกลายเป็นผู้ทำร้ายเด็ก ทำให้เด็กเสียความไว้วางใจ เด็กโกรธและไม่เป็นมิตร เกิดความรู้สึกถูกหักหลัง (Betrayal ) การช่วยเหลือเด็ก จึงต้องประเมินลักษณะความผูกพันของพ่อแม่ที่มีต่อลูกว่าเป็นลักษณะที่ขาดความมั่นคงต่อเด็กหรือไม่ ( Inscurid attachment )เด็กมีลักษณะกังวลต่อความผูกพันและพยายามจะเอาใจผู้ใหญ่หรือไม่ หรือเด็กมีความต้องการความผูกพันแต่ก็กลัวจะถูกปฏิเสธจึงไม่แสดงว่าอยากให้ผู้ใหญ่เข้าช่วย

การรักษาประกอบไปด้วย 3 วิธีการคือ

1. การรักษาเฉพาะบุคคล ได้แก่การที่ผู้รักษาทำหน้าที่อุ้มชูการสร้างความผูกพันให้เด็กโดยกระบวนการจิตบำบัด ผู้รักษาต้องมีความมั่นคงและเชื่อถือได้ เด็กรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้ผูกพันกับผู้รักษา ทำความเข้าใจและแก้ไขความคิดที่สับสนเกี่ยวกับการเป็นพ่อแม่ที่ดีพอ ( good enough mother ) เพื่อสร้างความผูกพันที่มั่นคง

2. การรักษาครอบครัว ผู้รักษาจะทำความเข้าใจให้พ่อแม่เด็กทราบบทบาทของผู้รักษาและบทบาทของพ่อแม่

ที่ช่วยให้เด็กดีขึ้น ทำหน้าที่ประสานสัมพันธ์ใหม่ระหว่างพ่อแม่ลูกและจัดกรอบความคิดใหม่เพื่อให้เข้าใจ

พฤติกรรมของลูกและหาทางตอบสนองให้สอดคล้องกับพฤติกรรมความเชื่อภายในของครอบครัวนั้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นมีต้นเหตุจากหลายปัจจัยมิใช่เกิดจากผู้กระทำเอง จึงควรหาสาเหตุและช่วยกันแก้ปัญหา

ร่วมกันกับผู้รักษา

3. การรักษาโดยกลุ่มบำบัด มุ่งเน้นการสร้างกลุ่มที่มีขอบเขตที่แน่นอนช่วยเหลือกันและความรู้สึกปลอดภัย

แบ่งปันความทุกข์ความสุขกัน และชื่นชมกับการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

การแก้ไขปัญหาการพัฒนาการด้านอารมณ์ ( Emotional dysregulation )

ในการพัฒนาการตามปกติ เมื่อเด็กเกิดมา การควบคุมอารมณ์จะเกิดขึ้นจากการสอนของพ่อแม่ โดยเริ่มต้นจากการที่พ่อแม่ปลอบประโลมบรรเทาความทุกข์ให้ และสอนให้เด็กรู้จักสงบลง และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับเด็กมิให้เผชิญกับความเศร้ามากไปหรือไม่มีเลย เด็กที่ถูกทารุณกรรมได้รับความเครียดท่วมท้นเกินความสามารถที่จะจัดการได้ จึงส่งผลให้เสียการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง แสดงออกมาได้หลายอย่างได้แก่ วิตกกังวล, ตื่นตระหนก ( panic ), ไร้ความรู้สึก, แตกแยกร่าง

( Dissociation ) ไวต่อตัวเร้า ( Hyperarousal ) ย้อนเหตุการณ์น่ากลัวเดิมๆ, มีความก้าวร้าว, โกรธอาละวาด, ต้องการแก้แค้น เป็นต้น

 

การรักษาประกอบไปด้วย 3 วิธีการคือ

1. การรักษาเฉพาะบุคคล เพื่อให้ลดความกังวลด้วยการเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหาการแสดงออกของอารมณ์

ในลักษณะเหมาะสม ได้แก่ การพูด, การรู้จักอารมณ์ของตน, การเล่าถึงอารมณ์ที่มีความขุ่นเคือง, ความโกรธที่ถูกทารุณกรรม ส่วนวิธีควบคุมความโกรธด้วยการฝึก relaxation, ฝึกทักษะในการเปลี่ยนแนวความคิดที่ทำให้เกิดอารมณ์ตอบสนองที่แตกต่างออกไป ทำให้ได้สัมผัสกับเหตุการณ์อีกครั้งโดย การคิด, จินตนาการ, การเล่น, การไปในสถานที่เกิดเหตุ แล้วฝึกการควบคุมอารมณ์

2. การรักษาโดยการทำครอบครัวบำบัด โดยการป้องกันการเกิดประสบการณ์ร้ายซ้ำ โดยการรักษาผู้เป็น abuser ผู้ที่เข้าข้าง abuser , คอยสอดส่องดูพฤติกรรมทางเพศ ในครอบครัวให้เป็นไปอย่างเหมาะสม สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมในครอบครัวที่ปลอดภัยต่อกัน การสอนให้พ่อแม่เป็นพ่อแม่ที่คุ้มครองเด็กเป็น

3. การรักษาโดยกลุ่มบำบัด การดำเนินกลุ่มทำเช่นเดียวกับการรักษาแบบส่วนบุคคลโดยพยายามให้กลุ่มเป็น

ที่ที่ปลอดภัย สามารถแสดงความคิดเห็นและอารมณ์ได้ พยายามชี้ให้เด็กเห็นว่าการที่มีความก้าวร้าว

 กระสับกระส่าย เกิดจากการพยายามปิดบังความจริงบางอย่าง ชี้แจงให้เห็นว่าผู้ที่ถูกเป็นเหยื่อ ก็มักจะแก้ไข

ปัญหาด้วยการทำให้คนอื่นเป็นเหยื่อต่อไป ซึ่งจะเกิดเป็นวัฎจักรของการทารุณกรรม จึงควรหาวิธีอื่นที่

เหมาะสมในการเลี้ยงดูและสอนระเบียบวินัยให้ลูก

 

การแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางคุณค่าและเอกลักษณ์ของตัวตน ( Self – concept )

การทารุณกรรมต่อเด็ก ทำให้เด็กได้รับความเครียดและความเจ็บปวด ผู้กระทำยังมีวิธีการทำให้เด็กคิดว่า การกระทำเหล่านั้นเกิดขึ้นเนื่องจากเด็กเป็นผู้ก่อให้เกิด เป็นผู้รับผิดชอบจึงส่งผลให้เด็กพัฒนาตัวตนไปในทางลบ และเปราะบาง การรักษาจึงมีเป้าหมายเพื่อแก้ภาพหรือเหตุการณ์ที่ถูกต้องไม่ให้รู้สึกว่าเด็กเองเป็นต้นเหตุ โดยค้นหาเหตุการณ์ที่ตรงตามความเป็นจริงเพื่อแก้ไขความคิดเดิมๆ แล้วพัฒนาความเข้มแข็งให้ต่อสู้อยู่ในสังคม รวมทั้งเมื่อไปพบผู้ที่จะเอาผลประโยชน์ก็สามารถหาทางแก้ไขได้โดยไม่ตกเป็นผู้สิ้นหวังไร้พลังหรือหาทางออกด้วยการแก้แค้น ( ไปเป็น abuser ) การดูแลรักษาจะเข้าไปดูแลทั้งในลักษณะส่วนบุคคล, กลุ่มบำบัด และครอบครัวบำบัด

การแก้ไขปัญหาที่มีผลต่อการพัฒนาการทางเพศ ในกรณีที่มีการทำทารุณทางเพศร่วมด้วย : จะมีรายละเอียดในเรื่องการทารุณกรรมทางเพศเด็ก

การแก้ไขปัญหาที่เป็นพื้นฐานของเด็กที่ส่งเสริมให้ถูกกระทำทารุณกรรมทางกายได้มาก ปัญหาเหล่านั้นได้แก่

- เด็กคลอดก่อนกำหนด เลี้ยงยาก

- เด็กปัญญาอ่อน, มีความพิการ, พัฒนาการช้า

- เด็กโรคสมาธิสั้น, อารมณ์ร้อน, เลี้ยงยากมาแต่กำเนิด

 

ปัญหาเหล่านี้จะมีผลต่อการสร้างความผูกพัน ในเด็กปกติแรกเกิดย่อมมีลักษณะน่ารัก น่าสัมผัส ยิ้มแย้มแจ่มใส ก็จะกระตุ้นให้เกิด bonding ได้มากกว่าเด็กที่นอนเฉยอ่อนปวกเปียก เช่นในเด็กคลอดก่อนกำหนด หน้าตาน่าเกลียด มีความพิการ ส่วนในเด็กเลี้ยงยากมาแต่เล็ก, ซน, อารมณ์ร้อน ก็มักถูกพ่อแม่ลงโทษมากยิ่งขึ้น พ่อแม่จะรู้สึกเครียดจนควบคุมตัวเองไม่ได้จึงแสดงความก้าวร้าวต่อเด็ก

การแก้ไขจึงเน้นการป้องกันไม่ให้เกิด ได้แก่

1. การเพิ่มศักยภาพของผู้ที่มาเป็นพ่อแม่ก่อนการมีลูก ได้แก่การให้โปรแกรมการศึกษาในการทำหน้าที่เป็นพ่อแม่

2. การรณรงค์ผ่านทางสื่อ การประชาสัมพันธ์ การออกไปให้ความรู้ เพื่อให้พ่อแม่รู้ว่าจะขอความช่วยเหลือได้ที่ไหน ก่อนที่จะทนลูกไม่ไหวและต้องทำโทษอย่างรุนแรง

3. การเข้าหากลุ่มเสี่ยง เช่น แม่ที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง, พ่อแม่วัยรุ่น, มีปัญหาทางเศรษฐกิจ, มีโรคแทรกขณะตั้งครรภ์และคลอด จัดโปรแกรมให้เน้นการสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูกโดยการให้สัมผัสลูกให้เร็วหลังคลอดและการอยู่ด้วยกัน การจัดโปรแกรมเข้าไปติดตามที่บ้านเพื่อให้ความช่วยเหลือแนะนำประคับประคองพ่อเม่ที่มี Riskสูง

 

การรักษาเด็กที่ถูกทารุณกรรมทางเพศ

เด็กที่ถูกทารุณกรรมทางเพศ อาจเกิดร่วมกับการทารุณกรรมทางด้านอื่นเช่นทั้งทางกาย, ทางด้านอารมณ์ร่วมด้วยและความรุนแรงในบ้านเกิดผลกระทบก็ขึ้นกับปัจจัยดังนี้

1. อายุของเด็กขณะเกิดเหตุ

2. อุปนิสัยใจคอและความแข็งแกร่งของเด็ก

3. ระยะเวลาและความถี่ของการทารุณ

4. ความรุนแรงของความบาดเจ็บและการบังคับข่มขู่

5. ความสัมพันธ์ของเด็กกับผู้กระทำ

6. ครอบครัวยอมรับการบอกเล่าของเด็กเพียงใด

7. การเร่งรีบของหน่วยงานที่พบเห็นและการให้ความช่วยเหลือ

8. คุณภาพและความง่ายในการเข้าไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองเด็ก

 

เด็กที่ถูกทารุณกรรมทางเพศ จะมีลักษณะและปัญหาเช่นเดียวกับที่เขียนไว้ในเรื่องการรักษาการทารุณกรรมในเด็ก( Child abuse )การรักษาจึงเริ่มตั้งแต่ในระยะวิกฤติ ซึ่งการให้ความปลอดภัยเป็นเรื่องแรก ซึ่งในการทารุณกรรมทางเพศจะต้องรักษาเรื่องการติดเชื้อและป้องกันการตั้งครรภ์ให้แก่เด็กด้วย การรักษาอื่นๆก็จะเช่นเดียวกับการรักษา Child abuse ดังที่กล่าวมาแล้ว

แต่จะขอเพิ่มเติมผลกระทบโดยเฉพาะที่ Finkelhor และ Browne ( 1986 ) ได้อธิบายไว้ คือ

1. Traumatic sexualization

2. Powerlessness

3. Stigmatization

4. Betrayal

Traumatic sexualization หมายถึง การที่เด็กได้รับการกระตุ้นทางเพศและส่งเสริมให้แสดงออกทางเพศก่อนวัยอันควร เด็กจึงใช้พฤติกรรมทางเพศมาเป็นตัวแลกเปลี่ยนกับความต้องการด้านต่างๆของตนเอง เช่น ความรัก, ขนม, สิ่งของ เป็นต้น

Powerlessness หมายถึง การขาดการมีพลังในตนเองซึ่งทำให้เด็กรู้สึกสิ้นหวัง จำยอมและเกิดความหวั่นกลัว

Stigmatization หมายถึง ความรู้สึกมีตราบาป รู้สึกว่าตนเป็นผู้ผิดจากการทารุณกรรมที่เกิดขึ้น รวมทั้งคนในครอบครัวหรือเพื่อน ก็เห็นว่าเด็กคือผู้มีส่วนทำให้เกิด ทำให้เด็กขาดการนับถือตนเองและอับอาย

Betrayal หมายถึง ความรู้สึกถูกทรยศหักหลังจากผู้ที่เป็นพ่อแม่ที่กระทำต่อเขาซึ่งพ่อแม่สมควรจะเป็นผู้ที่ให้ความรัก เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองเด็ก ทำให้เด็กเกิดความไม่ไว้วางใจใครต่อใครไปหมด มีความโกรธและไม่เป็นมิตร

โมเดลของ Finkelhor และ Browne ( 1986 ) ที่กล่าวมานี้ทำให้เราเข้าใจผลของ Sexual abuse ที่กระทบต่อเด็กที่ถูกกระทำมานานค่อยเป็นค่อยไปแต่ไม่ได้อธิบายในระยะเฉียบพลัน เช่นการถูกข่มขืนจากผู้เป็น abuser ซึ่งถ้ารุนแรงก็จะเกิดอาการของความเครียดเฉียบพลันของการถูกทารุณและเกิด PTSD ( Post traumatic stress disorder ) ดังที่กล่าวในเรื่อง Child abuse ตอนต้น

การดูแลรักษา Child sexual abuse มีเป้าหมายดังนี้

1. ระยะแรก คือการช่วยเหลือให้เด็กปลอดภัยจาการถูกกระทำซ้ำ

2. แก้ไขความวิกฤติที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก, ผู้ปกครองที่ไม่ใช่ผู้กระทำ ได้แก่อาการวิตกกังวล, วิกฤติในบ้าน

3. ป้องกันการเกิดผลกระทบต่อบุคลิกภาพและผลระยะยาวอื่นๆดังที่กล่าวมาแล้วในเรื่อง Child abuse

 

วิธีการมี 3 วิธีการใหญ่ๆคือ

1. การรักษารายบุคคล ( Individual psychotherapy ) รวมทั้งการรักษาด้วยการเล่น ( play therapy )

2. การรักษาด้วยกลุ่มบำบัด ( group therapy )

3. ครอบครัวบำบัด ( family therapy )

 

 

สิ่งที่มุ่งเน้นในการรักษา ได้แก่

1. อาการเครียดวิตกกังวลจากการถูกทารุณกรรม โดยการให้เด็กได้ระบายโดยการเล่น, การวาดภาพ, การศิลปะ, ค่อยๆให้เด็กได้เล่าถึงความทุกข์, ความเจ็บปวดและความโกรธ แทนที่จะแสดงออกทางพฤติกรรม

2. การถูกทรยศ ( Betrayal ) และการช่วยสร้างความไว้วางใจ ( trust ) ผู้รักษาควรเริ่มจากการสร้างสัมพันธ์กับเด็ก เด็กที่ถูก abuse มักจะมีความจงรักภักดี ( loyalty ) ต่อผู้ปกครองที่เป็น abuser และไม่กล้าเปิดเผยเพราะกลัวจะเป็นผู้ทรยศผู้รักษาจึงไม่ควรผลักดันให้เด็กโกรธ เกลียด abuser และต้องเอามาลงโทษซึ่งจะทำให้เด็กไม่ร่วมมือ เด็กเองก็ต้องการความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ แต่ก็มักจะแสดงออกต่อผู้รักษาในลักษณะไม่แน่ใจ ทดสอบว่าจะช่วยเขาจริงหรือไม่

3. การที่เด็กมีความรู้สึกเป็นตราบาป ( Stigmatization ) ทำให้เด็กรู้สึกผิด, อับอายและเศร้า เด็กบางคนอาจคิดฆ่าตัวตาย ผู้รักษาควรค้นหาความรู้สึกนึกคิดทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเด็กที่เป็นเหยื่อ ถ้าสามารถช่วยทำให้ผู้กระทำ ( abuser ) สามารถยอมรับว่าตนกระทำต่อเด็กและอธิบายให้เด็กเปลี่ยนความรู้สึกไม่ดีต่อตนไปสู่เหตุผลของความเป็นจริงคือเป็นการกระทำของผู้ใหญ่เอง จะช่วยเหลือเด็กได้เป็นอย่างมาก

4. การสับสนในบทบาทของตน เด็กจะสับสนว่าตนควรจะมีหน้าที่อย่างไรในบ้าน เด็กอาจจะคิดว่าตนต้องทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ ต้องบริการพ่อทางเพศ ต้องรับผิดชอบเรื่องในบ้าน ปัญหาของพ่อแม่ที่ขัดแย้งกัน การช่วยเหลือจึงต้องทำให้เด็กและพ่อแม่เล่นบทบาทที่ถูกต้อง บทบาทของลูกคือต้องการความรักการปกป้องคุ้มครองและอบรมเลี้ยงดูจากพ่อแม่

5. ภาวะมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนวัยอันควร ซึ่งจะทำให้เด็กแสดงออกมีพฤติกรรมทางเพศเกินวัย และใช้เพศเป็นเครื่องมือสื่อสารกับพ่อแม่และผู้อื่น หรืออาจจะกลายเป็นหวาดกลัวและหลีกเลี่ยงสิ่งที่เกี่ยวกับเพศ การรักษาจึงต้องจำกัดขอบเขตให้เด็กถ้าเด็กมีลักษณะกระตุ้นหรือยั่วยวนทางเพศ เด็กจะต่อยๆควบคุมตนเองได้ดีขึ้น สอนเทคนิคให้แสดงความต้องการหรือจะสื่อสารกับใครด้วยคำพูด ใช้เทคนิคทางพฤติกรรมบำบัดในการลดความหวาดกลัวและการหลีกเลี่ยง

 

การดูแลรักษาเด็กที่ถูกทารุณกรรม ผู้รักษาต้องรู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ ผู้รักษาบางคนอาจจะเข้าไปเห็นใจผู้ถูกกระทำและแยกไม่ออกว่าตนเองกำลังโกรธเคืองและต้องการเอาผู้กระทำมาลงโทษ รวมทั้งอาจเกิดความต้องการช่วยเหลือเด็กอย่างมากเนื่องจากจินตนาการว่าตนเองช่วยได้ การที่ผู้รักษาจู่โจมและเข้าไปช่วยเด็กมากไปจะทำให้เด็กทนไม่ได้เพราะเด็กก็จะมีความรู้สึกจงรักภักดีต่อผู้กระทำที่เป็นพ่อแม่ของตน ซึ่งจะทำให้ผู้รักษาโกรธเด็ก ไม่เข้าใจและทนไม่ได้ที่ไม่ได้รับความร่วมมือ การทำงานทางด้านการช่วยเหลือเด็กจึงต้องเข้าใจจิตใต้สำนึกของตนว่ามีอะไรชักนำอยู่ทำให้เราสนใจมาทำงานด้านนี้

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ร้อยเอ็ด7
หมายเลขบันทึก: 317766เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2009 23:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เด็กถูกทำร้าย+ทอดทิ้งตั่งแต่วัย15

เท่าที่อ่านรักษาผมไม่ได้แน่ๆ  ผมโดนแต่เล็ก ภาพจำไดีติดตา ถ้วยกาแฟปามา สาเหุ...ไม่รู้ พ่อเลี้ยงเอาตัวบังให้ ....พอโตอีนิดโดนส่ง รร ประจำ   ไม่ได้ทำไรผิด รุ่นพี่หาว่าขโมยเกมเค้า เกมส์ เป็นตลับ ที่บ้านไม่มีเครื่อง จะเอาไปเพื่อ ไม่มีใครฟังว่าไม่ได้ทำ เพราะเค้าบอกว่าเห็น ทั้งๆไม่จริง โดนอีก สารพัด ใช้อะไรตี ไม่กวาด ไม้ไรได้ไกล้มือไม่สนใจว่าใหญ่แค่ไหน  โดนหมดเข็มขัดชิลๆ  ฟาดกบาลจนเห็นดาวบ่อยมาก พอโตอีกหน่อย หาว่าดูดบุหรี่ ทั้งๆกูดูดไม่เป็น ไปเล่นบาสทีมของ รร.หาว่าไปเทียว มีหนังสือจากครูว่าเล่นบาสใช้ได้สามวันไม่ยอมให้เล่น??? ไปเตะบอลกางเกงขาด โดนอีก กลับจาก .รร. ต้องมาถูแว็กพื้นปาเก้ไม้ที่ใช้ ชแล็ค เครือบ แต่นี่เอาแว็ก มาไห้ถูไม่ถูก็ด่าพาลตีอีก กลับช้าไม่ได้ เลย  ขนาด โทรมาบอกไปงานวันเกิดเพื่อน ตอนวันศุกร์จะกับวันเสา พอกลับมาโดนอีก ไรวะ  พอสอบเข้า รร

คนสอบระดับหมื่น สอบติด สารพัดปันหา มาเลย เรียนมไม่จบเพราะไม่ยอมจ่ายค่าเทอม หาว่าเราหนีเรียน กูเรียนตลอด จนต้องเก็บของเดินออกมาเลยเพราะอยู่ไปคงไม่มีไรดี  ออกมาโดนด่าร่ำไป เพาะญาติว่าแก แต่แกสั่งไม่ให้

ใคร ช่วยเหลือ และทุกคนรู้อารมแก  ต้องออกจาเรียน ไปทำงานเพื่อเอาชีวิตรอด  อดเหรอ บ่อยไป จนสักพัก ดิ้นรนจนทำงานบริษัท เนื่องจากการ พัฒนาตัวเองอยู่แผนกคอม บริษัท มีแฟน ท้องครับเลยขอความช่วยเหลือ คำตอบ.....คงไม่ต้องบอก เลยทำไห้เบื่อชีวิตแม่งไรนักหนาวะ ไม่อยากให้กูเกิดไม่ทำแท้งแม่งเลย แม่ภาษานี่อย่าเป็นเลย  อ่านแล้วไม่ต้องด่าผม  มีอีกเยอะ  น้องคนรองจากผม (คนละพ่อ)แกก็ไม่ส่งเรียน อามารับส่งแทน  ที่ผมไม่มีด้านพ่อเพราะ แกกีดขวางพ่อๆมาหาตั่งแต่เล็กๆจน  พ่อตาย ไม่เคยเห็นหน้า ยังอีกสารพัด จะทำ แ-ม่  เรียกได้หรอ แถมในงานๆนึง บอกคนอื่นต่อหน้าน้องคนรองว่ามีลูกแค่2 คน น้องร้องไห้เลย นี่สินิการกระทำที่แม่ควรทำ



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท