หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๔) ก้าวแรกและก้าวต่อของการฝึกเขียน


ผ่านพ้นจากเดือนแรกผมก็เริ่มเขียนบันทึกใหม่ ๆ เข้าไปแบ่งปันและแลกเปลี่ยนใน G2K บ่อยครั้งขึ้น ทั้งเรื่องราวจากการเดินป่าเขาเจ็ดยอด (เดินป่าเขาเจ็ดยอด) เรื่องราวของการเลี้ยงลูกสาว (เฌวา) เรื่องราวจากการไปเรียนรู้ตามเวทีต่าง ๆ (เรียนรู้ KM) เรื่องราวของคนกลุ่มคนที่มีจิตอาสา (จิตอาสา) ฯลฯ

   แม้ตนเองจะไม่ชอบเขียน แต่พื้นฐานลึก ๆ แล้วชอบคนเขียนหนังสือ ชอบนักเขียน โดยส่วนตัวแล้วนักเขียน “ดูดี” และ “เท่”เวลามีคนแนะนำว่าเป็นนักเรียน จะมีความรู้สึกที่ดีให้ รวมทั้งถ้าได้เห็นงานเขียนของคนที่รู้จักก็ยิ่งชอบ และจะต้องอ่านอยู่เสมอ เหตุประการนี้น่าจะสืบเนื่องมากจากการอ่านด้วย

   แต่การชอบของผมก็ไม่มีอิทธิเพียงพอ หรือเป็นปัจจัยส่งผลพอที่จะทำให้ผมเริ่มลงมือเขียนและเขียนได้

   ในระหว่างดำรงเพศสมณะ ผมเข้าไปมีส่วนร่วมในงานพัฒนาหลากหลาย เป็นเพราะพระสงฆ์ที่เข้าไปมีบทบาทในงานพัฒนานั้นมีไม่มากนัก ผมจึงมักได้รับเชิญให้เป็นคณะกรรมการต่าง ๆ หลายต่อหลายชุด เช่น คณะทำงานกองทุนเพื่อสังคม (SIF) จ.เชียงใหม่ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อสังคมภาคเหนือ คณะทำงานภูมิภาคลูกโลกสีเขียว ภาคเหนือ เป็นต้น

   ในการเป็นคณะทำงานภูมิภาคลูกโลกสีเขียวปีหนึ่งนั้น ผมมีโอกาสได้พบกับ พี่นนท์ - สุวิชานนท์ รัตนภิมล ซึ่งงานเขียนของพี่นนท์ได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทงานเขียน และได้รับเชิญให้เข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานฯ ด้วย

   ในแต่ละปี คณะทำงานฯ จะต้องเดินทางไปลงหมู่บ้านสำรวจและคัดเลือกหมู่บ้านเพื่อให้รางวัล ใช้เวลายาวนานเป็นสัปดาห์ สัปดาห์นั้นผมจึงเดินทางร่วมมีโอกาสได้พูดคุยกับพี่นนท์ ตลอดทั้งสัปดาห์

   ผมได้รับแรงบันดาลใจเป็นอันมากจากการพูดคุย เป็นเพราะเป็นการพูดคุยกัน ผมจึงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนและนำเสนอเรื่องราวที่ผมรับรู้มา และได้รับการกระตุ้นให้เขียนเรื่องราวที่เล่าออกมา จำได้แม่นว่าเรื่องราวของสมสมบูรณ์มาก มีทั้ง ฉาก ตัวละคร และเรื่องราว

   ผมเก็บความประทับใจนั้นไว้นานหลายปี กว่าจะได้เริ่มลงมือเขียน

   ผมมีโอกาสเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการเขียนครั้งหนึ่ง เป็นการฝึกอบรมนักข่าวภาคประชาชน จัดโดยสำนักข่าวประชาธรรม ตอนนั้น พี่ดา–สุชาดา จักรพิสุทธ์ (อดีตผู้ก่อตั้งและผู้บริหารนิตยสารสารคดี) และทีมงานมาฝึกอบรมให้ ผมได้หัดเขียนจริง ๆ จัง ๆ จากเรื่องราวที่มีอยู่ งานเขียนคราวนั้นเป็นงานเขียนในลักษณะรายงานข่าว จำได้ว่าระยะเวลาอบรม ๓ วัน ได้เขียนข่าวไป ๒ ชิ้น

   กล่าวได้ว่า การเข้าอบรมนั้นเป็นจุดเริ่มต้นการเขียนของผม ซึ่งในขณะนั้นกองทุนเพื่อสังคม ได้สนับสนุนให้จัดทำหนังสือพิมพ์ผีปันน้ำ เป็นหนังสือพิมพ์รายเดือน นำเสนอข่าวภาคประชาชน และผมเองก็ได้เขียนข่าวลงในหนังสือนั้นทุกเดือนต่อเนื่องกันมาราว ๑ ปี การเขียนข่าวของผมในระยะแรกได้รับการแก้ไขบ้างจากบรรณาธิการ คือ คุณสมโรจน์ สำราญชลารักษ์ (ผู้สื่อข่าวมติชนประจำจังหวัดแพร่) ระยะหลัง ๆ แทบไม่มีการแก้ไข นั่นแสดงว่าฝีไม้ลายมือด้านการเขียนผมพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ

   ปลาย ๆ เพศสมณะและทั่งลาสิกขา ผมเข้ามาช่วยงานเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันโพธิยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ สถาบันฯ นี้ทำงานกับพระสงฆ์นักพัฒนาในภาคเหนือ ผมทำหน้าที่หลายอย่าง หน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือเป็นกองบรรณาธิการจุลสารรายเดือน “โพธิยาลัย”

   ในช่วงนี้ ผมมีโอกาสได้พบปะและร่วมงานกับครูมาลา คำจันทร์ ค่อนข้างบ่อย จนกระทั่งคุ้นเคยและสนิทสนมกับท่าน ผมฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์ ขอความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการเขียนจากท่านอยู่เรื่อย ๆ ท่านก็มีเมตตาให้ผมทุกครั้งไป

   ครูมาลา คำจันทร์ อ่านงานเขียนให้ผมทุกครั้ง ให้คำแนะนำทุกครั้ง เหนือกว่าสิ่งอื่นใด ท่านให้กำลังใจทุกครั้งเมื่อผมเข้าหาและขอความรู้ ผมได้รับแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่สำหรับงานเขียนจากท่าน

   งานเขียนหนึ่งของผมที่เกิดจากการพูดคุยกับครูมาลา คือ “กลับบ้าน” เป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นจากชีวิตน้าชาย ที่บวชเรียนเป็นพระ ลาสิกขาไปเป็นไกด์ แล้วจบชีวิตลงด้วยยาเสพติด ผมเขียนงานนั้นได้เพียงตอนกว่า ๆ เพราะเผชิญมรสุมชีวิต

   ในการทำหน้าที่กองบรรณาธิการจุลสารโพธิยาลัย ผมเริ่มพัฒนาแนวงานเขียนจากการเขียนข่าวมาเป็นเขียนเล่าเรื่องราว ในช่วงนั้นผมเข้ารับการอบรมการเขียนสารคดีจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มีนักเขียนสารคดีหลายท่านมาเป็นวิทยากร อาทิ คุณธีรภาพ โลหิตกุล คุณอรสม สุทธิสาคร รวมทั้ง อ.อคิน รพีพัฒน์ ฯลฯ จากการฝึกอบรมผมได้เขียนสารคดีเรื่อง “สามเณร : เด็กชายที่ชายขอบสังคมไทย” (ตอนที่ ๑, , )

   หลังจากผมลาสิกขาแล้ว มีหนังเรื่องหนึ่งชื่อ “โอเคเบตง” ซึ่งช่วงนั้นผมติดตามและช่วยงานอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ผมได้รับความเมตตาจากท่านชวนผมไปดูหนังเรื่องนี้ด้วยกัน ดูหนังเสร็จก็นั่งคุยกัน คล้าย ๆ กับถอดบทเรียนหนังเรื่องนี้ ผลจากการพูดคุยกันนั้น ผมจดจำเรื่องราวไปเขียนเป็นบทวิจารณ์หนังชื่อ “โอเคเบตง...โนเคสวนดอก...” เป็นงานเขียนที่ผมภูมิใจมากที่สุดในชีวิต และน่าเป็นงานที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเขียนมา ผมนำงานนี้ให้ครูมาลา คำจันทร์ อ่าน ท่านก็ได้ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์มาก ๆ สำหรับการพัฒนาทักษะฝีมือในระยะต่อมา

   ผมเริ่มเขียนงานจริง ๆ จัง มากขึ้น เมื่อเข้ามาเป็นทีมงานของโครงการชุมชนเป็นสุขภาคเหนือตอนบน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ จำได้ว่าเขียนบทความที่ค่อนไปทางวิชาการ ราว ๕ ชิ้น

   ผมรู้จักและสนิทสนมกับเพื่อนรุ่นพี่อีกท่านหนึ่ง คือ อ.เธียรชัย อิศรเดช เป็นอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซี่งมีความสามารถด้านการเขียนมาก ๆ เราทำงานร่วมกันที่โครงการสื่อพื้นบ้านสื่อสารสุขในช่วงสองปีแรกของโครงการ ในช่วงนี้ผมได้รับการพัฒนาเรื่องการเขียนขึ้นมาก จากการให้คำแนะนำของเพื่อนผู้พี่ท่านนี้ มีงานเขียนที่ผมผลิตขึ้นในช่วงนี้หลายชิ้น เช่น เดินทางไปบ้านเมืองน้อย ปายไร่หมุนเวียน : วิถีแห่งปกาเกอะญอ (ตอนที่ ๑, , , ), บุญสัญจรที่วัดจันทร์ (ตอนที่ ๑, ,), อ่อบื๊อซอโข่ ตอนที่ ๑, , , ), เรื่องเล่าของ “เตหน่า”, “ตะกะโป่” อาหารเพื่อสุขภาพของชาวปกาเกอะญอ ฯลฯ

   เมื่อผมพอเขียนหนังสือได้บ้างแล้ว ก็ได้รับการทาบทามจากพี่บี – คุณอภิญญา ตันทวีวงศ์ ซึ่งช่วยงาน KM ของ สสส. อยู่ อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่ผมเขียนหนังสือแล้วได้เงิน ผมได้รับมอบหมายให้เขียนงานราว ๑๐ ชิ้น มีเรื่องหนึ่งที่ผมนำมาลงไว้ใน G2K คือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองนกปีกกา : บทเรียนการสร้างการมีส่วนร่วมในงานพัฒนาชุมชนของ อบต. (ตอนที่ ๑, , )

   ชีวิตการเขียนหนังสือผมห่างหายไปเกือบ ๒ ปี เมื่อเข้าทำงานประจำที่หน่วยงานหนึ่ง และหลังจากลาออกจากงานประจำนั้นแล้วผมเข้าสมัครเป็นสมาชิก G2K

   ในระยะแรกของการเป็นสมาชิก ผมนำเอางานเขียนเดิม ๆ ที่มีอยู่ ปรับปรุงนิดหน่อยแล้วโพสต์ขึ้นไปอยู่ในบล็อคของผม รวมทั้งงานเขียนที่ผมเขียนขึ้นก่อนหน้าไม่นานจากการลงไปช่วยชาวบ้านที่บ้านป่าคา อ.แม่สอด จ.ตาก คือ บ้านป่าคา : เรื่องเล่าของคนกับป่า ประกอบด้วยบันทึกย่อย ๆ ได้แก่ ชาวปกาเกอะญอ ลูกหลานท่านพะวอ, ถิ่นฐานบ้านเรือน, ในฐานะประชาชนไทย, ไร่หมุนเวียน : วิถีชีวิต วิถีทำมาหากิน, ไร่เหล่า ไร่หมุนเวียน : ระบบนิเวศน์ที่มีมนุษย์, เปลี่ยนแปลง ปรับตัว รายได้ รายจ่าย และ ได้กินจากน้ำต้องรักษาน้ำ ได้กินจากป่าต้องรักษาป่า รวมทั้งบันทึกจารกการลงพื้นที่เก็บข้อมูลดนตรีชาติพันธุ์ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เรื่อง บ้านห้วยปลาหลด : ดนตรี วิถี ชาติพันธ์ (๑, ๒)

   ผ่านพ้นจากเดือนแรกผมก็เริ่มเขียนบันทึกใหม่ ๆ เข้าไปแบ่งปันและแลกเปลี่ยนใน G2K บ่อยครั้งขึ้น ทั้งเรื่องราวจากการเดินป่าเขาเจ็ดยอด (เดินป่าเขาเจ็ดยอด) เรื่องราวของการเลี้ยงลูกสาว (เฌวา) เรื่องราวจากการไปเรียนรู้ตามเวทีต่าง ๆ (เรียนรู้ KM) เรื่องราวของคนกลุ่มคนที่มีจิตอาสา (จิตอาสา) ฯลฯ

 

หมายเลขบันทึก: 317696เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2009 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 13:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ผลงานเยอะเสียจนอ่านไม่ทันเลย

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ - พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) [IP: 125.25.196.45]

ผมต้ังใจเขียนบันทึกนี้ให้คุณเอก นำไปเป็นบทเรียนแก่น้อง ๆ ที่ทำงานพัฒนาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเขียนบันทึกครับ

เขียนเสร็จแล้วไม่อยากเก็บไว้ธรรมดาเลยเอามาลงแบ่งปันในนี้ครับ

 

โหยยยยยยยยยยยยยยยยยยย แพ้พระ อ่ะ พอลล่า

 

P น้อง ♥paula ♥ที่ปรึกษาตัวน้อย✿

แพ้มั่งก็ได้นะ
ไม่ต้องชนะทุกเรื่องหรอก

ฮิ ฮิ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท