Primary Health Care Mobile Doctor (1)


ไม่มีระบบการแพทย์ใดในโลกที่สมบูรณ์แบบและสามารถตอบสนองความต้องการของคนไข้และญาติได้ทุกคน แต่ระบบการแพทย์ที่ใกล้เคียงภาพฝันที่สุดก็คือ เข้าถึงง่ายและมีประสิทธิภาพสำหรับคนหมู่มาก ในราคาที่ไม่แพงเกินไป

 

 

โครงการหมออนามัยเคลื่อนที่

Primary Health Care Mobile Doctor

 ผู้ดำเนินงาน      

อ.นพ. กฤษฎิ์ ทองบรรจบ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว    หัวหน้าโครงการ

นายวีระชัย ยอดวิศิษฐ์ศักดิ์  หัวหน้าสถานีอนามัยบ้านทำนบ   ต.ชุมพล            
น.ส. สายชล สมจิตร          พยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป                                      
น.ส. ประพัตสร น่วมเปรม    พยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป                                   
น.ส. เยาวรีย์ ดอเลาะห์       นักวิชาการสาธารณสุข                                           
นาย อนันต์ เกมกาเมน        เจ้าพนักงานสาธารณสุข                                  

หลักการและเหตุผล 

ระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Health Care) หมายถึง ระบบที่ให้บริการสุขภาพในระดับที่เป็นด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ (First Line Health Care Services) ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องร่วมกับประชาชน โดยมีเป้าหมายและแนวคิดหลัก 1A4C ได้แก่ Accessibility (การเข้าถึงบริการ), Continuity (การให้บริการอย่างต่อเนื่อง), Comprehensiveness (การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ) ,Coordination (การประสานงาน) , Community participation (ชุมชนมีส่วนร่วม) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ได้รับการยอมรับในการนำมาใช้พัฒนาบริการปฐมภูมิของประเทศไทย กล่าวได้ว่าเป็น “เป้าหมายเชิงหลักการ (Guiding Principle)” ที่ทำให้การดำเนินการพัฒนาการบริการปฐมภูมิเป็นไปอย่างมีทิศทาง โดยมีคำขวัญ (Slogan) ว่า    “ ดูแลแต่แรกทุกเรื่อง ต่อเนื่อง เบ็ดเสร็จ ผสมผสาน บริการเข้าถึงสะดวก บวกระบบปรึกษาและส่งต่อ” (1)( 2)

แต่ทว่า “…ไม่มีระบบการแพทย์ใดในโลกที่สมบูรณ์แบบและสามารถตอบสนองความต้องการของคนไข้และญาติได้ทุกคน แต่ระบบการแพทย์ที่ใกล้เคียงภาพฝันที่สุดก็คือ เข้าถึงง่ายและมีประสิทธิภาพสำหรับคนหมู่มาก ในราคาที่ไม่แพงเกินไป…” (3)(4)

ดังนั้นจากข้อมูลการให้บริการทางการแพทย์ที่ศูนย์สุขภาพชุมชน(PCU-Primary Care Unit) บ้านทำนบ[1] ต.ชุมพล อ.องครักษ์ จ.นครนายก ได้มีการให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งในเขตตำบลชุมพลและพื้นที่ใกล้เคียงมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยโรคเบาหวานมีผู้ป่วยถึงร้อยละ 28 และพบโรคความดันโลหิตสูงรองลงมาคือร้อยละ 14 และจากการออกเยี่ยมบ้านพบผู้ป่วยที่พิการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตเป็นจำนวนร้อยละ 1.44 (5)

[1] ข้อมูลอ้างอิงจากการคัดกรองโรคและเยี่ยมบ้านของศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านทำนบ ตำบลชุมพลปี 2552 จากจำนวนประชากร 969 ราย

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาและดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องมารับบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านทำนบหรือศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพ ฯ เป็นประจำทุกเดือน จากการได้สอบถามผู้ป่วยรายบุคคล พบว่าผู้ป่วยบางรายมีความยากลำบากในการเดินทาง จนทำให้บางครั้งไม่สามารถมารับบริการได้ ทั้งปัจจัยด้านตัวผู้ป่วยเอง(Homebound/Bedbound)   ด้านครอบครัวและผู้ดูแล (Family & Caregiver) และด้านเศษฐานะ (Financial Problem) ซึ่งทำให้ขาดการเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในการเดินทางไปพบแพทย์ที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพ ฯ ยังต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นจำนวนมาก (ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยจากตำบลชุมพลไปศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ ประมาณ 300 บาทต่อครั้ง)

ด้วยเหตุผลต่างๆเหล่านี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและทำให้ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านทำนบเป็นแหล่งบริการปฐมภูมิ ใกล้บ้านใกล้ใจประชาชน และให้บริการตามเป้าหมายและแนวคิดหลัก 1A4C จึงได้คิดโครงการหมออนามัยเคลื่อนที่ Primary Health Care Mobile Doctor ขึ้นมา ซึ่งจะมีการออกหน่วยเคลื่อนที่การให้บริการแก่ประชาชนทุกหมู่บ้านในเขตตำบลชุมพล โดยให้มีกิจกรรมการตรวจรักษาพยาบาลทั่วไปทั้งคนไข้นัดและคนไข้ทั่วไป มีการตรวจคัดกรองเบาหวานและความดันโลหิตสูง มีการให้สุขศึกษาและรณรงค์ป้องกันโรค มีการวางระบบการส่งต่อผู้ป่วย มีการออกเยี่ยมบ้าน เป็นต้น

โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านทำนบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทำให้คนไข้ได้รับการเข้าถึงบริการหลักประกันสุขภาพมากขึ้น และช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีได้ที่ใกล้บ้านและชุมชนของตนเอง

 

วัตถุประสงค์ 

  1. เพื่อเพิ่มศักยภาพและคุณภาพระบบการจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของเครือข่ายบริการปฐมภูมิศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพ ฯ ตามเป้าหมายหลักของการบริการปฐมภูมิ คือ
  • Accessibility (การเข้าถึงบริการ)
  • Continuity (การให้บริการอย่างต่อเนื่อง)
  • Comprehensiveness (การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ)
  • Coordination (การประสานงาน)
  • Community participation (ชุมชนมีส่วนร่วม)

  2. เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบระบบบริการปฐมภูมิโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน

 

กลุ่มเป้าหมาย 

ประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบตำบลชุมพลทั้ง 8 หมู่บ้าน

สถานที่ดำเนินการ 

                สถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน เช่น วัด โรงเรียน มัสยิด  ศาลาเอนกประสงค์ของหมู่บ้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประชาชนและผู้นำชุมชนของหมู่บ้านเป็นผู้มีส่วนร่วมในการเลือกสถานที่

 

วิธีการดำเนินการ 

การเตรียมการ

  1. ประชุมวางแผนในเครือข่ายบริการปฐมภูมิศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (CUP ศูนย์การแพทย์ ฯ)
  2. เขียนโครงการเสนอ

การดำเนินงาน 

  1. จัดประชาคมร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดทำโครงการ  เพื่อการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชน และประชาสัมพันธ์โครงการ
  2. เตรียมจัดรูปแบบบริการผู้ป่วยที่สถานีอนามัยโดยเริ่มจัดทำการนัดติดตามผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นรายหมู่บ้าน โดยมีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน ดังนั้นจะมีนัดรายหมู่บ้านทั้งหมด 8 วันต่อเดือน

    3. จัดหาสถานที่ที่จะลงไปตั้งหน่วยเคลื่อนที่โดยการเลือกสถานที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของหมู่บ้าน ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก

    4. ทำการเตรียมความพร้อมเรื่องระบบภายในสถานีอนามัย การจัดสรรกำลังคน การเตรียมแฟ้มครอบครัวเพื่อการออกหน่วย   การเก็บบันทึกข้อมูล (HCIS) เป็นต้น

    5. จัดเตรียมอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ในการออกหน่วย

    6. ออกหน่วยเคลื่อนที่เป็นหมู่ๆเริ่มจากหมู่ที่ 1 จนถึงหมู่ที่ 8 โดยจะออกทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดีของทุกๆสัปดาห์ โดยช่วงเช้าจะเป็นการตรวจผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยนัดและผู้ป่วยทั่วไป ส่วนช่วงบ่ายจะเป็นการออกเยี่ยมบ้าน

      7. สรุปและประเมินผลการดำเนินโครงการ

ระยะเวลาดำเนินงาน 

ระยะเตรียมการ                 เดือนตุลาคม ปี 2552                            

ระยะดำเนินโครงการ          เดือนพฤศจิกายน ปี 2552 – เดือนกันยายน ปี 2553 

ระยะสรุปและประเมินผลโครงการ      เดือนกันยายน ปี 2553 

ปฏิทินควบคุมการปฏิบัติงาน 

งบประมาณดำเนินการ

                งบประมาณจากกองทุนสุขภาพระดับตำบล

                องค์การบริหารส่วนตำบล ต.ชุมพล

ประเมินผลกิจกรรม 

  1. ร้อยละ 80 ของประชาชนในชุมชนมีความพึงพอใจในการจัดทำโครงการ
  2. อัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งผู้ป่วยเดิม ผู้ป่วยใหม่ และผู้ป่วยที่ขาดการติดตามไปแล้ว
  3. จำนวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายของประชาชนในชุมชน ต.ชุมพล อ.องครักษ์ จ.นครนายก

 

ผลการดำเนินโครงการ  

สรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ( นำร่อง)

หมออนามัยเคลื่อนที่ (Mobile Doctor) ครั้งที่ 1

1.     ระยะเวลา  วันที่ 5 พฤศจิกายน 2552 เวลา 09.00-15.30 น

2.     สถานที่  ณ  ศาลากิจกรรม โรงเรียนวัดราษฎร์ ศรัทธาธรรม หมู่ที่ 2 ตำบลชุมพล

3.     ผู้ปฏิบัติงาน  (บุคลกร)  

        แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว                1               คน

        พยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป                   1               คน

        นักวิชาการสาธารณสุข                      2               คน

        ทีมอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)       8               คน

4.     ผลการปฏิบัติงาน   

จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ         

มีผู้มารับบริการทั้งหมด 50 คน โดยแยกตามรายโรคได้ดังนี้  

ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง     จำนวน 14 คน

 1. โรคเบาหวาน จำนวน                       3              ราย

 2.  โรคความดันโลหิตสูง                     10             ราย

 3.  ไขมันในเลือด                               8              ราย

 4.  ทั้งเบาหวานและความดัน                 1              ราย

 5.  เบาหวานและไขมัน                        2              ราย

 6.  เบาหวาน ความดัน และไขมัน           1              ราย

                 

ผู้ป่วยโรคทั่วไป     จำนวน  36 คน อาการที่พบมาก ได้แก่

1. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ                    15            ราย

2. โรคผิวหนัง                               4             ราย

3. โรคกระเพาะ                             4             ราย

4.  โรคทั่วไป                               13            ราย

 

5. เยี่ยมบ้าน 

ได้รับการเยี่ยมบ้าน                   2              ราย

นัดเยี่ยมบ้านเพิ่ม                      3              ราย

6.  ตามประวัติจากศูนย์การแพทย์ ฯ             6              ราย 

7.  ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab)           3              ราย

8.  ได้รับการส่งต่อ                                     0              ราย

9.   ผู้ป่วยฉุกเฉิน                                       0              ราย

10.  ผลการประเมินความพึงพอใจผู้รับบริการ 

ความพึงพอใจโดยเฉลี่ย    89.13 %    (เป้าหมาย > 80 % )     

 

รูปภาพแสดงการปฏิบัติ โครงการ 

 

    ถ่ายรูปร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน (เสื้อชมพู) และทีม อสม. ประจำหมู่บ้าน

 

     การเยี่ยมบ้านของทีมในช่วงบ่าย โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและภาคีเครือข่ายพา ทีมหน่วยอนามัยเคลื่อนที่ เยี่ยมผู้ป่วยในชุมชนของตนเอง โดยเยี่ยมบ้านจากผู้ที่อยากให้แพทย์ช่วยเหลือมากที่สุดก่อน (อสม.และผู้นำชุมชนเป็นผู้เลือกเอง)

แชร์(ผู้ชายสูงอายุ)กำลังอาบน้ำให้กับโต๊ะ(ผู้หญิงสูงอายุ) ซึ่งป่วยเป็นโรคอัมพาตครึ่งซีกมาแล้ว 3 ปี

แชร์(ผู้ชายสูงอายุ)กำลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้กับโต๊ะ(ผู้หญิงสูงอายุ)

ทีมเยี่ยมบ้านซักประวัติเพิ่มเติม แชร์และโต๊ะไม่ได้ไปตรวจที่สถานีอนามัยและศูนย์การแพทย์มานานแล้ว เพราะไปลำบาก จึงไม่ได้รับการฟื้นฟูและกายภาพบำบัดไปด้วย ปัจจุบันไปรักษาเองกับคลินิกเอกชนใกล้บ้าน ทั้งนี้โต๊ะและแชร์ต่างมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แล้ว

                  

             สวัสดีและจับมือสลาม ตามแบบวิถีมุสลิม

                              

เยี่ยมบ้านหลังที่ 2 โต๊ะ(ผู้หญิงสูงอายุ) ป่วยเป็นอัมพาตครึ่งซีกข้างขวา       สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ได้ไปตรวจหรือทำกายภาพบำบัด ที่สถานีอนามัยและศูนย์การแพทย์ ฯ เพราะไม่มีลูกหลานพาไป เนื่องจากไปทำงานตอนกลางวันกันหมด ส่วนใหญ่ลูกๆพาไปตรวจที่รพ.เอกชน เมื่อกลับมาจากทำงานแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการใช้ยาหลายชนิดในผู้ป่วยโรคเรื้อรังอีกด้วย 

 

คำสำคัญ (Tags): #mobile doctor
หมายเลขบันทึก: 317547เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2009 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีใจครับที่เห็นโครงการนี้

ทำงัยถึงจะเขียนโครงการได้ดีๆ อย่างที่อาจารย์เขียนครับ

อาจารย์เป็นมุสลิมหรือปล่าวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท