ห้องเรียนเสมือนจริง


ห้องเรียนเสมือนจริง virtual classroom

ห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom)

                  ห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom) เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาด้านการจัดการเรียนรู้ ผู้จัดทำขอเสนอแนวคิดตามประเด็นต่อไปนี้

                1. ความหมายของห้องเรียนเสมือนจริง

                2. ประเภทของห้องเรียนเสมือนจริง

                3. การออกแบบห้องเรียนเสมือนจริง

                4. ข้อจำกัดของห้องเรียนเสมือนจริง

                5. แนวคิดของห้องเรียนเสมือนจริง

                6. เป้าหมายและวิธีการของห้องเรียนเสมือนจริง

                7. งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับห้องเรียนเสมือนจริง

 1. ความหมายของห้องเรียนเสมือนจริง 

                 ห้องเรียนเสมือนจริง เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาอย่างหนึ่ง ที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและจะขยายตัวมากขึ้นในศตวรรษที่ 21 การเรียนการสอนในระบบนี้อาศัยสื่ออิเล็กทรอนิกส์โทรคมนาคม และเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ที่เรียกว่า Virtual Classroom หรือ Virtual Campus บ้าง นับว่าเป็นการพัฒนาการบริการทางการศึกษาทางไกลชนิดที่เรียกว่าเคาะประตูบ้านกันจริงๆ เป็นรูปแบบใหม่ของสถาบันการศึกษาในโลกยุคไร้พรมแดนมีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า Virtual Classroom ไว้ดังนี้
                ศ. ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์ ได้กล่าวถึงความหมายของห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom) ว่าหมายถึง การเรียนการสอนที่ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ของผู้เรียน เข้าไว้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการเครือข่าย (File Server) และเครื่องคอมพิวเตอร์ผู้ให้ บริการเว็บ (Web Server) อาจเป็นการเชื่อมโยงระยะใกล้หรือระยะไกล ผ่านทางระบบการสื่อสารและอินเทอร์เน็ตด้วย กระบวนการสอนผู้สอนจะออกแบบระบบการเรียนการสอนไว้โดยกำหนด กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อต่างๆ นำเสนอผ่านเว็บไซต์ประจำวิชา จัดสร้างเว็บเพจในแต่ละส่วนให้ สมบูรณ์      ผู้เรียนจะเข้าสู่เว็บไซต์ประจำวิชาและดำเนินการเรียนไปตามระบบการเรียนที่ผู้สอน ออกแบบไว้ในระบบเครือข่ายมีการจำลองสภาพแวดล้อมต่างๆ ในลักษณะเป็นห้องเรียนเสมือนจริง (ครรชิต มาลัยวงศ์, 2540)

                บุญเกื้อ ควรหาเวช ได้กล่าวถึงห้องเรียนเสมือนจริงว่า (Virtual Classroom) หมายถึง การ จัดการเรียนการสอนที่ ผู้เรียนจะเรียนที่ไหนก็ได้ เช่น ที่บ้าน ที่ทำงาน โดยไม่ต้องไปนั่งเรียนในห้อง เรียนจริงๆ ทำให้ประหยัดเวลา ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย (บุญเกื้อ ควรหาเวช , 2543 : 195)
                กล่าวโดยสรุป  ห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom) หมายถึง การเรียนการสอนที่กระทำผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ของผู้เรียนเข้าไว้กับเครื่อง คอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการเครือข่าย (File Server) และคอมพิวเตอร์ผู้ให้บริการเว็บ (Web Sever) เป็นการเรียนการสอนที่จะมีการนัดเวลาหรือไม่นัดเวลาก็ได้ และนัดสถานที่ นัดตัวบุคคล เพื่อให้เกิด การเรียนการสอน มีการกำหนดตารางเวลาหรือตารางสอน เข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนพร้อมๆ กันหรือไม่พร้อมกัน มีการใช้สื่อการสอนทั้งภาพและเสียง ผู้เรียนสามารถร่วมกิจกรรมกลุ่มหรือตอบ โต้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้สอนหรือกับเพื่อนร่วมชั้นได้เต็มที่ (คล้าย Chat Room) ส่วนผู้สอน สามารถตั้งโปรแกรมติดตามพัฒนาการประเมินผลการเรียนรวมทั้งประสิทธิภาพของหลักสูตรได้ ทั้งนี้ ไม่จำกัดเรื่องสถานที่ เวลา (Any Where & Any Time) ของผู้เรียนในชั้นและผู้สอน


 2. ประเภทของห้องเรียนเสมือนจริง 

                   ประเภทของห้องเรียนเสมือนจริง ได้มีนักวิชาการได้จำแนกประเภทของของห้องเรียนเสมือนจริง ไว้ดังนี้
                   รศ.ดร.อุทัย ภิรมย์รื่น (อุทัย ภิรมย์รื่น, 2540) ได้จำแนกประเภทการเรียนในห้องเรียนเสมือนจริงได้ 2 ลักษณะ คือ
                     1. จัดการเรียนการสอนในห้องเรียนธรรมดา แต่มีการถ่ายทอดสดภาพและเสียงเกี่ยวกับบทเรียนโดยอาศัยระบบโทรคมนาคมและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไปยังผู้เรียนที่อยู่นอกห้องเรียนนักศึกษาก็สามารถรับฟังและติดตามการสอนของผู้สอนได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเองอีกทั้งยังสามารถโต้ตอบกับอาจารย์ผู้สอน หรือเพื่อนักศึกษาในชั้นเรียนได้ ห้องเรียนแบบนี้ยังอาศัย สิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่เป็นจริง ซึ่งเรียกว่า Physical Education Environment
                     2. การจัดห้องเรียนจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างภาพเสมือนจริง เรียกว่า Virtual Reality โดยใช้สื่อที่เป็นตัวหนังสือ (Text-Based) หรือภาพกราฟิก (Graphical-Based) ส่งบทเรียนไปยังผู้เรียนโดยผ่านระบบโทรคมนาคมและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ห้องเรียนลักษณะนี้เรียกว่า Virtual Education Environment ซึ่งเป็น Virtual Classroom ที่แท้จริง การจัดการเรียนการสอนทางไกลทั้งสองลักษณะนี้
                     การติดต่อกับมหาวิทยาลัยเสมือนจริงทำได้ดังนี้
                     1. บทเรียนและแบบฝึกหัดต่างๆ อาจจะส่งให้ผู้เรียนในรูปวีดีทัศน์ หรือวีดิทัศน์ผสมกับ Virtual Classroom หรือ CD-ROM ที่มีสื่อประสมทั้งภาพ เสียง การเคลื่อนไหว โดยผ่านระบบสัญญาณเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ดาวเทียม โทรทัศน์ โทรสาร หรือทางเมล์ ตามความต้องการของ ผู้เรียน
                    2. ผู้เรียนจะติดต่อสื่อสารกับอาจารย์ผู้สอนได้โดยตรง ในขณะสอนก็ได้หากเป็นการเรียนที่ Online ซึ่งจะเป็นแบบของการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) ที่โต้ตอบโดยทันทีทันใดระหว่างผู้เรียนและผู้สอนหรือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน (Synchronous Interaction) เช่น การ Chat หรืออาจใช้การโต้ตอบแบบไม่ทันทีทันใด (Asynchronous Interaction) เช่น การใช้ E-mail, การใช้ Web- board เป็นต้น
                    3. การทดสอบ ทำได้หลายวิธี เช่น ทดสอบแบบ Online หรือทดสอบโดยผ่านทางโทรสาร ทาง E-mail และทางไปรษณีย์ธรรมดา บางแห่งจะมีผู้จัดสอบโดยผ่านตัวแทนของมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นที่นักศึกษาอาศัยอยู่ การเรียนทางไกลโดยผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนวิชาที่ตนสนใจได้ตลอดเวลา ในทุกแห่งที่มีการเปิดสอน ไม่ต้องเข้าชั้นเรียนก็ได้ ในการศึกษาหาความรู้ จึงมีความยืดหยุ่นด้านเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปมาก นอกจากนี้ผู้เรียนยังสามารถติดต่อกับอาจารย์ผู้สอนได้โดยตรง สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เรียนคนอื่นซึ่ง อยู่ห่างไกลกันได้ เป็นการเรียนแบบช่วยเหลือซึ่งกัน และกันทำงานร่วมกัน (Collaborative Learning)

3. การออกแบบห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom)

                 การออกแบบห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom) สามารถออกแบบให้มีลักษณะดังนี้

                 1. Learning is Fun ได้นำเทคโนโลยีของ JAVA มาเสริมในการเรียนรู้แบบสนุกสนานและไม่เครียด นักเรียนจะได้เล่นเกมทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และรายวิชาอื่นๆ ที่จะสามารถออกแบบในลักษณะนี้ได้

                 2. Multimedia นักเรียนจะเรียนรู้บทเรียนจากภาพและเสียง สามารถควบคุมขั้นตอนของของการเรียนรู้ได้ด้วยปลายนิ้วสัมผัสของตนเอง  

                3. Asynchronous learning หมายถึง การเรียนที่ไม่จำเป็นจะต้องมีครูผู้สอนอยู่กับนักเรียนในเวลาและสถานที่เดียวกัน ครูจะจัดทำ/รวบรวม "บทเรียนออนไลน์" ซึ่งใช้เรียนที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ ตามแต่ผู้เรียนจะสะดวก บทเรียนมีให้เลือกมากมาย และเชื่อมโยงไปยังบทเรียนอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน

                4. Electronic Library เป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ นักเรียนสามารถค้นหาสิ่งที่ต้องการจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั่วโลกได้ 

  4. ข้อจำกัดของห้องเรียนเสมือนจริง 

                ข้อจำกัดของการเรียนการสอนแบบห้องเรียนเสมือนจริง มีดังนี้

                     1. อุปกรณ์และซอฟแวร์ในการเรียนการสอนแบบห้องเรียนเสมือนจริง มีราคาแพง ดังนั้น การเรียนการสอนด้วยวิธีนี้จึงมีข้อจำกัดในกลุ่มนักเรียนและโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีฐานะค่อนข้างดี

                    2. มีความล่าช้าในการรอข้อมูลย้อนกลับ การเรียนการสอนแบบห้องเรียนเสมือนจริงมักจะเป็นการเรียนต่างเวลาตามความพร้อมของผู้เรียนและผู้สอน ดังนั้นนักเรียนจึงไม่สามารถได้รับคำตอบโดยทันทีเมื่อต้องการซักถามผู้สอน ซึ่งแตกต่างจากการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบปกติที่สามารถโต้ตอบกันได้โดยทันที

                    3. ผู้เรียนต้องมีทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี มิฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียนการสอนแบบห้องเรียนเสมือนจริง

                    4. ปฏิสัมพันธ์ทางการเรียนไม่มีความเป็นธรรมชาติและมีน้อยเกินไป แม้ว่าการเรียนการสอนแบบห้องเรียนเสมือนจริงจะมีช่องทางที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้เรียนอื่นๆ ได้ แต่มนุษย์ก็ยังต้องการ การติดต่อสื่อสารที่เห็นหน้า เห็นตา ท่าทาง และการแสดงออกในลักษณะต่างๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึก ความเข้าใจและความเชื่อมั่นทางความคิด ซึ่งการเรียนการสอนแบบห้องเรียนเสมือนจริงไม่สามารถตอบสนองข้อสงสัยหรือให้คำชี้แนะโดยทันทีอย่างไม่มีอุปสรรค
                     5. ผู้เรียนส่วนใหญ่ยังขาดความรับผิดชอบในการเรียนด้วยตนเองซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สำคัญในการเรียนการสอนแบบห้องเรียนเสมือนจริง

              
5. แนวคิดของห้องเรียนเสมือนจริง

               ห้องเรียนเสมือนจริง เป็นการจัดสิ่งแวดล้อมในความว่างเปล่า (Space) โดยอาศัยศักยภาพของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เป็นการจัดประสบการณ์เสมือนจริงแก่ผู้เรียน นอกจากนั้นยังมีสิ่งสนับสนุน อื่นๆที่จะช่วยทำให้การมีปฏิสัมพันธ์แบบเผชิญหน้าที่บางโอกาสอาจจะเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากนั้นสามารถกระทำได้เสมือนบรรยากาศการพบกันจริงๆกระบวนการทั้งหมดดังที่กล่าวมานี้มิใช่เป็นการเดินทางไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยแต่จะเป็นการเข้าถึงทางด้านการพิมพ์การอ่านข้อความหรือข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ที่มีซอฟแวร์เพื่อควบคุมการสร้างบรรยากาศแบบห้องเรียนเสมือนจริง การมีส่วนร่วมจะเป็นแบบภาวะต่างเวลา ซึ่งทำให้มีผู้เรียน ในระบบห้องเรียนเสมือนจริงสามารถเชื่อมต่อเข้าไปศึกษาได้ทุกที่ทุกเวลา

             ทำไมต้องมี Virtual Classroom เนื่องจากการเรียนการสอนแบบเดิมมีข้อจำกัด ดังนี้
             1. สถานที่จำกัดเฉพาะในห้องเรียน
             2. การเรียนรู้จำกัดเฉพาะกับครู ผู้เรียน และตำรา
             3. เวลาในการจัดการเรียนการสอน
             4.โอกาสในการเรียนการสอน สถานที่เรียนไม่เพียงพอผู้ประสงค์จะเรียน
             5. สัดส่วนของครูและนักเรียนไม่เหมาะสม 

 6. เป้าหมายและวิธีการของห้องเรียนเสมือนจริง 

              เป้าหมายของห้องเรียนเสมือนจริงเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถเข้าถึงและได้รับการศึกษาหลังมัธยมศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงเข้ากับคำกล่าวที่ว่า “ถ้าคุณไม่ได้เข้าชั้นเรียนบางทีอาจจะทำให้คุณเรียนได้ไม่มาก”นอกจากนั้นเป้าหมายประการสำคัญ ที่สอดคล้องและเป็นปัจจัยของห้องเรียนเสมือนจริงคือ การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning) เป้าหมายพัฒนาโอกาสของการเข้าถึงการศึกษาอาจจะพิจารณาแนวคิดกว้างๆที่เกี่ยวกับห้องเรียนเสมือนจริงในประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้

             1. ทำเลเป้าหมาย ผู้เรียนอาจจะเลือกเรียนรายวิชาใดๆจากผู้สอนคนใดคนหนึ่งทั่วโลกหากมีการเปิดโอกาสให้ลงทะเบียนเรียนได้โดยไม่มีขีดจำกัดในเรื่องพื้นที่
             2. เวลาที่ยืดหยุ่น ผู้เรียนอาจจะมีส่วนร่วมได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืนการได้รับข้อมูลย้อนกลับจากผู้สอนและเพื่อนที่เรียนร่วมกันจะไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา
             3.ไม่มีการเดินทาง ผู้เรียนสามารถทำงานและศึกษาอยู่ที่บ้านได้อย่างสะดวกสบายซึ่งอาจจะเป็นข้อดีสำหรับผู้เรียนที่มีอุปสรรค อันเนื่องมาจากความพิการทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางหรือแม้แต่ผู้เรียนที่มีภาระด้านครอบครัว ปัจจัยประการนี้นับเป็นโอกาสที่ทำให้ทุกคนมีทางเลือกและความสะดวกสบาย

            4. ประหยัดเวลา ผู้เรียนที่จำเป็นต้องเดินทางไปสถานศึกษาถ้าเรียนจากห้องเรียนเสมือนจริงจะประหยัดการเดินทาง
            5. ทำงานร่วมกัน ด้วยภาพทางเทคโนโลยี ทำให้ผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันได้ง่ายดาย ในขณะที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลในห้องเรียนปกติ กระทำได้ยาก ผู้เรียนในระบบห้องเรียนเสมือนจริงจะสามารถอธิบายปัญหาร่วมกัน แลกเปลี่ยนโครงงานซึ่งกันและกันได้
            6.โอกาสการมีส่วนร่วม ด้วยระบบสื่อสารด้วยคอมพิวเตอร์เป็นสื่อกลาง สามารถเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ในการถามคำถาม การให้ข้อสังเกตและการทำกิจกรรมร่วมกัน

 7. งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับห้องเรียนเสมือนจริง 

             การศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องห้องเรียนเสมือนจริง มีผู้ที่ทำการศึกษาดังนี้

             ศุภางค์ ไทยสมบูรณ์สุข (2547 : บทคัดย่อ) ศึกษาการพัฒนารูปแบบการเรียนแบบร่วมมือแบบร่วมกลุ่มเรื่องการบริหารโครงการในห้องเรียนเสมือนจริงสำหรับนิสิตระดับปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการวิจัยพบว่า 1. รูปแบบการเรียนแบบร่วมมือแบบร่วมกลุ่มเรื่องการบริหารโครงการในห้องเรียนเสมือนจริงแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้ ขั้นก่อนการเรียนในห้องเรียนเสมือนจริง มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1.1 ผู้สอนกำหนดวัตถุประสงค์ เนื้อหา เกณฑ์ในการวัดและประเมินผลผู้เรียน และกิจกรรมการเรียนการสอน 1.2 ผู้สอนสร้างห้องเรียนเสมือนจริงตามกิจกรรมการเรียนการสอนที่กำหนดไว้ในขั้นก่อนหน้านี้ 1.3 ผู้สอนทำการฝึกทักษะที่จำเป็นในการเรียนในห้องเรียนเสมือนจริงให้แก่ผู้เรียน 1.4 ผู้เรียนเตรียมหัวข้อที่ตนเองสนใจ เพื่อทำกิจกรรมกลุ่ม 1.5 ผู้เรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน ขั้นระหว่างการเรียนในห้องเรียนเสมือนจริง มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 2.1 ผู้เรียนทำการเรียนโดยปฏิบัติตามข้อตกลง 2.2 ผู้เรียนแบ่งกลุ่มและดำเนินกิจกรรมตามที่ผู้สอนกำหนด 2.3 ผู้เรียนส่งงานตามที่ได้รับมอบหมาย 2.4 ผู้เสนอให้คำแนะนำและชี้แนะแนวทางการเรียนรู้ ขั้นติดตามผลหลังการเรียนในห้องเรียนเสมือนจริง มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 3.1 ผู้เรียนนำเสนอผลงานของกลุ่ม 3.2 ผู้เรียนทำแบบทดสอบหลังเรียน 3.3 ผู้เรียนทำแบบสอบถามความพึงพอใจเกี่ยวกับรูปแบบการเรียน 3.4 ผู้สอนรายงานผลการเรียนและให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่ผู้เรียน 2. รูปแบบการเรียนแบบร่วมมือแบบร่วมกลุ่มเรื่องการบริหารโครงการในห้องเรียนเสมือนจริงที่ได้พัฒนาขึ้น ทำให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 3. ความคิดเห็นของผู้เรียนเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนที่ได้พัฒนาขึ้น พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจในระดับมาก

            หทัยชนก  ผลาวรรณ์ (2547 :) ศึกษาการวิเคราะห์องค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนเสมือนจริง ผลการวิจัยพบว่า องค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนเสมือนจริง มี 7 องค์ประกอบ คือ 1) สภาพทั่วไปของสถานศึกษาและความรู้ ความสามารถของบุคลากร 2) การจัดการรายวิชา 3) ระบบการวัดผลและประเมินผล 4) ระบบการติดต่อสื่อสาร 5) โปรแกรมประยุกต์ 6) รูปแบบของสื่อ 7) การบริหารจัดการของผู้ใช้ สำหรับองค์ประกอบสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเรียนการสอนในห้องเรียนเสมือนจริง สามารถอธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 85.830 ของความแปรปรวนทั้งหมด โดยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ขององค์ประกอบสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเรียนการสอนในห้องเรียนเสมือนจริง ระหว่าง 7 องค์ประกอบกับ 57 ตัวแปร มีค่าเท่ากับ 0.557 -0.942 และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่าง 7 มีค่าเท่ากับ 0.455 -0.794 ซึ่งมีความสัมพันธ์กันในระดับสูง ในขณะที่สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรภายในมีค่าเท่ากับ 0.048-0.133 ซึ่งมีความสัมพันธ์กันในระดับต่ำ สมการถดถอย หรือสมการพยากรณ์ที่เกี่ยวกับองค์ประกอบสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเรียนการสอนในห้องเรียนเสมือนจริง โดยสมการพยากรณ์นี้มีอำนาจพยากรณ์ได้ถึง 42.857 % และมีค่าความคลาดเคลื่อนของการพยากรณ์เท่ากับ 14.286 %

          พจนันท์ สุริรักษ์ (2548 : 110-111)  ศึกษาการพัฒนาสื่อการเรียนอิเล็กทรอนิกส์ วิชายางธรรมชาติในรูปแบบห้องเรียนเสมือนจริง ผลการวิจัย พบว่า สื่อการเรียนอิเล็กทรอนิกส์ ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 83/85 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 เมื่อทำการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนโดยการทดสอบค่า t-test พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01 โดยค่าเฉลี่ยของแบบทดสอบหลังเรียน (= 102.7, S.D. = 4.61) สูงกว่าเฉลี่ยก่อนเรียน       ( = 38.05, S.D. = 3.84) แสดงว่า สื่อการเรียนอิเล็กทรอนิกส์วิชายางธรรมชาติในรูปแบบห้องเรียนเสมือนจริงที่พัฒนาแล้วสามารถช่วยให้นักศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้นและความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อสื่อการเรียน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.96 อยู่ในเกณฑ์ดี สรุปได้ว่าสื่อการเรียนอิเล็กทรอนิกส์ วิชายางธรรมชาติในรูปแบบห้องเรียนเสมือนจริง ที่สร้างขึ้นสามารถที่จะนำไปใช้ศึกษาด้วยตนเองในการเรียนแบบ E-Learning ได้

          สุปรียา   ศิริพัฒนกุลขจร (2548 : บทคัดย่อ) ศึกษาการพัฒนารูปแบบหองเรียนเสมือนจริงแบบจําลองสถานการณร่วมกับการฝกปฏิบัติ เรื่อง การผลิตรายการโทรทัศน ผลการวิจัยพบว่า1) รูปแบบห้องเรียนเสมือนจริงแบบจําลองสถานการณร่วมกับการฝึกปฏิบัติ วิชา การผลิตรายการโทรทัศน ประกอบด้วย บริบท 6 ประการ ปัจจัยนําเข้า 5 ปัจจัยกระบวนการดําเนินงาน 6 ระบบย่อย ผลิตผล 1 ประเภท และข้อมูลย้อนกลับ 1 ระบบย่อย 2) ชุดบทเรียนรูปแบบห้องเรียนเสมือนจริงแบบจําลองสถานการณร่วมกับการฝึกปฏิบัติ เรื่อง การผลิตรายโทรทัศนที่สร้างขึ้นมีประสิ ทธิภาพ 92.18/91.38 3) ชุดบทเรียนที่สร้างขึ้นมีผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนสูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญที่ .05 จากการเปรียบเที ยบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มที่เรียนห้องเรียนเสมือนจริงแบบจําลองสถานการณ์ร่วมกับการฝึกปฏิบัติกับการเรียนแบบบรรยายประกอบการสาธิตร่วมกับการฝึกปฏิบัติพบว่าแตกตางกันอย่างมีนัยสําคัญที่ .05 4) นักศึกษามีเจตคติที่ดีต่อการเรียนด้วยชุดบทเรียนที่สร้างขึ้น

                สตาร์ โรแซนเน่ ฮิลตซ์ (Starr Roxanne , 1997) ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยและโครงสร้างของระบบการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยเสมือน ข้อมูลของการศึกษารวบรวมมาจากการใช้ระบบ Virtual Classroom ระหว่างปีการศึกษา 1995-1996 การศึกษาใช้วิธีการใช้แบบสอบถามก่อนและหลังการเรียน (Pre-and Post-Course) ของนักศึกษา การสังเกตกิจกรรมการเรียนออนไลน์ของนักศึกษา การสัมภาษณ์นักศึกษากลุ่มตัวอย่าง การเปรียบเทียบผลการสอบและการใช้มาตรวัดประสิทธิภาพอื่นๆ และรายงานจากอาจารย์ผู้สอน จากผลการศึกษาพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับชั้นเรียนปกติ การเรียนการสอนโดยใช้ระบบห้องเรียนเสมือนจริง นักศึกษาส่วนใหญ่ได้ให้คะแนนเหนือกว่าในด้านต่อไปนี้ เช่น เนื้อหามีความน่าสนใจ มีการกระตุ้นให้มีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น สามารถติดต่อกับอาจารย์ได้ดี มีความสะดวกต่อการเรียน มีการเรียนรู้มากขึ้น มีความพอใจในระบบการเรียนการสอนแบบนี้ และเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับการศึกษา ส่วนผลกระทบที่มีต่อคณาจารย์หลังจากที่ได้รวบรวมข้อคิดเห็นที่ได้จากการสนทนากระดานสนทนาอิเล็กทรอนิกส์ มีความเห็นว่า การเรียนการสอน การปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาระบบนี้ทำให้เกิดภาระงานสอนมากขึ้นกว่าการเรียนปกติในชั้นเรียน

เอกสารอ้างอิง

 ครรชิต มาลัยวงศ์.  (2540).  ทัศนะไอที. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ศูนย์เทคโนโลยี

                อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ.

บุญเกื้อ ควรหาเวช.  (2543). นวัตกรรมการศึกษา. กรุงเทพฯ : เอสอาพริ้นติ้ง.

พจนันท์ สุริรักษ์.  (2548). การพัฒนาสื่อการเรียนอิเล็กทรอนิกส์ วิชา

               ยางธรรมชาติในรูปแบบห้องเรียนเสมือนจริง. กรุงเทพฯ :

               วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี

               พระจอมเกล้าธนบุรี.

รุจโรจน์ แก้วอุไร.  (2545). การพัฒนาระบบการเรียนการสอนผ่านเครือข่าย

               ใยแมงมุม. กรุงเทพฯ : ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต

                วิชาเอกเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ.

วราภรณ์ ศุนาลัย.  (2535). หลักสูตรและหลักการสอน. กรุงเทพฯ :

               มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ศุภางค์ ไทยสมบูรณ์สุข.  (2547). การพัฒนารูปแบบการเรียนแบบร่วมมือ

               แบบร่วมกลุ่มเรื่องการบริหารโครงการในห้องเรียนเสมือนจริง

               สำหรับนิสิตระดับปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์-

               มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์มหาบัณฑิต

               จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุปรียา   ศิริพัฒนกุลขจร.  (2548).  การพัฒนารูปแบบหองเรียนเสมือนจริง

              แบบจําลองสถานการณร่วมกับการฝกปฏิบัติ เรื่อง การผลิตรายการ

              โทรทัศน์. ปริญญานิพนธ์ภาคเทคโนโลยีการศึกษา

              มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

หทัยชนก  ผลาวรรณ์.  (2547). การวิเคราะห์องค์ประกอบที่มีอิทธิพล

             ต่อการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนเสมือนจริง. กรุงเทพฯ :

             วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี

             พระจอมเกล้าธนบุรี.

อุทัย ภิรมย์รื่น.  (2540). โฉมหน้ามหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21. สารศรีปทุม

              ปีที่2 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2540.

 Hiltz, Starr R.  (1997). Impact of college-level courses via

             Asynchronous Learning Networks : Some Preliminary

              Results. Available :

              http://www.aln.org/alnweb/journal/issue2/hiltz.pdf.

หมายเลขบันทึก: 317360เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2009 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 05:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท