จะบริหารอย่างไรกับความแตกต่าง


           หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า คนที่จบทางด้านบริหารสามารถไปบริหารอะไรก็ได้ สำหรับผมคำพูดนี้ผมขอเถียงศรีษะเด็ดบาทาขาด เลยว่า ไม่เป็นจริงเสมอไป การที่จะก้าวมาเป็นนักบริหารที่สามารถบริหารองค์กร หน่วยงาน บริษัท ฯลฯ ที่ดีนั้น ไม่ใช่อาศัยแต่เพียงแค่ศึกษามาทางบริหารเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอีกหลาย ๆ ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เช่นเรื่องที่ผมจะกล่าวถึงในบทความนี้คือ ความเป็นผู้นำ
           ผมเชื่อว่าหลาย ๆ อาจจะเคยมองว่าการเป็นผู้นำกับการเป็นผู้บริหาร นั้นเป็นสิ่งเดียวกัน มีความหมายคล้ายกันคือ มีหน้าที่นำองค์กรไปสู่วัตถุประสงค์ที่วางไว้ แต่อาจจะไม่ทราบว่าผู้นำกับผู้บริหารนั้นต่างกันอย่างไร นอกจากนี้ก็ยังมีบทความ หนังสือหลายเล่มที่กล่าวทำนองว่า ผู้นำกับผู้บริหารนั้นสามารถใช้แทนกันได้ แต่ก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยมากพอสมควร

             อย่างบทความที่ยกมาต่อไปนี้ ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง การบริหาร กับ ความเป็นผู้นำ ในบทความเรื่อง  What do leaders really do? Harvard Business Review,68, 1990 ของ Kotter ได้กล่าวไว้ว่า


Management is about planning, controlling, and putting appropriate structures and systems in place, whereas leadership has more to do with anticipating change, coping with change, and adopting a visionary stance.

หรือเรียบเรียงง่าย ๆ ได้ความว่า การบริหาร คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ การวางแผน การควบคุม และการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ที่มี ส่วน ความเป็นผู้นำ จะเป็นเรื่องของการ คาดการณ์ เผชิญการเปลี่ยนแปลง และรวมไปถึงการกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กร

และในบทความ  Managers and leaders: Are they different? Harvard Business Review, May/June, 54, 1986 ของ Zaleznik ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างผู้บริหารกับผู้นำไว้ว่า

Managers are seen as fairly passive people-centerd operators intent on keeping the show on the road, whereas leaders seem to be more solitary, proactive, intuitive, emphatic, and are attracted to situations of high risk where the rewards for success are great.

หรือเรียบเรียงง่าย ๆ ได้ความว่า ผู้บริหาร นั้นจะเป็นผู้ที่อาจจะดูเป็นผู้ที่เรียบง่าย ที่มีเป้าหมายคือพยายามจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ส่วน ผู้นำ จะเป็นผู้ที่แลดู โดดเดี่ยว เด็จขาด มีความมั่นใจในตัวเองสูง พร้อมที่จะเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ และผลสำเร็จคือชัยชนะอันยิ่งใหญ่

            จากที่กล่าวมาอาจจจะพอสรุปคร่าว ๆ ได้ว่า ผู้บริหาร จะหมายถึงผู้ที่จัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสม ลงตัว อันจะนำไปสู่วัตถุประสงค์ที่วางไว้ ส่วน ผู้นำ จะหมายถึงผู้ที่โน้มน้าว จูงใจ บุคคล หรือกลุ่มคนให้กระทำในสิ่งที่แตกต่าง สิ่งที่ยากลำบาก หรือ สิ่งที่ดีขึ้น 

            ในทศวรรษนี้ความเป็นผู้นำได้รับการกล่าวถึงเป็นเป็นอย่างมากในวงการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานในภาครัฐ หรือภาคเอกชน สาเหตุที่ความเป็นผู้นำได้รับความสนใจกันมากขึ้นก็เพราะว่า พลวัตรที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากสิ่งแวดล้อม แนวคิด ค่านิยม ล้วนแต่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งการใช้หลักการบริหารเพียงอย่างเดียวแบบสมัยก่อน ที่เคยปฏิบัติมาอาจจะไม่ได้ผล หรืออาจจะตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันการ

            ความเป็นผู้นำจึงถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อความอยู่รอดขององค์กร หรือหน่วยงาน จะว่าไปก็ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกเพราะว่า จริง ๆ แล้วทางด้านการทหารนั้น ได้อาศัยเรื่องของความเป็นผู้นำ มาเป็นเวลาช้านาน ตั้งแต่มนุษย์เรารบราฆ่าฟันกันเป็นสงคราม

            ความเป็นผู้นำได้ถูกนำมาใช้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของชุมชน เพราะเรื่องของสงครามเป็นเรื่องที่ไม่มีความแน่นอน มีความซับซ้อนสูง (complexity) ถ้ามองอย่างคณิตศาตร์เราจะถือว่าการรบการสงคราม เป็นปัญหาที่ไม่ใช่ปัญหาเชิงเส้นตรง (non-linear) ผู้ที่เป็นผู้นำจะต้องเผชิญกับปัญหาต่าง และจะต้องทำการตัดสินใจ บางครั้งจะต้องเสี่ยงกับการตัดสินใจ (Risk Taker) ด้วยขีดความสามารถตรงนี้ของผู้ที่เป็นผู้นำ ทำให้มีผู้ที่สนใจ และศึกษาเรื่องราวของความเป็นผู้นำ และนำมาประยุกต์ใช้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร

           อย่างไรก็ตาม ความเป็นผู้นำ ไม่ใช่เรื่องของอัศวินม้าขาว ไม่ใช่ยาผีบอก หรือยาสูตรสำเร็จที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง เพราะบางครั้ง คนที่มีความเป็นผู้นำสูง ๆ อาจจะเป็นผู้บริหารที่แย่ ในทำนองกลับกันผู้ที่เป็นนักบริหารที่มีความสามารถก็อาจจะเป็นผู้นำที่แย่ก็เป็นได้

            ด้วยปัจจัยเหล่านี้เองจึงเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ปัจจุบันมีสถาบันที่สร้างความเป็นผู้นำให้กับผู้บริหาร และยังมีการผนวกหลักสูตรทางด้านความเป็นผู้นำเข้าไปในหลักสูตรการบริหาร จนสามารถกล่าวได้ว่า การที่จะเป็นผู้บริหารในอนาคตจะต้องมีความผู้นำอยู่ในตนเองด้วย ถึงจะเรียกว่าเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถ แต่การจะเป็นไม่ว่า ผู้นำหรือผู้บริหารนั้น ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่ายนัก ต้องอาศัยการฝึกฝน ประสบการณ์ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องผ่านการสร้างสม  และใช้เวลา แต่เราก็สามารถสร้างกันได้

            ถึงแม้การบริหารและความเป็นผู้นำจะมีความแตกต่างกัน แต่โดยจุดมุ่งหมายปลายทางแล้ว ทั้งผู้บริหารและผู้นำต่างก็มีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือนำพา องค์กร หน่วยงาน บริษัท ฯลฯ ไปสู่วัตุประสงค์ที่วางไว้ ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นความเหมือนบนความแตกต่าง

            เมื่อภาคเอกชน พลเรือน ให้ความสนใจกับความเป็นผู้นำกันมากขึ้น พอหันกลับมามองในวงการทหาร ผมคิดว่าเราเหล่าบรรดาทหารหาญทั้งหลาย คงจะต้องให้ความสำคัญกันมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป สำหรับความเป็นผู้นำ ถึงแม้เราจะเรียน จะสอน จะฝึกฝนกันมานาน แต่ถ้าความเป็นผู้นำนั้นไม่ได้อยู่ในตัวเราจนเป็นจิตวิญาณ เราก็อาจจะขายหน้าพลเรือนเขาก็ได้ ถ้าเขามีความเป็นผู้นำมากกว่าบางคนที่เป็นทหาร (ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่ได้เป็นทหารจะมีความเป็นผู้นำน้อยกว่าทหาร แต่ผมหมายถึงคนที่เป็นทหารจะต้องนำผู้ใต้บังคับบัญชาไปรบ ถ้าเขาเหล่านั้นไม่มีความเป็นผู้นำที่เพียงพอ แล้วเขาจะไปนำคนอื่นได้อย่างไร?) นอกจากนี้การเพิ่มเติมความรู้ในเรื่องของการบริหารก็มีความจำเป็นไม่แพ้กัน

            บทส่งท้ายก็คือ ไม่ว่าคุณจะเป็นทหารหรือไม่ การฝึกฝนตนเองอยู่เสมอให้มีความรู้ ความสามารถ ในเรื่องของ การบริหารและความเป็นผู้นำมีความจำเป็น เป็นอย่างยิ่ง เรื่องของการบริหารและความเป็นผู้นำ ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะของผู้ที่ก้าวขึ้นไปเป็นมีตำแหน่งหัวหน้าองค์กรเท่านั้น เพราะว่าเรา ๆ ท่าน ๆ ก็ต้องอาศัยเรื่องของการบริหารและความเป็นผู้นำ เช่น การบริหารครอบครัวและเป็นหัวหน้าครอบครัว ฯลฯ 

 

คำสำคัญ (Tags): #ร้อยเอ็ด7
หมายเลขบันทึก: 316348เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2009 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ ยินดีที่ได้รู้ครับ

ผมก็คนร้อยเอ็ดเหมือนกันครับ บริหารรุ่น 12 โคราชครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท