การเมือง การปกครอง : บทบาทขององค์กรส่วนท้องถิ่นไทยต่อเยาวชน


เยาวชนในปัจจุบันนั้นขาดรูปแบบดี ๆ ขาดผู้ใหญ่ดี ๆ ที่ทำตัวอย่างให้เด็กที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการจะเป็นคนชัวหรือคนดีได้ดู

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยเกิดขึ้นโดยแนวคิดของการกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นปกครองท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนปกครองชุมชน เพื่อให้ตนเองปกครองตนเอง
ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือเทศบาลต่าง ๆ นั้นตามหลักการนั้นจักต้องบริหารและจัดการโดยคนในท้องถิ่นเป็นหลัก

แต่จุดสำคัญของการกระจายอำนาจนั้นก็คือ การให้อำนาจการตัดสินใจที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท ที่ชุมชนใดมีทุนชุมชนในด้านใดก็ควรที่จะส่งเสริม บริหาร และจัดการในด้านนั้น
แต่ทว่า การบริหารงานส่วนใหญ่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นบริหารตามหลักการ “ประชานิยม” คือ ใคร ๆ เขานิยมอะไรก็เฮละโลไปจัดสรงบประมาณให้ในส่วนนั้น ซึ่งในที่นี้ก็ไม่เว้นงบประมาณในส่วนของการพัฒนาเยาวชน

การพัฒนาเยาวชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักการประชานิยมนั้นจะเห็นได้อย่างชัดเจนในสอง 2 เรื่องคือ เรื่องการศึกษา เรื่องการกีฬา
ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมว่า
อปท. จะมีการจัดสรรทุนการศึกษาให้กับและเยาวชนผู้เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งให้จัดสรรงบประมาณให้ทั้งในส่วนของเด็กและการพัฒนาครูหรือบุคลากรโดยการสนับสนุนทุนการศึกษาเพิ่มเติม อาทิ จังหวัดน่าน
อปท. จะมีการจัดสรรงบประมาณในการสร้างสนามกีฬาชุมชนซึ่งจะเห็นได้ทั่วไปตามหน้าตึกหรือที่ทำการ อบต. ทั่วประเทศ ที่จะมีสนามฟุตซอล สนามบาสเกตบอล สนามตระกร้อ สนามแบตมินตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามเปตอง

แต่ทว่าการพัฒนาเยาวชนแต่ในด้านเปลือกเหล่านี้ยังมิสามารถสร้างภาพใหม่หรือลบล้างภาพเก่าที่นักการเมืองตามรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยสร้างภาพให้เยาวชนจดจำภาพพจน์แบบผิด ๆ ได้อย่างถาวร
รูปแบบชีวิตของผู้ใหญ่ที่เป็นผู้มีอำนาจที่เมื่อก่อนเป็นผู้รับเหมาบ้าง เป็นพ่อค้าบ้าง เป็นข้าราชการบ้าง ที่ผันตัวเข้ามาเป็น “นักการเมืองท้องถิ่น” ผู้ใหญ่ที่เด็กเคยเคารพ เคยนับถือ เคยพูดจาและรักษาคำพูดนั้น ต้องกลับกลายและเปลี่ยนเป็น “ผู้มีอำนาจในท้องถิ่น”

ภาพพจน์ของนักการเมืองท้องถิ่นที่ต่างแย่งชิงเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัวกันนั้นเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบใหญ่ต่อเด็กและเยาวชนไทยมากกว่างบประมาณด้านการศึกษาและการกีฬาที่จัดไว้เพื่อบังหน้าหลายเท่านัก

ศีลธรรม จริยธรรมเป็นเรื่องนามธรรมซึ่งยากที่นักการเมืองส่วนท้องถิ่นจะหาผลประโยชน์ได้
งบประมาณ การก่อสร้าง เป็นรูปธรรมซึ่งง่ายที่นักการเมืองส่วนท้องถิ่นจะหาผลประโยชน์ได้
ประกอบกับนโยบายประชานิยม คือ ใคร ๆ เขาก็ทำกัน เขามีให้กันอย่างนี้ เราไม่ให้ก็ไม่ได้ ก็เลยได้แต่แจกเงินกันไป สร้างสนามกีฬากันไป เพื่อเน้นการพัฒนาสุขภาพกายโดยละเว้นพัฒนาสุขภาพใจ

ทำไมผู้ใหญ่ในเมืองไทยถึงละเลย มองข้ามการทำตัวดีเพื่อเป็นแบบอย่างต่อเยาวชน
เยาวชนในปัจจุบันนั้นขาดรูปแบบดี ๆ ขาดผู้ใหญ่ดี ๆ ที่ทำตัวอย่างให้เด็กที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการจะเป็นคนชัวหรือคนดีได้ดู

อันนี้ไม่ต้องพูดถึงสื่อ เพราะสื่อนั้นเสนอภาพพจน์นักการเมืองส่วนกลางที่จ้องล้างผลาญหาผลประโยชน์กันอย่างมหาศาลสอดแทรกผ่านรายการข่าว รายการคุยข่าวต่าง ๆ ซึ่งกินเวลากว่าครึ่งหนึ่งของวงการสื่อสารไทย
เวลาที่ผู้ใหญ่ดี ๆ ออกมาสร้างภาพพจน์ดี ๆ นั้นมีน้อย น้อยมาก ถ้าจะคำนวณถึงเวลาก็ไม่น่าจะเกิน 5% ของเวลาออกอากาศในแต่ละวัน และที่สำคัญมิใช่ช่วงเวลาที่เด็กและเยาวชนนั้นจะมีโอกาสได้ดู

การพูดถึงเรื่องสื่อนี้ก็เชื่อมโยงไปอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในส่วนของวิทยุชุมชน ซึ่งตามนโยบายแล้วก็น่าจะเป็น “สื่อทางเลือก” ที่สามารถนำเสนอสิ่งใหม่ สิ่งดี ๆ ที่สื่อใหญ่เขาไม่ทำกัน
แต่ทว่าความนิยมหรืออุปสงค์ (Demand) ของคนฟังซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนนั้น ก็ยังนิยมชมชอบฟังเพลง ฟังเสียงศิลปินที่เขานิยม ซึ่งนั่นก็กลายเป็นการเปิดสถานีวิทยุหรรษาแข่งกันองค์การการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยไปโดยปริยาย
ในช่วงเวลาของการเปิดสถานีวิทยุหนึ่งชั่วโมง จะเป็นการเปิดเพลง 40 นาที อีก 15 เป็นเวลาโฆษณาเพื่อกระตุ้นกิเลสซึ่งจะจัดกิเลสให้ตรงกับกลุ่มผู้ฟังตามเวลานั้น ๆ ส่วนอีก 5 นาทีก็จะเป็นช่วงของการนำเสนอความเลวร้ายของอาชญากรรม การนำเสนอการกระทำของผู้ใหญ่ที่ใคร ๆ รู้ว่าชั่วแต่หาต้นขั้วหาบิลไม่ได้ในช่วงต้นชั่วโมงที่ใคร ๆ นิยามเรียกกันว่า “การนำเสนอข่าว”

รูปแบบการจัดรายการวิทยุไม่ว่าจะเป็นวิทยุส่วนกลางหรือวิทยุชุมชนกว่าร้อยละ 80 จะเป็นแบบนี้
ซึ่งนั่นก็หมายถึงเป็นการกล่อมเกลาสันดานของเยาวชนไปโดยปริยาย

การมีการศึกษาที่ดีโดยได้รับทุนการศึกษาจาก อปท.
การมีสุขภาพร่างกายที่ดีได้มีสนามกีฬาไว้เพื่อออกกำลังกาย
แต่ทว่า หัวสมองและร่างกายที่ดีนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนองต่อจิตใจที่ไม่ดีอนาคตของเยาวชนในประเทศไทยนี้จึงกำลังเดินเข้าสู่หนทางของความหายนะ

การใช้เวลาในวิจัยเพื่อหาคำตอบเหล่านี้ คือ เวลาที่เยาวชนกำลังถูกมารในสังคมกัดกินจิตใจในทุก ๆ วินาที
การทำวิจัยนั้นนักวิชาการได้ผลงาน รวมถึงงบประมาณที่จะจัดสรรปันส่วนให้กับทีมงาน
แต่ทว่าชีวิตของเด็กและเยาวชนนั้นเป็นของจริง ชีวิตที่ต้องเป็นจริง ๆ และตายจริง ๆ
เรื่องนี้อาจจะดูเล็กน้อยถ้าเราคิดว่านั่นคือ “เด็กและเยาวชน”
แต่เรื่องนี้จะดูใหญ่และสำคัญมากขึ้นเพียงถ้าเราคิดว่านั่นคือ “ลูกของเรา”

ถ้ามีเด็กคนหนึ่งต้องเสียคนหรือตายไปในช่วงเวลาที่นักวิชาการวิจัย ถ้าเราเพียงแต่คิดว่าเด็กคนนั้นเป็น “เยาวชน” เด็กคนนั้นก็กลายเป็นแค่ Case study หรือกรณีศึกษา
แต่ในอีกทางหนึ่ง ถ้าเด็กคนที่ตายหรือเสียคนนั้นเป็น “ลูก” ของเรา แล้วเขาจะคิดและรู้สึกกับเขาว่าอย่างไร...
 


 

หมายเลขบันทึก: 316195เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2009 08:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 07:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท