มหากวีแห่งล้านนา


      ถ้าเรานึกถึงกวีนักแต่งบทกลอนที่มีความเป็นอัจฉริยะ  มีผลงานที่เรารู้กันมากมาย  เช่น สุนทรภู่ , ศรีปราชญ์  แล้ว  เมืองเหนือดินแดนถิ่นล้านนาก็มีมหากวีทีมีประวัติใกล้เคียงกับศรีปราชญ์เป็นอย่างมาก  ศรีปราชญ์นั้นแต่งบทกลอนเพื่อสาบแช่งผู้ที่คิดมิดีต่อท่านก่อนที่จะถูกลงดาบประหารว่า 

ธรณีนี่นี้

เป็นพยาน

เราก็ศิษย์มีอาจารย์

หนึ่งบ้าง

เราผิดท่านประหาร

เราชอบ

เราบ่ผิดท่านมล้าง

ดาบนี้คืนสนอง

มหากวีแห่งล้านนาที่ชื่อ พญาพรหมโวหาร  ก็แต่งกลอนสาบแช่งผู้ที่คิดมิดีต่อท่านเช่นกันที่ชาวล้านนาทราบกันดีในบทกลอนที่ว่า "กำจ่มพญาพรหม"  สำหรับประวัติของท่านนั้นมีดังนี้

พญาพรหมหรือ พญาพรหมโวหาร ท่านมีเชื้อสายทางตระกูล "เจ้าเจ็ดตน" ซึ่งเป็นลูกหลานของทิพย์ช้างวีรบุรุษแห่งเขลางค์นคร
บิดาของพญาพรหมชื่อ แสนเมืองมา เป็นผู้รักษากุญแจคลังหลวงของเจ้าลำปางหลวง มารดาชื่อเป็ง   เดิมพญาพรหมชื่อ พรหมมินทร์ เกิดที่ลำปาง พ.ศ. ๒๓๔๕ ปีจอ จัตวาศก (จ.ศ.) ๑๑๖๔ บ้านในตรอกตรงข้ามวัดใต้ดำรงธรรม
พรหมมินทร์ได้ศึกษาอักขรภาษาที่วัดสิงห์ชัย และต่อมาก็บรรพชาที่วัดนั้นเอง เมื่ออายุ ๑๗ ปี มีอาจารย์ชื่ออุปนันโทเถระ ซึ่งรักใคร่เอ็นดูลูกศิษย์เนื่องจากความที่เป็นเด็กฉลาดเฉลียว หลังจากอุปสมบทเป็นภิกษุได้สามพรรษา อาจารย์จึงฝากไว้ในสำนักของพระอาจารย์ปินตา วัดสุขมิ้น เชียงใหม่ หลังจากอยู่เชียงใหม่ได้ราวสามปี จึงลาอาจารย์กลับไปนครลำปางและลาสิกขาบท โดยก่อนลาก็ได้แต่งค่าว "ใคร่สิก"  เมื่อสึกออกมาแล้ว หนานพรหมมินทร์ รับจ้างแต่งค่าวซอ แต่งค่าวให้บ่าวสาว และขณะเดียวกันก็รับจ้างเขียนคำร้องที่ศาลาลูกขุนไปด้วย   สมัยนั้น กวีที่มีชื่อคือ พญาโลมะวิสัยผู้แต่งค่าวหงส์หิน ท่านเป็นเพื่อนกับแสนเมืองมา (บิดาของพรหมมินทร์) เมื่อบิดาเห็นบุตรมีใจรักทางกวีจึงนำไปฝากฝังกับ พญาโลมะวิสัย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอาลักษณ์ในราชสำนักเจ้าหลวงลำปาง เมื่อถวายตัวเป็นมหาดเล็กของเจ้าหลวง จึงได้ฝึกงานในแผนอาลักษณ์กับพญาโลมะวิสัยนี้เอง คราวที่พญาโลมะวิสัยนำค่าวหงส์หินถวายเจ้าหลวงลำปาง ซึ่งได้โปรดให้ตรวจชำระอีกครั้งหนึ่งเพื่อความไพเราะยิ่งขึ้น พรหมมินทร์ก็มีโอกาสได้แสดงความสามารถในด้านกวีเมื่อได้เข้าร่วมตรวจชำระด้วย ซึ่งก็ทำให้เจ้าหลวงโปรดปรานมาก จึงแต่งตั้งให้เป็นพญาพรหมโวหาร กวีประจำราชสำนัก และได้รับตำแหน่งพญาพรหมโวหารแต่นั้นมา    พญาพรหมโวหารสมรสกับเจ้าสุนา ณ ลำปาง กล่าวกันว่า พญาพรหมโวหารมีภรรยาถึง ๔๒ คน คนสุดท้ายชื่อ บัวจม    นอกจากความสามารถทางด้านกวีแล้ว พญาพรหมยังมีความรู้ในศาสตร์อื่นๆ อีกเช่น ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และคชศาสตร์ ซึ่งในด้านคชศาสตร์นี้เอง ท่านพญาหรหมโวหารได้แต่งค่าวแสดงคุณลักษณะต่างๆ ของช้าง ได้แก่ ค่าวพรรณนางาช้าง ค่าวช้างหลับหรือคำกล่อมขวัญช้าง ค่าวช้างขึด ค่าวช้างขึดมีที่มาจากเมื่อครั้งที่มีคนช้างมากราบทูลเจ้าวรญาณรังสี ว่ามีช้างงามต้องลักษณะตัวหนึ่งที่เมืองแพร่ โดยเจ้าของจะขายเพียง ๒,๐๐๐ ท็อก (เงินล้านนาสมัยก่อน) เจ้าวรญาณรังสีจึงมอบเงินให้แก่พญาพรหมโวหาร เพื่อไปดูช้างและซื้อกลับมาหากช้างนั้นต้องลักษณะจริง เมื่อพญาพรหมโวหารออกเดินทางและแวะพักที่บ้านป่าแมด ก็หมดเงินจำนวนนี้ไปกับการพนัน ด้วยเกรงความผิดจึงแต่งค่าวช้างขึด เพื่อส่งไปถวาย ทำให้พ่อเจ้าวรญาณรังสีกริ้ว และทรงประกาศิตว่า "หากไอ้พรหมมาละกอน (ลำปาง) วันใด หัวปุดวันนั้น" ด้วยเหตุนี้เองพญาพรหมโวหารจึงต้องอยู่เมืองแพร่และได้พบกับนางบัวจม   ที่แพร่นี้พญาพรหมก็เกือบเอาชีวิตไม่รอดจากการ ตัดสินประหารของพ่อเจ้าวิชัยราชา ต่อมาก็หลบหนีไปอยู่เมืองลับแลกับนางบัวจมและค้าขายเลี้ยงชีพ ภายหลังนางบัวจมหนีกลับแพร่ พญาพรหมจึงแต่งค่าวฮ่ำนางจม ซึ่งถือเป็นอมตะกวีที่มีคุณค่าแห่งล้านนาอีกชิ้นหนึ่ง   พญาพรหมระหกระเหินไปรับราชการที่เชียงใหม่กับเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ เมื่อพ.ศ. ๒๔๐๔ ช่วงสุดท้ายของชีวิตได้แต่งงานใหม่อีกครั้งกับเจ้าบัวจันทร์ เมื่ออายุ ๖๐ ปี และถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ ๘๕ ปี พ.ศ. ๒๔๓๐

ข้อมูลจาก สงวน โชติสุขรัตน์. ตำนานเมืองเหนือ. กรุงเทพ: พระนคร. พิมพ์ครั้งที่ ๓, ๒๕๐๘

     ปล.ใครอยากทราบประวัติโดยละเอียดก็หาอ่านได้จากหนังสือตำนานเมืองเหนือ และ หนังสือคำคมแห่งล้านนา(กำบะเก่า) ของคุณอำนวย  กลำพัด

 

 

 
 
 
คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 315831เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2009 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นมัสการค่ะ

แวะมารับความรู้ค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

ท่านอาจารย์ พระมหาประเสริฐ ธมฺมเสฏโฐ(งิ้วสูง)

ท่านกล่าวว่าคำสาปแช่งของคนใกล้จะเสียชีวิตมักจะเป็นจริงครับท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท