ภูมิปัญญาบรรพบุรุษแห่งล้านนา


     อาตมารู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นชาวล้านนายิ่ง  เพราะดินแดนถิ่นล้านนามากมายด้วยศิลปวัฒนธรรม  มากด้วยปราชญ์ผู้รู้ที่ได้มอบมรดกทางปัญญาให้กับลูกหลานสืบมานับปัจจุบัน  โดยเฉพาะคำคมที่ชาวล้านนาเรียกกันว่า "กำบะเก่า"  คนสมัยก่อนเมื่อจะสั่งสอนลูกหลานท่านมักจะไม่สอนตรง ๆ  แต่ท่านมักจะพูดเป็นปริศนาเพื่อให้ลูกหลานได้คิด  ดังเช่น
      บ่ตันนั่ง  จะไปฟั่งเหยียดแข้ง  โดยความหมายก็คือ  ไม่ทันนั่งแล้วรีบเหยียดเท้าเสียก่อน  อันเป็นคำตำหนิคนที่หวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึงระวังนะเดี๋ยวพลาดท่ามาแล้วจะเสียใจเปล่า ๆ
      เมื่อคืนเป๋นนกจัน  เมื่อวันเป๋นนกเก๊า  บทนี้กล่าวว่าให้กับคนที่ชอบเที่ยวเตรกลางคืน  กลางคืนไม่ยอมหลับยอมนอนเหมือนชาวบ้านชาวช่องเขา  ซึ่งเปรียบเหมือนดั่งนกเค้าแมว  พอตกตอนกลางวันก็มานั่งง่วงเหงาหาวนอนเหมือนกับนกฮูก
      เสียมบ่คมหื้อใส่ด้ามหนัก ๆ  ความฮู้บ่นักฮื้อหมั่นฮำหมั่นเฮียน  บทนี้กล่าวว่า เสียมไม่คมให้ใส่ด้ามที่หนัก ๆ  แล้วถ้าความรู้ไม่มากก็ให้ขยันขวานขวายรำเรียนหาวิชาความรู้  เป็นการกล่าวสอนลูกหลานให้มีอุปนิสัยรักการเรียนนั่นเอง
      สิบปากว่า  บ่เต้าต๋าหัน  สิบต๋าหันบ่เต้ามือซวาม  บทนี้กล่าวว่า สิบปากว่าไม่เท่ากับตาเราเห็นเอง  สิบคนว่าเห็นก็ยังไม่เท่าเราเอามือจับต้องลูบคลำพิสูจน์เอง  เป็นบทกล่าวสอนให้ลูกหลานไม่ให้เป็นคนงมงายหูเบาเชื่อง่าย จะเชื่อสิ่งใดก็ต้องพจารณา พิสูจน์รู้ด้วยตนเองจนแน่ใจเสียก่อนจึงค่อยเชื่อและทำตาม
      ก็เอาพอหอมปากหอมคอละนะทุกท่าน  นี่คือภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวล้านนาที่เป็นมรดกอันลำค่าควรแก่การสืบสานจริง ๆ  ใครที่เป็นลูกหลานล้านนาก็หมั่นแสวงหาเรียนรู้เอาไว้  แล้วเราจะรู้สึกหวงแหนและภาคภูมิใจในชาติกำเนิดของเราเป็นอย่างยิ่ง
      ขอบคุณหนังสือดี ๆ เรื่องคำคมแห่งล้านนา(กำบ่ะเก่า) ของคุณ อำนวย  กลำพัด
คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 315824เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2009 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ถ้าไม่มีคำอธิบายแล้วละก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรเลยนะครับ

ได้ความรู้ดีครับ

ขอบคุณที่นำมาเผยแพร่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท