วิถีชีวิตคนลุ่มน้ำยอด น้ำยาว……อดีต……..ปัจจุบัน


คนลุ่มน้ำมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ มีความพอเพียง อยู่กันอย่างฉันท์พี่น้อง มีความผูกพันกับสายน้ำอย่างลึกซึ้ง
          เป็นที่ทราบกันดีว่าสภาพพื้นที่ของจังหวัดน่าน ประกอบด้วยป่าเขาสลับกับที่ราบแคบๆ ระหว่างหุบเขาและที่ราบใหญ่ขนานไปตามสองฝั่งแม่น้ำน่าน ลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้จึงเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ด้วยการล่าสัตว์ และเก็บพืชผักผลไม้เป็นอาหาร พัฒนาการเรื่อยมาจนกระทั่งรู้จักการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน อาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบที่เหมาะแก่การเกษตรกรรมตามลุ่มแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา 

“ลำน้ำยอด” “ลำน้ำยาว” เป็นลำน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำน่าน ที่ไหลจากอำเภอสองแควผ่านอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน และไหลลงสู่แม่น้ำน่านบริเวณบ้านสบยาว อำเภอท่าวังผา น้ำเป็นเสมือนหนึ่งสายโลหิตที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน ก่อเกิดชุมชนต่างๆ ทอดตัวอยู่รายรอบลำน้ำ ซึ่งลำน้ำยอด ลำน้ำยาวไหลผ่านหมู่บ้าน

          สภาพชุมชนดั้งเดิมก่อนระบบทุนนิยม คนลุ่มน้ำมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ มีความพอเพียง อยู่กันอย่างฉันท์พี่น้อง มีความผูกพันกับสายน้ำอย่างลึกซึ้ง ในการดื่มกิน ชำระร่างกาย และการอุปโภค ที่สำคัญเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ พืชน้ำต่างๆ แม่อุ้ยคนหนึ่งได้เล่าวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า “....เมื่อก่อนเราไม่มีการค้าการขายกันเท่าไรนัก  การปลูกพืชจะมีแต่ปลูกข้าวไว้พอกินในครอบครัว พืชอื่นก็แทบจะไม่มี จะมีก็ปลูกยาสูบไว้สูบเองบ้าง ขายบ้างเพื่อเก็บเงินไว้เสียภาษีที่ดิน นอกนั้นก็จะเก็บผัก เก็บไม้ ล่าสัตว์ หาของป่า กินไปวันๆ ได้อะไรมาก็จะแบ่งปันให้กันกิน ไม่มีซื้อขาย….น้ำก็จะใช้เพื่อดื่มกิน …แต่ก่อนจะขุดเป็นน้ำบ่อเล็กๆ ริมลำน้ำ ถ้าหน้าน้ำก็จะตักมาใส่ตุ่มไว้ให้มันตกตะกอน ก็ตักข้างบนกิน นิ่วแต่ก่อนก็ไม่เห็นใครเป็น…ปลาก็มีมาก หาจับกันได้ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องเลี้ยงเหมือนสมัยนี้….”  วิถีแห่งความเรียบง่ายนี้ได้เป็นตัวคอยหล่อหลอมจิตใจของคนลุ่มน้ำ ให้มีความรักผูกพันกัน มีความเอื้ออาทรต่อสรรพสิ่ง เกื้อกูลต่อสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติ ดำรงรักษาธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้น มีความสมถะ สันโดษ ที่เป็นรากฐานทางพุทธศาสนา และจิตสำนึกในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

          เมื่อวิถีแห่งความเรียบง่าย ระบบคุณค่าของการอยู่ร่วมกันค่อยๆ จางหายไป เริ่มถูกเบียดแทรกเข้ามาด้วยระบบมูลค่า การดำรงชีวิตแบบพออยู่พอกินจึงเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นการทำเพื่อการค้าขาย พืชเศรษฐกิจเริ่มเข้ามามีบทบาทในชุมชน โดยการส่งเสริมของนายทุน ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ผัก กระหล่ำปลี ฝ้าย ยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียร์ ฯลฯ การถั่งโถมเข้ามาของพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่เพียงแต่เสริมสร้างค่านิยมในระบบทุนนิยมเท่านั้น หากแต่ทำให้ชุมชนรู้จักการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร การใช้น้ำในรูปแบบใหม่เพื่อการเพาะปลูก ระบบเหมืองฝายเปลี่ยนเป็นระบบคลองส่งน้ำ น้ำในระยะนี้จึงมีความสำคัญต่อการเกษตรของชุมชน ที่ห่างไปจากลำน้ำก็จะมีการขุดบ่อน้ำ สระน้ำ เพื่อสูบน้ำมาใช้ในการเพาะปลูก อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าความอุดมสมบูรณ์และการใช้ประโยชน์จากที่ราบลุ่มลำน้ำจะดีกว่าที่ราบสูงหรือตามไหล่เขา ดังจะเห็นได้ว่าที่ราบลุ่มลำน้ำยาวจะมีการปลูกพืชหมุนเวียนกันไปตลอดทั้งปี

          ชายสูงอายุรายหนึ่งเล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงของชุมชนว่า “….พวกข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว กระหล่ำ พืชเหล่านี้มันเพิ่งเข้ามาไม่กี่ปีนี่เอง สมัยสัก 20-30 ปี …..แรกๆ ก็ยังว่ามันเป็นพืชอะไร จะเอาไปทำอะไรได้ แต่ตอนหลังชาวบ้านเห็นว่าทำรายได้ดี จึงเริ่มทำกันมากขึ้นอย่างแพร่หลาย…...การขนส่งผลผลิตการเกษตรสมัยก่อนก็มักจะใช้วัวต่าง ใครมีวัวต่างก็จะเป็นคนรวย แล้วต่อมาก็ล้อเกวียน ใครมีล้อก็ถือว่ารวย มาอีกระยะก็เป็นเรือ “ขะตืน” (เรือยนต์) ซึ่งส่วนใหญ่จะไปจ้างของคนบ้านสบหนอง ดอนตัน ท่าวังผา และสุดท้ายรถเครื่อง รถยนต์ก็เข้ามาแทนที่….น้ำดื่ม ก็เริ่มจากกินน้ำท่า น้ำห้วย มาเป็นขุดน้ำบ่อกิน ปัจจุบันก็มีน้ำก๊อก น้ำประปา น้ำขวดขาย มันเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย….แต่คนเรารู้สึกจะห่างเหินกันไป ไม่เหมือนแต่ก่อนมีอะไรก็จะช่วยกันทุกคน แบ่งปันกัน….”

          ในระยะหลังพืชเชิงเดี่ยวล้มลุกเริ่มประสบปัญหามากขึ้นในด้านผลผลิตและราคา ทำให้ชุมชนเริ่มหันมาปลูกพืชยืนต้นมากขึ้น เช่น ลำไย มะม่วง ส้ม ลิ้นจี่ มะแขว่น ฯลฯ การเพาะปลูกแบบผสมผสานหรือการเกษตรทฤษฎีใหม่ การค้าขาย การอุตสาหกรรมขนาดเล็ก จึงมีบทบาทมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่แพร่หลายมากนักเพราะชุมชนส่วนใหญ่ยังคิดว่าพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวยังสามารถทำรายได้ให้กับคนในครอบครัว ชุมชนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

          วิถีชีวิตของคนน่านผูกพันกับสายน้ำและฝืนป่ามายาวนาน เกือบทุกหมู่บ้านจะมีป่าชุมชน (ป่าหน้าหมู่) เป็นของตนเองเพื่อใช้สอยในยามจำเป็น แม้ว่าในระยะหลังการสัมปทานป่าจะทำให้ป่าชุมชนหลายๆ แห่งได้ถูกสัมปทานไป แต่ยังคงเหลือป่าที่ทุกหมู่บ้านยังคงให้การอนุรักษ์ไว้อย่างเหนียวแน่น เช่น ป่าที่อยู่บริเวณป่าช้า (ป่าสุสาน), ป่าขุนน้ำ, ป่าขุนห้วย, ป่าแพะ เป็นต้น ในขณะเดียวกันด้วยกระแสแห่งการอนุรักษ์ลำน้ำ หมู่บ้านที่มีสายน้ำไหลผ่านไม่ว่าจะเป็นลำน้ำสายใหญ่หรือลำน้ำสายเล็กๆ ชุมชนเหล่านี้ก็จะมีการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ กันเขตบริเวณหมู่บ้านเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ วิถีของชุมชนจึงมีความสัมพันธ์กับป่าและสายน้ำอย่างแยกไม่ออก ความสัมพันธ์ของกิจกรรมการใช้น้ำ ป่า และสังคมของผู้คน จึงแสดงออกมาในรูปของวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อที่ผ่านสายน้ำที่ปรากฎให้เห็นกันอยู่ทั่วไป จึงเป็นความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นผีขุนน้ำ ผีฝาย ผีหลวง การสืบชะตาแม่น้ำ การบวชป่า ซึ่งเป็นวิธีการนำเอาความเชื่อทางศาสนามาผนวกให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของชุมชน สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นวิธีคิดและการกระทำอย่างแยบยล ซึ่งทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่ คือ รักษาป่าเพื่อมีน้ำ ต้องรักษาน้ำเพื่อให้มีปลา ดังคำกล่าวที่ว่า “อยากได้น้ำ ต้องรักษาป่า อยากได้ปลา ต้องรักษาน้ำ”

          ทุนชีวิต ทุนวัฒนธรรม ทุนทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ นับว่าเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญของคนลุ่มน้ำ ที่จะช่วยเสริมสร้างระบบคุณค่าของการอยู่ร่วมกันให้มีพลังในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวสายสัมพันธ์ของคนลุ่มน้ำที่ถักทอกันขึ้นมาในระดับต่างๆ หล่อหลอมจิตวิญญาณของคนลุ่มน้ำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สร้างเอกลักษณ์ของคนลุ่มน้ำและเป็นกรอบในการอ้างอิง อันเป็นบ่อเกิดของความสามัคคีของคนลุ่มน้ำ รวมทั้งเป็นฐานยึดโยงช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามที่ชุมชนมีสิ่งคุกคามหรือการถั่งโถมเข้ามาของสังคม วัฒนธรรมจากภายนอก

................................................

บางส่วนจากบทความ “วิถีชีวิตคนลุ่มน้ำยอด น้ำยาว และ

การเคลื่อนไหวภาคประชาชน กรณี โครงการกก อิง น่าน

14 พฤศจิกายน 2542

หมายเลขบันทึก: 315709เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2009 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท