บันทึกในคืนวันหนึ่งที่จำวันที่ไม่ได้


ตั้งแต่เราเติบโตขึ้นมาในชุมชนนี้ ทำอะไรที่เกิดประโยชน์แก่ชุมชนที่เราอาศัยอยู่บ้าง

¨บันทึกในคืนหนึ่งที่จำวันที่ไม่ได้ ¨

                                                                                    .....นายธวัช  ธนวิจิตรานันท์

                                                            ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่พริก

     ก่อนจะเข้านอนคืนหนึ่ง ผมนั่งเหม่ออยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือ คิดในใจแวบหนึ่งว่า “เมื่อไม่ได้คุยกับใคร ก็ขอเขียนหนังสือตามความรู้สึกนึกคิดอะไรสักอย่าง” เลยมาเริ่มต้นได้ตรงที่ว่า ทำไม? เรา (ผม) จึงเลือก (ส – สระ – เอือ – ก) คิดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่พริกขึ้นมา   ครับ...ก่อนที่เรายังไม่เกษียณ เวลา 7 นาฬิกา เราออกจากบ้านไปทำงานประจำ ทานอาหารตั้งแต่เช้า รีบไปทำงาน จนหมดเวลาราชการ จึงเดินทางกลับ ก็รู้สึกสนุกกับงาน สนุกกับการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสำนักงาน ความเคยชินที่ได้ทำงานอยู่อย่างนี้ เมื่อออกจากงานในการเกษียณก็รู้สึกเหงาๆ เอาการ คิดเหมือนกันว่า “จะทำอะไรแก้เหงาได้บ้าง?” เราคิดต่อ...คิดต่อไป...ว่าทำอะไรสักอย่างนะที่ให้ประโยชน์กับชาวบ้านบ้านเราโดยตรง ก็คิดได้ว่า ตั้งแต่เราเติบโตขึ้นมาในชุมชนนี้ ทำอะไรที่เกิดประโยชน์แก่ชุมชนที่เราอาศัยอยู่บ้าง

        ก็เป็นความจริง เพราะตั้งแต่เรียนจบชั้น ป.4 ต้องออกจากบ้านไปอยู่บ้านญาติยังอำเภอหนึ่ง เพื่อต่อชั้นมัธยม เมื่อจบชั้นมัธยมต้องออกไปเรียนในชั้นสูงๆ ที่จังหวัด และในเมืองหลวง ในช่วงอายุเท่านี้ อย่าหวังเลยว่า เราได้ช่วยเหลือชุมชนอย่างแท้จริง เมื่อเรียนจบมาทำงาน โอกาสที่อยู่ในชุมชนไม่นานนัก ต้องย้ายไปทำงานตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ และกว่าจะกลับเข้ามาอยู่ในชุมชนบ้านเกิดอีก ก็เป็นเวลาที่เราเกษียณอายุราชการแล้ว ครับ...ผมนั่งทบทวนทุกวันอย่างนี้มาหลายครั้ง...หลายครา...ว่า จะมีอะไร? ที่เราจะขอทำเพื่อแผ่นดินเกิด เพื่อบ้านเกิด แผ่นดินผืนนี้ ที่ให้กำเนิดเรามา ณ ที่นี้ ในชุมชนนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมเลยรีบตัดสินใจว่า จะช่วยชาวบ้านในสิ่งที่เขายังไม่มีใครช่วย ยังไม่มีใครทำ แม้แต่หน่วยงานทางราชการของรัฐ!! แต่เมื่อกลับมาคิดอีกต่อว่า เราพร้อมแล้วหรือ?? ตัวเราน่ะ...ครอบครัวล่ะ!! ความเป็นอยู่เราพอจะช่วยคนอื่นได้ล่ะหรือ?? ก็ใจอ่อนนิดๆ ล่ะครับ ในเมื่อฐานะความเป็นอยู่ของเรา ก็ใช่ว่าจะหรูหราร่ำรวย แต่เราก็พอจะช่วยตัวเราเองได้บ้าง นี่เป็นความคิดของเราเอง ทั้งที่เรามีลูก มีภรรยา ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาในความเป็นอยู่ที่สุข แต่ก็เดาใจได้ว่า พอจะอธิบายสิ่งเหล่านี้แก่ภรรยาได้ ผมเริ่มเดินเครื่องครับ...โดยเริ่มศึกษารายละเอียด สาระประโยชน์ของกองทุนสวัสดิการชุมชนนี้ขึ้น จากกลุ่มกองทุนต่างๆ ที่เขาจัดกันขึ้นมาก่อน ก็เห็นว่ามันมีประโยชน์กับชาวบ้านจริงๆ (และยังไม่ทราบผลเสียตามมาจะมีอะไร?) การตัดสินใจก็เริ่มขึ้นครับ!!

    ผมนั่งคิด และเดินหาผู้ที่พอจะช่วยเราได้บ้างในชุมชน ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้เกษียณจากราชการ ชาวบ้านซึ่งเคยเป็นผู้นำในชุมชนมาก่อน และเด็กรุ่นหนุ่ม ที่เห็นว่าพอจะช่วยงานนี้ได้ ผมจึงออกพูดคุย พบปะกับท่านเหล่านั้น เกือบทุกท่านมีความเห็นด้วยกับสิ่งที่ผมคิด คือ มีความคิดไปด้วยกันได้ โอกาสเหมาะๆ ในวันหนึ่ง ผมจึงได้ขอรบกวนเวลา และเริ่มร่วมปรึกษาหารือในการจัดตั้ง “กองทุนสวัสดิการชุมชน” ขึ้นมา การพบปะ พูดคุย มีหลายครั้ง จึงตกลงปลงใจในที่สุด ก็กำหนดการก่อตั้งกองทุนฯ ขึ้นมาได้ โดยเริ่มครึ่งเดือนหลังของเดือนมกราคม พ.ศ.2546 ตรงกับ วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2546 เป็นที่แน่นอน มีการประชุมกรรมการ ประชุมชี้แจงชาวบ้าน จึงกำหนดวันออมทรัพย์ครั้งแรก ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2546 ปรากฏว่าวันนี้มีผู้อยู่ในชุมชนมาร่วมออมทรัพย์ จำนวนถึง 113 คน และได้ชี้แจงผู้มาเป็นสมาชิกว่า เราจะถือเอาวันที่ 1 ของทุกเดือน เป็นวันออมทรัพย์ในครั้งต่อๆ ไป การดำเนินการของเราก็มีปัญหาและอุปสรรคพอสมควร ทั้งๆที่เรา คณะกรรมการได้เตรียมการไว้ก่อนแล้ว ในเรื่องที่ตั้งกองทุนฯ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งทะเบียน บัญชี เอกสารต่างๆ รวมทั้งบุคลากร หรือคนทำงานเรื่องนี้ แต่เราก็เบาใจ และมีกำลังใจว่า “เราจะหาประสบการณ์ต่างๆ จากงาน และทำให้มีความชำนาญเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่เราทุกคน (กรรมการ) ก็ไม่เคยรับการฝึกฝนออมมาก่อน” งานของเราก็ดำเนินการไปด้วยดี และพยายามแก้ปัญหาการทำงานไป จนเดือนต่อๆ ปีต่อๆ มา เราก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้น...เพิ่มขึ้น...

    การดำเนินการผ่านมาเป็นเดือน เป็นปี ก็มีเป้าหมายในการทำงานของผู้เป็นกรรมการ และกรรมการก็อาจมีปัญหาในงานอยู่บ้าง หรือไม่พอ และพบบ้างว่า บางคนมีปัญหาในครอบครัว จึงทำให้การทำงาน ศึกษางานน้อยลง แต่ผมก็ให้กำลังใจกับทุกคน เราทำงานเป็นทีม ทำในรูปคณะกรรมการ ผมเข้าใจ และได้ยินเขาพูดอยู่เสมอว่า “คนเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน” หรือ “ร้อยคนก็ร้อยอย่าง” หรือ “ร้อยคนก็ร้อยความคิด” ผมพยายามเอาความเหมือน และความไม่เหมือน พยายามเอาความคิดต่างความคิด หลายๆ อย่างมาร้อยเรียงกัน ก็ช่วยให้การทำงานทำกันไปได้ แต่เราก็มีกำลังใจ เพราะเราเห็นผลลัพธ์ที่ออกมาแล้ว ผู้ร่วมงานเรามีความสุข คนที่ร่วมเป็นสมาชิก เขาพอใจในสิ่งที่เขาได้รับ เท่านี้ผมก็มีความสุขแล้วครับ
********************************

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 31567เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2006 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นบุญกุศลมากครับอาจารย์

ลีโอ ตอลสตอย นักเขียนดังเคยเขียนว่า

"เรารับรู้ได้ถึงความรัก และมีความสุขเมื่อมีคนรักเรา

แต่เราจะรับรู้ถึงความสุขใจที่ยิ่งกว่า หากเรารู้สึกรักผู้อื่น"

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท