เผยแพร่ผลงาน


การปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมการจัดการความรู้สู่ความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้โรงเรียนบ้านสำโรง

บทคัดย่อ

หัวข้อวิจัย  การปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม การจัดการความรู้สู่ความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้โรงเรียนบ้านสำโรง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3

ผู้วิจัย        นายบำเพ็ญ  อินทร์โสม  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสำโรง วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3

                    การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน และความต้องการของบุคลากรโรงเรียนบ้านสำโรง เกี่ยวกับการจัดการความรู้ในโรงเรียน เพื่อศึกษาการดำเนินการจัดการความรู้ในสถานศึกษาต้นแบบด้านการจัดการความรู้ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเพื่อศึกษาผลสำเร็จของการดำเนินการจัดการความรู้สู่ความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้โรงเรียนบ้านสำโรง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธี คือ ประยุกต์ใช้การวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพ และใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเป็นหลัก ตามแนวคิดของ Kurt Lewin ที่ประกอบด้วย การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกต และการสะท้อนผล  จำนวน  2 วงรอบ

พื้นที่เป้าหมายในการวิจัย ได้แก่โรงเรียนบ้านสำโรง หมู่ที่  1 ตำบลสำโรง อำเภอตาลสุม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 ปีการศึกษา 2551 กลุ่มเป้าหมายหรือผู้ร่วมวิจัยในครั้งนี้จึงเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนบ้านสำโรง ประกอบด้วย ผู้บริหาร  2 คน  ข้าราชการครู  20 คน พนักงานราชการ  2  คน ลูกจ้างชั่วคราว  4  คน  รวมเป็น  28  คน

การวิจัยครั้งนี้มีขั้นตอนในการดำเนินการ  3  ขั้นตอน  คือ  ขั้นตอนที่  1  เป็นการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ขั้นตอนที่  2  เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากร  ขั้นตอนที่  3  เป็นการดำเนินการตามวงจรการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 1) แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง  จำนวน 4 ฉบับ  2) แบบบันทึกการเทียบเคียง  3) แบบบันทึกการปฏิบัติที่ดีเลิศ  4) แบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพปัจจุบัน และความต้องการการจัดการความรู้ในโรงเรียน  ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ  0.85         5) แบบประเมินความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้  ซึ่งได้จากการปรับปรุง ประยุกต์ใช้แบบประเมินความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของ สุรัตน์  ดวงชาทม  มีความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.97  การเก็บรวบรวมข้อมูล คณะผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยการสังเกต  สอบถาม และสัมภาษณ์  และนำข้อมูลที่รวบรวมได้ตรวจสอบความถูกต้อง  ตีความสรุป และสะท้อนผลการปฏิบัติในแต่ละวงรอบ ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีตีความสร้างข้อสรุปโดยใช้หลักตรรกวิทยาเชิงอุปนัย ข้อมูลเชิงปริมาณ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติภาคบรรยาย  สถิติที่ใช้ได้แก่  ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบค่า t แบบไม่อิสระ

 

ผลการวิจัยพบว่า

1. สภาพปัจจุบันโรงเรียนบ้านสำโรง  มีการดำเนินการจัดการความรู้ โดยภาพรวมมีการดำเนินการในระดับปานกลาง  และบุคลากรมีความต้องการให้โรงเรียนดำเนินการจัดการความรู้ในโรงเรียน โดยภาพรวมมีความต้องการในระดับมาก

2. โรงเรียนต้นแบบการจัดการความรู้ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2  ดำเนินการจัดการความรู้ในโรงเรียน โดยจัดทำโครงสร้างรูปแบบการจัดการความรู้  แต่งตั้งคณะทำงานจัดการความรู้ มีการกำหนดวิสัยทัศน์  พันธกิจ  และนโยบายเกี่ยวกับการจัดการความรู้ มีการกำหนดประเด็นหัวปลา ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการประเมินของ สมศ. และ สพฐ.  กำหนดสิ่งที่ต้องเรียนรู้  กำหนดตัวบ่งชี้ความสำเร็จ จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก และดำเนินการตามกระบวนการจัดการความรู้ คือ การบ่งชี้ความรู้ การสร้างและแสวงหาความรู้ การจัดเก็บความรู้ให้เป็นระบบ  การถ่ายโอน แลกเปลี่ยนความรู้ การกลั่นกรอง และนำความรู้ไปใช้

3. โรงเรียนบ้านสำโรง  มีลักษณะความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ โดยภาพรวมในระดับมาก  ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้

4. การดำเนินการจัดการความรู้ สู่ความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ ประกอบด้วย  3 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 การเตรียมความพร้อมให้บุคลากร  ขั้นที่  2  จัดทำแผนจัดการความรู้  ขั้นที่  3  ปฏิบัติการจัดการความรู้  โดยดำเนินการตามกระบวนการจัดการความรู้  6  ขั้นตอน  คือ  การบ่งชี้หรือกำหนดความรู้  การแสวงหาและการสร้างความรู้  การจัดเก็บและการสืบค้นความรู้  การแลกเปลี่ยน  แบ่งปัน  เผยแพร่  และกระจายความรู้  การเข้าถึงยึดกุมสร้างขุมความรู้ และการประยุกต์และนำความรู้ไปใช้

หมายเลขบันทึก: 315404เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2009 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท