การจัดการความรู้ : คืนคน


คืนครูให้กับโรงเรียน คืนอาจารย์ให้กับมหาวิทยาลัย คืนหมอให้กับโรงพยาบาล คืนผู้รู้ไว้ให้กับชุมชน

 

ทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังใช้ทรัพยากร “งบประมาณ” ไปกับการจัดเวทีกระบวนการเป็นจำนวนมาก
แต่ประโยชน์ที่ได้จากเวทีกระบวนการนั้นก็มีมากเทียบเท่ากับผลประโยชน์ที่ให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง

คนที่ไม่รู้หรือยังไม่รู้ก็หวังว่าจะหาประโยชน์หรือความรู้จากเวทีกระบวนการ
คนที่รู้ (มิจฉาทิฏฐิ) ก็รู้ช่องว่าจะหาผลประโยชน์จากเวทีกระบวนการนี้ได้อย่างไร
คนที่รู้ (สัมมาทิฏฐิ) ก็จะรู้ช่องว่าจะทำอย่างไรถึงจะหลบเลี่ยงการเข้าร่วมเวทีนี้เพื่อไปทำงานที่แท้จริง

ดังนั้นเวทีที่หวังว่าจะมีคนเข้ามาร่วม มาถกเถียง ต่อยอดความรู้กันจึงกลายเป็นเวทีของผู้ไม่รู้และผู้รู้อย่างมีผลประโยชน์
คนที่มีผลประโยชน์ก็สร้างความหลงเพื่อให้คนไม่รู้นั้นงุนงงเข้ามาร่วมสร้างเวทีกระบวนการเรียนรู้อยู่เรื่อย ๆ

คนรู้ไม่พูด คนที่พูดนั้นก็ต้องแลกด้วยเวลาที่จะกระทำเพื่อที่จะแสวงหาความรู้

ตามข้อกำหนด รูปแบบ หรือระเบียบทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการประกันคุณภาพ หรือรายละเอียดตามแผนการเรียนการสอนโดยเฉพาะในระดับบัณฑิตศึกษานั้นบังคับให้มีการจัดประชุมหรือจัดกระบวนการกันเป็นอย่างมาก
คนที่จัด ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร นักวิชาการ หรือนักศึกษาก็หวังพึ่งพาผลประโยชน์จากเวทีนั้น

ผู้บริหารก็หวังจะได้ผลประโยชน์จาก KPI ในรายงานการประกันคุณภาพที่สูงขึ้น
นักวิชาการ ก็หวังจะได้ผลประโยชน์จากทุนซึ่งแหล่งทุนระบุว่าจะต้องจัดสร้างเวทีกระบวนการ
นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา จัดเวทีประบวนการขึ้นมาเพื่อให้ตนเองเรียนจบ ได้ใบปริญญา ทั้งในการวิจัยหรือ Thesis ของตนเอง รวมถึงเวทีที่จะต้องให้มีการนำเสนอผลงานวิจัยโดยจะต้องมีใครต่อใครเข้าร่วมเวทีจำนวนเท่านั้น เท่านี้

เมื่อเวทีดูไม่มีพลัง นักวิชาการก็จะเชิญปราชญ์ชาวบ้าน กูรู หรือผู้รู้ในชุมชน มานั่งมาพูด เพื่อให้ความรู้แก่เวที แต่นี่ก็เป็นเพียงหลักการเท่านั้น
ในความเป็นจริงแล้ว ผู้รู้จะได้พูดไม่นานนัก เพราะสักพักนักวิชาการก็จะสวมบทบาทครู ดูถูกและเหยียบย่ำผู้รู้ที่เขานั้นเชิญมา

แต่ทว่าฝีมือในการเขียนเอกสารสรุปการประชุมก็ดี เอกสารทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยก็ดี ก็สามารถทำให้แหล่งทุนเคลิ้มไปกับภาพกระบวนการในเวทีที่สวยงาม
ถ้าประเทศไทยไม่มีการจัดเวที วงการวิชาการไทยนี้จะสวยงามขึ้นอีกมาก
ครูก็จะได้อยู่โรงเรียนเพื่อเป็นครู ผู้รู้ก็จะได้อยู่กับชุมชนเพื่อเป็นผู้รู้อยู่อย่างนั้น

ถ้านักวิชาการอยากทำอะไรก็ขอให้ไปเรียนรู้กับผู้รู้ในชุมชน
ไม่ควรแยกผู้รู้ออกจากแหล่งเรียนรู้ที่เขารู้ เพราะในแหล่งที่เขาเรียนรู้นั้นมีบริบทอีกมากมายที่นักวิชาการนั้นสามารถสัมผัสถึงวิถีความเป็นไปและความเป็นมาที่จะเป็นผู้รู้ในวันนี้ได้อีกมากมายนัก

คืนครูให้กับโรงเรียน คืนอาจารย์ให้กับมหาวิทยาลัย คืนหมอให้กับโรงพยาบาล คืนผู้รู้ไว้ให้กับชุมชน
ฟันเฟืองต่าง ๆ จะกลับเข้าสู่ระบบอย่างเป็นระเบียบ
อย่ามัวถอดน็อตของล้อเพื่อที่จะมาทดลอง ศึกษาเพื่อที่จะไปพัฒนาหัวสมอง
หัวสมองจะดีแค่ไหน ถ้าล้อไม่มีน็อตก็ไม่สามารถวิ่งไปตามถนนได้
ปิดฉากเวทีกระบวนการในวันนี้ ล้อทั้งหลายก็จะสามารถหมุนเวียนและผ่องถ่ายความรู้ให้เป็นพลวัตในสังคมไทยได้อีกมาก


 

หมายเลขบันทึก: 315309เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2009 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท