NB
โครงการพัฒนาเด็กซีซีเอฟหนองบัวลำภู โครงการพัฒนาเด็กซีซีเอฟจังหวัดหนองบัวลำภู ซีซีเอฟหนองบัวลำภู

เชษฐา สร้อยอุดม


การพัฒนาอาชีพ

ผักปลอดภัย….เลือกอย่างไร
        ท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมผู้คนได้หันไปบริโภคอาหารจานด่วนกันมากขึ้น ผลที่ตามมาคือ ประชากรไทยมีภาวะอ้วนกันมาก อันส่งผลให้พบผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงมากขึ้น ดังนั้นมีผู้รักสุขภาพส่วนหนึ่งจึงเริ่มหันมาบริโภคผัก โดยเฉพาะกลุ่มมังสวิรัติ เพราะเชื่อกันว่ากินผักบำรุงสุขภาพ แต่ปัจจุบันผักที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดปลอดภัยจริงหรือ? แล้วเราจะเลือกซื้อผักให้ปลอดภัยจากสารพิษได้อย่างไร
        ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับนานาสารพัดผักที่พากันบอกว่าเป็นผักเพื่อสุขภาพกันดีกว่า ตั้งแต่ผักปลอดสารพิษ ผักอินทรีย์ (ออร์แกนิก) ผักปลอดภัยสารพิษ(ผักอนามัย) ผักไร้สารพิษ ผักไฮโดรโปนิกส์ ที่พากันขึ้นป้ายโชว์อยู่บนห้างสรรพสินค้า โดยส่วนใหญ่ผักเหล่านี้ล้วนมีราคาแพงกว่าผักทั่วไป 3-4 เท่า ดังนั้นเพื่อให้เราได้เลือกบริโภคผักเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง เรามาเริ่มทำความเข้าใจกันอย่างจริงจังดีกว่าค่ะ
        1. ผักปลอดภัยสารพิษ (ผักอนามัย) ในกระบวนการผลิตสามารถใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง ใช้สารเคมีกำจัดเชื้อรา ใช้ยาปราบวัชพืช ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ ได้ทั้งหมดแต่จะหยุดพ่นสารเคมีก่อนเก็บเกี่ยวตามเวลาที่กำหนด ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวขึ้นอยู่กับความเข้มงวดของผู้เพาะปลูกผักว่าจะนำสารเคมีชนิดใดมาใช้ และต้องปฏิบัติตามฉลากข้างผลิตภัณฑ์ที่เขียนระบุไว้ถึงระยะปลอดภัยก่อนเก็บเกี่ยวอย่างเข้มงวด
        2. ผักปลอดสารพิษ ในกระบวนการผลิตสามารถใช้ปุ๋ยเคมี สารจำจัดเชื้อรา ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ได้ แต่จะไม่ใช้เฉพาะยาฆ่าแมลง และสารเคมีกำจัดวัชพืชเท่านั้น หรือหากใช้ก็ใช้เฉพาะระยะต้นกล้า
        3. ผักไฮโดรโปนิกส์ คือผักที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และยาปราบศัตรูพืช แต่ใช้สารเคมี และฮอร์โมน ในกระบวนการผลิต จะใช้ โปแตสเซี่ยม ฟอสฟอรัส ไนโตรเจน แคลเซียม แมกนีเซียม ผสมในสารละลาย โดยต้องปรับกรด- ด่าง ออกซิเจน ความเข้มข้น ของสารละลาย อุณหภูมิ ความชื้น ให้พอเหมาะ
        4. ผักอินทรีย์ (ออร์แกนิก) คือผักที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี สังเคราะห์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช หรือฮอร์โมน
        5. ผักไร้สารพิษ ใช้หลักการเดียวกับผักอินทรีย์
        สำหรับความปลอดภัยของผักชนิดต่างๆนั้น “ผักปลอดสารพิษ” ให้การรับรองจากการตรวจสอบเรื่องสารพิษตกค้าง โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งก็ถือว่าสามารถรับประกันคุณภาพให้ผู้บริโภคได้มั่นใจอีกระดับหนึ่ง
        แต่จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลข้างต้น“ผักอินทรีย์” และ “ผักไร้สารพิษ” นั้นดูจะเป็นทางเลือกในการตัดสินใจที่ไร้กังวลมากที่สุด อีกทั้งผักเกษตรอินทรีย์ ยังมีการรับรองมาตรฐานจาก “มูลนิธิมาตรฐานเกษตรอินทรีย์” (มกท.) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันวิชาการ หน่วยงานรัฐ องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายร้านสีเขียว การรับรองของมกท. นั้นเป็นการรับรองทุกประเภทการผลิต ซึ่งไม่ใช่การตรวจสอบสารตกค้างที่ผลิตภัณฑ์สุดท้ายเท่านั้นโดย มกท. จะทำการตรวจสอบครอบคลุมตั้งแต่เริ่มปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การบรรจุ การขนส่ง จนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค ผู้บริโภคสามารถสังเกตตรา มกท.บนบรรจุภันฑ์ จึงเป็นหลักประกันผู้บริโภค เกิดความมั่นใจเมื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อินทรีย์
        หากสามารถทำให้เราหันมาปลูกผักไว้รับประทานเองโดยใช้วิถีชีวิตแบบพึ่งพา ธรรมชาติ ใช้เวลาปรุงกับข้าว หั่นผัก และอยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่น นอกจากจะเพื่อสุขภาพที่ล้างพิษแล้วยังมีความหมายกระตุ้นเตือนให้ผู้คนรำลึกถึงชีวิตอันเรียบง่าย และพึ่งพาสารเคมีให้น้อยที่สุด อันส่งผลต่อสุขภาพที่ยั่งยืนต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #งานพัฒนา
หมายเลขบันทึก: 314829เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2009 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท