การแก้ไขปัญหาเรื่องเกมคอมพิวเตอร์ด้วยระบบ 7C กับ 2P


Content Rating ,Culture & Community ,Cyber Café , Corporate Social Responsibility , Child Protection , Camp for Children & Family , Promotion and People Participation

ในการจัดการปัญหาเรื่องการติดเกมคอมพิวเตอร์ที่ผ่านมา มักพบว่าน้ำหนักของการจัดการภายใต้นโยบายภาครัฐจะให้ความสำคัญกับระบบของการปราบปราม และการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด แต่ทว่าแนวทางที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหา คงจะต้องดำเนินการในส่วนของการส่งเสริมคู่ขนานกันไปด้วย

หากมองย้อนกลับไปที่สถานการณ์อันเป็นปัญหาอย่างถ่องแท้แล้ว จะพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่ (๑) เด็ก รวมทั้งผู้ใหญ่ ใช้เวลาในการเล่นเกมมากเกินไปจากกระทั่งเสียการควบคุม จัดการเวลา (๒) โอกาสในการเลียนแบบพฤติกรรมในเกม ซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานทั้ง วัยของผู้เล่น พฤติกรรมการเล่น และ ภูมิหลังของเด็กและครอบครัว รวมไปถึง (๓) การขาดเกมทางเลือกในเชิงสร้างสรรค์ให้กับเด็ก เยาวชน  นอกจากนั้น เด็กๆส่วนใหญ่ยังใช้พื้นที่ในร้านเกมคาเฟ่เป็นพื้นที่หลักในการเล่นเกม รวมไปถึง การสร้างชุมชนคนเล่นเกม

วันนี้ ดูเหมือนว่า เกมเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องเลวร้าย คนเล่นเกม ต้องเป็นอาชญากรรม ร้านเกมคาเฟ่ เป็นพื้นที่อันเลวร้าย ทั้งหมด เกิดขึ้นจากการนำเสนอเพียงด้านเดียว หากมองย้อนศร แนวทางในการจัดการปัญหา เสนอให้มองกลับมาที่การสร้างกระแสความดี ความงามที่เกิดขึ้นจากเกม ... เราก็สามารถทำได้

ระบบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว วางอยู่บนหลักการที่ไม่ยากว่า 7C และ 2P

Content Rating หมายถึง การจัดระดับความเหมาะสมของเกมคอมพิวเตอร์ โดยแบ่งเป็น ๓ ระบบ คือ ระบบการประเมินคุณค่าของเกมด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ (นำไปสู่การส่งเสริมการพัฒนาเกม) ระบบการจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุของผู้เล่น(นำไปสู่ระบบการตรวจ การบังคับใช้) และ ระบบการสร้างคุณค่าสังคมในเกม

Culture & Community เน้นการทำให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมเชิงรุกให้เด็กใช้เกมและไอซีทีในเชิงสร้างสรรค์ รวมไปถึง การส่งเสริมให้เกิดการสร้างชุมชนในเกมที่ดูแลสังคม

Cyber Café เน้นการส่งเสริมให้ร้านเกมคาเฟ่ และ ร้านค้าที่ขายเกม เป็นพื้นที่ปลอดภัยสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้ร้านเกมคาเฟ่กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชนและครอบครัว การส่งเสริมที่ว่านี้ ประกอบด้วยการส่งเสริมในรูปของตัวเงิน ซอฟท์แวร์ ลดอุปสรรคในการประกอบการ ต้นทุนที่มิชอบ

Corporate Social Responsibility เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเกม สร้างกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ให้กับชุมชนคนเล่นเกม โดยใช้หลักการเรื่องการประกอบการภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การนำเกรดการศึกษามาแลกกับไอเท่มในเกม รวมไปถึง การสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์นอกเกม โดยเฉพาะร้านเกมที่จะต้องเร่งการสร้างความร่วมมือในการบังคับใช้เรตติ้งเกมในร้านเกมคาเฟ่

Child Protection การสร้างมาตรการในการกำกับเวลาในการเล่นเกม โดยใช้หมายเลขบัตร ๑๓ หลัก ในการลงทะเบียนการเล่นเกมผ่านระบบกลาง ซึ่งจะสามารถทำให้กำกับเวลาและ ประเภทของเกม ระดับเรตติ้งของเกมกับผู้เล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Camp for Children & Family การสร้างความเข้มแข็งในการเลือกรับเกม การสร้างกระบวนการในการเรียนรู่เท่าทันเกมคอมพิวเตอร์ ให้กับเด็ก ให้กับเด็กร่วมเรียนรู้ร่วมกับพ่อแม่ ครู เป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะจะเป็นการปลูกฝังค่านิยมในการเล่นเกมที่ถูกต้อง การเรียนรู้ที่จะดูแลการเล่นเกมระหว่างกันของคนในครอบครัว ที่มิใช่เน้นการห้ามอย่างไม่เข้าใจ

Center of Database การสร้างศูนย์กลางขอ้มูลในการให้ความรู้เกี่ยวกับเรตติ้งเกม รายชื่อร้านเกมปลอดภัยสร้างสรรค์ เทคนิคการแก้ไขปัญหาการติดเกม การสร้างมากิตภาพในการสร้างกติกาในการเล่นเกมของคนในครอบครัว ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องรีบทำให้เกิดขึ้น

Promotion หมายถึง การสร้างมาตรการส่งเสริมให้เกิดทั้ง 7C และ People Participation ที่จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคนในชุมชน ทั้งชุมชนคนเล่นเกม ชุมชนนักพัฒนาเกม ชุมชนนักวิชาการ ชุมชนพ่อแม่ ชุมชนครู และ ชุมชนเด็ก

ทั้งหมดต้องการการเริ่มนับก้าวที่สองของการทำงาน วันนี้ เราหันมามองหาต้นแบบเกมสร้างสรรค์ ต้นแบบคนเล่นเกมสร้างสรรค์ที่สามารถดูแลตัวเองได้ ต้นแบบร้านเกมคาเฟ่ปลอดภัยสร้างสรรค์ ต้นแบบผู้ประกอบการทีช่วยดูแลสังคม ต้นแบบมาตรการคุ้มครองเด็ก ต้นแบบศูนย์กลางข้อมูล ต้นแบบหลักสูตรเด็กเล่นเกม หลักสูตรพ่อแม่ ว่ามีอะไรบ้าง

การระดมความคิดเห็นเพื่อสร้างการตอกย้ำปัญหาที่ไม่ยอมทะลุถึงการสร้างยุทธวิธีในแต่ละเรื่อง คงไม่ต่างจาก การสร้างละครหน้าฉากที่รอวันมอดลงเหมือนไฟไหม้ฟาง

หมายเลขบันทึก: 314705เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2009 21:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท