การพัฒนาคุณภาพงาน


บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดมหาสารคาม (บพด.มค.) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ จวบจนปัจจุบัน มีอายุครบ ๕ ปีบริบูรณ์ จัดว่ามีประสบการณ์ในระดับหนึ่งด้วยภารกิจของเราเป็นหน่วยแรกที่รับผู้ประสบปัญหาทางสังคมก่อนที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมต่อไป  ซึ่งอาจเป็นการประสานส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือส่งกลับคืนสู่ครอบครัวนั้น จำเป็นต้องอาศัยนักวิชาชีพในบ้านพักเด็กฯเป็นผู้พิจารณาร่วมกับทีมสหวิชาชีพ (Interdisciplinary)ในจังหวัด ซึ่งประกอบไปด้วย แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา จิตแพทย์เด็ก ตำรวจ ศาล อัยการ ครู ผู้นำชุมชน เป็นต้น เพื่อร่วมกันหาทางให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับผู้รับบริการแต่ละรายทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้รับบริการ โดยเราจะยึดตัวผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง (Client Center) ประชุม จากข้อมูลที่แต่ละวิชาชีพได้มาเพื่อวางแผนร่วมกันและกำหนดวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพต่อไป  บ้านพักเด็กฯจึงเป็นสถานแรกรับในการคุ้มครองสวัสดิภาพระหว่างที่มีการสืบเสาะข้อเท็จจริงและวางแผนการให้ความช่วยเหลือ จนกระทั่งการบำบัดฟื้นฟูเบื้องต้น--ดังนั้นนอกจากงานที่มีลักษณะเชิงตั้งรับในสถาบันแล้ว สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คืองานกิจกรรมโครงการเพื่อป้องกันและพัฒนากระบวนงานก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย  มิเช่นนั้นเราก็จะไม่เท่าทันต่อปัญหาต้องตามแก้ไขกันอยู่   ร่ำไปงานโครงการเชิงป้องกันก็จะเป็นการอบรมให้ความรู้เพื่อป้องกันการถูกล่อลวงหรือตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากสถานการณ์ทางสังคมยุคปัจจุบัน  ซึ่งเราได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก (สปป.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั้นคงของมนุษย์

 

บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดมหาสารคามเป็นองค์กรขนาดเล็ก ที่มีความคล่องตัวสูง เรามีข้าราชการหนึ่งตำแหน่งคือหัวหน้าบ้านพักเด็กฯ มีพนักงานราชการ ๕ ตำแหน่ง และมีจ้างเหมาบริการ ๒ ตำแหน่ง รวมทั้งหมด ๘ คน กับภารกิจด้านปัญหาสังคมทั้งจังหวัด บุคลากรเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเอื้อต่อการพัฒนา ลักษณะงานเป็นงานที่ท้าทายผู้รับบริการมีลักษณะที่หลากหลายทุกกลุ่มวัยที่ประสบปัญหาวิกฤตเฉพาะหน้าซึ่งเราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลยว่าจะพบเจอผู้รับบริการลักษณะหรือรูปแบบไหน ดังนั้นการทำงานจึงต้องตื่นตัวตลอดเวลาประกอบกับภารกิจ ๑๓๐๐ ศูนย์ประชาบดีสายด่วนช่วยคุณได้ที่รับแจ้งเหตุปัญหาด้านสังคมตลอด ๒๔ ชั่วโมง ดังนั้นบุคลากรในหน่วยงานจึงต้องมีใจในการทำงานกับผู้ด้อยโอกาส หรือที่นิยมใช้ศัพท์หรู ๆ ว่า มีจิตมุ่งบริการเสียสละทุ่มเทและมีความอดทนเพียงพอที่จะรับฟังปัญหาของผู้รับบริการ  ต้องมีศาสตร์และศิลป์ในการให้ความช่วยเหลือบุคคลกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งอาจถูกสังคมตีตราว่าเป็นปัญหาสังคม หรือเป็นกากเดนของสังคม ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบุคลากรบ้านพักเด็กฯ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ทางสังคมรวมถึงกฎหมายใหม่ ๆ ที่ออกมาเพื่อเป็นเครื่องมือและรองรับการทำงานกับ "คน" ในมิติต่าง ๆ

 

ทิศทางการดำเนินงานของ บพด.มค. จึงตั้งเป้าหมายไว้ที่การพัฒนากระบวนงาน/รูปแบบการทำงานภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเน้นการพัฒนา "คน" ในองค์กรเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization = LO.) การสร้างบรรยากาศเพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ดีในองค์กร การมีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน การดึงศักยภาพพลังและความฝันในตัวเจ้าหน้าที่ออกมาพัฒนาขีดสมรรถนะและการทำงานอย่างมีความสุข มุ่งสู่ความเป็นเลิศขององค์กร High Performance Organization (HPO) เป้าหมายแรกเป็นการจัดการองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายในตัวเจ้าหน้าที่ทุกตำแหน่งจากการทำงาน ๕ ปีที่ผ่านมา ให้เป็นองค์ความรู้ ซึ่งบพด.มค.ได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาบุคลากรในหน่วยงาน ให้ได้รับรู้และมีการเตรียมความพร้อมโดยพร้อมเพรียงกัน

หมายเลขบันทึก: 314597เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2009 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท